คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 340

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 391 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุม ลักทรัพย์ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ: การยกฟ้องคดีอาญา
ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180
โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362
ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา: การพิสูจน์ความเสียหายถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บสาหัส
โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แม้คำบรรยายฟ้องจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย แม้ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง
ขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6984/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงมือกระทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ แม้ยังไม่สำเร็จ และความผิดฐานบุกรุกทำร้ายร่างกาย
จำเลยทั้งสามกับพวกมีเจตนาร่วมกันปล้นสายไฟฟ้า การที่จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปในสถานที่เก็บรักษาสายไฟฟ้า ทั้งยังทำร้ายผู้เสียหายซึ่งครอบครองดูแลสถานที่นั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของการปล้นทรัพย์ในคดีนี้ จึงเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้วไม่ใช่แค่เพียงตระเตรียมการ แม้จำเลยทั้งสามจะหลบหนีไปก่อน โดยไม่แตะต้องสายไฟฟ้าก็เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันพยายามกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร แม้ไม่ฟ้อง แต่ศาลลงโทษได้ หากมีข้อเท็จจริงต่างจากฟ้องแต่ไม่ถึงสาระสำคัญ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วนำมาแบ่งกันที่บ้านของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้รับทรัพย์ของผู้เสียหายไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนี้ แต่กรณีถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องระหว่างการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์กับรับของโจร มิให้ถือว่าต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 4 มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5117/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปล้นทรัพย์-กรรโชกกรรมเดียว: ศาลฎีกายืนโทษจำเลยฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยพิจารณาจากเจตนาและพฤติการณ์ต่อเนื่อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงิน 40,000 บาท ผู้เสียหายต่อรองเหลือ 35,000 บาท แต่ทางพิจารณาได้ความผู้เสียหายให้เงิน 50,000 บาท ถือเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดเพราะไม่ว่าเป็นเงินเท่าใดก็เป็นความผิด และไม่มีจำเลยคนใดหลงต่อสู้ ศาลฎีกาลงโทษจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
จำเลยทั้งสามร่วมกันล่อหลอกให้ผู้เสียหายไปหา แล้วใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ ระหว่างอยู่ในรถมีทั้งการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายขู่เข็ญให้ผู้เสียหายไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวิธีการที่จะให้ผู้เสียหายยอมให้หรือยอมจะให้พวกตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน และเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป พวกจำเลยยังนำบัตรเอทีเอ็มไปถอนเงินของผู้เสียหายออกมาและขู่เข็ญผู้เสียหายจนยอมที่จะให้เงินแก่พวกจำเลยเป็นการทดแทนที่จะให้ไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษ แสดงว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาที่จะให้ได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายมากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงวิธีการและจะให้ได้มาอย่างไร การกระทำความผิดมีลักษณะต่อเนื่องไม่ขาดตอน และการกระทำที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์กับความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเกิดขึ้นซ้อนกัน ทั้งความผิดฐานร่วมกันกรรโชกเป็นความผิดสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินที่พวกจำเลยเอาไปและยอมจะให้เงินแก่พวกจำเลยอีกในภายหลัง การที่จำเลยทั้งสามจะได้เงินส่วนที่ผู้เสียหายตกลงจะให้ในภายหลังหรือไม่ หามีผลให้การกระทำความผิดฐานร่วมกันกรรโชกไม่เป็นความผิดสำเร็จไม่ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันกรรโชกและร่วมกันปล้นทรัพย์จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4768/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: การใช้อาวุธปืนปล้นทรัพย์ - ลงโทษฐานหนักที่สุด
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้ไว้ในครอบครองและความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้ในบทมาตราเดียวกัน ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่า มีความประสงค์จะให้ความผิดทั้งสองฐานนี้เป็นกรรมเดียวกัน ส่วนความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้ ตามมาตรา 78 วรรคสาม เป็นบทหนักสำหรับผู้กระทำความผิดฐานใช้อาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้ หากได้นำอาวุธปืนดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา 313 มาตรา 337 มาตรา 339 หรือมาตรา 340 ดังนั้น เมื่อจำเลยร่วมกันมีอาวุธปืนและร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวเพื่อประสงค์อันเดียวกันในการร่วมกันปล้นทรัพย์และร่วมกันใช้อาวุธปืนต่อเนื่องจากการร่วมกันมีอาวุธปืนการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคสาม อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2708/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทุจริตในการลักทรัพย์ vs. ข่มขืนใจโดยใช้กำลัง: การพิจารณาความผิดฐานปล้นทรัพย์
