คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 192 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 188 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาเกินคำขอในความผิดฐานมีอาวุธปืน และอำนาจศาลฎีกาในการแก้ไขเพื่อความสงบเรียบร้อย
โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะตามฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อไปว่า ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 หยิบอาวุธปืนจากจำเลยที่ 1 แล้ววิ่งออกจากที่เกิดเหตุไป จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้นเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยและพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา และความผิดดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10171-10182/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาที่ไม่ขอให้ลงโทษตามบทเฉพาะมาตรา และบททั่วไป ทำให้จำเลยพ้นผิด
นอกจากจำเลยมีหน้าที่รังวัดที่ดินแล้ว ผู้บังคับบัญชายังได้มอบหมายหน้าที่ให้จำเลยมีหน้าที่รับคำขอ ลงบัญชี รับทำการ เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม และออกใบเสร็จรับเงินด้วย การที่จำเลยรับเงินค่าธรรมเนียมรังวัดที่ดินจากผู้เสียหายทั้งสิบสองแม้ศาลชั้นต้นจะฟังข้อเท็จจริงที่ได้ตามทางพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่หรือแสดงตนว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือเงินนั้นโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 154 แต่ก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยได้ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 154 อันเป็นบทเฉพาะมาด้วย นอกจากนี้ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป โจทก์ก็มิได้อ้างมาในฟ้องทั้งมิได้ยกขึ้นฎีกา จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9161/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษในคดีก่อนกับคดีหลังตามกฎหมายอาญา
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติซึ่งศาลชั้นต้นอ่านให้จำเลยฟังตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตาม ป.อ. พ.ศ.2522 มาตรา 13 แล้ว จำเลยไม่คัดค้าน เป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามรายงานนั้นว่า ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ภายในระยะเวลา 2 ปี ในข้อหาความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราจึงเป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมความประพฤติดังกล่าว เมื่อภายในกำหนดระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนจำเลยมากระทำความผิดคดีนี้อีก ก็ต้องนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ก็ตาม กรณีนี้มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอและไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะกฎหมายบัญญัติให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังด้วยเสมอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8362/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพนักงานในหน่วยงานของรัฐ: การตีความคำว่า 'พนักงาน' และหลักการพิพากษาเกินคำขอ
จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่ง พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 มาตรา 4 บัญญัติว่า "พนักงาน" หมายความว่า พนักงานขององค์การโทรศัพท์และมาตรา 17 บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงานเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา แสดงว่าจำเลยทั้งสองย่อมเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่พนักงานตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 จึงไม่อาจนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาใช้บังคับลงโทษจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้
ตามฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 และ 11 โดยมุ่งประสงค์ให้ลงโทษตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเพียงประการเดียวหาได้ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 ดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดไม่ จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้เป็นเจ้าพนักงานซึ่งจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ศาลก็ต้องยกฟ้อง จะยกบทบัญญัติแห่ง ป.อ. ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับและไม่ได้กล่าวมาในฟ้องขึ้นมาพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองโดยโจทก์มิได้ขอไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษและโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดหรือเป็นเพียงรายละเอียดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหมิ่นประมาทที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย และอำนาจศาลแขวงในการพิจารณาคดี
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำคำแถลงต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์หน้าบัลลังก์โดยเปิดเผย มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อบุคคลที่สาม เพื่อให้ศาล เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องเมื่อได้เห็นเอกสารเชื่อว่าโจทก์มีอาชีพหากินกับศาลโดยไม่สุจริต เป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่จะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326, 328, 83 ฟ้องโจทก์ดังกล่าวมิได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 แม้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 328 และศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้เพราะเป็นการพิพากษาในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 เมื่อปรากฏว่าความผิดตาม ป.อ. มาตรา 326 มีอัตราโทษอย่างสูงซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาและชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 326 ได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17, 25 วรรคหนึ่ง (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1405/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจ: ศาลมีอำนาจลงโทษตามบทที่มีโทษเบากว่าได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 318 แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษที่ต่ำกว่า ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบวรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9337/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกเคหสถานและการยอมความของผู้เสียหาย ศาลฎีกายืนตามความผิดฐานบุกรุกและสั่งจำหน่ายคดี
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในห้องนอนอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิด ว่าจำเลยกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 365 ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4549/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และการลงโทษฐานกระทำชำเราต่างกรรมต่างวาระ
คดีนี้คู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ชวนผู้เสียหายไปที่ห้องพักของจำเลยแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง ซึ่งหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้วข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในสถานที่เกิดเหตุเพื่อกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งต่อไปแต่อย่างใด โดยผู้เสียหายได้กลับไปที่บ้าน ผู้เสียหายย่อมพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละกรรมแล้ว แม้จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2548 เดือนละ 2 ครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายคนละวันต่างวาระกัน และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายไว้จนผู้เสียหายไม่สามารถไปไหนได้ ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องข้อ ข. ว่า เมื่อระหว่างกลางเดือนตุลาคม 2548 ถึงปลายเดือนธันวาคม 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง และมีคำขอท้ายฟ้องโดยอ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ง. ว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2549 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 5 มกราคม 2549 เวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ฟ้องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องซึ่งเป็นกรรมเดียวกันแตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ข.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4324/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมิ่นประมาททางเอกสาร: องค์ประกอบความผิด, การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต, และข้อจำกัดการฎีกา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า "...จำเลยได้ใส่ความโจทก์ต่ออธิบดี...ด้วยเอกสารฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2545 มีข้อความว่า "...ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จความจริงโจทก์ไม่เคยแอบอ้างว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ...แต่ประการใด การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ด้วยทำให้ปรากฏเป็นตัวอักษร ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์..." โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่ 3 โดยการโฆษณาอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตามมาตรา 328 มาด้วยก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นไม่สามารถจะยกข้อกฎหมายตามมาตรา 329 (1) (3) ขึ้นวินิจฉัยได้ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไว้ว่า หากข้อเท็จจริงตามที่รับฟังดังทางไต่สวนมูลฟ้องต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกข้อความจริงนี้ขึ้นเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยคดีได้ หาใช่เรื่องจำกัดเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นกรณีที่จำเลยเท่านั้นที่มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นแล้วพิพากษายืนดังนั้นที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ข้อความที่จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่ปรากฏในเอกสารต้องอ่านทั้งหมด มิใช่ยกข้อความตอนใดตอนหนึ่งแล้วแปลว่าไม่มีข้อความหมิ่นประมาท เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุมัติให้เช่าพื้นที่ขายสินค้า ต่อมาจำเลยประสงค์จะเช่าพื้นที่ จึงใช้เล่ห์เพทุบายทำหนังสือดังกล่าวให้สอบสวนว่าโจทก์ไม่สุจริต จึงมิใช่กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ฎีกาโจทก์ดังกล่าวมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบอย่างไร และที่ถูกต้องเป็นอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดเจนต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การที่โจทก์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้อง จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้จะมีการอนุญาตให้ฎีกามาก็ตาม ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15002/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดยาเสพติด, การบรรยายฟ้อง, การล้างมลทิน, และอำนาจแก้ไขปรับบทของศาลฎีกา
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจะต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัม กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคสองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เพราะเกินคำขอและมิได้กล่าวในฟ้อง จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง
โจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยเนื่องจากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 และจำเลยได้กระทำความผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่า 17 ปี จำเลยพ้นโทษคดีดังกล่าวไปแล้ว ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกนั้น เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ฯ ใช้บังคับ และบทบัญญัติมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับ (วันที่ 5 ธันวาคม 2550) โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้นเมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปก่อนวันที่ พ.ร.บ. ข้างต้นใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 19