คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
บุญชู ทัศนประพันธ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 17 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628-2637/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและการหักกลบลบหนี้ค่าชดเชยกับค่าเสียหายตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
บรรดาเงินค่าชดเชยและเงินประโยชน์ที่โจทก์จ่ายให้ภายหลังจากการเลิกจ้าง เป็นการจ่ายเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์เลิกจ้างพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121 (1) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้รับพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน จึงต้องถือเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ไม่เคยมีการเลิกจ้างจำเลยทั้งหมด ดังนั้น จำเลยทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ชอบจะเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งหมดต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันและโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นหนี้อย่างเดียวกันและโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งหมดคืนเงินดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย โจทก์จึงชอบจะใช้สิทธินำเงินที่จำเลยทั้งหมดต้องคืนโจทก์มาหักกลบลบหนี้กับเงินค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องจ่ายให้จำเลยทั้งหมดตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6162/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจหน้าที่นิติบุคคลอาคารชุด การว่าจ้างผู้จัดการ และข้อจำกัดการระงับการให้บริการ
อาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 หมายถึง อาคารที่บุคคลสามารถแยกถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วน ๆ โดยแต่ละส่วนประกอบด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง เมื่อเจ้าของร่วมในอาคารชุดต้องการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารชุดดังกล่าว ทั้งอาคารเป็นอาคารเพื่อประกอบกิจการโรงแรม จึงทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล และการใช้ทรัพย์ส่วนกลางซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมภายในอาคารดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (4) บัญญัติไว้ กล่าวคือ จะต้องกระทำโดยการแก้ไขข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดของจำเลยที่ 1 ด้วยการลงมติของเจ้าของร่วมและจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมได้ลงมติแต่เพียงอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นขออนุญาตเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารเท่านั้น และการลงมติดังกล่าวก็ไม่อาจถือได้ว่าที่ประชุมใหญ่ได้อนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารจากอาคารชุดเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นอาคารชุดเพื่อประกอบกิจการโรงแรมไปในตัว เนื่องจากการอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งจะต้องกระทำด้วยการแก้ไขข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 (4) ดังนั้น ก่อนที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมจะลงมติในการประชุมวาระที่ 7 จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการลงมติอนุมัติให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงการใช้อาคารหรือต้องทำการแก้ไขข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เสียก่อน การลงมติเจ้าของร่วมด้วยเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม จึงชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 44 แล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนการลงมติในวาระนี้
ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมได้ลงมติให้นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 มีสิทธิสั่งปรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อบังคับได้ครั้งละไม่เกิน 2,000 บาท มีลักษณะเช่นเดียวกับการตกลงว่าจะให้เบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยจึงมีผลใช้บังคับได้
พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 18/1 วรรคสอง บัญญัติให้มีการออกข้อบังคับแก่ผู้ที่ไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางด้วยการถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางได้ แต่ทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 4 หมายถึง ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุดและที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม เมื่อน้ำประปาหรือก๊าซหุงต้มเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ภายในห้องชุดแต่ละห้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วมแต่ละคนโดยเฉพาะ น้ำประปาและก๊าซหุงต้มจึงมิใช่ทรัพย์ส่วนกลาง การที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมลงมติให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิระงับการให้บริการน้ำประปาและก๊าซหุงต้มภายในห้องชุดของผู้ฝ่าฝืนข้อบังคับจึงเป็นการไม่ชอบ
พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 6 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 6 จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 6 ได้ว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีความรู้เชี่ยวชาญมารักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาดและซ่อมแซมทรัพย์ส่วนกลางที่ชำรุดเสียหายก็อยู่ในความหมายของคำว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 36 วรรคสอง แล้ว
1/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล่อซื้อและการวางแผนจับกุม ไม่เข้าข่ายความผิดพยายามลักทรัพย์ ต้องพิสูจน์เจตนาทุจริต
ก่อนเกิดเหตุ ย. แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า รถจักรยานยนต์ของตนถูกคนร้ายลักไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้ว ย. เช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากผู้ให้เช่าซื้อ แล้วนำไปขายต่อให้แก่ผู้ใช้ชื่อว่า ข. เพื่อแลกกับเงินสด 13,000 บาท โดยจะมีชายไม่ทราบชื่อไปรับรถและมอบเงินให้ แต่ ย. ต้องไปแจ้งความว่ารถหายเพื่อให้ผู้รับประกันภัยรถคันดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ เจ้าพนักงานตำรวจจึงวางแผนจับกุมโดยให้ ก. ติดต่อขอกู้ยืมเงิน 20,000 บาท จากผู้ใช้ชื่อว่า ข. และผู้ใช้ชื่อว่า ข. แจ้งให้ ก. ไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แล้วนำมามอบให้แลกกับเงิน 20,000 บาท การที่ ก. นัดจะส่งมอบรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลย แล้วจำเลยจะมอบเงินให้ ก็เป็นเรื่องที่ ก. วางแผนจับกุมจำเลยโดยจะส่งมอบการครอบครองรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายให้แก่จำเลยเอง มิใช่จำเลยจะเอาไปซึ่งการครอบครองรถจักรยานยนต์จาก ก. โดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานพยายามลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3894/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาช่วงและอนุญาโตตุลาการ: การบังคับใช้ข้อตกลงระงับข้อพิพาทตามสัญญาหลัก
สัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยตกลงให้นำสัญญาหลักระหว่างจำเลยกับบริษัท อ. เจ้าของงานมาใช้บังคับ สัญญาหลักมีข้อตกลงว่าหากมีกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัย จึงถือว่าสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยมีสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้วตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคท้าย แม้ต่อมาโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาต่อกัน แต่ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น
ส่วนกรณีสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงที่มีข้อกำหนดให้จำเลยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อมีข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงนั้น หาได้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ เพราะข้อวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย หากโจทก์ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม ข้อพิพาทดังกล่าวย่อมต้องใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหลักอยู่ดี ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการให้ระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการดังกล่าวในคดีนี้ก่อนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสิทธิในการสวมสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า "การบริหารสินทรัพย์หมายความว่า (1) การรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน หรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ เลิก หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์นั้น เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงคัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถามค้านพยานที่สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วได้ และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" และกระทรวงการคลังได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงิน ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 กำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ดังนั้น การที่ผู้ร้องรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้ขอสวมสิทธิเดิมซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วยกัน จึงเป็นการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิรับซื้อหรือรับโอนหนี้สินด้อยคุณภาพจากผู้ขอสวมสิทธิเดิม โดยอาศัย พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้โดยชอบ หาตกอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ สัญญาซื้อขายระหว่างผู้ร้องกับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15721/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดก: สิทธิของทายาทเมื่อมีการตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยประนีประนอมยอมความ และการโอนมรดกก่อนเสียชีวิต
ตามบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดกที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทที่มีชื่อ ว. เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อ. สามีของ ว. ได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของ ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ทายาทของ ว. ไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ และยินยอมให้ อ. เป็นผู้ขอรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ต่อมา อ. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612, 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด แต่บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลบังคับได้ตามมาตรา 850, 852 และ 1750 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15097/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดิน: เจตนาคู่สัญญาและลักษณะของสัญญาจะแลกเปลี่ยน
ป.พ.พ. มาตรา 519 บัญญัติว่า "บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น" แม้หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินจะระบุชื่อสัญญาว่าเป็นหนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดิน อันอาจจะแปลได้ว่าเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าจะแลกโฉนดที่ดินกัน โดยจำเลยจะแบ่งที่ดินคืนให้โจทก์ 12 ไร่เศษ ตามจำนวนที่จำเลยแบ่งขาย จึงไม่ใช่สัญญาที่ตกลงกันให้ความเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปทันทีที่มีการทำสัญญา แต่จำเลยยังมีหน้าที่แบ่งแยกที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญา จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันในภายหลัง หามีเจตนาจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันโอนทันทีในวันทำสัญญาไม่ หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง หาใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดซึ่งจะตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14811/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเหนือพื้นดินจากความยินยอม & การบอกเลิกสัญญา - สิทธิฟ้องขับไล่
จำเลยปลูกสร้างบ้านหรือโรงเรือนบนที่ดินพิพาทที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลยโดยไม่มีกำหนดเวลา เมื่อสิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ สิทธิเหนือพื้นดินนั้นจึงเป็นเพียงบุคคลสิทธิระหว่างโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลย โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียในเวลาใดก็ได้ เพียงแต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1413 เท่านั้น การที่โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสิทธิเหนือที่ดินให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทภายใน 30 วัน นับว่าโจทก์ได้ให้เวลาแก่จำเลยพอสมควรแล้ว สิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยย่อมระงับสิ้นไปทันทีที่สิ้นสุดกำหนดเวลานั้น เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์แจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทแล้วจำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาโดยไม่มีสิทธิที่จะอ้างได้ตามกฎหมายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้
of 2