คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อุทัย โสภาโชติ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 37 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ตามสัญญาชำระเป็นงวดๆ อายุความของแต่ละงวดแยกกัน ไม่ขาดอายุความพร้อมกัน
เมื่อสัญญากำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้เป็นงวด ๆ สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดคือเป็นงวด ๆ เช่นเดียวกัน เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระก่อนย่อมไม่อาจทำได้ สิทธิเรียกร้องในหนี้แต่ละงวดซึ่งถึงกำหนดไม่พร้อมกัน ย่อมมีระยะเวลาครบกำหนดอายุความไม่พร้อมกัน หนี้ที่ถึงกำหนดชำระในงวดก่อน ย่อมครบกำหนด 5 ปี ก่อนหนี้ที่ถึงกำหนดทีหลังถัดกันไป ไม่ใช่ว่าหนี้งวดแรกซึ่งถึงกำหนดก่อนครบกำหนดอายุความแล้ว จะทำให้หนี้ทั้งหมดรวมถึงหนี้ในงวดหลัง ๆ ต้องครบกำหนดอายุความไปด้วยไม่ เนื่องจากสัญญาไม่ได้กำหนดไว้ว่า หากผิดนัดชำระหนี้งวดหนึ่งงวดใดแล้วก็ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดทุกงวด ดังนั้นหนี้แต่ละจำนวนซึ่งถึงกำหนดชำระไม่พร้อมกัน จึงไม่ได้ขาดอายุความไปพร้อมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปืนแบลงค์กันไม่ใช่ 'อาวุธปืน' ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ แต่เป็น 'สิ่งเทียมอาวุธปืน' การครอบครองไม่ผิดกฎหมาย
แม้โจทก์ฟ้องว่า ปืนแบลงค์กันของกลางเป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิงทำอันตรายแก่ร่างกายได้ และจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลอาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ปืนแบลงค์กันของกลางเป็นอาวุธปืนตามมาตรา 4 (1) หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนตามมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ แล้วส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1) เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนพยานเพิ่มเติมเสร็จแล้ว ศาลฎีกาย่อมรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้
เมื่อปืนแบลงค์กันของกลางไม่มีการดัดแปลงลำกล้อง สภาพภายในลำกล้องมีเหล็กแกนขวางไม่อาจส่งกระสุนออกมาจากลำกล้องได้ ไม่สามารถใช้ร่วมกับกระสุนปืนจริงได้ เมื่อยิงกับกระสุนปืนแบลงค์กันมีผลเพียงเกิดเสียง เปลวไฟ แรงระเบิด แรงดัน จากการเผาไหม้ดินดอกไม้เพลิงพุ่งออกมาจากปลายลำกล้องเท่านั้น ไม่มีหัวกระสุนปืนออกจากปากลำกล้อง แสดงให้เห็นจุดประสงค์ในการทำหรือประกอบปืนแบลงค์กันขึ้นโดยมิได้ให้เป็นอาวุธปืนที่ใช้ส่งเครื่องกระสุนปืน โดยประสงค์ใช้ยิงให้เกิดเสียงดังและมีเปลวไฟจากการยิงเท่านั้น หากไม่ได้ยิงในระยะประชิดหรือเป็นรัศมีแรงระเบิดหรือกำลังดันของดินดอกไม้เพลิง ก็ไม่มีอานุภาพรุนแรงที่สามารถทำอันตรายแก่กาย ชีวิต หรือวัตถุได้ ดังเช่นอาวุธปืนทั่วไป จึงไม่เข้าตามบทนิยามคำว่า "อาวุธปืน" ตามมาตรา 4 (1) แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ การมีรูปร่างลักษณะอันน่าจะทำให้คนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืนโดยสภาพ จึงเป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธปืนตามมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ เท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร และฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2311/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณวันคำพิพากษาถึงที่สุดเพื่อขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 ต้องยึดตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่ตามวันที่ศาลอนุญาตขยายเวลา
การร้องขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 นั้น เจ้าของที่แท้จริงซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดย่อมมีสิทธิร้องขอคืนของกลางต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งคำว่า "วันคำพิพากษาถึงที่สุด" นี้ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง..." ซึ่งก็คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 และมาตรา 216 ในกรณีที่คู่ความยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกาแล้วมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามที่ได้ขอขยายระยะเวลาไว้ วันคำพิพากษาถึงที่สุดย่อมต้องกลับไปใช้ระยะเวลา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยกฎหมาย คือ เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟัง คดีนี้เมื่อมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความความฟัง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โจทก์และจำเลยทั้งสองใช้สิทธิฎีกาได้ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้ขอขยายระยะเวลาฎีกา และมิได้ใช้สิทธิฎีกา ส่วนโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาและศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่โจทก์มิได้ฎีกา คำพิพากษาย่อมถึงที่สุดในวันที่ 15 มีนาคม 2564 อันเป็นวันครบกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้คู่ความฟัง สิทธิของผู้ร้องที่จะขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 มิใช่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนของกลางเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 จึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36 ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเท็จเกี่ยวกับการตรวจสอบมาตรฐานข้าวสาร ผู้ประกอบการมีส่วนรับผิด
