คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 225

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4943/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนโทรมเด็กหญิง, การรวมโทษจำคุกเกิน 50 ปี, ศาลฎีกาแก้โทษตามกฎหมาย
คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้ากับคดีหมายเลขดำที่ อ 378/2564 หมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 แต่คดีดังกล่าวได้ยุติลงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยคู่ความไม่ได้ฎีกา คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
คดีนี้และคดีหมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้น เหตุเกิดวันเดียวกันและสถานที่เดียวกัน จึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (3) กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินห้าสิบปี เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ในแต่ละคดีมีกำหนด 37 ปี 4 เดือน แล้วนำโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้นมานับต่อจากคดีนี้ได้ ซึ่งเมื่อรวมโทษทุกคดีแล้วโทษจำคุกเกินห้าสิบปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษา โดยมิได้กำหนดว่าเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกต้องไม่เกินห้าสิบปีจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 พิพากษาแก้เป็นว่า นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้น ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1035/2564 ของศาลชั้นต้น แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกต้องไม่เกินห้าสิบปีตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4149/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญา, การปรับบทกฎหมาย, และการลดโทษที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยบรรยายแยกรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่กระทำความผิด จำนวนและราคาทรัพย์ที่ถูกลักในแต่ละครั้งตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นความผิดหลายกระทง ซึ่งโจทก์รวมมาในฟ้องเดียวกันได้ เพียงแต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 มีใจความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองโดยใช้รถบรรทุกเป็นยานพาหนะเพื่อการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จึงไม่ได้แยกต่างหากจากฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 แต่เป็นการบรรยายฟ้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งเมื่ออ่านคําฟ้องโดยรวมทั้งหมดแล้วถือว่า ฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 ได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดแล้ว จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้ แสดงว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 ถึง 1.8 จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาคดีฆ่าผู้อื่น: การลดโทษ, การพิจารณาเหตุผลในการลดโทษ และสิทธิในการอ่านคำพิพากษาของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดให้ผู้ร้องทั้งสองซึ่งยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 มาฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นและไม่ได้อ่านคำพิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองฟัง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 182 การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ตาม เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีส่วนอาญาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงเป็นความบกพร่องเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง มิได้มีผลกระทบต่อคดีส่วนอาญา ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/2 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3978/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ศาลปรับบทลงโทษจากฆ่าเป็นทำร้ายจนถึงแก่ความตาย
การที่ผู้ตายที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทง น. แล้ว น. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 1 จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยมิได้คบคิดนัดหมายกันมาก่อน ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานฆ่าผู้อื่นโดยพลาด แต่เมื่อจำเลยมีเจตนาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายที่ 1 มาตั้งแต่ต้นและร่วมชุลมุนชกต่อยผู้ตายที่ 1 จึงต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกจำเลยและ น. ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานทำร้ายผู้ตายที่ 1 จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 และฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายที่ 2 จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 60, 83 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3672/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำคุกโดยศาลอุทธรณ์เกินกว่าที่ศาลชั้นต้นตัดสิน และการแก้ไขคำพิพากษาที่ผิดพลาดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ให้ลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือน โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย เป็นจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี เช่นนี้ ย่อมเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212 แม้จำเลยทั้งสองไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะและการยอมความของผู้เสียหาย ไม่กระทบสิทธิโจทก์ในการฟ้องคดีอาญา
ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จำเลยที่ 1 นำเงินมาชดใช้ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการยอมความ อันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวระงับไป แต่มีผลทำให้คดีในส่วนแพ่งของผู้ร้องทั้งสองที่ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ระงับไปเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฉ้อโกงประชาชนและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การพิสูจน์การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน และการลดโทษรอการลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จผ่านทางโปรแกรมเฟซบุ๊กตามฟ้อง เสนอขายสินค้าซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่มีเจตนาขายสินค้าดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวหาด้วยว่าเป็นการหลอกลวงเสนอขายสินค้าต่อประชาชนอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 และไม่ได้บรรยายว่าการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ส่วนบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง โจทก์ก็ไม่บรรยายว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ อันจะถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน และการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน โจทก์จึงบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 343 และปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาปัญหานี้มา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอันเป็นการกระทำต่อบุคคลใดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ ย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้
การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 ไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำในวันและเวลาเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจจะเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยหลอกลวงโดยการส่งข้อความเสนอขายสินค้าให้แก่ผู้เสียหายผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องรวม 2 ครั้ง และผู้เสียหายซื้อสินค้าต่างชนิดกัน 2 ครั้ง เป็นการหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อให้ได้เงินจากผู้เสียหายในการซื้อสินค้าต่างชนิดกันรวม 2 ครั้ง จึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2324/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฐานะเจ้าพนักงาน vs. ยักยอกทรัพย์ - จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ข้าราชการ จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าพนักงาน แต่ความผิดฐานยักยอกยังคงมี
จําเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ม. ผู้เสียหาย ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดคํานิยามของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหมายถึงบุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษาจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ม. พ.ศ. 2537 และข้อบังคับมหาวิทยาลัย ม. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2552 ที่ใช้บังคับขณะจําเลยกระทำผิดแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจําเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกําหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จําเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และศาลไม่อาจลงโทษจําเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 ตามฟ้องของโจทก์ได้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จําเลยเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าและเกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้าย โจทก์คงมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกันกระทำผิดด้วยกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาดห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดนั้นและข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 บอกเล่าถึงความเป็นไปในการกระทำความผิด มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดแล้วให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพัง คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้ แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด หรือพยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีและไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มีพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย อันถือว่าเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นตามความหมายของพยานหลักฐานประกอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227/1 วรรคสอง กรณีจึงไม่ใช่พยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลอื่นมานำสืบเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อีก เช่นนี้ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุผลอันหนักแน่น ไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดสองฐานนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1856/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วม vs ผู้สนับสนุน – การปรับบทความผิดตามกฎหมายยาเสพติดใหม่ และการเพิ่มโทษซ้ำ
พยานหลักฐานของโจทก์เมื่อรับฟังประกอบกันทั้งหมดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นเป็นใจและร่วมเป็นตัวการในการกระทำความผิดตามฟ้องกับ น. ด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทำหน้าที่ขับรถในการขนลำเลียงเมทแอมเฟตามีนให้กับ น. ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุน น. ในการกระทำความผิดตามฟ้อง แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้เองและปรับบทความผิดให้ถูกต้องได้โดยลงโทษจำเลยไม่เกินกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้
of 229