คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปรีชา เชิดชู

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 21 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีขับไล่: ศาลอุทธรณ์พิพากษาผิดฐานตัดสินเกินคำฟ้อง ต้องกลับคำพิพากษาเดิม
คดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น มีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4570 เนื้อที่ 138 ตารางวา ที่พิพาท และบ้านเลขที่ 5 ที่ปลูกอยู่บนที่ดิน ซึ่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 5 เป็นของโจทก์ ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง มิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในคดีนี้อีก แต่คดีนี้มิได้เสร็จไปเพียงประเด็นข้างต้น หากยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 5 กับเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ เพียงใด การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดโดยมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 5 กับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีพิพาทกันเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์อันถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และการแปรรูปไม้หวงห้าม ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำผิดกฎหมายโรงงานและป่าไม้
ความผิดฐานแปรรูปไม้ประดู่โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานมีไม้ประดู่แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานแปรรูปไม้ประดู่และไม้สะเดาโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไม้ประดู่และไม้สะเดาแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โจทก์บรรยายฟ้องแยกออกเป็นข้อ ๆ ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระแยกออกจากกัน ลักษณะของความผิดในแต่ละข้อหาเป็นความผิดคนละประเภทกัน ทั้งอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่การกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนความผิดฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกความผิดของจำเลยฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตมาคนละข้อต่างหากจากกัน แต่การที่จำเลยตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับไม้อันเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็เพื่อที่จะแปรรูปไม้ซึ่งเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5160/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และการคำนวณค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสม
จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดของ พ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเป็นไปตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 5 ละเมิด ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในหมวด 2 ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดในกรณีทำให้ถึงตายนั้น ไม่ได้กำหนดให้เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
ส่วนค่าขาดไร้อุปการะ นั้น เมื่อผู้ตายถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 หรือไม่
ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ คือ ผู้มีอำนาจจัดการศพตามที่บัญญัติไว้ในตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาผู้ตาย โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตาย แต่ผู้ตายได้รับรองแล้ว โดยให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ใช้นามสกุล โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยทั้งสองจะมอบเงินช่วยเหลือค่าทำศพ แต่จำเลยทั้งสองระบุมาในคำให้การว่าเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตามกฎหมายได้
สำหรับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 บัญญัติว่า "ในกรณีทำให้เขาถึงตาย... ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย" การจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงานของบุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้จึงต้องเป็นกรณีที่ก่อนเกิดเหตุผู้ถูกทำละเมิดมีหน้าที่ไม่ว่าโดยสัญญาหรือโดยกฎหมายต้องทำการงานให้แก่บุคคลอื่น หากไม่มีหน้าที่หรือความผูกพันตามกฎหมายหรือตามสัญญาแล้วบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ที่ 1 ในฐานะมารดาของผู้ตายจึงไม่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (3) ที่จะให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดแรงงานได้ และเมื่อผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่สามีภริยาที่มีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ส่วนโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่ผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่โจทก์ที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าขาดแรงงานในครอบครัวจากจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5122-5123/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติ การฟ้องแย้งขับไล่ และอำนาจฟ้องของหน่วยงานรัฐ
เมื่อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิที่ดินมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 และแม้หากที่ดินพิพาทจะพ้นจากการเป็นที่ชายตลิ่งไปโดยสภาพ เนื่องจากในฤดูฝนน้ำท่วมไม่ถึง แต่ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของรัฐ ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครองและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการต้องห้ามตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 ย่อมไม่มีสิทธิอ้างการครอบครองที่ผิดกฎหมายใช้ยันรัฐได้ไม่ว่าในทางใด การฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อไม่ให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท จึงมีผลเท่ากับอ้างสิทธิครอบครองมายันรัฐซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 บัญญัติให้นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในกรณีที่มีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดิน นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมกันดำเนินการ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะดำเนินการ ก็ให้มีอำนาจกระทำได้ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 พร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทซ้ำกับคดีก่อน ศาลฎีกาพิจารณาว่าเป็นการรื้อฟ้อง
ต. เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ต. และผู้ร้องต่างยื่นคำร้องว่าตนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการกล่าวอ้างว่า ต. และผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสและตกเป็นของ ต. กับผู้ร้องร่วมกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ให้อำนาจเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่ ต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ต. โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จึงเป็นการกระทำแทนผู้ร้องด้วย ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นคู่ความเดียวกันกับ ต. ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำร้อง โดยวินิจฉัยว่า ต. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของผู้ตาย หาใช่ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของไม่ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว คดีถึงที่สุด เช่นนี้แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วครอบครองทำประโยชน์ด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันจนได้กรรมสิทธิ์ แต่ก็เป็นการยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกับคดีก่อน จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพนักงานรัฐวิสาหกิจแก้ไขน้ำหนักสัมภาระเพื่อช่วยเหลือวัด ศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิด
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (4/2) เป็นกฎหมายพิเศษบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยการกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย อันเป็นการขัดหรือแย้งกับ ป.วิ.อ. มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป จึงทำให้โจทก์มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4111/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบิกความเท็จในคดีแพ่งหลังศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณา ไม่ถือว่าเบิกความเท็จ
ความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 บัญญัติว่า "ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษ..." เห็นได้ว่า การที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จนั้น นอกจากต้องได้ความว่า บุคคลที่ถูกฟ้องเข้าเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลแล้ว ยังต้องได้ความด้วยว่าความเท็จที่เบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ได้ความจากโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองเบิกความเท็จต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2280/2562 ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นตัวแทน ฉ. และไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ แต่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ในคดีแพ่งดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์และขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงพิพากษาเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกอุทธรณ์ของโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่และมีคำสั่งตามรูปคดี ดังนั้นเมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำเบิกความและเข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2280/2562 ซึ่งโจทก์นำมาเป็นมูลเหตุในการฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 แล้ว อันมีผลให้ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 พิพากษาเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งรวมทั้งคำเบิกความเป็นพยานของจำเลยทั้งสอง และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยยื่นคำเบิกความและเข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมาก่อนเลย จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า คำเบิกความของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีอันจะมีมูลเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมสิ้นสุดเมื่อไม่ได้ใช้ประโยชน์เกิน 10 ปี และขอบเขตจำกัดเฉพาะที่ดินเดิม
ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่ตัดรอนอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเรียกว่าภารยทรัพย์ ในอันที่ต้องยอมรับกรรมบางอย่างด้วยการงดเว้นการใช้สิทธิในทรัพย์สินของตนเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่าสามยทรัพย์ จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เดิมที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 243749 ตกอยู่ภายใต้บังคับภาระจำยอม เรื่อง ทางเดิน ทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคใด ๆ แก่ที่ดินของจําเลยโฉนดเลขที่ 1003 เมื่อโจทก์รวมที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 10516, 10517, 243749 และ 158942 เป็นแปลงเดียวกันเป็นโฉนดเลขที่ 10516 ภาระจำยอมที่ยังคงอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 10516 ฉบับใหม่จึงมีอยู่เฉพาะในที่ดินส่วนที่เคยเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 243749 เดิมเท่านั้น การรวมโฉนดที่ดินหลายแปลงเป็นโฉนดเดียว มิได้มีผลทำให้ภาระจำยอมเดิมในโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งแปลงใดได้กระจายไปอยู่ในทุกส่วนของโฉนดที่ดินฉบับใหม่ด้วย ดังนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 10516 ที่มิใช่เป็นส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 243749 เดิม ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับภาระจำยอมดังกล่าว และมิใช่เป็นกรณีที่ภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ดังจําเลยฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3638/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิทางผ่านที่ดิน: จำเลยจัดสรรที่ดินสร้างสาธารณูปโภค โจทก์ไม่เคยใช้สิทธิทางผ่านเดิม ศาลยกฟ้อง
ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า "ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยแต่ที่สุดที่จะเป็นไปได้..." ดังนั้น ในการที่จะพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะในฐานะทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้หรือไม่ เพียงใด ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ให้น้อยที่สุดเป็นประการสำคัญด้วย เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินในปี 2528 จากนั้นดำเนินการแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยประเภทที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ รวมกันเกินกว่า 200 แปลง กับจัดสร้างถนนคอนกรีตและกำแพงคอนกรีตเป็นรั้วล้อมรอบที่ดินจัดสรรและบนที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์เพื่อให้เป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรนับแต่นั้นเป็นต้นมา นาย ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ในขณะนั้นก็ดี และโจทก์ที่ได้รับโอนที่ดินมาในฐานะผู้จัดการมรดกของ นาย ส. เมื่อปี 2551 ระยะเวลารวมกันนานกว่า 30 ปี นาย ส. และโจทก์ต่างไม่เคยกล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกยาว 8 เมตร บ่งชี้ว่าการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานก่อนถึงวันที่โจทก์บอกกล่าวมิได้มีผลใด ๆ ต่อการออกสู่ทางสาธารณะต่อที่ดินของโจทก์ ทั้งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า ที่และวิธีทำทางผ่านนั้น โจทก์ได้เลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งได้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่เจ้าของที่ดินของโจทก์เดิมมิได้ขวนขวายหาทางออกสู่ทางสาธารณะให้ที่ดินเสียตั้งแต่ได้มาเมื่อปี 2510 และปล่อยทิ้งร้างที่ดินไว้เป็นเวลานาน ครั้นเมื่อปี 2528 จำเลยเข้าไปปรับปรุงที่ดินหลายแปลงด้วยการขออนุญาตจัดสรรและด้วยเงินลงทุนที่สูงมากจนสามารถพัฒนาที่ดินทำให้สภาพแวดล้อมมีความเจริญ มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก ถนนคอนกรีตมีความสะดวกสบายในการใช้สอยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันยังบ่งชี้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้เพื่อฉกฉวยโอกาสให้ตนเองกับบริวารสามารถใช้ถนนคอนกรีตในที่ดินจัดสรรได้โดยไม่ต้องลงทุนในการทำถนนด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ที่ดินของโจทก์ไปในตัว ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 อีกด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตและเข้าไปใช้สอยถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ของจำเลยในฐานะที่เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำคดีอาญา และความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร การกระทำความผิดร่วมกัน
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 กฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจพิเศษในการสั่งลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องขอหรือเป็นโจทก์ฟ้อง ส่วนความผิดของจำเลยคดีนี้เป็นเรื่องปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมโดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำคุกจำเลยและคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
of 3