คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 150

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 796 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าบริการสาธารณะ, ดอกเบี้ยผิดนัด, ค่าปรับ, การบังคับตามสัญญา, และการปรับอัตราดอกเบี้ยตาม พรบ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง
ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเป็นคนละส่วนกับค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ดังที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 นิยามคำว่า "สาธารณูปโภค" กับคำว่า "บริการสาธารณะ" แยกจากกัน การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากความรับผิดเมื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 44 หากมีการทำข้อตกลงที่เป็นการผลักภาระความรับผิดในค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนที่จะมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ในส่วนบริการสาธารณะ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 และมาตรา 44 ไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องรับผิดชอบเหมือนดังเช่นสาธารณูปโภค ประกอบกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะซึ่งเป็นบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการจัดสรรที่ดินโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อคดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชำระค่าบริการส่วนกลางที่ค้างชำระ แม้คำฟ้องบางช่วงบางตอนจะใช้ถ้อยคำว่า โจทก์จัดทำสาธารณูปโภคในพื้นที่ส่วนกลาง ค่าบริการสาธารณูปโภคส่วนกลาง แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและมีพยานมาสืบโดยยกตัวอย่างถึงบริการส่วนกลางที่ดำเนินการ เช่น การจัดให้มีไฟทางส่องสว่างภายในหมู่บ้าน การจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยในการเข้าออกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการสาธารณะ
เมื่อจำเลยชำระค่าบริการสาธารณะเรื่อยมา จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2555 พฤติการณ์บ่งชี้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะระหว่างกัน แม้โจทก์ไม่ได้อ้างส่งสัญญาหรือข้อตกลงเป็นพยานหลักฐาน กรณีรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะ ส่วนที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แม้ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ขึ้นใช้บังคับให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่มาตรา 69 พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ใบอนุญาตหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ให้ไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า การบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ให้นำมาตรา 53 มาใช้บังคับแก่การจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ด้วยโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 53 ก็บัญญัติให้นำความมาตรา 50 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะได้ตามอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ แต่อย่างไรก็ตามแม้โจทก์ไม่ได้ยื่นขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ทั้งหากศาลไม่รับบังคับหนี้ค่าบริการสาธารณะย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่และความสงบสุขโดยรวมของผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการที่ดินจัดสรรที่มิได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป
ตามคำฟ้องไม่ปรากฏข้อตกลงกำหนดเวลาชำระค่าบริการสาธารณะที่จำเลยต้องชำระรายเดือนเมื่อใด จะต้องถือว่าจำเลยผิดนัดเมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าวทวงถามแล้วไม่ชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 ได้ความว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าบริการสาธารณะภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้รับเมื่อใด จึงไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ก่อนฟ้องได้ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ข้อ 4 กำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่เจ้าของที่ดินแปลงย่อยในโครงการจัดสรรที่ดินชำระเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดว่าต้องไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนเงินค้างชำระ เมื่อนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การชำระค่าบริการสาธารณะล่าช้ากรณียังไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีความหมายเพียงว่าผู้จัดสรรที่ดินและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอาจตกลงให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรชำระค่าปรับล่าช้าได้ เมื่อไม่ปรากฏข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วยระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากค่าบริการสาธารณะที่จำเลยค้างชำระตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4741/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายมีข้อห้ามโอน & การครอบครองแทนเจ้าของ: สิทธิเรียกร้อง & กรรมสิทธิ์
