คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 25

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3374/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.3(1) กรณีโทษเดิมขัดแย้งกับกฎหมายใหม่ (ยาเสพติด)
ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัด การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีและมีคำสั่งยกคำร้องขอให้กำหนดโทษใหม่ของจำเลยโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณานั้น เป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 26 เนื่องจากการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องและมีผลให้ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 อย่างไรก็ตามคดีนี้เป็นชั้นขอให้กำหนดโทษใหม่ เนื่องจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดโดยจำเลยกำลังรับโทษอยู่ แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วถือว่าสำนวนความตามคำร้องของจำเลยปรากฏแก่ศาลฎีกาตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังหรือไม่โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขอให้กำหนดโทษใหม่โดยให้ผู้พิพากษาครบองค์คณะและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาใหม่อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7207/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์เป็นเหตุให้สิทธิผู้รับโอนบกพร่องหรือไม่ และเขตอำนาจศาลในคดีฟ้องขับไล่
ข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการอุทธรณ์ในเรื่องอำนาจฟ้องโจทก์อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่การจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ล้วนต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นเสียก่อนว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งจะต้องมีการใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 เมื่อจำเลยทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งมาว่าจำเลยทั้งสองได้สิทธิในที่ดินพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีการใช้สิทธิทางศาลมาก่อน ข้อที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างการได้สิทธิในที่ดินพิพาทจึงเป็นเพียงการอนุมานของจำเลยทั้งสองแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อให้เป็นคุณแก่ตนในชั้นอุทธรณ์โดยอาศัยข้อเท็จจริงเพียงว่าจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้วเท่านั้น ซึ่งยังไม่อาจรับฟังในชั้นนี้ได้ว่าเป็นการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ และในขณะเดียวกันก็ไม่อาจรับฟังได้ว่า ฉ. เจ้าของที่ดินพิพาทคนเดิมเสียสิทธิในที่ดินพิพาทเพราะเหตุดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองอันจะทำให้สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับโอนต้องบกพร่องไปด้วยแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอันจะนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ แต่ยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เป็นที่ยุติและเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองได้ เพราะไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีที่จะนำไปสู่กระบวนพิจารณาด้วยพยานหลักฐาน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น และยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมา จึงชอบแล้ว
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ ไม่ว่าโจทก์จะเรียกค่าเสียหายเป็นค่าเช่าในจำนวนเท่าใด ก็เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวและอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 17 ส่วนเรื่องจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้น เป็นเพียงข้อพิจารณาที่นำไปสู่ข้อจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8435/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการพิจารณาคดี: จำเลยต้องยื่นคำร้องภายใน 8 วันนับจากวันที่ทราบข้อผิดพลาด
การนั่งพิจารณาคดีไม่ว่าจะนั่งพิจารณาโดยผู้พิพากษาคนเดียวหรือนั่งพิจารณาคดีโดยไม่ครบองค์คณะ หากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมบัญญัติไว้แล้ว ถือได้ว่าเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการพิจารณาคดี อันเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น จำเลยจึงชอบที่จะยกข้อคัดค้านในเรื่องผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างภายในเวลาไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น เมื่อจำเลยทราบถึงการนั่งพิจารณาคดีที่อ้างว่าผิดระเบียบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 แต่จำเลยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 จึงช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นแล้ว จำเลยย่อมหมดสิทธิยกขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการพิจารณาคดีดังกล่าวแล้วพิจารณาคดีใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21697/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลพลเรือนในการชันสูตรพลิกศพผู้ต้องขังทหาร: คดีไม่อยู่ในอำนาจหากผู้กระทำผิดเป็นทหาร
ศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมีอำนาจทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพต่อเมื่อคดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลนั้น และการไต่สวนและมีคำสั่งนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. กรณีไม่อาจนำ ป.วิ.อ. ใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 45 ได้ เพราะตามคำร้องผู้กระทำความผิดต่อผู้ตายเป็นพลทหารกองประจำการ ซึ่งต้องถูกฟ้องยังศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 และมาตรา 16 (3) คดีของผู้กระทำความผิดดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือน แม้การไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพของศาลชั้นต้นไม่ใช่การฟ้องคดีต่อผู้กระทำให้ตายดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในฎีกา แต่ก็เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 วรรคห้า และวรรคสิบเอ็ด ดังนี้ ศาลพลเรือนจะรับไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพได้ก็เฉพาะแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน มิใช่ว่าเมื่ออัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารและต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือน แล้วอัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ส่งสำนวนการสอบสวนให้ผู้ร้องเพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. ซึ่งผู้ร้องจะส่งสำนวนกลับคืนไปยังอัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ไม่ได้ จะทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนต้องไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7045/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดคำนวณทุนทรัพย์คดีคุ้มครองผู้บริโภค ต้องรวมกลุ่มคดี ไม่แยกรายบุคคล หากรวมกันเกินอำนาจศาลแพ่ง
