คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 22 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8245/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการของโรงแรมไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เนื่องจากไม่ใช่การตอบแทนการทำงานโดยตรง
ค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดเงินสมทบต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วยทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียกับเงินค่าบริการที่เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ โจทก์เป็นคนกลางในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าเพื่อนำมาคำนวณเฉลี่ยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น ทั้งลักษณะธรรมชาติของเงินค่าบริการนี้มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เมื่อเงินค่าบริการนี้มิได้จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ จึงมิได้เป็นค่าจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่านั่งเครื่องแคชเชียร์ไม่ใช่ค่าจ้างตามกฎหมายประกันสังคม โจทก์ไม่ต้องนำไปคำนวณเงินสมทบ
โจทก์กำหนดอัตราค่านั่งเครื่องของพนักงานแคชเชียร์ในอัตราเดือนละ ๕๐๐ บาทต่อคน เท่ากันทุกเดือน โดยมีหลักเกณฑ์ว่าหากพนักงานแคชเชียร์มีความประพฤติไม่ดี ทำความผิดหรือทำงานมีข้อผิดพลาดก็จะหักคะแนนและนำไปปรับลดเงินค่านั่งเครื่องตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ ในบางเดือนอาจมีพนักงานแคชเชียร์บางคนไม่ได้รับค่านั่งเครื่องเลย แต่การจ่ายค่านั่งเครื่องให้จริงเป็นจำนวนมากน้อยหรือไม่จ่ายค่านั่งเครื่องเลยย่อมขึ้นอยู่กับการประเมินผลในเรื่องความประพฤติปฏิบัติตนและความตั้งใจในการทำงาน การจ่ายค่านั่งเครื่องดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายให้เพื่อส่งเสริมให้พนักงานแคชเชียร์ตั้งใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความประพฤติที่ดี ลดข้อผิดพลาดในการทำงานให้น้อยลง และกระตุ้นให้พนักงานตั้งใจทำงานเป็นสำคัญ ไม่ได้มีลักษณะเป็นการตอบแทนในการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติตามความหมายของคำว่าค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ค่านั่งเครื่องแคชเชียร์ของพนักงานแคชเชียร์จึงไม่ใช่ค่าจ้าง โจทก์ไม่ต้องนำค่านั่งเครื่องดังกล่าวมาคำนวณเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13730/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าคอมมิสชันพนักงานขายถือเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ต้องนำมารวมคำนวณเงินสมทบ
เมื่อค่าคอมมิสชันเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขายตามหลักเกณฑ์การจ่ายตามประกาศ อันเป็นเงินที่พนักงานขายได้รับจากการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ซึ่งคิดคำนวณจากยอดสินค้าที่จำหน่ายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งค่าคอมมิสชันนี้พนักงานขายจะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขายที่สามารถขายได้ จึงเห็นได้ว่าค่าคอมมิสชันเป็นเงินส่วนหนึ่งที่โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานขายเป็นการตอบแทนการทำงานโดยตรงในวันและเวลาทำงานปกติโดยคิดตามผลงานที่ทำได้ ดังนั้น ค่าคอมมิสชันจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 โจทก์จึงต้องนำไปรวมกับเงินเดือนของพนักงานขายมาเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7366/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีประกันสังคมและการพิจารณาความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยมิได้เป็นผู้มีคำวินิจฉัยจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ อันเป็นประเด็นแห่งคดีซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องมีคำวินิจฉัย แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ลักษณะ 2 หมวด 1 บัญญัติให้เรื่องการเป็นผู้ประกันตนอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของสำนักงานประกันสังคมจำเลย และยังให้สิทธิว่าหากไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมที่สั่งการตามกฎหมายฉบับนี้ ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งตามมาตรา 85 คณะกรรมการอุทธรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 86 ก็เป็นคณะกรรมการของจำเลยโดยผู้แทนสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการเพื่อต้องการให้คณะกรรมการอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำสั่งของเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นคำสั่งในหน่วยงานของจำเลย นอกจากนี้มาตรา 87 วรรคท้าย ยังได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้อีกว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ดังนี้ เมื่อจำเลยแจ้งยกเลิกการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
การที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลว่าเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่ นอกจากจะพิจารณาว่าบุคคลทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 แล้ว ยังต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 583 ด้วย เมื่อโจทก์มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท ต. ไม่ต้องลงเวลาทำงาน สามารถตัดสินใจในกิจการของบริษัทได้โดยลำพังไม่ต้องปรึกษาผู้ใด โดยโจทก์มีหน้าที่ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัท และงบดุลของบริษัท ไม่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวมีรายได้จากการขายสินค้าแต่อย่างใด แสดงว่าลักษณะการทำงานของโจทก์นั้น โจทก์จะทำงานอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะมีผลงานหรือไม่มีผลงาน ก็ไม่มีการให้คุณให้โทษแก่โจทก์ อันแสดงให้เห็นว่าการทำงานของโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัท ต. ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นนายจ้างและลูกจ้างกัน อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเข้าเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้าง: การจ่ายเงินผ่านโจทก์ไม่ใช่ค่าจ้าง หากไม่มีอำนาจสั่งการ ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ประกันสังคม
