คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ม. 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 60 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2665/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับผู้ติดยาเสพติด: ต้องดำเนินการตามขั้นตอนฟื้นฟูสมรรถภาพตามกฎหมายครบถ้วนก่อน
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตามเมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัย ให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัวไม่เข้มงวด เป็นเวลา 120 วัน หลังจากนั้นให้เข้ารับการฟื้นฟูในโปรแกรมเป็นเวลา 2 เดือน รายงานตัวเดือนละ 2 ครั้ง ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิดและยินยอมให้มีการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดทุกครั้งที่มารายงานตัว หลังจากจำเลยผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จากสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้วจำเลยไม่มารายงานตัว เจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนแล้วจำเลยไม่มารายงานตัวโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนดไว้จนครบหกเดือน นับแต่วันถูกส่งตัวเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อมาตรา 33 บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดซึ่งมิใช่เพียงรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ยังมีกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดหรือไม่ และตรวจปัสสาวะของจำเลยเพื่อหาสารเสพติด อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 เพื่อที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะได้เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยเป็นที่พอใจหรือไม่ เมื่อคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15564/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของโจทก์ในคดียาเสพติด: การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสมตามมาตรา 25 หากผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบ เงื่อนไข หรือข้อบังคับที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จับตัวผู้นั้นกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัวได้ โดยให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่ง ป.อ. พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำวินิจฉัยให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบไม่ควบคุมตัวในโปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติ เป็นเวลา 180 วัน แต่จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ครบถ้วน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือเตือนไปยังจำเลยให้มาพบ พนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยก็ไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราชกำหนดไว้ เมื่อมาตรา 33 บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
แม้ศาลพิพากษายกฟ้องก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับของกลางที่โจทก์ขอให้ริบด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงให้ริบเสียตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ส่วนกระเป๋าหนังของกลางเป็นกระเป๋าหนังที่จำเลยใส่เมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จึงเห็นสมควรริบตาม ป.อ มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13539/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดขับรถเสพยาเสพติด: องค์ประกอบความผิด, การเพิ่มโทษซ้ำ และการพิจารณาบทลงโทษ
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติไว้ในลักษณะ 3 ว่าด้วยการใช้ทางเดิน แต่ก็ไม่ได้บัญญัติว่าผู้ขับขี่ซึ่งเสพยาเสพติดให้โทษอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 43 ทวิ ต้องขับรถในทางเดินรถด้วย และเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ ดังนี้ จึงต้องพิจารณาเพียงว่าผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถหรือไม่ หากผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถไม่ว่าจะเสพในขณะขับรถหรือก่อนหน้านั้น ผู้นั้นก็ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถส่วนบุคคลเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วจำเลยขับรถยนต์สาธารณะ (รถแท็กซี่) แล่นไปติดต่อราชการที่สถานีตำรวจนครบาลลำผักชี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.จารจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้
ศาลฎีกาลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง" เมื่อจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและศาลฎีกาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ กรณีจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10076/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดผิดตามกฎหมายจราจร แม้ไม่ขับรถขณะเสพ ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ลงโทษฐานขับขี่ภายใต้อิทธิพลยาเสพติด
ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง มุ่งประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษเข้าสู่ร่างกายเนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ และมิได้บัญญัติว่าผู้ขับขี่นั้นต้องขับรถในทางเดินรถด้วย แต่ต้องพิจารณาเพียงว่า ผู้เสพนี้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถหรือไม่ หากผู้เสพปฏิบัติหน้าที่ขับรถไม่ว่าจะเสพในขณะขับรถหรือก่อนหน้านั้น ผู้นั้นได้กระทำผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถได้เสพเมทแอมเฟตามีนในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 43 ทวิ แล้ว และชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยและสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6424/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายส่งผลถึงการมีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยอยู่ระหว่างการคุมความประพฤติในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกและต้องคำพิพากษาให้จำคุก โดยจำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี รอการลงโทษ 2 ปี รายงานตัว 3 เดือนต่อครั้ง บำเพ็ญประโยชน์ 20 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่ครบกำหนด และจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้น โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดเงื่อนไขในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้น และอยู่ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นยกคดีดังกล่าวขึ้นพิจารณา โจทก์เพิ่งยกข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว เมื่อมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่าต้องเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด และข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วนั้น ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ดังนี้การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อน และย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5314/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดค่าปรับผู้ประกันในคดียาเสพติด: ศาลพิจารณาพฤติการณ์ผิดสัญญาและข้อหาความผิด
การจะลดค่าปรับให้แก่ผู้ประกันในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ศาลต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำความผิด ความหนักเบาแห่งข้อหา และการผิดสัญญาประกันประกอบด้วย คำร้องขอลดค่าปรับถือว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
กรณีผิดสัญญาประกันและขอลดค่าปรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 119 มาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางต้องเป็นไปตามคำขอ ศาลสั่งริบเกินคำขอเป็นเหตุให้ต้องยกคำพิพากษา
แม้รถยนต์หมายเลขทะเบียน กค 812 ปราจีนบุรี ของกลาง เป็นยานพาหนะที่จำเลยที่ 3 ร่วมกับพวกใช้ในการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ อันเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้นก็ตาม แต่รถยนต์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 32 ดังนั้น เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบของกลางทั้งหมดที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ดังนี้ เท่ากับโจทก์ขอให้ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเท่านั้น โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบรถยนต์ของกลาง เช่นนี้ศาลย่อมไม่อาจสั่งริบรถยนต์ของกลางได้เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2254/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ที่มิได้ว่ากล่าวในชั้นศาลต้น มิสามารถนำมาอ้างเพื่อลดโทษได้
จำเลยแถลงว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และขอสืบพยานประกอบ ต่อมาจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน จึงไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ ในสำนวนว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ
การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญในคดีกับเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับห้องเช่าของจำเลยที่มียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจในการตรวจค้นห้องเช่าจนพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และแหล่งที่มาของเมทแอมเฟตามีนของกลางว่าจำเลยซื้อมาจาก ด. แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวบางส่วนจะปรากฏตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 และสำเนาบันทึกการจับกุมเอกสารท้ายคำร้องดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่สืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างจึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15250/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดค่าปรับจากผิดสัญญาประกันในคดียาเสพติด: คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดเป็นที่สุด
คำร้องขอลดค่าปรับเป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งการจะลดค่าปรับให้แก่ผู้ประกันทั้งสองหรือไม่ ศาลต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำความผิด ความหนักเบาแห่งข้อหาและการผิดสัญญาประกันประกอบด้วย ดังนั้น คำร้องขอลดค่าปรับถือว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด และกรณีผิดสัญญาประกันและขอลดค่าปรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 119 มาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง
of 6