คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมศักดิ์ เนตรมัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 841 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12709/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลตเตอร์ออฟเครดิต: ธนาคารปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามเงื่อนไข แม้ผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตยังไม่ได้รับเอกสาร
การฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องทรัพย์สินให้กลับมาเป็นของลูกหนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำเร็จลุล่วง ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้บริหารแผนจึงมีอำนาจฟ้องคดีได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางก่อน โดยเป็นการฟ้องคดีในนามของโจทก์มิใช่ในนามของผู้บริหารแผน
ข้อกำหนด UCP 500 ข้อ 3 และข้อ 4 แสดงให้เห็นสภาพของสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นอันเป็นมูลหนี้ที่ก่อให้เกิดการชำระหนี้ด้วยเครดิต ธนาคารตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผูกพันตามสัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่น แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารตามที่ระบุไว้ในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต และจะไม่เกี่ยวข้องกับสินค้า บริการ หรือการปฏิบัติอื่นใด ซึ่งเอกสารนั้นอาจเกี่ยวพันไปถึง
ข้อกำหนด UCP 500 ข้อ 15 ระบุว่า ธนาคารผู้ตรวจเอกสารไม่ต้องรับภาระหรือรับผิดชอบต่อแบบฟอร์ม ความครบถ้วน ความถูกต้อง เป็นของแท้ เป็นของปลอม หรือการก่อให้เกิดผลตามกฎหมายของเอกสาร นั้น หมายความว่า การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับเอกสารนั้น ถ้าเอกสารนั้นมีความสมบูรณ์และตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ก็มีภาระผูกพันต้องชำระเงินตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต โดยไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับแบบฟอร์มของเอกสาร ความแท้จริงของเอกสาร การปลอมแปลงของเอกสาร ปัญหากฎหมายของเอกสาร ลักษณะ ประเภทสินค้า ปริมาณ น้ำหนัก คุณภาพ สภาพของสินค้า การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง หรือมูลค่าของสินค้าที่ส่งมอบให้แก่กัน
พิธีปฏิบัติของธนาคารตามมาตรฐานสากลเพื่อการตรวจสอบเอกสารภายใต้เครดิตที่มีเอกสารประกอบหรือ ISBP ข้อ 9 ให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเอกสารบุคคลผู้ออกเอกสารจะต้องลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไข และทำได้ด้วยการขูดลบ ขีดฆ่า หรือเพิ่มเติมในข้อความ การที่หนังสือฉบับนี้ฉีกขาดออกจากกันโดยถูกตัดหรือกรีดด้วยของมีคม ทำให้กระดาษชิ้นที่ถูกตัดหลุดออกเป็นช่องสี่เหลี่ยม แต่มีการนำกระดาษชิ้นที่หลุดออกมาต่อใหม่ด้วยเทปพลาสติกใส การฉีกขาดดังกล่าวจึงมิได้มีลักษณะเป็นการฉีกทำลายเอกสาร ดังนั้น เอกสารหรือข้อความในเอกสารจึงมิได้เสียไป ทั้งข้อความและความหมายของเอกสารดังกล่าวมิได้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องให้ผู้ออกเอกสารลงลายมือชื่อกำกับรับรองความถูกต้องตามข้อ 9 ของข้อกำหนด ISBP ถือได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามข้อตกลงและเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต
แม้โจทก์จะเคยขอให้จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชะลอการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ไว้ก่อน เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับเอกสารการขนส่งสินค้าจากผู้ขาย และจำเลยที่ 2 แจ้งว่าได้ยกเลิกการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์แล้ว แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ก็ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่าได้รับเอกสารที่ผู้รับประโยชน์ยื่นขอรับเงินที่จำเลยที่ 2 จัดส่งไปให้แล้ว และเห็นว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว จึงได้จ่ายเงินไป การจ่ายเงินของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตอย่างมีเหตุผลในฐานะธนาคารตัวแทนของธนาคารผู้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ทั้งมิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจถือว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12708/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางสัญญาประกันภัย การชำระค่าสินไหมทดแทน และการขายซากสินค้า
จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งอื่นมีหน้าที่ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดเหตุมาส่งมอบให้ผู้รับตราส่งที่ท่าเรือฮ่องกง และเมื่อตู้คอนเทนเนอร์ถูกยกขึ้นจากเรือไปวางบนลานพักสินค้าของการท่าเรือฮ่องกง ถือว่าหน้าที่ในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ตู้คอนเทนเนอร์ที่ได้ส่งมอบไว้ที่การท่าเรือฮ่องกงถือว่าไม่ได้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 แล้ว การพบเหตุเพลิงไหม้ภายในตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าพิพาทหลังจากมีการลากตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวไปยังโรงพักสินค้า ไม่อาจถือได้ว่าความเสียหายของสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์เกิดในระหว่างที่ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39
การติดเครื่องหมายและสัญลักษณ์ไว้ที่ถังให้เห็นได้ชัดเจนนั้นไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการแจ้งถึงสภาพอันตรายของสินค้าให้ผู้ขนส่งทราบ เพื่อให้ผู้ขนส่งทราบสภาพอันอาจก่อให้เกิดอันตรายและกระทำการเพื่อป้องกันด้วยการจัดระวางสินค้าอันตรายให้เหมาะสมและปิดเครื่องหมายอันตรายไว้ที่ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าอันตรายนั้นด้วย แต่หากผู้ขนส่งได้ทราบถึงอันตรายของสินค้า เช่น มองเห็นจากเครื่องหมายอันตรายที่ติดประทับอยู่ที่ถังบรรจุสินค้า ก็อาจทำให้จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นเนื่องในการขนส่งสินค้าอันตรายนั้นตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 34 (2)
ความรับผิดของผู้ส่งของในกรณีที่ผู้ส่งของไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติถึงเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. กำหนด 10 ปี กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 มาใช้บังคับแก่ผู้ส่งของได้
พยานหลักฐานมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า สินค้าอาจต้องมีการตรวจสอบถึงประสิทธิภาพในการทำงาน แต่การที่ส่งกลับมาตรวจสอบประสิทธิภาพที่ประเทศไทย รวมทั้งเปลี่ยนกล่องบรรจุสินค้าใหม่จะมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งเมื่อผู้ซื้อทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แสดงเจตนาไม่ยอมรับสินค้าดังกล่าว ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวแล้ว การนำออกประมูลขายที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงจึงน่าจะเป็นวิธีการบรรเทาความเสียหายของสินค้าได้ดีกว่าวิธีอื่น กรณีถือว่าสินค้าเสียหายอย่างสิ้นเชิงโดยปริยาย
เมื่อความเสียหายที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยนั้นคือการไม่ได้รับสินค้าที่มีสภาพถูกต้องครบถ้วน ณ สถานที่ส่งมอบปลายทาง อันมูลค่าสินค้าในเวลาและสถานที่นั้นย่อมต้องรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมด้วย ประกอบกับสินค้าในคดีคือเครื่องจักรและปั๊มน้ำ 110 หน่วย ที่ต้องถูกขนส่งจากกรุงเทพมหานครไปยังประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งการเดินทางมีระยะทางไกลและต้องใช้เวลาในการเดินทางทางเรือค่อนข้างนานนั้นเป็นสินค้าใหม่ ราคาสินค้าตามท้องตลาดที่ปลายทางจึงอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย การที่โจทก์จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยเต็มตามสัญญาซึ่งสูงกว่าราคาสินค้าที่เป็นราคา ซีไอเอฟ (CIF) ร้อยละ 10 ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัยไป จึงเชื่อได้ว่าเป็นการจ่ายโดยชอบตามความเสียหายที่แท้จริงแล้ว โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6936/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินค้าสูญหายระหว่างขนส่ง: จำเลยไม่ต้องรับผิดหากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นหลังส่งมอบสินค้า
บริษัท ค. เป็นผู้ประกอบวิชาชีพรับจ้างจัดบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ประจำอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพ ย่อมต้องมีความซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง สินค้าแผ่นยางพาราที่มิได้บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ ตู้ละ 30 มัด นับว่าเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะทำให้น้ำหนักของสินค้าขาดหายไปถึง 3,330.30 กิโลกรัมในแต่ละตู้และจำนวนสินค้าแผ่นยางพาราจำนวน 180 มัด ที่วางเรียงกันเป็น 11 แถวในแต่ละตู้ จะมีสินค้าในตู้ที่ขาดหายไปถึงเกือบ 2 แถว ซึ่งผู้ทำหน้าที่จัดบรรจุ ตรวจนับ และตรวจการบรรจุสินค้าย่อมสามารถเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน และเมื่อพิจารณาใบตรวจรับสภาพตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าแผ่นยางพาราแล้วปรากฏว่า ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสองที่โจทก์อ้างว่ามีสินค้าแผ่นยางพาราสูญหายไปยังคงมีน้ำหนักสินค้ารวมตู้ตู้ละ 22 ตัน หากมีการบรรจุสินค้าขาดไปตู้ละ 30 มัด น้ำหนักรวมของตู้ควรเหลือประมาณตู้ละ 19 ตันเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้ามิได้สูญหายไปในช่วงการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือต้นทางและตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดที่ถูกลากมายังโรงงานของผู้รับสินค้า ซีลปิดตู้ทุกตู้ยังอยู่ในสภาพดี แสดงให้เห็นว่า ตู้ไม่ได้ถูกเปิดออกนับตั้งแต่มีการบรรจุสินค้าเข้าที่ท่าเรือกรุงเทพ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าสินค้าสูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5775/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศในเครือข่าย DHL ที่มีหน้าที่ดูแลการขนส่งและการชดใช้ค่าเสียหาย
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลคนละบริษัท แต่ทั้งสองบริษัทก็ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางอากาศเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติเหมือนกัน ใช้คำว่า DHL เป็นส่วนหนึ่งของชื่อทางการค้าและการบริการด้วยกัน ศ.ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างลูกค้าติดตามและตรวจสอบเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 3 บริษัท ฟ. ผู้รับตราส่ง เป็นลูกค้าประจำของจำเลยที่ 3 และมีบัญชีลูกค้าอยู่กับจำเลยที่ 3 เพื่อเรียกเก็บค่าบริการและตามใบรับขนของทางอากาศของสินค้าตามฟ้อง ได้ระบุว่า ค่าระวางการขนส่งสินค้าครั้งนี้ให้เรียกเก็บจากบัญชีของบริษัท ฟ. ย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าระวางขนส่งสินค้าตามฟ้องจากบริษัท ฟ. แทนจำเลยที่ 2 และตามใบรับขนของทางอากาศ จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งมีหน้าที่นำสินค้าตามฟ้องไปส่งให้แก่บริษัท ฟ. ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี หากสินค้าไม่สูญหาย จำเลยที่ 3 จะติดต่อกับบริษัท ฟ. ว่าจะให้จำเลยที่ 3 ดำเนินพิธีศุลกากรและนำของไปส่งมอบให้บริษัทหรือไม่ หรือบริษัทจะส่งตัวแทนไปดำเนินพิธีศุลกากรเพื่อออกของเอง การระบุชื่อที่อยู่ของบริษัทมิได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 จะต้องนำสินค้าไปมอบให้แก่บริษัท ฟ. แต่ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจะมอบหมายให้ผู้ใดเป็นตัวแทนในประเทศไทยขนส่งสินค้าไปมอบให้แก่บริษัท ฟ. นอกจากจำเลยที่ 3 ซึ่งให้บริการเป็นเครือข่ายเดียวกัน การที่จำเลยที่ 3 ได้มีการมอบหมายให้มีการตรวจสอบคลังสินค้าของจำเลยที่ 3 ว่ามีการขนส่งสินค้าดังกล่าวมาที่ประเทศไทยแล้วหรือไม่ ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ว่าการขนส่งสินค้าจากบริษัทในเครือข่าย DHL จากต่างประเทศอาจนำเข้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 3 เพื่อจัดส่งให้แก่ผู้รับสินค้าหรือผู้รับตราส่งต่อไปและการมอบหมายให้ น. พนักงานของจำเลยที่ 3 รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งสินค้าตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดูแลสินค้าที่ทางจำเลยที่ 2 ส่งมายังผู้รับตราส่งในประเทศไทยเช่นกัน นอกจากนี้ตามไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ น. มีถึงบริษัท ฟ. แจ้งว่าจะไม่เรียกเก็บค่าระวางขนส่งสินค้าตามฟ้องจากบริษัท ฟ. เนื่องจากสินค้าสูญหายไปหมดและ ศ.ก็เบิกความรับว่า การเรียกร้องค่าเสียหายของสินค้าต้องเสนอให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 จะเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้ โดยไม่มีการส่งใบเรียกร้องค่าเสียหายไปให้จำเลยที่ 2 ที่สาธารณรัฐอิตาลี จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีส่วนได้เสียร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งสินค้าตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าที่บรรทุกเกินความสามารถของเรือ ทำให้สินค้าเสียหาย ผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว สามารถเรียกร้องจากผู้ขนส่งได้
โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าซึ่งผู้ขายขอเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้อง การประกันภัยคุ้มครองสินค้าระหว่างการขนส่งจากโรงงานของผู้ขายจนถึงโรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรี โดยยังไม่ได้อ้างถึงกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิด จำเลยให้การต่อสู้ว่าผู้ขายเอาประกันภัยสินค้าไว้เฉพาะช่วงที่ขนส่งจากประเทศอินโดนีเซียมาถึงเกาะสีชังเท่านั้น ไม่ได้ขยายความคุ้มครองไปถึงช่วงที่ขนส่งจากเกาะสีชังไปยังโรงงานของผู้ซื้อตามที่โจทก์อ้าง โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อและไม่อาจรับช่วงสิทธิจากผู้ซื้อ ข้ออ้างของจำเลยส่วนนี้เป็นไปตามข้อความตามที่ปรากฏในเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยท้ายฟ้อง ในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบและอ้างส่งกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดอีกฉบับ โดยอ้างว่ากรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารท้ายฟ้องระบุให้เงื่อนไขการประกันภัยเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดดังกล่าวที่โจทก์ไม่ได้อ้างถึงและมิได้ส่งมาท้ายคำฟ้องเพื่อให้จำเลยได้ตรวจสอบก่อนทำคำให้การ ทั้งที่เอกสารดังกล่าวโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นและเป็นเอกสารที่อยู่ในครอบครองของโจทก์ จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงเป็นรายละเอียดที่เพิ่งปรากฏขึ้นในชั้นพิจารณา ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธความคุ้มครองของการประกันภัยสินค้ารายนี้อย่างชัดแจ้งไว้แล้ว และก็ได้ถามค้านเอกสารทั้งสองฉบับในประเด็นนี้ไว้แล้ว อุทธรณ์ส่วนนี้จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยชอบที่จะยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้
แม้การประกันภัยสินค้าตามฟ้องจะมีหลักฐานเป็นหนังสือตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งระบุว่า บริษัท บ. ผู้ขาย เป็นผู้เอาประกันภัย ระบุชื่อยานพาหนะว่าเรือ อ. ระบุการเดินทางของเรือว่าจากท่าเรือประเทศอินโดนีเซียไปเกาะสีชัง ประเทศไทย และในช่องข้อกำหนดหรือเงื่อนไขพิเศษระบุข้อความว่าเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดซึ่งหมายถึงกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดซึ่งเป็นสัญญาประกันภัยทางทะเลแบบเปิด (MARINE CARGO OPEN POLICY) ระหว่างบริษัท ป. ผู้เอาประกันภัย กับโจทก์ผู้รับประกันภัย เห็นได้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ คู่สัญญาในส่วนของผู้เอาประกันภัยเป็นนิติบุคคลต่างรายกันแต่คู่สัญญาในส่วนของผู้รับประกันภัยเป็นนิติบุคคลเดียวกันคือโจทก์ เมื่อสัญญาประกันภัยทางทะเลตามกรมธรรม์ประกันภัย บริษัท บ. ได้ทำขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายสินค้าถ่านหินระหว่างบริษัท บ. ผู้ขายกับผู้ซื้อ ซึ่งกำหนดให้ผู้ขายมีหน้าที่ทำประกันภัยให้มีผลคุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าระหว่างการขนส่งตั้งแต่ท่าเรือต้นทางที่บรรทุกสินค้าไปจนถึงโรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรี การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยยอมรับเงื่อนไขพิเศษตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิด ซึ่งโจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับประกันภัยด้วยมาเป็นข้อกำหนดหรือเงื่อนไขพิเศษของสัญญาประกันภัยที่โจทก์ทำสัญญารับประกันภัยสินค้าตามฟ้องกับบริษัท บ. ผู้ขาย ตามกรมธรรม์ประกันภัย แม้บริษัท บ. จะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากบริษัท ป. แต่ก็เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ทั้งข้อกำหนดและเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย โดยมีผลให้การคุ้มครองสินค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นการให้ความคุ้มครองตั้งแต่ท่าเรือต้นทางไปจนส่งมอบถึงโรงงานผู้ซื้อที่จังหวัดสระบุรีเมื่อผู้ขายมีหน้าที่ทำประกันภัยความเสียหายของสินค้าตามสัญญาระหว่างการขนส่ง ผู้ขายจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าตามฟ้องตลอดการขนส่งจนกว่าสินค้าจะเดินทางถึงโรงงานของผู้ซื้อ การประกันภัยสินค้าจึงครอบคลุมถึงความเสียหายหรือสูญหายของสินค้า
ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคลื่นและลมในท้องทะเลช่วงที่เกิดเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวเรือที่เดินเรือในท้องทะเลบริเวณเกิดเหตุแต่อย่างใด คงเกิดความเสียหายแก่เรือทั้งสองลำดังกล่าวเท่านั้น การที่เรือไทยขนส่ง 46 และเรือไทยขนส่ง 45 มีความสามารถบรรทุกสินค้าได้อย่างปลอดภัยเพียง 590 เมตริกตัน แต่จำเลยจัดสินค้าถ่านหินบรรทุกถึงลำละ 1,300 เมตริกตัน เกินกว่าความสามารถบรรทุกตามที่ได้จดทะเบียนไว้กว่า 2 เท่า ความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย จำเลยเป็นผู้ขนส่งซึ่งได้รับมอบหมายสินค้าตามฟ้องไว้ในความครอบครองดูแลเพื่อการขนส่ง จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3878/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล กรณีสินค้าสูญหายจากการบรรจุตู้คอนเทนเนอร์
ใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.14 นั้น โจทก์เป็นผู้อ้างสำเนาใบตราส่งดังกล่าวเป็นพยานของตน และไม่มีคู่ความโต้แย้งความไม่ถูกต้องของสำเนาเอกสารดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ว่าเอกสารหมาย จ.14 เป็นเพียงสำเนาศาลไม่ควรรับฟัง
ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 จัดการขนส่งสินค้าทั้ง 5 กล่อง ที่ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อจากบริษัท ด. ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จำเลยที่ 1 มอบหมายจำเลยที่ 2 ติดต่อขอรับสินค้าทั้ง 5 กล่อง จากผู้ขาย โดยจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.12 ระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่ง หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 3 รับขนส่งและออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.13 ให้จำเลยที่ 2 โดยระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง แต่จำเลยที่ 3 ไม่มีเรือจึงว่าจ้างให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งเงื่อนไขการส่งแบบ FCL/FCL โดยจำเลยที่ 3 รับตู้คอนเทนเนอร์ไปบรรจุสินค้าตามฟ้องรวมทั้งสินค้าอื่นเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ปิดผนึกตู้และนำตู้ดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.14 ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงอยู่ในสถานะเป็นผู้ขนส่งอื่น การที่ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 และ จ.14 ระบุหมายเหตุว่า FREIGHT COLLECT ย่อมหมายความว่า ค่าระวางขนส่งให้เรียกเก็บที่ท่าปลายทางและใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 ที่จำเลยที่ 2 ออกให้แก่ผู้ซื้อระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับตราส่ง แต่ก็มีข้อความด้านล่างระบุว่า เฉพาะการติดต่อขอรับสินค้าให้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 และตามข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 4 ขนส่งสินค้าตามฟ้องมาถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้ผู้เอาประกันภัยทราบ ให้ผู้เอาประกันภัยมาติดต่อกับจำเลยที่ 1 และจ่ายค่าระวางเรือให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อจำเลยที่ 4 ให้ออกใบปล่อยสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้รับบำเหน็จค่าระวางเรืออันเนื่องมาจากตกลงรับจ้างจัดการขนส่งสินค้าตามฟ้องรวมการขนส่งด้วย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอันมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งประเภทไม่มีเรือเป็นของตนเองทั้งในการตกลงรับสินค้าตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ก็มิได้แสดงให้ผู้เอาประกันภัยได้ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือผู้ขนส่งรายใด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เข้าร่วมเป็นผู้ขนส่งด้วย
จำเลยที่ 3 รับสินค้าทั้ง 5 กล่อง มาจากจำเลยที่ 2 แล้ว ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.13 และจำเลยที่ 3 มีหน้าที่นำสินค้าทั้ง 5 กล่อง บรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ปิดตู้ผนึกซีลกำกับด้วยหมายเลข นำตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 4 บรรทุกขึ้นเรือเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพท่าปลายทาง ไม่ปรากฏมีร่องรอยการเปิดตู้คอนเทนเนอร์มาก่อนหน้านี้ เมื่อเปิดตู้คอนเทนเนอร์พบว่า สินค้าตามฟ้องมีเพียง 3 กล่อง แสดงว่าสินค้า 2 กล่อง ที่สูญหายไปนั้น มิได้ถูกบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งแต่แรก แสดงว่าสินค้า 2 กล่อง สูญหายไปในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 แต่โจทก์ก็ไม่ได้พยานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดในลักษณะละเลยหรือไม่เอาใจใส่ อาจมีคนร้ายมาลักเอาสินค้า 2 กล่อง ไปก่อนปิดตู้คอนเทนเนอร์ โดยจำเลยที่ 3 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ไม่ทราบก็เป็นได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า ความสูญหายของสินค้าตามฟ้องเกิดขึ้นเพราะความละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยที่ 3 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ทั้งที่รู้ว่าความสูญหายของสินค้าอาจเกิดขึ้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งมาบังคับแก่ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3723/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของผู้รับจ้างขนส่งและตัวแทนในการขนส่งสินค้าเสียหาย