แม้ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2553 และโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ภายในเวลาสิบปีตามข้อกำหนดห้ามโอนก็ตาม แต่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต่างรู้ว่าที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนและตกลงกันว่าจะโอนให้แก่กัน ณ สำนักงานที่ดินมะขาม ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 อันเป็นเวลาภายหลังพ้นข้อกำหนดห้ามโอนในวันที่ 30 สิงหาคม 2563 แล้วเช่นนี้ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การที่จำเลยครอบครองดูแลทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่โจทก์จะขายให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทนั้นไว้ในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง มิใช่เป็นการครอบครองเพื่อตนเอง ตราบใดที่จำเลยมิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 การครอบครองที่ดินของจำเลยจึงเป็นการยึดถือแทนโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการถือสิทธิครอบครองเด็ดขาดเป็นของตนในฐานะเจ้าของไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเสร็จเด็ดขาดในระหว่างที่มีข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ และมีผลให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์และบังคับกันได้ในลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายอันเป็นบุคคลสิทธิ และเป็นเรื่องที่จำเลยชอบที่จะว่ากล่าวเอาความแก่โจทก์ต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยผลแห่งหนี้และสัญญา และเมื่อการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยเป็นการครอบครองแทนโจทก์เช่นนี้ จำเลยย่อมไม่อาจอ้างอายุความการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ขึ้นยันแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4343/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้จากนิติกรรมโมฆะ (การเล่นแชร์ผิดกฎหมาย) ทำให้เช็คที่ออกชำระหนี้นั้นไม่มีผลบังคับใช้ ผู้สั่งจ่ายเช็คจึงไม่ผิด พ.ร.บ. เช็ค
ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ. 2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.การแล่นแชร์ พ.ศ. 2534 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์ หรือจัดให้การเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท หากฝ่าฝืนมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้เป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย เมื่อได้ความว่าเดิมโจทก์เป็นนายวงแชร์ที่จัดการให้มีการเล่นแชร์ 36 มือ มือละ 10,000 บาท และการประมูลต่อหนึ่งงวดผู้ประมูลได้จะได้รับเงินรวม 360,000 บาท การตั้งวงแชร์ของโจทก์จึงฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย อันตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะอ้างว่ามีการนำหนี้อันเกิดจากการเล่นแชร์ดังกล่าวรวมกับหนี้อื่นแล้วแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญากู้ยืมเงิน แต่หนี้เกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะเช่นนี้ย่อมเสียเปล่าไปแต่ต้น จะแปลงหนี้เป็นหนี้กู้ยืมเงินหรือหนี้อย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายได้ไม่ เมื่อเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ เป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งมีมูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมอยู่จนไม่อาจแยกออกได้ว่าเป็นการชำระหนี้ในส่วนใด หนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมสามีภริยาตามสัญญาเช่าซื้อ: หนังสือยินยอมถือเป็นการให้สัตยาบัน
ในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือดังกล่าวถือว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่ภริยาก่อขึ้นและเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) กรณีหาใช่โจทก์มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติให้ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ใหม่) ประกอบมาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3208/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายบ้านพร้อมที่ดิน, ค่าเสียหายจากการปรับปรุงซ่อมแซม, ค่านายหน้า, และดอกเบี้ยผิดนัด
เมื่อโจทก์ไม่สามารถผ่อนชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยยังคงค้างชำระ 1,819,355 บาท วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ มีข้อตกลงว่า โจทก์จะชำระเงินตามจำนวนที่ค้างชำระดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน ให้แก่จำเลย หรือจนกว่าโจทก์หรือจำเลยจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลอื่นได้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและบันทึกแนบท้ายสัญญา ส่อแสดงอย่างแจ้งชัดว่าแม้โจทก์จะเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยก็ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคหนึ่ง ทั้งมีบันทึกแนบท้ายสัญญาดังกล่าวอีกว่าหากขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลอื่นได้ จำเลยจะคืนเงินส่วนที่เหลือจากที่โจทก์ค้างชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หลังจากหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงที่จำเลยเสียไปคืนให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สามารถผ่อนชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาได้ต่อไป จึงคืนกุญแจส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลย ส่งผลให้สัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์และจำเลยไม่อาจสำเร็จวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ได้ ถือเป็นคำเสนอของโจทก์เพื่อบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยบุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อจำเลยสนองรับด้วยการแสดงเจตนาถูกต้องตรงกันโดยรับมอบกุญแจ รับมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์โดยไม่อิดเอื้อน ทำการซ่อมแซมและนำไปขายต่อแก่บุคคลภายนอกเยี่ยงนี้ พฤติการณ์ของโจทก์จำเลยดังกล่าวเป็นการสมัครใจเลิกสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 และมาตรา 356 หาจำต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดผิดสัญญา ถึงกระนั้นผลแห่งการเลิกสัญญา แม้ ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมก็ตาม แต่คู่สัญญาอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นโดยให้ไม่ต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันตามบันทึกแนบท้ายสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่าให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขาย หากขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลอื่นได้ จำเลยจะคืนเงินส่วนที่เหลือจากที่โจทก์ค้างชำระค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หลังจากหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงที่จำเลยเสียไปคืนให้แก่โจทก์ อันเป็นการตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าไม่ต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเมื่อมีการเลิกสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ย่อมใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการส่วนกลาง - ดอกเบี้ยผิดนัด - การปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
การขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะตามที่ได้แสดงไว้ในคำขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (4) โดยมีกำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 23 (5) และมีหน้าที่ดูแลสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วดังนี้ (1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.นี้หรือตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการบำรุง ดูแล รักษา... (2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ จากบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่และการสิ้นสุดหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้จัดสรรที่ดินเป็น 2 ระยะ ระยะแรกผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่บำรุงรักษาตามกำหนดเวลาที่ระบุในแผนผังโครงการที่ดินจัดสรรที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) และระยะที่สอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารับผิดชอบดังกล่าว ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตเพื่อโอนให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรรับไปดำเนินการจัดการดูแลเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้ใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคได้โดยสมบูรณ์ภายในเวลาอันสมควร ข้อตกลงที่มีผลผลักความรับผิดค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
สำหรับค่าบริการสาธารณะเป็นคนละกรณีกับค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ความรับผิดค่าบริการสาธารณะจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 43 และ 44 แห่งพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดความรับผิดในค่าบริการสาธารณะที่เกิดขึ้นก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนการบำรุงรักษาและจัดการสาธารณูปโภค เมื่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่โจทก์อ้างส่งสำเนาสัญญาบริการระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองแนบท้ายฎีกา มีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าใช้จ่ายให้โจทก์รายเดือน นั้น แม้โจทก์จะเพิ่งส่งเอกสารดังกล่าวในชั้นฎีกาซึ่งล่วงพ้นระยะเวลาการอ้างพยานหลักฐานตามกฎหมายแล้ว แต่พยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานเอกสารสำคัญอันเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญแห่งคดี และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงสมบูรณ์ครบถ้วนเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ยื่นคำแก้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรรับฟังสำเนาสัญญาบริการแนบท้ายฎีกา เป็นพยานศาลตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 33 และรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาบริการกันจริง เมื่อบริการที่โจทก์จัดทำเป็นบริการสาธารณะ สัญญาบริการจึงใช้บังคับกันได้
แม้โจทก์จะได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินฉบับเดิมปี 2539 ซึ่งออกตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 แต่การที่โจทก์ขอขยายโครงการและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ทำการแก้ไขแผนผังโครงการจัดสรรในปี 2545 ภายหลัง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มีผลใช้บังคับแล้ว ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 อัตราที่เรียกเก็บจึงต้องไม่เกินอัตราที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 53 เช่นกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครในอัตราที่เรียกเก็บจำเลยยังคงต้องรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะ นั้น และเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการส่วนกลาง, ดอกเบี้ยผิดนัด, การแก้ไขกฎหมาย และการปรับอัตราดอกเบี้ยโดยศาล
การขออนุญาตจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะตามที่ได้แสดงไว้ในคำขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (4) โดยมีกำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 23 (5) และมีหน้าที่ดูแลสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 และมาตรา 44 (เดิม) ให้ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษาสาธารณูโภคตามมาตรา 23 (5) แล้ว ดังนี้ (1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ. นี้หรือตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการบำรุง ดูแล รักษา...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ จากบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่และการสิ้นสุดการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้จัดสรรที่ดินเป็น 2 ระยะ ระยะแรกผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่บำรุงรักษาตามกำหนดเวลาที่ระบุในแผนผังโครงการที่ดินจัดสรรที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) และระยะที่สอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารับผิดชอบดังกล่าว ผู้จัดสรรที่ดินยังมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตาม มาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตเพื่อโอนให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรรับไปดำเนินจัดการดูแลเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้ใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคได้โดยสมบูรณ์ภายในเวลาอันควร ข้อตกลงที่มีผลผลักความรับผิดค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตาม มาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
