คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 540 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2635/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีแรงงาน: การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้าม และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงว่า จำเลยกำลังจะปิดบริษัทเนื่องจากขาดทุนอย่างมหาศาล ต้องลดกำลังคน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมแล้ว จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ลาออก ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานมิได้นำใบลาออกและหนังสือปลดเปลื้องสิทธิเรียกร้องของโจทก์มาพิจารณาว่าโจทก์ลาออก อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เป็นรายเดือนจึงจ่ายค่าจ้างต่าง ๆ ให้ครบในแต่ละเดือนแล้ว เอกสารที่โจทก์อ้างโดยขอหมายเรียกจากจำเลย ในนัดแรก ๆ จำเลยยังจัดหาให้ไม่ได้ ภายหลังโจทก์แถลงไม่ติดใจอ้างเอกสารเหล่านั้น ทั้งที่จำเลยเตรียมมาให้แล้ว ศาลแรงงานก็ไม่รับเอกสารเข้าสำนวนทั้งที่มีอำนาจ จำเลยไม่ได้แถลงคัดค้านไว้ก็เพราะเห็นว่าโจทก์ไม่ติดใจขอเอกสารนั้น ไม่ใช่เรื่องของจำเลยและไม่ทราบว่าการไม่นำส่งเอกสารจะกลับกลายเป็นโทษต่อจำเลย ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้โจทก์ได้ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดจึงคลาดเคลื่อนนั้น ศาลแรงงานฟังว่า โจทก์ทำงานทุกวันและทำงานล่วงเวลาทุกวันแม้ในวันหยุด แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราปกติมิได้จ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยฟังจากคำเบิกความของโจทก์ประกอบใบสำคัญการจ่ายค่าจ้าง และตารางคำนวณค่าจ้าง อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีกำไรประมาณ 5,000,000 บาท แล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยขาดทุนซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควรจะเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ: สิทธิลูกหนี้เลือกชำระเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน
ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตั๋วเครื่องบินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ มิได้ขอให้จำเลยชำระเป็นเงินตราไทย ศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว เป็นเงินตราไทยหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายที่จำเลยไม่สามารถยกขึ้นกล่าวในศาลแรงงานกลาง จำเลยจึงยกขึ้นกล่าว ในชั้นอุทธรณ์ได้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และตั๋วเครื่องบินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ และตามสัญญาจ้างระบุการจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ จำเลยจึงมีความผูกพันตามสัญญาต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้เงินที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ จำเลยอาจชำระเป็นเงินไทยก็ได้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงสิทธิของลูกหนี้ได้โดยลำพัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1766-1771/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชยเมื่อนายจ้างหยุดกิจการ โดยการโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานที่อื่นไม่ถือเป็นการยินยอม
ศาลแรงงานพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลย อีกทั้งคำแถลงรับของคู่ความแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีได้ จึงสั่งงดสืบพยานและใช้ดุลพินิจรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แน่ชัดเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง มีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปอันมีผลตลอดไปเป็นการถาวร ประการที่สอง นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง และประการที่สาม สาเหตุเนื่องมาจากสัญญาจ้างสิ้นสุดหรือเหตุอื่นใด
นายจ้างหยุดกิจการเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง แม้นายจ้างจะโอนย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานกับบุคคลภายนอกก็ต้องให้ลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วยจึงต้องถือว่านายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานอันมีผลตลอดไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเนื่องจากนายจ้างหยุดกิจการอันเป็นเหตุอื่นใด จึงเป็นกรณีเลิกจ้าง นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 เมื่อนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า นายจ้างจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 582 ด้วย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทผู้เป็นนายจ้าง จำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการใช้หนี้เงินของบริษัทนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: ศาลฎีกาเห็นว่าการอุทธรณ์ประเด็นเหตุผลความจำเป็นในการเลิกจ้างเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยประสบภาวะขาดทุนจริงแต่ผลประกอบการในปี 2542 ขาดทุนน้อยกว่าปี 2541 และจำเลยยังได้เปิดสถานที่ขายคอนกรีตเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง แสดงว่ากิจการของจำเลยดีขึ้น การเลิกจ้างโจทก์เป็นเพียงนโยบายลดค่าใช้จ่ายเท่านั้นเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักในปี พ.