คดีนี้มีมูลเหตุจากการที่บริษัท ย. ในประเทศไทย สั่งซื้อเครื่องอัดฉีดพลาสติกจากประเทศญี่ปุ่น สินค้าถูกขนส่งทางทะเลจากท่าเรือเมืองโยโกฮาม่าถึงท่าเรือกรุงเทพ และผู้ซื้อได้เอาประกันภัยความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าในระหว่างการขนส่งจากโรงงานของผู้ขายจนถึงโรงงานของผู้ซื้อไว้กับโจทก์ เมื่อสินค้าเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ผู้ซื้อว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงงานของผู้ซื้อรวมทั้งติดตั้งเครื่องจักรดังกล่าว กระบวนการขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงงานของผู้ซื้อจึงเป็นส่วนหนึ่งของการขนส่งระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิประกอบกิจการประกันภัยในราชอาณาจักรไทย จึงมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลโดยรับประกันภัยสินค้าตลอดเส้นทางการขนส่งตั้งแต่โรงงานของผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นจนกว่าสินค้าจะถึงโรงงานของผู้ซื้อในประเทศไทยหรือไม่ เมื่อความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งทางบกก่อนสินค้าจะถูกส่งถึงมือผู้ซื้อ โจทก์จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายของสินค้าดังกล่าวตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ และโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยไป โจทก์จะเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากผู้ที่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวได้หรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะร่วมกันขนส่งสินค้าแล้วทำให้สินค้าเสียหายเป็นคดีนี้ จึงไม่มีข้อสงสัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับพิจารณาพิพากษาคดีชอบแล้ว
จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างจากผู้เอาประกันภัยจัดการนำสินค้าออกจากท่าเรือกรุงเทพ ผ่านพิธีศุลกากรและขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงงานของผู้เอาประกันภัยรวมทั้งการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรดังกล่าวไปติดตั้งในโรงงานของผู้เอาประกันภัยโดยจำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เอาประกันภัย การที่จำเลยที่ 1 ไปติดต่อเช่ารถฟอร์คลิฟท์จากจำเลยที่ 2 มาดำเนินการในส่วนของการเคลื่อนย้ายและติดตั้งเครื่องจักร จำเลยที่ 2 มิได้ทำการขนส่งเครื่องจักรแม้เพียงช่วงใดช่วงหนึ่ง จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่น แต่ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินการขนย้ายและติดตั้งเครื่องจักร จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11695-11698/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับขนและผู้รับประกันภัยค้ำจุน กรณีสินค้าเสียหายจากการขนส่งทางอากาศ
จำเลยที่ 2 ทำสัญญารับประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1 เพื่อความเสียหายอันเกิดแก่สินค้าที่จำเลยที่ 1 รับขนแก่ผู้เสียหาย และ ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ใช้บังคับแก่ความรับผิดตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนด้วย ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย สินค้าเกิดความเสียหายหลังจากจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้แก่ ก. ขนส่งทางอากาศยานกรุงเทพไปถึงท่าอากาศยานเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และเมื่อผู้รับตราส่งได้รับสินค้าจึงพบเห็นความเสียหายของสินค้า กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าวันที่ผู้รับตราส่งพบความเสียหายของสินค้าเป็นวันที่เกิดความเสียหายหรือวันวินาศภัย
โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ไปรับมอบสินค้าจากโรงงานโจทก์และขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ ว. ที่ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มียานพาหนะเป็นของตนเอง จึงว่าจ้าง ก. เป็นผู้ขนส่งแทน จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งและ ก. เป็นผู้ขนส่งคนอื่นซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาทไปอีกทอดหนึ่ง แม้ความเสียหายของสินค้ามิได้เกิดขึ้นระหว่างที่สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลครอบครองของจำเลยที่ 1 แต่อยู่ในความดูแลของ ก. จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าในฐานะเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท
แม้สินค้าแต่ละกล่องมีน้ำหนักมากกว่า 600 กิโลกรัม แต่กล่องกระดาษมีขนาด 105 ? 98 ? 108 เซนติเมตร พร้อมฝาปิด มีความหนาของกระดาษ 1.5 เซนติเมตร กล่องที่บรรจุสินค้าพิพาทแล้วจะปิดฝากล่องแล้วผนึกด้วยผ้าเทปกาวรอบกล่องอย่างแน่นหนา รัดรอบกล่องตามแนวตั้งและแนวนอนด้วยสายรัดพลาสติก แนวละ 2 เส้น กล่องสินค้าพิพาททุกกล่องจะวางบนแผงไม้รองสินค้า 1 แผง และยึดติดกันด้วยสายรัดพลาสติกดังกล่าว นับว่าการบรรจุและหีบห่อสินค้าพิพาทมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอและเหมาะสมแก่การขนส่งทางอากาศ
การซื้อขายสินค้าตามฟ้องเป็นสัญญาซื้อขายในเทอม DDU (Delivery Duty Unpaid) หมายความว่า ผู้ขายมีหน้าที่นำสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ ณ ที่อยู่ของผู้ซื้อ ยกเว้นหน้าที่ในการนำเข้าของสินค้าท่าปลายทาง ดังนั้นราคาสินค้ารวมค่าระวางขนส่งทั้งหมดและค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรนำสินค้าส่งออก และผู้ซื้อจะชำระราคาเมื่อได้รับมอบสินค้าแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบในค่าระวางขนส่งและค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรส่งออกสินค้า ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ผู้ขายที่จะต้องไปดำเนินการ การที่โจทก์ไปดำเนินพิธีศุลกากรนำเข้าสินค้าให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งด้วย โดยโจทก์มิได้นำสืบว่ามีข้อตกลงในสัญญาซื้อขายให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวด้วย โจทก์จึงชอบที่จะไปทวงถามให้ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เฉพาะมูลค่าของสินค้าพิพาทที่เสียหายเท่านั้น
ความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามสัญญารับขนของในฐานะผู้ขนส่งมิใช่ความรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดเมื่อถูกทวงถามแล้วเท่านั้น โดยเฉพาะกรณีที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดแทนจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์จะเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ต่อเมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ไม่ชำระ ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีการทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เมื่อใด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องคดีเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10783/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายฝากทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ ไม่เข้าข่ายความผิดตาม ป.อ. มาตรา 187 หรือโกงเจ้าหนี้
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 187 ต้องเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด หรือที่ตนรู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัด จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว และจำเลยได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าว เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่คดีนี้ขณะที่จำเลยขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 5052 ให้แก่ พ. นั้น ยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยกับพวกชำระหนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 187

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10632/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล่อซื้อบริการค้าประเวณีเพื่อจับกุมผู้กระทำผิด และความผิดฐานจัดหาเด็กเพื่อค้าประเวณี
การใช้เจ้าพนักงานตำรวจไปล่อซื้อบริการค้าประเวณีเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยตามอำนาจใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยพร้อมด้วยพยานหลักฐาน ดังนั้นการใช้เจ้าพนักงานตำรวจไปล่อซื้อบริการค้าประเวณีจากจำเลยจึงเป็นเพียงวิธีพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบ จึงมิใช่เป็นการก่อหรือใช้ให้จำเลยกระทำความผิด
การที่จำเลยเป็นธุระจัดหาเด็กหญิง ก. ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เพื่อทำการค้าประเวณีให้แก่ ณ. แม้ ณ. ยังไม่ได้ร่วมประเวณีกับเด็กหญิง ก. ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
of 85