คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 158

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,873 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10758/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งแก้ฟ้องและเหตุอันควรในการแก้ไขฟ้องอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 196 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย โดยมิได้บัญญัติให้คู่ความต้องโต้แย้งไว้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 226 ฉะนั้น เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้แม้จะมิได้โต้แย้งไว้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และไม่รับวินิจฉัยนั้นไม่ชอบ
ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์อ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ผิดพลาดในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยในการพิมพ์ ขอแก้คำฟ้องจาก ร่วมกันลักเอารถจักรยานยนต์ เป็น ร่วมกันลักเอารถยนต์ ดังนี้ เหตุที่โจทก์อ้างมานั้นถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เนื่องจากเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด และการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องดังกล่าวเป็นการแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำความผิดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 ฉะนั้นจึงไม่ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 164 และมิใช่เป็นการแก้ฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือสมบูรณ์ดังที่จำเลยฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, ความผิดฐานแจ้งความเท็จ, ยักยอกทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์, และการพิพากษาลงโทษกรรมเดียว
การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า โฉนดที่ดินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ได้สูญหายไป แล้วนำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งจะเป็นความเท็จ เพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อเจ้าพนักงาน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึงโจทก์ อันจะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง สิทธิของโจทก์หากจะพึงมีพึงเป็นอย่างไรในที่ดินแปลงนั้นในฐานะหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ก็คงมีอยู่ตามเดิมมิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ยังคงมีสิทธิเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินในฐานะหุ้นส่วนและมีสิทธิว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนได้เช่นเดิม โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยยกคำฟ้องของโจทก์ขึ้นกล่าวเพียงว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาท หลังจากนั้นก็กล่าวอ้างถึง ป.พ.พ. มาตรา 1012 และ มาตรา 1363 และทางนำสืบของโจทก์เท่านั้น โดยมิได้ฎีกาคัดค้านว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 อย่างไรฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง
ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันยักยอกรวมกันมาในข้อเดียวกันคือ ข้อ ค. โดยมิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และฐานยักยอกเป็นสองกรรมเกินจากที่กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นสองกรรมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินการย้ายบุคคลเข้าทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ ความผิดหลายกรรมต่างกัน
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) บัญญัติถึงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ฟ้องต้องมี ได้แก่ การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฉะนั้น แม้ตามมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้จะใช้บังคับแก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทใดและเมื่อใด ให้ตราเป็น พ.ร.ฎ ก็ตาม แต่ข้อที่ว่าได้มีการตราเป็น พ.ร.ฎ. แล้วหรือไม่ มิใช่เป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดที่โจทก์ต้องกล่าวมาในฟ้อง หากแต่เป็นเรื่องการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายซึ่งศาลย่อมต้องรู้เองได้เมื่อปรากฏว่า ขณะเกิดเหตุมีการตรา พ.ร.ฎ. ให้ใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 แก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 โดยให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2546) ดังนี้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 จึงใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้และโดยโจทก์ไม่ต้องกล่าวมาในฟ้อง
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า การกระทำเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ หมายรวมถึงการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในสามกรณี ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันย้ายบุคคลผู้มีชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยบุคคลผู้มีชื่อทั้งหมดมิได้อยู่อาศัยจริงอันเข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเป็นการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ ย่อมถือเป็นคำฟ้องที่แจ้งชัดและครบถ้วนในการกระทำทั้งหลายที่เป็นองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 113 พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 เป็นบทบัญญัติเพื่อที่จะให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ โดยบุคคลนั้นมิได้อยู่อาศัยจริงนั้นเป็นการจัดตั้งตัวบุคคลเพื่อที่จะให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งคนใดอย่างชัดเจน จำนวนของบุคคลที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านจึงมีผลต่อการเลือกตั้งโดยตรง ดังนั้นแม้การดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยมีเจตนาเดียวเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ แต่เมื่อจำนวนของบุคคลที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้านซึ่งมีสามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้หนึ่งคนต่อหนึ่งคะแนนประกอบกับการดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเป็นสิทธิเฉพาะตัวที่ต้องทำเป็นรายบุคคล แม้จะมีการแจ้งย้ายเข้ารวมกันมาในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ใบเดียว ก็ยังต้องถือว่าเป็นความผิดรายกระทงตามจำนวนของบุคคลแต่ละคนที่มีการดำเนินการย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14163/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาที่จำเลยให้การรับสารภาพ โดยไม่โต้แย้งเรื่องอายุความหรือการร้องทุกข์ของผู้เสียหาย
ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ โจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยมิได้ต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด จึงต้องถือว่าความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 เป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก และเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8997/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบเมื่อไม่ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อย่างชัดเจน
คู่ความที่ฎีกาต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ เพื่อให้เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์คลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องด้วยเหตุใดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จะให้ถือเอาคำฟ้องอุทธรณ์เป็นส่วนหนึ่งของฎีกา โดยไม่มีเหตุผลและข้อคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมไม่ได้
ปัญหาฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มิใช่เป็นกรณีศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี
ที่โจทก์ฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์คัดค้านในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตั้งแต่ ฟ้องของโจทก์ก็ถูกต้องตามกฎหมาย ได้ระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียดการกระทำผิดของจำเลยตามกฎหมายที่ชัดเจนครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ซึ่งจำเลยก็เข้าใจฟ้องของโจทก์ได้ดี ไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้แต่อย่างใด มีการเบิกความไต่สวนมูลฟ้อง จนศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาและการเบิกความในชั้นพิจารณาของศาล โจทก์ก็เบิกความในข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญแก่คดีตามข้อกฎหมายที่โจทก์ได้ฟ้องแล้ว จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น จึงได้อุทธรณ์คัดค้านโต้แย้งข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญที่เป็นองค์ประกอบของกฎหมายในข้อประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัย โดยโจทก์เห็นว่าเป็นสาระสำคัญอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 อีกชั้นหนึ่งว่าการเบิกความของจำเลยต่อศาลตามพยานเอกสารคำเบิกความในคดีอาญาดังกล่าวจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีไม่พึงรับไว้พิจารณาแล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ข้อที่โจทก์อ้างในคำฟ้องฎีกาดังกล่าว โจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เลยว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จตามข้อเท็จจริงใดที่โจทก์ได้บรรยายไว้แล้วในฟ้องด้วยข้อความใดและอย่างไร คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เช่นนี้จึงเป็นฎีกาที่มิได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับในการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331-8332/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษจำเลยในคดีเช็คหลายฉบับ ศาลไม่เกินคำขอแม้ไม่ได้ขอให้นับโทษต่อกัน
ป.วิ.อ.มาตรา 158 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ไม่ได้ระบุให้โจทก์ต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการขอให้นับโทษจำคุกในแต่ละกระทงติดต่อกันหรือขอให้รวมโทษในแต่ละกระทง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องระบุวันที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คทั้งเจ็ดฉบับต่างวันกัน และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยทั้งสองเจตนาสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับชำระหนี้แต่ละส่วนแยกกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องหรือมีคำขอให้ศาลพิพากษานับโทษจำคุกแต่ละกระทงติดต่อกันหรือขอให้รวมโทษในคำฟ้องแต่ละสำนวน ศาลก็ลงโทษจำเลยทั้งสองในแต่ละสำนวนทุกกรรมเป็นกระทงความผิดและรวมโทษในแต่ละสำนวนได้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง จึงต้องนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 มาใช้บังคับ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499กับกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำ ป.วิ.พ. มาตรา 225 มาใช้บังคับกับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6429/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานนำภาพยนตร์ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาออกจำหน่าย ต้องเป็นการลงมือออกจำหน่ายแล้ว ไม่ใช่แค่การเตรียมการ
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์" องค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัตินี้ คือ การนำภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจะนำออกจำหน่ายซึ่งแผ่นดีวีดี (ภาพยนตร์) 2 แผ่น โดยแผ่นดีวีดี (ภาพยนตร์) ดังกล่าวไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งการกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นเพียงการตระเตรียมที่จะนำแผ่นดีวีดี (ภาพยนตร์) ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกจำหน่ายเท่านั้น โดยจำเลยยังไม่ลงมือกระทำความผิด คือ นำแผ่นดีวีดี (ภาพยนตร์) ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานนำภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตามฟ้อง แม้จำเลยรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2953/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน & การลดโทษจากความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย
คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 ว่า หลังจากจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจออกตรวจที่เกิดเหตุเห็นเหตุการณ์จึงเข้าระงับเหตุ จำเลยกับพวกจึงร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ลูกระเบิดขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 โดยเจตนาฆ่า แต่ลูกระเบิดไม่ระเบิด ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ถึงแก่ความตาย ซึ่งถ้อยคำที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนนี้มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยกับพวกรู้แล้วว่า ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจกำลังจะมาจับกุมจำเลยกับพวกจากการที่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ลูกระเบิดขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการต่อสู้และขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตนได้ โจทก์ไม่ต้องบรรยายถ้อยคำว่า "ต่อสู้" หรือ "ขัดขวาง" ที่มีความหมายอย่างเดียวกันซ้ำในคำฟ้องอีก คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138 จึงครบองค์ประกอบความผิดและเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10415/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพในคดีอาญา การพิสูจน์ตัวบุคคล และการเพิ่มโทษ จำเป็นต้องมีการสืบพยานยืนยันข้อเท็จจริง
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาซึ่งหมายถึงจำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่ได้หมายรวมไปถึงว่า จำเลยรับว่าต้องโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5115/2549 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องด้วย ถือไม่ได้ว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างมาในฟ้องขอให้เพิ่มโทษด้วย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8481/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาเรื่องทำให้เสียทรัพย์ แม้จำเลยอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่โจทก์อ้างการครอบครองโดยชอบ ศาลต้องไต่สวน
คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้าม ก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม
แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง แต่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริงและได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบิดาตลอดมา โดยจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการครอบครองที่ดินโดยชอบ กรณีเช่นนี้หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดิน ก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีสิทธิหรืออำนาจเข้าไปรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยพลการการที่จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินแล้วทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย จึงอาจมีมูลเป็นความผิดตามฟ้องได้ เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 ที่จะรับไว้ไต่สวนมูลฟ้อง
of 188