พบผลลัพธ์ทั้งหมด 329 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฉ้อโกงประชาชนออนไลน์-เฟซบุ๊ก-การแสดงข้อความเท็จ-การโอนเงิน-ความผิดทางอาญา-การยกคำขอค่าเสียหาย
การที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ที่โจทก์ได้ขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ตกไปด้วย จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3143/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานฉ้อโกง ยอมความชดใช้ค่าเสียหาย สิทธิฟ้องระงับ รอการลงโทษจำคุก
หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าได้วางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมจำนวน 70,000 บาท ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมแถลงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 วางเงินชำระค่าเสียหายแล้ว โจทก์ร่วมก็ไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและอาญาต่อจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ตามรายงานกระบวนพิจารณาวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถือได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2638/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฉ้อโกงทองคำ - การบังคับชำระราคาทองคำที่แท้จริง - อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมไปหลายรายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,075,012 บาท แต่โจทก์และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนทองคำที่ฉ้อโกงไปคืนหรือใช้ราคา 11,103,793 บาท ซึ่งเกินไปกว่าราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไป โดยส่วนที่เกินกว่าราคาทองคำที่แท้จริงเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนหรือชดใช้ราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไปแทนโจทก์ร่วม อันเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมต้องสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้เท่านั้น ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มมิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองซื้อขายทองคำกันจริง หากแต่เป็นเพียงอุบายของจำเลยทั้งสองในการฉ้อโกงโจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องมีหน้าที่นำส่งค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากร ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมิใช่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเกิดจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โจทก์ร่วมไม่อาจเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาทองคำที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์ร่วมไปนั้น โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีเสียดอกเบี้ยให้แก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยนิติกรรมหรือกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้เรียกดอกเบี้ยสูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นดอกเบี้ยของค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โดยโจทก์ร่วมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยของราคาทองคำในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมแต่ละรายการ จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชดใช้ราคาทองคำเสร็จแก่โจทก์ร่วม โดยดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้ปรับเปลี่ยนไปตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ร่วมขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปลอมและใช้โฉนดที่ดินปลอม การรับคำสารภาพ และผลกระทบต่อการนับโทษและคำขอชดใช้ค่าเสียหาย
เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) เพราะโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การระงับคดีอาญาและการกระทบต่อคำขอทางแพ่ง การปลอมแปลงเอกสารและผลกระทบต่อการคืนเงิน
เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในข้อหาฉ้อโกงและยักยอกระงับไปแล้ว ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ตกไปด้วย จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์เสียด้วย ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยเจตนาทุจริต และการแจ้งข้อมูลเท็จเพื่อออกบัตร ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
จำเลยปลอมใบสมัครบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของโจทก์ร่วม ใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกบัตร โดยจำเลยใช้เอกสารของผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยปลอมขึ้นไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมได้ออกบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยใช้โจทก์ร่วมเป็นเครื่องมือในการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงของโจทก์ร่วมในนามของผู้เสียหายที่ 2 ให้แก่จำเลย เพื่อจำเลยจะนำไปใช้ชำระค่าสินค้าค่าบริการและเบิกถอนเงินสดในนามของผู้เสียหายที่ 2 แทนตัวจำเลยเอง ซึ่งมีผลทำให้ผู้เสียหายที่ 2 อาจต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ร่วมแทนจำเลย เมื่อจำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองใบดังกล่าวไปใช้ จึงเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ
จำเลยใช้บัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของผู้อื่นไปเบิกถอนเงินสดเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการเท่ากับจำเลยแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 2 หลอกลวงร้านค้าและโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยได้ไปซึ่งตัวสินค้าและบริการจากผู้ถูกหลอกลวงจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งพนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43
จำเลยใช้บัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของผู้อื่นไปเบิกถอนเงินสดเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการเท่ากับจำเลยแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 2 หลอกลวงร้านค้าและโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยได้ไปซึ่งตัวสินค้าและบริการจากผู้ถูกหลอกลวงจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งพนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 639/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องเอง โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาแทน
คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิตและแก่กายดังกล่าว มิใช่ทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดในคดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว และคำขอคืนเงินไม่เป็นฟ้องซ้อน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท ศ. หลอกลวงผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกค้าและทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัท ศ. ว่าบริษัท ศ. มีนโยบายสมนาคุณให้แก่ลูกค้าพิเศษ มีโครงการรับฝากเงินแบบออมทรัพย์พิเศษจากลูกค้าโดยจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จ่ายผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้าทุก 6 เดือน อันเป็นความเท็จ โจทก์ร่วมหลงเชื่อสั่งจ่ายเช็ค 21 ฉบับ ให้จำเลยแล้วจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ ศาลต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีเจตนาฝากเงินแต่ละครั้งตามวันเดือนปีที่โจทก์ร่วมสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับให้แก่จำเลยหรือโจทก์ร่วมมีเจตนาฝากเงินเพียงครั้งเดียว ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่งประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ขอให้คืนเงินแม้ถือว่าเป็นการขอแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แต่เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาอันเป็นมูลละเมิดเท่านั้น ส่วนคดีแพ่งโจทก์ร่วมฟ้องว่าจำเลยและบริษัท ศ. ฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์และเรียกทรัพย์คืนอันเป็นมูลหนี้มาจากการผิดสัญญา ถึงแม้คำขอบังคับส่วนแพ่งในคดีนี้และคดีแพ่งเป็นอย่างเดียวกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิใช่เป็นอย่างเดียวกัน กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 คำขอให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยและบริษัท ศ. ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พิพากษายืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขายทรัพย์สินโดยมิใช่ตัวแทน ยักยอกทรัพย์หรือไม่ และการบังคับชำระหนี้ในคดีอาญา
โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปขาย โดยโจทก์ร่วมกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่ต้องนำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับโจทก์ร่วมยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากจำเลย ตามพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะได้รับเงินที่ได้จากการขายทับทิมคืนเท่านั้น การที่จำเลยไม่ส่งมอบคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วนเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 คดียักยอกถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงิน 500,000 บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ร่วมด้วยแล้ว แม้จำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานยักยอก แต่เมื่อจำเลยรับว่าต้องคืนเงิน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขายฝากทับทิมไม่ใช่ยักยอก หากจำเลยผิดสัญญาคืนเงิน ศาลมีอำนาจสั่งคืนได้แม้ไม่มีความผิดอาญา
โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้จำเลยไปขายโดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่นำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อจำเลยขายทับทิมได้แล้วไม่ส่งเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงิน 500,000 บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยรับว่าต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่