คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นพวรรณ อินทรัมพรรย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 289 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10409/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การยึดรถยนต์เกินสิทธิ ทำให้เกิดละเมิดต่อคู่สัญญา
ก่อนคดีนี้จำเลยได้นำหนี้ตามสัญญาเช่าซี้อรถยนต์พิพาทมาฟ้องให้โจทก์รับผิดแล้ว แต่ภายหลังตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวและคำพิพากษาตามยอมถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของจำเลยที่จะเรียกร้องให้โจทก์รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเดิมเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 จำเลยคงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น เนื่องจากคำพิพากษาตามยอมย่อมมีผลผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แต่สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา เมื่อข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุไว้เพียงว่าหากโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาผิดนัด โจทก์ยินยอมให้จำเลยบังคับเอากับหนี้ที่เหลือได้ทั้งหมด โดยไม่มีข้อความใดระบุให้สิทธิแก่จำเลยติดตามยึดรถยนต์พิพาทคืน ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยก็ชอบที่จะร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการบังคับคดีเอากับหนี้ที่เหลือตามคำพิพากษาตามยอมทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยได้ทันทีเท่านั้นไม่มีสิทธิที่จะไปยึดรถยนต์พิพาทได้อีก การกระทำของจำเลยที่มอบหมายให้พนักงานของจำเลยไปยึดรถยนต์พิพาทแล้วนำออกขายทอดตลาดจึงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10185/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินส่วนหนึ่งกลายเป็นทางสาธารณะ โจทก์ซื้อที่ดินรวมส่วนสาธารณะแล้ว ไม่มีกรรมสิทธิ์ฟ้องรื้อถอน
ว. เจ้าของที่ดินเดิมมีเจตนาอุทิศที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้ร่วมกัน จึงย่อมมีผลให้ที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันที โดยไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อที่ดินส่วนที่เป็นทางเดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วก่อนที่ ว. จะขายที่ดินให้แก่โจทก์ กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ประชาชนทั่วไปในละแวกนั้นจะได้ใช้ทางเดินพิพาท และเมื่อทางเดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์เสียก่อนแล้ว การที่จำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานทางเดินพิพาทตามแนวทางเดินเดิมที่ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว ทางเดินพิพาทจึงมิอาจโอนให้แก่กันได้โดยทางนิติกรรม เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 29420 ซึ่งรวมเอาทางเดินพิพาทไว้ด้วยภายหลังจากที่ทางเดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว โจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9923/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายและครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกาแก้ไขโทษให้ลงโทษปรับด้วยตามกฎหมายยาเสพติด
โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 115 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ดังกล่าว คำนวณสารบริสุทธิ์ได้ 3.116 กรัม เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 15 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย ดังนั้น จึงย่อมสามารถคำนวณหาสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 15 เม็ด โดยคำนวณเทียบกับปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ซึ่งคำนวณแล้ว เป็นสารบริสุทธิ์ 0.406 กรัม ซึ่งเกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แต่ไม่ถึงยี่สิบกรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำคุกจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ลงปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาลงโทษปรับจำเลยได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินโดยไม่มีอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้ผู้รับจำนองจะสุจริตก็ไม่อาจยันเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้
โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดจำนองที่ดินพิพาทและลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจที่เป็นเอกสารและโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ถูกลักไปไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่อย่างใดแม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามก็ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างยันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง: อำนาจสืบสวน คดีระงับ และหลักฐานสนับสนุน
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 49 วรรคสอง (1) (2) ได้บัญญัติระยะเวลามีผลใช้บังคับวิธีการหาเสียงเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้เป็น 2 กรณี กรณีแรกที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่เก้าสิบวันก่อนวันครบอายุจนถึงวันเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่สองเป็นกรณีที่เป็นการเลือกตั้ง อันเนื่องมาจากเหตุอื่นนอกจากกรณีแรกให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้ง กรณีของผู้คัดค้านเป็นกรณีเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นระยะเวลาที่ใช้บังคับวิธีการหาเสียงกรณีของผู้คัดค้านจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นที่ทราบทั่วกัน ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 วรรคสอง (2)
แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ (1)...มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้คัดค้านอ้าง แต่การยุบสภามีผลเพียงทำให้สมาชิกภาพของผู้คัดค้านซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเท่านั้น ซึ่งหากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เพราะเหตุที่มีการกระทำตามคำร้อง การวินิจฉัยและมีคำสั่งโดยศาลฎีกาก็จะไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป คดีนี้ผู้ร้องมีคำขอเพียงประการเดียวคือ ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านเป็นเวลาห้าปี ซึ่งเป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสมาชิกภาพของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงยังคงร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งในกรณีนี้ได้ หาได้ระงับไปเพราะเหตุที่มีการยุบสภาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1344/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: การวินิจฉัยบทบาทตัวการ/ผู้สนับสนุน และการริบของกลาง
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่รับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในขณะที่จำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีสิบตำรวจเอกหญิง ศ. เข้าไปในบ้าน จากนั้นจำเลยที่ 2 รีบนำเมทแอมเฟตามีนที่ได้รับไปโยนทิ้งลงในโถส้วม ทั้งยังตักน้ำเพื่อราดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวทิ้งลงไปในคอห่าน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ที่มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 34 เม็ดดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ซึ่งปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1268/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งมอบหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแก่ทายาท ความผูกพันทางทรัพย์สินหลังการตายของผู้ค้ำประกัน
ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อ พ. ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคหนึ่ง แม้ขณะที่ พ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดสัญญาหรือผิดนัดก็ตาม สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของ พ. ไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ พ. ทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: ศาลอุทธรณ์แก้เฉพาะบทลงโทษโดยยังคงความผิดเดิมและโทษจำคุกตลอดชีวิต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสาม, 102 แต่ปรับบทลงโทษเฉพาะความผิดฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายและฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เพียงในส่วนของการปรับบทลงโทษว่า จำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ด้วยเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และลงโทษฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนของการปรับบทกำหนดโทษ แต่ยังคงวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ซึ่งมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน คดีถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำเลยจากประวัติอาชญากรรมเดิมถูกจำกัดโดย พ.ร.บ.ล้างมลทิน และศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้
แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบจำเลยว่า เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษหรือไม่และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏก็ตาม แต่จำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าเคยต้องโทษในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจริง ถือว่าความปรากฏแก่ศาลแล้ว การที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยปัญหาข้อนี้จึงไม่ชอบ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยพ้นโทษมาแล้วก่อนวันที่ พระราชบัญญัติใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12000/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กฎกระทรวงใหม่ยกเลิกกฎกระทรวงเดิม การชักจูงเด็กประพฤติไม่สมควรต้องตีความตามกฎหมาย
แม้ขณะเกิดเหตุมีกฎกระทรวง (พ.ศ.2515) ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 294 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 กำหนดว่า การประพฤติตนไม่สมควรแก่วัยคือ การประพฤติตนดังต่อไปนี้ (9) เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนระหว่างเวลา 22 นาฬิกา ถึงเวลา 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นเว้นแต่ไปกับบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ยังมีผลบังคับใช้จึงทำให้การเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนหลัง 22 นาฬิกาของ ท. ป. ธ. และ ส. เป็นการประพฤติตนไม่สมควร อันมีผลสืบเนื่องทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้เฝ้าร้านเกมในขณะเกิดเหตุเป็นผู้กระทำความผิดฐานชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (3) มีผลใช้บังคับอยู่ก็ตาม แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ.2549 โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 4 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ใช้บังคับแทนแล้ว ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่า กรณีเด็กเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนระหว่างเวลา 22 นาฬิกา ถึงเวลา 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เป็นการประพฤติตนไม่สมควร จึงเป็นกรณีที่กฎกระทรวงฉบับใหม่ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับเดิมทั้งฉบับ ถือได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำดังกล่าวนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
of 29