คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กนก อินทรัมพรรย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 28 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3040/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเลิกกันแล้ว การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการก่อสร้าง และการหักกลบลบหนี้จากค่าเสียหายฐานละเมิด
คดีก่อนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างตึกแถวและเรียกค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์คดีนี้ผิดสัญญาไม่ยอมส่งมอบตึกแถวแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเลิกกัน คู่ความต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยโจทก์ต้องคืนที่ดินพร้อมตึกแถวซึ่งถือว่าเป็นส่วนควบตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินและตึกแถวต่อไป ส่วนค่าเสียหายนั้น เนื่องจากได้ตกลงเลิกสัญญากันแล้วโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ส่งมอบตึกแถว จำเลยทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้ พิพากษาให้ขับไล่โจทก์คดีนี้ออกจากที่ดินและตึกแถว ดังนั้น ผลของคำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์คดีนี้ โจทก์คดีนี้จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินและตึกแถวนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนคือวันที่ 12 ตุลาคม 2537 ให้โจทก์คดีนี้ฟัง การที่โจทก์คดีนี้คงอยู่ต่อมาจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2538 จึงเป็นละเมิด ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและตึกแถว จึงเป็นการฟ้องแย้งเพื่อให้บังคับตามสิทธิที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
โจทก์ก่อสร้างตึกแถวตามสัญญา ต่อมาจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาก่อสร้างตึกแถวและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวเลิกกันเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2528 ดังนั้น โจทก์จึงควรได้ค่าก่อสร้างตึกแถวเพียงเท่าที่ก่อสร้างจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากตกลงกัน 6 เดือน หลังจากนั้นโจทก์ยังก่อสร้างตึกแถวอีก 3 เดือน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาทจำนวน 3 ห้องให้แก่โจทก์เนื่องจากเป็นการงานอันได้กระทำให้ตาม ป.พ.พ. 391 วรรคสาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ยังคงอยู่ในที่ดินและตึกพิพาทต่อมา ศาลย่อมมีอำนาจนำค่าเสียหายส่วนนี้มาหักกลบลบหนี้กับจำนวนค่าก่อสร้างตึกแถวจำนวน 3 ห้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2200/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีอาญาจากการไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน: ความผิดธรรมดา ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคเสรีธรรมแล้ว เป็นผลให้สมาชิกภาพของจำเลยและตำแหน่งกรรมการสาขาพรรคของจำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 6 กันยายน 2544 และจำเลยมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งกรรมการในพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง แต่จนถึงวันฟ้องวันที่ 30 ตุลาคม 2545 จำเลยก็ยังมิได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จำเลยจึงมีความผิดเมื่อพ้นกำหนด 30 วันดังกล่าว คือ มีความผิดตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544 ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 84 ระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และระวางโทษดังกล่าวมีอายุความเพียง 1 ปี ตามอายุความคดีอาญาทั่วไปใน ป.อ. มาตรา 95 วรรคหนึ่ง (5)
จำเลยมิได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2544 จำเลยจึงมีความผิดตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544 การกระทำโดยการงดเว้นและเจตนามิได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิ้น สำเร็จเป็นความผิด เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่กำหนด เป็นความผิดธรรมดาที่เกิดจากการกระทำครั้งเดียว กฎหมายมิได้บัญญัติให้แม้ภายหลังจากนั้นก็ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอยู่ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่ความผิดต่อเนื่อง ส่วนการที่จำเลยยังคงมิได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อมาถึงวันฟ้องเป็นเพียงผลของการกระทำโดยการงดเว้นดังกล่าวเท่านั้น ส่วนที่ความผิดดังกล่าวมีระวางโทษให้ปรับเป็นรายวันต่อไปอีกตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องนั้นเป็นเพียงบทกำหนดโทษ เป็นบทบังคับคดีให้ผู้กระทำความผิดยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อนายทะเบียนพรรคให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว เมื่อมิใช่ความผิดต่อเนื่องอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544 ที่จำเลยมีความผิด โจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 30 ตุลาคม 2545 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิด จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าจากพฤติการณ์ยิงหลายนัดในจุดสำคัญ และเหตุบันดาลโทสะที่ไม่สมเหตุผล
จำเลยเคยรับราชการทหารมาก่อน เป็นผู้มีความคุ้นเคยและสันทัดจัดเจนการใช้อาวุธปืน ย่อมทราบอานุภาพความร้ายแรงของอาวุธนั้นว่าหากถูกอวัยวะสำคัญของบุคคลใดอาจทำให้บุคคลนั้นเสียชีวิตได้ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมหลายนัดที่บริเวณท้องและทรวงอกซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญด้วยความโกรธที่จำเลยพูดกับโจทก์ร่วมแล้วโจทก์ร่วมมิได้ยินยอมตามความประสงค์ของจำเลย ย่อมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1029/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพที่ขัดแย้ง & พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ศาลยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย
คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่า แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 จะอนุญาตให้อ้างเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ได้ แต่การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะมิใช่เป็นพยานหลักฐานที่ดีที่สุดที่โจทก์พึงนำมาแสดง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และพฤติการณ์ในการได้มาซึ่งคำให้การรับสารภาพดังกล่าวด้วย