ผู้ที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลและต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเท่านั้น ซึ่งในการประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องว่าจ้างผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมากระทำการแทน ทั้งผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าจึงเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามมาตรา 269 แห่ง ป.อ. หากผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จหรือจงใจกระทำการใด ๆ ให้การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าผิดไปจากความเป็นจริง ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องรับผิดในการกระทำของผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าดังกล่าวเสมือนหนึ่งได้กระทำด้วยตนเอง เพราะบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นบัญญัติให้ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์ให้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าซึ่งเป็นพนักงานของตน และต้องรับผิดเมื่อมีการรับรองมาตรฐานสินค้าอันเป็นเท็จหรือผิดไปจากความเป็นจริงโดยเฉพาะ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท ด. ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ให้ตรวจสอบข้าวสารที่จะนำเข้าเก็บในคลังสินค้าให้ได้ข้าวสารที่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 หากข้าวสารที่จำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้วเป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าวก็อนุญาตให้นำข้าวสารเข้าเก็บในคลังสินค้าของบริษัท ด. จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้นาย ช. ผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าตรวจสอบข้าวสารที่โรงสีข้าวนำมาส่งให้ได้ข้าวสารที่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ เพื่อนำเข้าเก็บในคลังสินค้า แต่ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวของสำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ปรากฏว่า ข้าวสารไม่ถูกต้องตามมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ดังนั้น การที่นาย ช. ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานสินค้ากระทำการแทนในนามจำเลยที่ 1 ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวโดยทำคำรับรองอันเป็นเท็จและตรวจสอบข้าวให้ผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและเป็นผู้มอบหมายให้นาย ช. ทำการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวดังกล่าวแทนเป็นผู้ทำคำรับรองการตรวจสอบข้าวเป็นเอกสารอันเป็นเท็จและทำให้ผิดจากความเป็นจริงแล้ว โดยการที่นาย ช. ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าในผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพข้าวเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเพิ่งเห็นผลการวิเคราะห์คุณภาพข้าวของนาย ช. หรือจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้มีวิชาชีพในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า หรือจำเลยที่ 1 มอบหมายให้นาย ช. เป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าโดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับการทำคำรับรองเป็นเอกสารดังกล่าวหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 1 โดยนาย ช. ใช้หรืออ้างคำรับรองไปตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับมอบข้าวสารที่นาย ช. ตรวจสอบจึงเป็นการใช้หรืออ้างคำรับรองอันเป็นเท็จโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 มาตรา 57 เพราะการตรวจสอบมาตรฐานของข้าวสารในคดีนี้เป็นการตรวจสอบเพื่อนำข้าวสารเข้าเก็บในคลังสินค้า ไม่ใช่กรณีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเพื่อขอออกใบรับรองมาตรฐานสินค้านำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากรก่อนส่งสินค้าออกนอกประเทศตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 มาตรา 17
แม้จำเลยที่ 1 มีความผิดเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 86 และขอให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงกรรมเดียว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์ฎีกาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการกระทำความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานตัวการในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 คงลงโทษในฐานผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 269 วรรคสอง จึงต้องลงโทษตามมาตรา 269 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามที่โจทก์ฎีกา
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพยานให้ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับการทำคำรับรองมาตรฐานสินค้าอันเป็นเท็จหรือผิดไปจากความเป็นจริงที่โจทก์นำมาฟ้องอย่างไร และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 มิได้มีหน้าที่ในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าตามกฎหมายที่ต้องรับผิดในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: ปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอำนาจพนักงานสอบสวนและผลต่อการฟ้องคดีอาญา
จำเลยฎีกาโต้เถียงว่าพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุคนใดจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140 เป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 727/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง รังวัดที่ดินไม่ชัดเจน
ตามบันทึกตกลงไว้เป็นหลักฐานได้ความว่า วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 โจทก์และจำเลยกับพวกตกลงกันได้โดยโจทก์ชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 1,500,000 บาท ในวันดังกล่าว แล้วจำเลยกับพวกต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินทั้ง 3 แปลง ออกไปภายใน 15 วัน โดยวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 เวลา 8 นาฬิกา ต้องให้ช่างรังวัดจากสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสงครามรังวัดที่ดินทั้ง 3 แปลง (รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 40775) เพื่อให้ทราบแนวเขตที่ชัดเจน เมื่อได้แนวเขตที่ชัดเจนแล้ว โจทก์และจำเลยตกลงเป็นอันยุติตามผลการรังวัด และต่างฝ่ายจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินของกันและกันอีกต่อไป บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 จึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย แสดงว่าโจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวโดยมุ่งที่จะรังวัดที่ดินเพื่อให้ทราบแนวเขตที่ดินให้ชัดเจนเป็นสำคัญ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าได้มีการรังวัดที่ดินเพื่อให้ทราบแนวเขตที่ดินที่ชัดเจนตามที่ได้ตกลงกันไว้ และในข้อนี้ได้ความจากนายช่างรังวัดชำนาญงาน สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ทำแผนที่พิพาท เบิกความตอบคำถามค้านว่า ในการรังวัดจัดทำแผนที่พิพาทไม่พบหลักหมุดของที่ดินทั้งหมด เช่นนี้ ย่อมไม่อาจทราบได้ว่าบ้านหลังดังกล่าวจะอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 40775 หรือไม่ เนื่องจากยังไม่ทราบแนวเขตที่ดินที่แน่นอน กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความให้ครบถ้วน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้และยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกขึ้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่สมบูรณ์เนื่องจากไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลสั่งแก้ไขฟ้องได้ แม้คดีมีอัตราโทษสูง
แม้อุทธรณ์ของโจทก์จะเป็นการขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แต่ก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้นั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า ตราที่โจทก์ประทับในฟ้องเป็นตราประทับที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนไว้ตามข้อบังคับของโจทก์หรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352, 353 มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทั้งไม่ปรากฏว่าอุทธรณ์ของโจทก์ได้รับอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ ตามมาตรา 22 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จำเลยจะฎีกาในปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย และต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในฟ้อง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง ดังนั้น เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์อันเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ โดยเฉพาะศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดี และการสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ เช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องโดยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องให้ถูกต้องได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอให้บวกโทษคดีที่รอการกำหนดโทษ และการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่เกินกว่าเหตุ ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์
จำเลยทั้งสามในคดีนี้ต้องคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษและคดีถึงที่สุดแล้ว ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้งสามตามที่ศาลชั้นต้นรอการกำหนดโทษไว้นั้น ป.อ. มาตรา 58 บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องการบวกโทษว่า ศาลที่พิพากษาคดีหลังจะกำหนดโทษที่รอการกำหนดโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง แสดงว่าการขอในกรณีเช่นนี้กฎหมายประสงค์ให้โจทก์ในคดีหลังยื่นคำขอให้บวกโทษ จะมายื่นคำร้องในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีก่อนและคดีถึงที่สุดไปแล้วไม่ได้เพราะจะเป็นแก้ไขคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4890/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม: การใช้สิทธิเกินขอบเขตถือเป็นการก่อภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์
ทางรถยนต์หรือถนนในที่ดินของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมแก่เจ้าของสามยทรัพย์ทุกแปลงที่จะใช้ทางภาระจำยอมดังกล่าว และโจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ก็มีสิทธิใช้สอยอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ การที่จำเลยนำกรวยมาวางบนทางรถยนต์หรือถนนซึ่งเป็นทางภาระจำยอมหน้าอาคารพาณิชย์ของจำเลยและหน้าอาคารพาณิชย์อื่นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถยนต์ส่วนตัวของจำเลยและบริวารนั้น เป็นการใช้สิทธิในภาระจำยอมเพิ่มขึ้นมากกว่าเจ้าของสามยทรัพย์อื่น ทำให้เจ้าของสามยทรัพย์อื่นและโจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากทางภาระจำยอมในบริเวณดังกล่าวได้อย่างสะดวก การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์จึงเป็นการก่อภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1388 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องขนย้ายกรวยหรือวัสดุอื่นใดที่อยู่บนทางภาระจำยอมออกไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกง-ปลอมแปลงเอกสาร: การกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว, เอกสารราชการ/เอกสารทั่วไป
แบบส่งเงินอายัด เป็นเอกสารที่ธนาคารจัดส่งเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 มาให้สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี ตามคำสั่งอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 326/2558 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี ไม่ใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ รวมทั้งไม่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) และ (9) จึงเป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) เท่านั้น
ส่วนใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) เป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นในหน้าที่เพื่อมอบให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานในการชำระภาษีบำรุงท้องที่ จึงเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) แต่ไม่เป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ในความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ล้วนเป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียวเพื่อหลอกลวงโจทก์ทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสองทยอยมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 ในแต่ละครั้ง รวม 70 ครั้ง เป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวเพื่อฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
of 4