คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พนมวรรณ ทองวิทูโกมาลย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดต่อความเสียหายจากเช็คปลอม แม้โจทก์ประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบ
ก. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงาน บางครั้งจะให้ ศ. พนักงานการเงินและบัญชีกรอกรายละเอียดในเช็คที่จะสั่งจ่าย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ลักเช็คพิพาททั้งสิบเจ็ดฉบับไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย หาก ก. ตรวจสอบก็จะทราบว่าลายมือที่ต้นขั้วเช็คเป็นของ ส. ไม่ใช่ลายมือของ ศ. โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การจ่ายเงินตามเช็คเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พนักงานจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยมีอยู่ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายจริงหรือไม่ เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมในเช็คแตกต่างกับลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คถึงสิบเจ็ดฉบับจึงเป็นการขาดความระมัดระวังเท่าที่สมควรจะต้องใช้ในกิจการเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ค รวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5042/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนเชิดไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ ฟ้องคืนทรัพย์ได้แม้ไม่มีหลักฐาน
การตั้งตัวแทนเชิดเพื่อทำกิจการอันใด ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากตัวแทน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4551/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: ข้อต่อสู้ผู้ต้องหา, พยานหลักฐาน, และการพิพากษาคดี
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้ในฟ้องข้อเดียวกัน เพียงแต่โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก่อนที่จะบรรยายการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และใช้คำเชื่อมประโยค เช่นคำว่า "โดย" "ดังกล่าวข้างต้น" เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ของการกระทำความผิดแต่ละฐาน ซึ่งเมื่ออ่านฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันโดยร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนจำนวนตามฟ้องและร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องจากการสมคบกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีน ดังนี้ โจทก์บรรยายฟ้องครอบคลุมถึงความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3730/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดสิทธิฎีกาในคดีอาญา: การโต้แย้งดุลพินิจศาลในการรอการลงโทษจำคุกเป็นฎีกาต้องห้าม
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ลงโทษปรับ 20,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 10,000 บาท และฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ปรับ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมเป็นปรับ 36,000 บาท เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 18,000 บาท แล้วรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินกระทงละ 2 ปี และปรับไม่เกินกระทงละ 40,000 บาท จึงห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่มาศาลของจำเลยทำให้ศาลไม่รับอุทธรณ์และคำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลย ทนายจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่มาแสดงตน เช่นนี้ การที่ทนายจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยปัญหาตามข้ออุทธรณ์แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจาร ไม่จำเป็นต้องมีการหน่วงเหนี่ยว การกระทำจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
การกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหว เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก "พราก" ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไป หรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยนัดแนะ หรือแยกผู้เสียหายที่ 2 ไปยังที่ต่างๆในโรงเรียน จำเลยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น แม้หลังถูกกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 มิได้ถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง มีอิสระในการเคลื่อนไหว และสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้ ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 140/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการยื่นฎีกาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษให้ใหม่ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) โดยอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยที่ 2 ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้าและภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ
of 3