แม้คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกการจับกุมจะมีใจความสอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจตรี ว. แต่บันทึกคำให้การรับสารภาพที่พันตำรวจตรี ว. ได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเขียนบันทึกคำให้การรับสารภาพ โดยให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ กลับมีใจความที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คงมีแต่ข้อความในสามบรรทัดสุดท้ายเท่านั้นที่พอจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จำเลยที่ 2 ถูกตรวจค้นและจับกุมในขณะเกิดเหตุ แต่ก็มิได้แสดงให้เห็นด้วยว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลาง พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมจึงขัดแย้งกันเองในข้อสำคัญ และมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อของพยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนด้วย เพราะนอกจากคำให้การตามคำให้การรับสารภาพซึ่งวินิจฉัยว่าเป็นคำให้การปฏิเสธ จะขัดแย้งตรงกันข้ามกับคำให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาแล้ว ยังปรากฏว่าหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 กับพวกเวลา 0.30 นาฬิกา จนถึงเวลาที่จำเลยที่ 2 ถูกส่งตัวให้แก่พนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 ถูกสอบปากคำอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าพนักงานตำรวจหลายคนเป็นเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง และเมื่อพันตำรวจตรี ช. พนักงานสอบสวนได้รับตัวจำเลยที่ 2 ไว้แล้ว ได้ทำการสอบปากคำจำเลยที่ 2 ต่อเนื่องไปจนถึงเวลา 12 นาฬิกา ที่นำตัวจำเลยส่งไปชี้ที่เกิดเหตุและถ่ายภาพไว้ด้วย ดังนั้น การสอบปากคำจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนรวมทั้งการนำจำเลยที่ 2 ไปชี้ที่เกิดเหตุและถ่ายภาพจึงมีเหตุสมควรสงสัยว่าน่าจะเกิดขึ้นระหว่างที่จำเลยที่ 2 มีความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียทั้งร่างกายและจิตใจ และมีผลกระทบต่อน้ำหนักความน่าเชื่อของคำรับสารภาพที่ได้รับจากจำเลยที่ 2 ด้วย พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามตามมาตรา 249 และข้อจำกัดเรื่องทุนทรัพย์ในการฎีกา รวมถึงประเด็นการพิพากษาเกินคำขอ
ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยให้ เนื่องจากไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการแย่งการครอบครอง ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นเป็นข้อพิพาทไว้ คำให้การของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแต่ประการใด และไม่วินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
โจทก์บรรยายความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสองมาในฟ้อง แต่มิได้มีคำขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12207/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์อาการป่วยเพื่อขอเลื่อนคดี ศาลมีอำนาจตรวจอาการและไม่อนุญาตเลื่อนหากไม่พิสูจน์ได้
เมื่อศาลสงสัยว่าทนายจำเลยมีอาการป่วยร้ายแรงถึงกับจะมาศาลไม่ได้หรือไม่ ศาลมีอำนาจที่จะตั้งเจ้าพนักงานศาลไปทำการตรวจดูว่าทนายจำเลยป่วยจริงตามคำร้องขอเลื่อนคดีหรือไม่ การที่ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจทนายจำเลย โดยให้แพทย์ตรวจอาการแสดงว่า ศาลมีความสงสัยตามควรแล้วว่าทนายจำเลยจะป่วยเจ็บตามคำร้องถึงกับจะมาศาลไม่ได้จริงหรือไม่ เมื่อทนายจำเลยมีภาระพิสูจน์แต่มิได้พิสูจน์ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนการนั่งพิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไป จึงชอบแล้ว
ชั้นไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ พยานจำเลยซึ่งคือตัวจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องว่ามีเหตุขัดข้องว่ามีเหตุอันควรอย่างไรจึงมาศาลไม่ได้ จำเลยไม่มีพยานมาสืบโจทก์จึงไม่มีอะไรให้ต้องสืบคัดค้าน คดีเสร็จการพิจารณาและเมื่อศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจึงต้องงดไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่และให้ยกคำร้อง เพราะการไต่สวนคำร้องต่อไปจะเท่ากับเป็นการอนุญาตให้ฝ่ายจำเลยเลื่อนคดี
ศาลชั้นต้นมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาสั่งให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 และ 167

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9189/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้คัดค้านในฐานะอยู่กินฉันสามีภริยาและมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านและผู้ตายได้ทำพิธีจัดงานสมรสเป็นที่รู้กันในหมู่ญาติทั้งสองฝ่ายและบุคคลทั่วไป จากนั้นผู้ตายได้แยกจากครอบครัวมาอยู่กินฉันสามีภริยาตามลำพังกับผู้คัดค้านที่บ้านบนที่ดินราชพัสดุที่ผู้ร้องโอนให้ โดยผู้ร้องได้ยกให้ผู้ตายกับผู้คัดค้านอยู่ร่วมกัน ผู้ตายและผู้คัดค้านต่างมีอาชีพของตนเป็นกิจจะลักษณะ ได้อยู่ร่วมกันตลอดมาจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นสามีภริยากันย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียอยู่ในทรัพย์ของผู้ตายและชอบที่จะร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง โดยคำว่า "ผู้มีส่วนได้เสีย" ในบทบัญญัตินี้หาจำต้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิหรือมีส่วนรับมรดกด้วยไม่ เมื่อผู้คัดค้านและผู้ตายอยู่กินทำมาหาได้ด้วยกันตามลำพังสองคนโดยไม่มีญาติผู้ใดหรือแม้แต่ผู้ร้องเข้าเกี่ยวข้องรู้เห็นการบริหารครอบครัวของคนทั้งสอง ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้เดียวที่รู้เรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายเป็นอย่างดีจึงย่อมสามารถรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ดีกว่าผู้อื่น ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งตั้งให้ผู้คัดค้านร่วมเป็นผู้จัดการมรดกด้วยนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9061/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษคดีความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลนับโทษต่อกันได้หากไม่ใช่ความผิดที่ฟ้องรวมกันได้
คดีนี้กับคดีก่อนเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือพิจารณาพิพากษารวมกันได้ จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (3) ศาลย่อมนับโทษจำคุกตลอดชีวิตคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกตลอดชีวิตในคดีก่อนได้
of 3