ลักษณะงานของโจทก์ที่เกี่ยวกับแพทย์และพยาบาลที่โจทก์จัดหาเข้าไปดูแลยังสถานประกอบกิจการนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับการทำงานของแพทย์และพยาบาล แพทย์และพยาบาลจะไปหรือไม่ก็ได้ ไม่มีระเบียบเกี่ยวกับการลา เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่แพทย์และพยาบาลนั้นสถานประกอบการเป็นผู้จ่ายโดยจ่ายผ่านโจทก์ซึ่งจะหักเป็นค่าติดต่อแล้วจึงจ่ายส่วนที่เหลือให้แก่แพทย์และพยาบาล เงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับแพทย์และพยาบาลจึงไม่มีลักษณะเป็นนายจ้างลูกจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2663/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เริ่มนับจากวันที่ป่วย ไม่ใช่วันที่แพทย์วินิจฉัย
โจทก์เป็นผู้ประกันตน โจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายตั้งแต่เริ่มป่วย (อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน) ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 โจทก์จึงเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 71 ตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มป่วย ไม่ใช่ตั้งแต่วันที่แพทย์ประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายโจทก์ (วันที่ 13 มกราคม 2549) นายจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยมีผลเป็นการเลิกจ้างในเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2545 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตั้งแต่วันที่ขาดรายได้หรือวันที่นายจ้างเลิกจ้างคือวันที่ 1 มิถุนายน 2545

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11987/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างพนักงานขับรถมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม
การที่โจทก์ตกลงที่จะจ่ายค่าจ้างให้พนักงานขับรถตลอดเวลาที่ยังทำงานให้โดยโจทก์มุ่งที่จะใช้การงานของพนักงานขับรถมากกว่าคำนึงถึงผลสำเร็จแห่งงานที่ทำ พนักงานขับรถต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของโจทก์ โดยใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับโจทก์ และโจทก์มีอำนาจให้คุณให้โทษ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน พักงาน เลิกจ้าง เป็นต้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับพนักงานขับรถจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน และอยู่ในความหมายของคำว่า ลูกจ้าง นายจ้าง และค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481-482/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยเลี้ยงพนักงานรายวัน: ส่วนจูงใจไม่เป็นค่าจ้าง แต่เบี้ยเลี้ยงรายวันเป็นการตอบแทนการทำงาน ต้องนำส่งกองทุน
การจ่ายเบี้ยเลี้ยงในส่วนของการทำงานครบจำนวนวันในงวดการทำงาน และได้รับเบี้ยเลี้ยงเพิ่มโดยรวมส่วนของวันหยุดประจำสัปดาห์นั้น การจะได้รับเบี้ยเลี้ยงส่วนนี้ต่อเมื่อทำงานครบจำนวนวันในงวดการทำงาน 15 วัน หากทำงานไม่ครบจำนวนวันจะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง การจ่ายเบี้ยเลี้ยงส่วนนี้จึงมิใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ แต่เป็นการจ่ายเพื่อจงใจให้พนักงานรายวันขยันมาทำงานทุกวันจึงมิใช่ค่าจ้าง แต่การจ่ายเบี้ยเลี้ยงประจำวัน วันละ 10 บาท เป็นการจ่ายแก่พนักงานรายวันทุกวันที่มาทำงาน จึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 5 ที่ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 5 ที่ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6699/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง ต้องมีอำนาจบังคับบัญชาและปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมาย
การที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลว่าเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ด้วย
พนักงานขายบัตร ทำงานตามช่วงเวลาที่ระบุไว้จะไปทำงานหรือไม่ก็ได้ หากไม่ไปก็เพียงแต่แจ้งทางโทรศัพท์ ไม่ต้องยื่นใบลา ได้รับค่าตอบแทนจากการขายจากจำนวนบัตรที่ขายได้ในแต่ละวันหากขายไม่ได้หรือขายได้เพียงหนึ่งใบจะไม่ได้รับค่าตอบแทน แม้จะมาทำการขายในวันดังกล่าวก็ตามไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลาและสวัสดิการ จึงเป็นการทำงานโดยอิสระ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาและไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การตกลงกันปฏิบัติงานตามช่วงเวลาที่ประสงค์และการกำหนดให้พนักงานขายบัตรที่มาทำงานสายต้องถูกหักเงินเป็นค่าปรับ ก็มิใช่การใช้อำนาจบังคับบัญชา แต่เป็นเพียงการวางกฎเกณฑ์เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับพนักงานขายบัตรจึงมิใช่นายจ้างและลูกจ้างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าตรวจรักษาแพทย์อิสระมิใช่ค่าจ้างตามพรบ.ประกันสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างโรงพยาบาลและแพทย์จึงไม่เป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง
เงินค่าตรวจรักษาที่โจทก์จ่ายให้แก่แพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์มีลักษณะเป็นเงินที่ผู้เข้ารับการรักษาจ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษา โดยแพทย์ใช้สถานที่ของสถานพยาบาลของโจทก์ โดยไม่มีวันและเวลาทำงานปกติ และโจทก์รับเงินดังกล่าวไว้แทนแล้วจ่ายคืนให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่งตามสัญญาการให้ใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอิสระ จึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างได้ทำสำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงาน เงินค่าตรวจรักษาจึงมิใช่ค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มและเมื่อเงินค่าตรวจรักษามิใช่ค่าจ้างแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับแพทย์ประจำสถานพยาบาลของโจทก์ในส่วนของเงินค่าตรวจรักษาจึงมิใช่ผู้ที่รับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างและมิใช่ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533
of 3