จำเลยทั้งสามมิได้มีเจตนาทุจริตที่จะร่วมกันลักเงินของผู้เสียหาย เนื่องจากสนิทสนมกันเป็นญาติและเป็นเพื่อนกัน ทั้งเกิดความคึกคะนองตามประสาของวัยรุ่นและขณะนั้นก็นั่งดื่มสุราอยู่ด้วยกันจนหมด จึงน่าจะช่วยกันออกเงินค่าสุราบ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 พูดขอเงินหลายครั้งแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ให้ จึงได้ถือวิสาสะเข้าค้นตัวผู้เสียหายเพื่อค้นเอาเงิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงแต่จับแขนขาของผู้เสียหายไว้แน่นเท่านั้น ไม่ได้ทำร้าย ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่เข้ายึดแขนขาของผู้เสียหายเป็นเพียงการยึดตัวผู้เสียหายให้อยู่นิ่งเพื่อให้จำเลยที่ 1 ค้นตัวได้สะดวกเท่านั้นการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายต้องจำยอมให้จำเลยทั้งสามค้นตัวและเอาเงินไป มิใช่ความผิดฐานปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษจำเลยฐานรับของโจรและทำร้ายร่างกาย แม้ฟ้องเฉพาะฐานปล้นทรัพย์ ศาลลงโทษได้ตามข้อเท็จจริงที่รับฟัง
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์เพียงข้อหาเดียว โดยมิได้ฟ้องฐานรับของโจรด้วยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ไม้คมแฝกตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และร่วมกันรับของโจร ซึ่งในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นการกระทำความผิดหลายอย่างแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัว ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติให้ข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่รวมอยู่ในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องโจทก์กับความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความนั้น มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้หลงต่อสู้ ข้อพิจารณาที่ได้ความว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจรซึ่งต่างจากฟ้องจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้
เมื่อจำเลยที่ 3 ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัวเองอีกความผิดฐานหนึ่ง แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย อีกกรรมหนึ่งได้ เพราะเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป แต่เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 3 เพียงกรรมเดียว โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มิอาจลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ทุกกรรม เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 คงลงโทษในความผิดฐานร่วมกันรับของโจรซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำโดยใช้กำลังเพื่อเอาทรัพย์สิน แม้จะอ้างว่าเป็นการชดใช้หนี้ ก็เป็นการปล้นทรัพย์
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยกับพวกเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บและบังคับเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปเท่าที่คิดว่าพอกับค่าจ้างที่ผู้เสียหายเป็นหนี้พวกจำเลยอยู่เท่านั้น ไม่ได้เอาทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีค่ามากไปด้วยก็ตามแต่การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15717/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาบุกรุกทำลายทรัพย์สิน ไม่ถึงขั้นปล้นทรัพย์ ศาลปรับบทลงโทษ
จำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาบุกรุกเข้าไปทำร้ายคนในบ้านผู้เสียหาย เมื่อไม่พบก็นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปเผา มิใช่มุ่งเอาประโยชน์จากทรัพย์จึงไม่ใช่เอาทรัพย์ไปโดยเจตนาทุจริต ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาลักทรัพย์ของผู้เสียหาย การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 กับพวกอีกประมาณ 10 คน บุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายในเวลากลางคืนและใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าจะทำร้ายผู้เสียหายและกลับออกไปพร้อมนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปด้วยกัน เป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) (3) แต่เนื่องจากโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 364 จึงมิอาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฐานความผิดดังกล่าวซึ่งมีโทษหนักกว่าที่โจทก์ขอและถือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ จึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 เท่านั้น
จำเลยที่ 2 กับพวกเผารถจักรยานยนต์เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปจะทำร้ายบุคคลที่อยู่ในบ้านผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน แต่ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานปล้นทรัพย์และฐานทำให้เสียทรัพย์ มิได้แตกต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานความผิดที่ถูกต้อง และมีบทลงโทษเบากว่าที่โจทก์ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
เมื่อศาลฟังว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่กระทำความผิดฐานบุกรุกและ ทำให้เสียทรัพย์ ย่อมเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งร่วมกระทำผิดแต่มิได้ฎีกาให้ได้รับประโยชน์ดุจจำเลยที่ 2 ผู้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
of 40