ศ. 2541 และ 2542จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งปรับโครงสร้างทางบุคลากรด้วยเพื่อให้กิจการของจำเลยอยู่ต่อไปได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เป็นกรณีที่ต้องนำข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติแล้วว่าจำเลยประสบภาวะขาดทุนในปี พ.ศ. 2541 และ 2542และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์อันสืบเนื่องจากสาเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8361/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงคดีแรงงาน และอำนาจฟ้องของเจ้าหนี้ในคดีปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 45 และมาตรา 48 โดยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวน อันเป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พระราชกฤษฎีกาการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่าจำเลยไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ จึงให้คณะกรรมการเดิมของจำเลยพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณะกรรมการของจำเลยเพื่อดำเนินการแทนจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 แสดงว่าจำเลยมิได้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู และโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามมาตรา 26 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าเจ้าหนี้ผู้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไม่ได้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7(3) และมาตรา 16(3)แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8361/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีแรงงาน และข้อยกเว้นการห้ามฟ้องคดีระหว่างการฟื้นฟูสถาบันการเงิน
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 และมาตรา 48 โดยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวน อันเป็นอุทธรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่าจำเลยไม่อาจฟื้นฟูฐานะและไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ จึงให้คณะกรรมการเดิมของจำเลยพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณะกรรมการของจำเลยเพื่อดำเนินการแทนจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 แสดงว่าจำเลยมิได้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู และโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามมาตรา 26 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าเจ้าหนี้ผู้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไม่ได้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (3) และมาตรา 16 (3) แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าวก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7767/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างครู การจ่ายค่าชดเชย และการประเมินความร้ายแรงของพฤติกรรมผิดวินัย
โจทก์และจำเลยต่างเป็นเอกชนที่ตกลงทำสัญญาจ้างกัน โดยจำเลยตกลงจ้างโจทก์ทำงานเป็นครู และให้ค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดเวลาที่ทำงานให้จำเลย จึงเป็นการจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 หาใช่เป็นสัญญาทางการปกครองไม่
แม้กฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ (1) จะกำหนดมิให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู แต่เมื่อสัญญาการเป็นครูเป็นสัญญาจ้างแรงงาน คู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 เพียงแต่ศาลแรงงานจะนำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาบังคับใช้แก่คดีไม่ได้ และสิทธิของคู่สัญญาย่อมเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่น
พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์ควบคุมโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพเท่านั้น มิใช่กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่นายจ้างลูกจ้าง หรือกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้าง หรือแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างลูกจ้าง อันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วย แรงงานสัมพันธ์ แม้จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครู โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่จะขจัดข้อพิพาทระหว่างครูใหญ่หรือครูกับ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 จึงมิใช่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ การฟ้องคดีจึงไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 กำหนดไว้ก่อน
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรมตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ตาม แต่การฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นเท่านั้น หาจำต้องอ้างบทกฎหมายที่กำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินตามฟ้องมาด้วยไม่ หรือถ้าอ้างบทกฎหมายมาด้วย ศาลก็มีอำนาจนำบทกฎหมายนอกเหนือจากที่โจทก์อ้างมาปรับกับข้อเท็จจริงตามฟ้องได้ เพราะเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องยกบทกฎหมายที่ถูกต้องมาปรับแก่ข้อเท็จจริงนั้น ที่ศาลแรงงานนำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 มาปรับแก่คดีนี้ จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