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยรวม คดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษต่างจากคดีแพ่งทั่วไป โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคเป็นส่วนรวม การพิจารณาทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีว่าจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดจึงต้องคิดคำนวณทุนทรัพย์ในลักษณะทุนทรัพย์รวมกลุ่มคดี มิใช่คิดแยกทุนทรัพย์ของผู้บริโภคแต่ละราย ดังนี้ แม้ทุนทรัพย์ที่ผู้บริโภคเรียกร้องมาแต่ละรายจะมีจำนวนรายละไม่เกิน 300,000 บาท แต่เมื่อทุนทรัพย์รวมกลุ่มคดีมีจำนวน 610,709 บาท กรณีจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3977/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาไม่ครบตามกฎหมาย ทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้นั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีโดยมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะซึ่งไม่อยู่ในอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1219/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทุจริตสั่งห้ามจ่ายเช็ค-อำนาจศาลแขวง-การรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ร่วมตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 โดยจำเลยออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.3 เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวบางส่วนให้แก่โจทก์ร่วม ทั้งนี้โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยเข้าครอบครองใช้สอยประโยชน์ในทรัพย์สินที่ตกลงจะซื้อจะขายนับแต่วันทำสัญญา ซึ่งจำเลยได้ออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.9 เพื่อชำระหนี้ค่าใช้สอยดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม การที่โจทก์ร่วมปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์ร่วมถูกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องและศาลพิพากษาให้ชำระหนี้ 115 ล้านบาทเศษเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2539 และสัญญาจะซื้อจะขายในคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ทำกันเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้โจทก์ร่วมชำระหนี้เพียง 12 วัน น่าเชื่อได้ว่าขณะทำสัญญาดังกล่าวจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ร่วมถูกธนาคารฟ้องให้ชำระหนี้และยึดทรัพย์ซึ่งรวมถึงที่ดินที่จะขายให้แก่จำเลยด้วย อันเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่สามารถโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะขายตามสัญญาให้แก่จำเลยได้ ทั้งในวันที่ตกลงจะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญานั้น โจทก์ร่วมและเจ้าของร่วมคนอื่นก็มิได้ไปทำการโอนให้จำเลย เมื่อจำเลยทราบเหตุที่โจทก์ร่วมถูกศาลพิพากษาให้โจทก์ร่วมชำระหนี้และโจทก์ร่วมไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยตามกำหนด การที่จำเลยเห็นว่าการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 นั้น มีปัญหาที่อาจจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ดังนั้น การที่จำเลยไปแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งเป็นการสั่งจ่ายในการที่จำเลยได้ครอบครองหรือใช้สอยทรัพย์สินที่จะซื้อขายกันจึงเป็นการระงับการสั่งจ่ายโดยสุจริต แม้ว่าตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 10 วรรคสองจะระบุว่าสำหรับเงินที่ผู้จะซื้อชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นรายเดือนเดือนละ 300,000 บาท ตามความในข้อ 6 นั้นไม่อยู่ในข้อบังคับของวรรคแรกคงปล่อยให้ตกเป็นของผู้จะขายตลอดไป เพราะถือว่าเป็นค่าตอบแทนของการเข้าครอบครองและใช้สอยประโยชน์แล้ว ก็หาทำให้จำเลยมีความผิดเพราะแจ้งธนาคารระงับการจ่ายเงินโดยสุจริตไม่
อนึ่ง คดีความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 นั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17, 25 และต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวงพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22, 22 ทวิ ซึ่งใช้บังคับแก่ศาลจังหวัดในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการด้วยตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่ากรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริต โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ความว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริตเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการเขต 2 รักษาการในตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ทวิ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไม่มีผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งอนุญาตให้อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ชอบที่จะวินิจฉัยให้ยกเสีย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมาด้วยเป็นการไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5070/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในคดีไม่มีทุนทรัพย์: การขอส่งมอบโฉนดที่ดินโดยมิได้พิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด จำเลยยึดถือและครอบครองโฉนดที่ดินของโจทก์และปิดประกาศขายทอดตลาดโดยเจตนาทุจริต ฉ้อฉล ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ โดยโจทก์มิได้ขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือมีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบด้วย มาตรา 25 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8914/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาสองคนในการพิจารณาคดีอาญา การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยผู้พิพากษาคนเดียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 การที่ผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบโดยฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 26 เนื่องจากการพิพากษาคดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยยกคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน
of 3