คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 383 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 52 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4290/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ (ลิสซิ่ง) ศาลลดเบี้ยปรับลงได้ และปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
สัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 9.2 กำหนดว่า "ในกรณีที่ผู้เช่าต้องการเลิกสัญญาก่อนกำหนด โดยมิใช่เป็นความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าต้องแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งนี้ผู้เช่าต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าตามเงื่อนไขดังนี้... 9.2.2 กรณียกเลิกสัญญาในปีที่ 2 ผู้เช่าต้องชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากับร้อยละ 40 ของยอดค่าเช่าพึงชำระ นับตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันสิ้นสุดสัญญา..." สัญญาเช่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นการให้เช่าแบบลิสซิ่งซึ่งมีกำหนดระยะเวลาเช่า 5 ปี หากครบกำหนดโจทก์จะได้รับค่าเช่า 876,000 บาท แต่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยการคืนรถยนต์ที่เช่าและให้โจทก์รับรถวันที่ 19 มีนาคม 2561 หลังจากทำสัญญาเช่าเพียง 1 ปี 4 เดือน 19 วัน โจทก์ได้รับค่าเช่าเพียง 242,548.39 บาท จึงไม่ได้รับค่าเช่าส่วนที่เหลือ 633,451.61 บาท แต่อย่างไรก็ตามสัญญา ข้อ 9.2.2 ดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือบอกกล่าวการผิดนัดของผู้ค้ำประกัน, ผลของการบอกกล่าวไม่ถูกต้อง, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามสัญญา
จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (BIBOR) (3 เดือน) บวกร้อยละ 3 ต่อปี และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลอนดอน (LIBOR) บวกร้อยละ 3 ต่อปี แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามประกาศการเรียกเก็บเงินให้กู้ยืมหรือหนี้ที่ผิดนัดชำระในช่วงเวลานั้น ๆ ของธนาคารที่ได้มีการประกาศเป็นคราว ๆ ตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากยอดเงินกู้หรือภาระหนี้ที่ผิดนัด โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี กรณีเช่นนี้จึงเป็นภาระชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัดแก่โจทก์ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ถือว่าเป็นคุณและเหมาะสมแก่โจทก์แล้ว
กรณีหนี้ในส่วนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กรณีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดภายหลังวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ในการส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันนั้น ต้องพิจารณาประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนี่ง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 จึงถือว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย แต่ในส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 อันเป็นเวลาพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 184/165 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองระบุว่า จำเลยที่ 2 ตั้งอยู่เลขที่ 95 ประกอบกับในสัญญาค้ำประกัน ระบุว่า "ที่อยู่ของผู้ค้ำประกันที่ระบุไว้ข้างต้น เป็นที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยของผู้ค้ำประกันและจะถือว่าเป็น "ภูมิลำเนา" ตามกฎหมายตามลำดับ ที่ธนาคารจะใช้ในการจัดส่งการบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายไปยังผู้ค้ำประกัน และเพื่อจัดส่งเอกสารอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล การบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายทั้งปวง (ไม่ว่าจัดส่งโดยวิธีไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์ธรรมดาหรือโดยพนักงานส่งเอกสาร) ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้รับไปครบถ้วนแล้ว..." แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองถือว่ายังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่เคยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 การบอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกตามสัญญาค้ำประกัน สำหรับหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันนั้น โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 326,666.30 บาท และโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งหกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองเฉพาะหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและเป็นการบอกกล่าวก่อนที่จะเกิดหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวข้างต้น ถือว่าหนี้ในส่วนนี้โจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในหนี้ดังกล่าว ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยทบต้นจากข้อตกลงในสัญญากู้ยืม และการลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน
ตามสัญญาเงินกู้ ข้อ 4 ระบุว่า "หากผู้กู้ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่าหนึ่งปี ผู้กู้ยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระ มารวมกับเงินต้นเดิมเป็นเงินต้นใหม่ และให้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นใหม่นี้ โดยจะคิดทบไปทุกปี จนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญา" จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมได้ตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง และไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ทั้งข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (9) ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยยังคงค้างชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดแล้วก็ตาม จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรลดเบี้ยปรับลง โดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงทบดอกเบี้ยเข้าต้นเงิน: ชอบด้วยกฎหมายหากไม่ใช่เบี้ยปรับสูงเกินไป
การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น เป็นข้อตกลงที่มีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระดอกเบี้ย โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียวนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1101/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับ, สัญญาค้ำประกัน, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ศาลลดเบี้ยปรับ, กรอบเวลาความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งหกชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชําระหนี้แก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์อาศัยข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามคําขอสินเชื่อ คําขอสินเชื่อธุรกิจ ประเภทวงเงินออกหนังสือค้ำประกัน คำขอและข้อตกลงยินยอมให้ธนาคารออกหรือต่ออายุหนังสือค้ำประกัน ที่ระบุว่า "หากโจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดจนค่าปรับต่าง ๆ จำเลยที่ 1 จะรับผิดชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์ทันทีพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันไปนั้น" ข้อตกลงดังกล่าวจะเห็นว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากจำเลยที่ 1 ได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีลูกหนี้ไม่ชําระหนี้อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่นําสืบข้อเท็จจริง ให้ได้ความตามฟ้อง ปัญหาว่าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 เดิม หรือตามมาตรา 686 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขใหม่ หรือไม่เพียงใด ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246
จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่มาตรา 19 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ บทบัญญัติของมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่จึงต้องบังคับใช้กับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มเป็นเบี้ยปรับ ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามกฎหมาย
ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่ต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ กรณีผู้ใช้ความถี่วิทยุไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินเวลากำหนด ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงตามหนังสือเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการเพื่อสื่อมวลชน ดังนั้น การเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าว จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลลดค่าปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 383
หากโจทก์ผู้รับจ้างปฏิบัติผิดข้อกำหนดตามที่ระบุในสัญญา จำเลยผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้า จึงเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับและค่าปรับที่จำเลยเรียกจากโจทก์สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยคิดค่าปรับจากโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดค่าปรับซึ่งเป็นเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืน เพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1547/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับสัญญาจ้างก่อสร้าง: การยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขทำให้สิทธิในการเรียกร้องลดเบี้ยปรับขาดอายุตามกฎหมาย
จำเลยหักเงินค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าปรับรายวันในการส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาจ้าง แม้จะได้ความว่าโจทก์เคยทำหนังสือร้องขอให้จำเลยทบทวนแก้ไขสัญญาจ้าง กรณีกำหนดอัตราค่าปรับเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการโต้แย้งไม่ยินยอมให้จำเลยนำค่าปรับรายวันและค่าเสียหายตามสัญญาจ้างหักออกจากเงินค่าจ้างของโจทก์ จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุโดยใช้ข้อบังคับของจำเลยและระเบียบซึ่งกำหนดเรื่องค่าปรับรายวันตามสัญญาจ้าง เมื่อโจทก์ทราบอัตราค่าปรับรายวันอัตราร้อยละ 0.20 ของจำนวนค่าจ้างก่อนทำการประมูลงาน เท่ากับว่าโจทก์ยอมรับข้อกำหนดในเรื่องค่าปรับรายวันในอัตราดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่จะปรับลดค่าปรับรายวันให้แก่โจทก์ การที่โจทก์รับเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าปรับรายวันและค่าเสียหายต่าง ๆ จากจำเลยโดยไม่ได้โต้แย้ง ย่อมถือว่าโจทก์ได้ใช้เงินค่าปรับหรือเบี้ยปรับแก่จำเลยแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดเบี้ยปรับจึงเป็นอันขาดไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับจากข้อตกลงรถยนต์คันแรก ศาลยืนตามดุลยพินิจลดอัตราดอกเบี้ย
ตามคำขอใช้สิทธิและเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกที่กำหนดว่า กรณีผู้ขอใช้สิทธิมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขสละสิทธิการโอนรถยนต์ใหม่คันแรกภายใน 5 ปี ให้ครบถ้วนจะต้องนำเงินที่ได้รับไปส่งคืน โดยยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เป็นกรณีที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นเบี้ยปรับและใช้ดุลพินิจปรับลดเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนและหนังสือค้ำประกัน: ความรับผิดของคู่สัญญา, เบี้ยปรับ, และการชำระหนี้
ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
of 6