แม้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 34 จะได้กำหนดให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกสัญญาการเป็นครูในกรณี (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่ผู้รับใบอนุญาต (2) จงใจทำให้ผู้รับใบอนุญาตได้รับความเสียหาย (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้รับใบอนุญาตได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (4) ฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยจรรยา มรรยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครูตามที่คุรุสภากำหนด (5) ฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยจรรยา มรรยาท วินัยและหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ ครูใหญ่หรือครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2526 และ (7) มีความประพฤติไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่ แต่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการสั่งลงโทษครูใหญ่หรือครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2526 ข้อ 2 กำหนดการลงโทษครูใหญ่หรือครูไว้ 5 สถานได้แก่ (1) ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร (2) ภาคฑัณฑ์ (3) ตัดเงินเดือน (4) ลดเงินเดือนและ (5) ให้พ้นจากหน้าที่ ข้อ 3 กำหนดให้การสั่งลงโทษต้องให้เหมาะสมกับความผิด อย่าให้เป็นไปโดยพยาบาทหรือโดยโทสะจริต ข้อ 5 กำหนดว่า ถ้าปรากฏว่าเป็นการประพฤติผิดจรรยา มรรยาท หรือไม่ปฏิบัติตามวินัยหรือหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดเล็กน้อยไม่ถึงกับจะถูกลงโทษตัดเงินเดือนหรือลดเงินเดือน ก็ให้ผู้มีอำนาจลงโทษโดยการตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษรหรือภาคฑัณฑ์ตามควรแก่กรณี และข้อ 7 กำหนดว่า ในกรณีที่ครูประพฤติผิดจรรยา มรรยาท หรือไม่ปฏิบัติตามวินัยหรือหน้าที่ซึ่งผู้มีอำนาจเห็นควรลงโทษร้ายแรงถึงขั้นให้พ้นจากหน้าที่ครู ให้ทำการสอบสวนและเสนอให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานพิจารณาวินิจฉัยก่อน เห็นได้ชัดแจ้งว่า การประพฤติผิดจรรยา มรรยาท วินัยและหน้าที่ หรือประพฤติที่ไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่ มีระดับความร้ายแรงแตกต่างกันตามข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป จึงกำหนดให้ลงโทษแตกต่างกันไปตามระดับของความร้ายแรงนั้น
การที่จำเลยจะให้โจทก์พ้นหน้าที่ครูโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยต่อเมื่อการกระทำของโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการและระเบียบคุรุสภา ว่าด้วยจรรยา มรรยาท วินัยและหน้าที่ของครูโรงเรียนเอกชนและวินัยตามระเบียบประเพณีครู ต้องเป็นกรณีที่ร้ายแรงในระดับที่ใกล้เคียงกับการกระทำความผิดตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 34 (1) (2) และ (3) โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ไม่ใช้ความระมัดระวังปล่อยให้นักศึกษาลอกคำตอบข้อสอบกันซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวที่ยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยจะมีสิทธิเลิกสัญญาการเป็นครูโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ในการคุมสอบ ปล่อยให้นักศึกษาลอกคำตอบข้อสอบกัน ถือได้ว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7390/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การท้าคดีประเด็นสัญญาจ้างและการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ค่าเสียหายตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่าจำเลยจ้างโจทก์โดยมีการทดลองงานและจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงานการที่ศาลแรงงานพิเคราะห์เอกสารสัญญาจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็เพื่อวินิจฉัยตามคำท้าว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยมีการทดลองงานหรือไม่ และการที่ศาลแรงงานพิเคราะห์คำว่าพนักงานทดลองงานและคำว่าพนักงานสัญญาจ้างในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน แต่มิใช่เป็นการทดลองงานเป็นการวินิจฉัยคดีตรงตามคำท้าว่าจำเลยจ้างโจทก์โดยมีการทดลองงานหรือไม่แล้ว
คู่ความตกลงท้ากันว่าหากจำเลยแพ้คดีตามคำท้าถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ หมายความว่าเมื่อจำเลยแพ้คดีตามคำท้าแล้ว จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานและจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้สำหรับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมศาลแรงงานต้องใช้ดุลพินิจกำหนดให้โดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ด้วย การที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเต็มตามฟ้องให้แก่โจทก์ โดยมิได้พิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ชอบสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565-4576/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่? และมีผลต่อสิทธิการได้รับค่าชดเชยของลูกจ้างอย่างไร
