คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สถาพร วงศ์ตระกูลรักษา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2361/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษอาญาและการล้างมลทิน: ผลกระทบเมื่อคดีถึงที่สุดก่อนกฎหมายใหม่ใช้บังคับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยจนคดีถึงที่สุดและจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีซึ่งมีการเพิ่มโทษครบแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 มาตรา 4 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษดังกล่าว และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วศาลจะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับการเพิ่มโทษหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่กระทบถึงคดีอาญาถึงที่สุด แม้ศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้องในส่วนอาญา
คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตามบทบัญญัติมาตรา 170 แห่ง ป.วิ.อ. ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ฎีกา หมายถึงเฉพาะคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลเท่านั้น แต่หากเป็นการคัดค้านเรื่องผิดระเบียบ คู่ความฝ่ายที่ได้รับความเสียหายอาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ และศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 จึงไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแต่อย่างใด และไม่ทำให้คดีในส่วนอาญาถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างกระบวนการคัดค้านอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 19 วรรคสาม อนุญาโตตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ หรือการขาดคุณสมบัติตามที่คู่พิพาทตกลงกัน โดยคู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะคัดค้านต้องดำเนินการตามกระบวนการที่ได้ตกลงกันไว้ หรือในกรณีที่ไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง หากการคัดค้านโดยวิธีตามที่คู่พิพาทตกลงกันหรือตามวิธีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ไม่บรรลุผล หรือในกรณีที่มีอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียว คู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง และเมื่อศาลไต่สวนคำคัดค้านนั้นแล้วให้มีคำสั่งยอมรับหรือยกเสียซึ่งคำคัดค้านนั้น และในระหว่างการพิจารณาของศาล คณะอนุญาโตตุลาการซึ่งรวมถึงอนุญาโตตุลาการซึ่งถูกคัดค้านอาจดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไปจนกระทั่งมีคำชี้ขาดได้ ทั้งนี้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จากบทบัญญัติข้างต้นเห็นได้ว่า แม้ผู้ร้องทั้งสองจะยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของผู้วินิจฉัยต่อศาลชั้นต้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง แล้ว แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศ. ซึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการที่ผู้คัดค้านแต่งตั้งก็อาจดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไปได้หากศาลไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนี้ การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหยุดการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังผลการไต่สวนคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของผู้วินิจฉัย แม้จะอ้างในหัวคำร้องว่าเป็นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งหยุดการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการไว้ชั่วคราวเป็นการด่วน แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามคำร้องแล้วเห็นได้ว่าเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง ตอนท้าย ทั้งยังมีลักษณะเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิที่คู่สัญญาที่ทำสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มิใช่การขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. ดังที่ผู้คัดค้านอ้างในอุทธรณ์ ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีนี้ได้ตามกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 125/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเครื่องหมายการค้า: จำเลยต้องรู้ว่าสินค้าปลอมเลียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ต้องพิสูจน์ความรู้ของจำเลย
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ผู้กระทำต้องรู้ว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่าย เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยรู้ว่าสินค้าของกลางที่จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร แต่เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบคงได้ความเพียงว่า ตามวันและเวลาเกิดเหตุในฟ้อง พันตำรวจตรี ช. ได้รับแจ้งจาก บ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายว่า ที่ร้าน ว. มีการนำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรมาเสนอจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป พันตำรวจตรี ช. และ บ. กับพวก จึงนำหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเข้าตรวจค้นที่ร้านดังกล่าว พบว่าจำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร จึงจับกุมจำเลยและยึดของกลางส่งพนักงานสอบสวน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่า จำเลยรู้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร กลับได้ความจาก บ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายให้การว่า สินค้าของผู้เสียหายยังไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย คงมีจำหน่ายเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น โดยผู้เสียหายยังไม่ได้มอบหมายให้ตัวแทนรายใดเป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย อันแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งในส่วนนี้จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า เครื่องหมายที่ติดบนสินค้าของกลางเป็นสัญลักษณ์ไม้กางเขน จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเครื่องหมายที่บุคคลใดก็สามารถนำไปใช้ได้ สอดคล้องกับที่จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนโดยอ้างว่า จำเลยซื้อสินค้าของกลางมาเพื่อขายต่อ โดยไม่ทราบว่าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น และจำเลยยังมีบาทหลวง ท. เจ้าอาวาสวัด น. เป็นพยานเบิกความว่า เครื่องหมายการค้าตามฟ้องเป็นรูปกางเขนของศาสนาคริสต์ โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าด้วยตนเอง และการที่เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ประกอบกับการที่เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายมีลักษณะใกล้เคียงกับไม้กางเขนในศาสนาคริสต์ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่ประชาชนหรือผู้ขายสินค้าทั่วไปจะไม่รู้จักเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย และอาจเข้าใจได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏบนสินค้าของกลางเป็นไม้กางเขนในศาสนาคริสต์ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้ พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยรู้หรือไม่ว่าสินค้าของกลางที่จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า: การพิสูจน์ความผิดจากพยานหลักฐานการสั่งซื้อ และการบังคับคดีค่าปรับ
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่โฆษณาภาพตัวอย่างเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไว้เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวได้ และเคยผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวให้แก่ลูกค้ารายอื่นมาแล้ว ประกอบกับการที่ ว. สั่งให้จำเลยที่ 1 ผลิตเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ตามแบบที่จำเลยที่ 1 โฆษณาอยู่แล้ว โดยไม่ได้นำภาพลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ มาให้จำเลยที่ 1 ใช้ผลิตเสื้อกีฬา หรือสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกแบบภาพลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ ขึ้นมาใหม่ แล้วนำไปผลิตเสื้อกีฬา ย่อมชี้ให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้อยู่แล้วว่าลายการ์ตูนมังกี้ ดี. ลูฟี่ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาขายเสื้อกีฬาที่มีลายการ์ตูนดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว การที่ ว. สั่งผลิตเสื้อกีฬาตามแบบที่จำเลยที่ 1 โฆษณาเป็นเพียงการแสวงหาพยานหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่า ว. เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยซึ่งมีอำนาจร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พยานหลักฐานที่เกิดจากการสั่งซื้อเสื้อกีฬาดังกล่าวสามารถรับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 ได้ กรณีไม่ใช่พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบหรือพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1)
คดีนี้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม อันเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีส่วนอาญาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ตามคำร้องในคดีส่วนแพ่ง แม้โจทก์ร่วมไม่ได้ฎีกา แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีส่วนแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4325/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาทุนทรัพย์เพื่ออุทธรณ์ในคดีฟอกเงิน ความสัมพันธ์ผู้กระทำผิดและทรัพย์สิน
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ตกเป็นของแผ่นดินนั้น แม้ปัญหาว่าทรัพย์สินตามคำร้องแต่ละรายการเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ สามารถพิจารณาทรัพย์สินแต่ละรายการแยกจากกันได้ แต่การพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินแต่ละรายการก็ต้องพิจารณาในประเด็นหลักเดียวกันว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานตามคำร้องหรือไม่ และสำหรับผู้คัดค้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง อาจต้องพิจารณาว่าผู้คัดค้านนั้นเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ด้วย ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์สินแต่ละรายการของผู้คัดค้านแต่ละราย จึงไม่ได้แยกเป็นแต่ละรายการอย่างแท้จริง และไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแยกทรัพย์สินเป็นแต่ละรายการตามคำร้องของผู้ร้อง ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ที่จะพิจารณาเกี่ยวกับข้อห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องเป็นไปตามราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่ผู้คัดค้านแต่ละรายอุทธรณ์คัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านรายนั้นรวมกัน กรณีนี้ทรัพย์สินรายการที่ 3 ของผู้คัดค้านที่ 2 แม้มีราคาประเมิน 32,484.24 บาท แต่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทที่ผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์รวม 3 รายการ มีราคาประเมินรวม 1,879,495.26 บาท คดีของผู้คัดค้านที่ 2 เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้ง 3 รายการ จึงเกินห้าหมื่นบาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3950/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: การเล่นการพนันและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลฎีกาวินิจฉัยลงโทษตามบทหนัก
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเล่นการพนันไฮโลว์ อันเป็นการพนันตามที่ระบุไว้ในบัญชี ก. อันดับที่ 23 โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเล่นการพนัน กับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันมั่วสุมตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นข้อ ๆ ต่างหากจากกัน ทั้งความผิดทั้งสองฐานจะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายบทต่างกันและจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรมและมั่วสุมกัน ณ บ้านที่เกิดเหตุอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัดก็โดยมีเจตนาเพื่อร่วมกันเล่นการพนัน จึงเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3765/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: การใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าอื่นไม่ถือเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