สำหรับค่าบริการสาธารณะเป็นคนละกรณีกับค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ความรับผิดค่าบริการสาธารณะจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 43 และ 44 แห่ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดความรับผิดในค่าบริการสาธารณะที่เกิดขึ้นก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนการบำรุงรักษาและจัดการสาธารณูปโภค เมื่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาบริการจึงใช้บังคับกันได้แต่ต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกำหนดตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 53 เมื่อโจทก์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครในอัตราที่เรียกเก็บ จำเลยยังคงต้องรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะนั้น และเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2825/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแข่งขันทางการค้าโดยผู้ถือหุ้น, การริบหุ้นเป็นค่าเสียหาย, และความชอบธรรมของข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้น
จำเลยเปิดบริษัท ท. ประกอบกิจการอันเป็นการค้าขายแข่งขันกับบริษัทโจทก์ อันเป็นข้อห้ามที่ระบุในกฎผู้ถือหุ้น การที่จำเลยถูกริบหุ้นนำออกขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กฎผู้ถือหุ้น ข้อ 6. ระบุถึงผลแห่งการที่ผู้ถือหุ้นทำการก่อตั้งบริษัทซึ่งกระทำธุรกิจประเภทเดียวกันกับบริษัทซึ่งส่งผลให้บริษัทเกิดความเสียหายว่า ผู้ถือหุ้นดังกล่าวยินยอมให้ริบหุ้นส่วนทั้งหมดที่ครอบครองอยู่และยินยอมชดใช้ค่าปรับอีกหนึ่งร้อยเท่าของความเสียหายที่ประเมินได้ และหรือความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินได้ซึ่งความเสียหายประเภทนี้จะใช้การคาดการณ์ความเสียหายเป็นมูลค่าแทน ข้อตกลงเช่นนี้เป็นการกำหนดให้ผู้ถือหุ้นต้นเหตุหมดสิทธิจากบริษัทอันเป็นการชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทเมื่อผู้ถือหุ้นนั้นล่วงละเมิดข้อตกลงในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันที่จะไม่กระทำการค้าขายแข่งขันกับบริษัท ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกิดจากความสมัครใจและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะ สามารถใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1267/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงราคาซื้อขายที่ดินต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีและค่าธรรมเนียมเป็นโมฆะ สิทธิค่าใช้จ่ายในการโอนเป็นไปตามกฎหมาย
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและคำรับของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยาน โดยคู่ความมิได้โต้แย้ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้แถลงคัดค้านข้อเท็จจริงที่จำเลยแถลงยอมรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์และจำเลยตกลงกันในเรื่องการชำระค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามทุนทรัพย์ในราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน มาวินิจฉัย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวทำให้ราคาซื้อขายที่ดินเป็นราคาที่ต่ำกว่าเป็นจริง จึงเป็นโมฆะ เป็นผลเท่ากับไม่มีข้อตกลงให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอนทั้งสิ้น จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 457 คือพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย โจทก์จะอ้างว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยฝ่ายเดียวตามหนังสือสัญญาหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1232/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติจัดเก็บค่าสาธารณูปโภครายปีขัด พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน และกฎหมายความสงบเรียบร้อย โมฆะ
พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ให้อำนาจโจทก์ในฐานะนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคในส่วนที่โจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาจากสมาชิก การจัดเก็บค่าสาธารณูปโภคของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เมื่อ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการการสาธารณูปโภค ให้จัดเก็บเป็นรายเดือน..." โดยวรรคท้ายบัญญัติว่า "หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและการจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด" และตามระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและการจัดทำบัญชี พ.ศ. 2545 ข้อ 6 ถึงข้อ 8 ล้วนแต่กำหนดให้การกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย การกำหนดวันเก็บค่าใช้จ่าย การกำหนดค่าปรับในกรณีที่ค้างชำระ การออกใบเสร็จรับเงิน และการจัดทำบัญชี จัดทำเป็นรายเดือน โจทก์จึงต้องจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดเก็บการสาธารณูปโภคเป็นรายเดือนตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 และเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอันถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่โจทก์มีมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกครั้งที่ 1/2556 ให้จัดเก็บเงินค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางเป็นรายปีครั้งเดียวแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 บัญญัติไว้ มติของโจทก์ดังกล่าวจึงแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 มติของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ
of 80