โจทก์อุทธรณ์ว่า สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครมิได้เป็นหน่วยธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามคำนิยามคำว่า รัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยอ้างว่าพนักงานของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครทุกคนเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม แสดงว่าสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ มิฉะนั้นแล้วพนักงานของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครทุกคนคงไม่ต้องเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม และหากสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นรัฐวิสาหกิจตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางแล้ว ผลกำไรที่ได้จากการประกอบธุรกิจจะต้องนำส่งเพื่อเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร แต่กรณีของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าไม่ได้ใช้เงินงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร เงินเดือนของพนักงานก็ใช้เงินจากการประกอบกิจการของสถานธนานุบาลเอง การประกอบกิจการพาณิชย์ดังกล่าวมีผลกำไรก็ไม่ต้องนำส่งผลกำไรเพื่อเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ในปัญหานี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานธุรกิจที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการพาณิชย์ ถือเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
แม้สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครจะมิใช่ราชการส่วนท้องถิ่น แต่เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามคำนิยามของคำว่า รัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 กรณีไม่อาจนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับแก่โจทก์ได้ แต่ต้องนำ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับเทียบเคียงแก่กรณีของโจทก์ ซึ่งมีผลให้โจทก์ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของรัฐวิสาหกิจไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้อง ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครมิใช่ราชการส่วนท้องถิ่น ไม่เข้าข้อยกเว้นที่มิให้นำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามฟ้อง โดยนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา คดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4121/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำงานล่วงเวลาต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และต้องมีข้อตกลงเรื่องช่วงเวลา หากไม่มีข้อตกลง สั่งให้ทำงานล่วงเวลาถือไม่ชอบ
อุทธรณ์จำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน นอกจากนี้จำเลยยังได้อ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ในอุทธรณ์อีก จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
สัญญาจ้างแรงงานนอกจากจะบังคับใช้ตามบรรพ 3 ลักษณะ 6 แห่ง ป.พ.พ. แล้ว ยังจะต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะให้สอดคล้องกันด้วย ในเรื่องการทำงานล่วงเวลาได้มีการบัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฉะนั้น นายจ้างจะมีคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่ เพียงใด ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายฉบับนี้ คู่กรณีจะทำสัญญาให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหาได้ไม่
นายจ้างไม่มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานนอกจากจะเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป หมายความว่า เมื่อนายจ้างประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงระยะเวลาใด นายจ้างจะต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วง ระยะการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาไว้ก่อนล่วงหน้า หลังจากนั้นหากนายจ้างจะออกคำสั่ง ในเรื่องการทำงานล่วงเวลาอีกก็ต้องให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว ถ้าคำสั่งนั้นไม่สอดคล้องกับข้อตกลง ต้องถือว่าเป็นคำสั่งให้ทำงานล่วงเวลาที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ลูกจ้างไม่จำต้องปฏิบัติตามก็ได้
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงเรื่องกำหนดช่วงระยะการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาระหว่างจำเลยกับลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ คำสั่งของจำเลยให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะลงชื่อให้ความยินยอมว่าจะปฏิบัติตามก็ไม่ผูกพันโจทก์ให้ต้อง ทำงานล่วงเวลา การที่โจทก์ไม่ได้ทำงานล่วงเวลาทุกวันตามคำสั่งของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ขัดคำสั่ง ของจำเลยเรื่องการทำงานล่วงเวลา
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวหนึ่ง จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ แสดงอยู่ในตัวว่าศาลแรงงานวินิจฉัยคดีโดยปรับใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 ศาลแรงงานพิพากษาชอบแล้ว
of 54