คดีนี้โจทก์ฟ้องของให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3, 32, 43 ซึ่งมาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม" และวรรคสองบัญญัติว่า "การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง" ได้ความจาก ส. พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า ภาพช้างสีขาวสองเชือกหันหน้าเข้าหากันภายใต้น้ำพุสีเหลืองทองประกอบข้อความภาษาไทยสีขาวว่า "เครื่องดื่มตราช้าง" ข้อความภาษาอังกฤษสีขาวว่า "Chang" บนพื้นหลังสีเขียวตรงกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท บ. ซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าประเภทน้ำดื่ม เครื่องดื่มน้ำแร่ น้ำโซดา และขวดน้ำดื่มตราช้าง และมีสัญลักษณ์ตรงกับเครื่องดื่มตราช้างบนแผ่นป้ายไวนิล อีกทั้งภาพถ่ายขวดเบียร์ช้างไม่มีคำว่าเครื่องดื่มตราช้าง มีแต่ถ้อยคำเป็นภาษาอังกฤษว่า "PRODUCT OF THAILAND", "LAGER BEER", "CLASSIC BEER" และ ส. ยอมรับอีกว่า บริษัท บ. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับเบียร์ น้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ แยกต่างหากจากกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า แผ่นป้ายไวนิลตามฟ้องเป็นเพียงเครื่องหมายการค้าที่แสดงว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าน้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ จึงเป็นการส่งเสริมการขายสินค้าประเภทน้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ มิใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามนิยาม "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3 การที่จำเลยติดแผ่นป้ายไวนิลที่หน้าร้านจึงไม่เป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425-3426/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ผู้ร้องไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่อาจเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้ ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด
คำให้การของผู้คัดค้านในคดีแพ่งที่ผู้ร้องยื่นฟ้องก่อนเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่าต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นเพียงการอ้างว่าสัญญาต่าง ๆ ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำฟ้องล้วนมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเท่านั้น โดยไม่มีข้อความแสดงถึงการยอมรับว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านผูกพันกันในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแต่อย่างใด คำให้การดังกล่าวจึงไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านยอมรับว่าข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องต้องระงับโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ยังไม่ถือว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 11 วรรคสอง
แม้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการได้ก็ตาม แต่ในเรื่องขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ ความมีอยู่ ความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงปัญหาว่าสัญญาดังกล่าวผูกพันผู้ร้องหรือไม่นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดได้ถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 44
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกก็มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแล้ว คู่สัญญาไม่ได้ตกลงว่าจะชำระหนี้ใดแก่ผู้ร้อง ข้อสัญญาที่ผู้ร้องอ้างถึง มีลักษณะเป็นการประมาณรายรับจากการลงทุนที่ตกลงกันระหว่างคู่สัญญาหรือผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายของผู้ร้อง ทั้งยังไม่อาจถือเป็นหนี้ที่แน่นอน โดยผู้ร้องมีลักษณะเป็นเพียงตัวแทนของคู่สัญญาในการดำเนินการต่าง ๆ แทนคู่สัญญา ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก และผู้ร้องก็ไม่มีฐานะเป็นคู่สัญญาหรือบุคคลอันจะมีสิทธิตามสัญญาดังกล่าว เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการด้วยข้อกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องมิใช่คู่สัญญาดังกล่าว ผู้ร้องย่อมไม่อาจอาศัยข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าวเพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้จึงเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดในคดีนี้ย่อมจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3286/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลใช้ข้อมูลประวัติอาชญากรรมในการพิจารณาลงโทษจำเลยได้ แม้ไม่ได้บรรยายฟ้อง
คดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยวาจาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 20 โดยไม่ได้บรรยายฟ้องหรือกล่าวอ้างว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเพื่อประกอบดุลพินิจในการลงโทษของศาล แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบประวัติการการกระทำความผิดของจำเลย และจากการตรวจสอบพบว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุก 1 ปี ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาก่อน และศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับมาในอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อนในความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานเจ้าหน้าที่ศาลดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงในสำนวนคดีที่ศาลสามารถนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับฟังรายงานเจ้าหน้าที่ศาลที่ระบุข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และพิพากษารอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
of 2