คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 39 (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 406 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2309/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวความผิดเดียว: สิทธิฟ้องระงับเมื่อมีคำพิพากษาในความผิดเดียวกัน
สิทธินำคดีมาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) มุ่งหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดอันหนึ่งอันเดียวกันในคราวเดียวกัน
ความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีเป็นการกระทำเดียวกันที่ทำให้เกิดความผิดกล่าวคือ เป็นเรื่องที่จำเลยตกลงให้โจทก์ชำระค่าซื้อที่ดินพิพาท โดยจะให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่ซื้อขายโดยมีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงคนละครึ่ง แต่จำเลยไม่ยอมโอนที่ดินให้โจทก์กลับนำที่ดินไปขายบางส่วนและไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง แม้โจทก์แยกฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 คดี โดยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 945/2553 ของศาลชั้นต้น กล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหลอกลวงโจทก์ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกง ส่วนคดีนี้กล่าวหาว่าเป็นการกระทำฐานยักยอกก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกันและต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยมีเจตนาเดียวกันย่อมเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดพิพากษายกฟ้อง ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยในเรื่องการกระทำความผิดของจำเลย และมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องอาญาถูกระงับหากคดีเกี่ยวเนื่องกับคดีที่เคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2266/2552 ของศาลชั้นต้น เป็นคดีที่ อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 เป็นจำเลย โดยมูลเหตุมาจากการที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ในฐานะ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ใช้หลักเกณฑ์ขัดกับหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาคราวเดียวกันกับมูลเหตุคดีนี้ และศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในส่วนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีของศาลชั้นต้นดังกล่าวด้วยนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า วันที่ 11 สิงหาคม 2549 อันเป็นวันที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์แล้วพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 เท่ากับศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดนั้นแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2549 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 เพื่อช่วยเหลือพวกของตน กลั่นแกล้งโจทก์และผู้บริหารสถานศึกษาอื่นให้ได้รับความเสียหาย การร่วมกันกำหนดแนวทางในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยกำหนดให้มีการประเมินเป็นคะแนน ต่อมาร่วมกันประเมินคะแนนและร่วมกันพิจารณาอนุมัติย้าย ณ. ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส. ตามคะแนนที่ประเมินโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามแนวทางในการพิจารณาซึ่งกำหนดขึ้น เห็นได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่แสดงความจำนงจะขอย้ายในคราวเดียวกันให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส. การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ตามฟ้องจึงเป็นกรรมเดียว และข้อกล่าวหาในคดีก่อนและคดีนี้มีมูลมาจากเหตุเดียวกัน เมื่อการกระทำตามฟ้องได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16250/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำทางอาญา: การหมิ่นประมาทจากหนังสือร้องเรียนและให้สัมภาษณ์ ศาลระงับคดีเนื่องจากมีคำพิพากษาแล้ว
การที่จำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองพยานพร้อมยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และการให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวโดยมีข้อความใส่ความโจทก์ว่า โจทก์กับพวกคุกคามข่มขู่จำเลยกับพยาน เป็นข้อความที่เกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกันต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แม้จำเลยจะจัดส่งหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไปให้บุคคล และคณะบุคคลต่างรายกันก็หาทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทในคดีก่อนต่อศาลแขวงดุสิตในเรื่องที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนดังกล่าว แล้วโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นอีก เมื่อคดีของศาลแขวงดุสิตที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อน ศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาภายหลังศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาแล้ว แม้คดียังไม่ถึงที่สุดก็ถือได้ว่าศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5022/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมยอมดำเนินคดีอาญาโดยไม่สุจริต ไม่ระงับสิทธิฟ้องของโจทก์
การสมยอมกันดำเนินคดีโดยไม่สุจริตเพื่อให้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง ไม่มีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20100/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำความผิดพรากผู้เยาว์: ศาลยกฟ้องเมื่อความผิดกรรมเดียวกันได้รับการตัดสินเด็ดขาดแล้ว
แม้ตามฟ้องคดีนี้จะระบุว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของ ม. ผู้เสียหายที่ 1 และ ป. เพื่อนผู้เสียหายที่ 1 ตรงกันว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปพักอยู่กับ ป. มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 จึงเดินทางจากบ้านของ ป. ที่จังหวัดนครราชสีมาไปหาจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำเลยโอนเงินค่ารถไฟไปให้ 300 บาท แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของจำเลยจึงเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดเช่นนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบวรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่าเหตุความผิดฐานพรากผู้เยาว์ในคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ตามที่พิจารณาได้ความ หาใช่เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 538/2550 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาอีกคดีหนึ่ง โดยบรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 กรณีจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยฐานพรากผู้เยาว์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) การที่โจทก์นำเอาการกระทำของจำเลยที่พรากผู้เยาว์ในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16410/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-สิทธิระงับ: การกระทำความผิดต่อเนื่องฐานทำลายทรัพย์สาธารณประโยชน์และความผิดฐานประกอบกิจการโรงงาน
คดีก่อนพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2371/2550 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการโรงงานโดยทำการดูดทรายบนที่ดินอันเป็นการแปรสภาพลำเลียงและทำลายหิน กรวด ดิน ทราย โดยใช้เครื่องจักรอันเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกประกอบกิจการดูดทรายทำให้ริมตลิ่งคลองบางบาลพังไปเป็นคุ้งน้ำยาวตามลำน้ำประมาณ 300 เมตร ลึกเข้าไปจากริมตลิ่งประมาณ 200 เมตร ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ทำการดูดทรายบริเวณพื้นที่ติดต่อกับคลองบางบาล เป็นเหตุให้ชายตลิ่งริมคลองบางบาลถูกทำลายจนพังทลายลง การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2371/2550 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคดีนี้จึงเป็นการกระทำในสถานที่เกิดเหตุเดียวกันคือ การดูดทรายในที่ดินบริเวณริมคลองบางบาล ตำบลวัดยม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาเดียวกัน หาใช่เป็นการกระทำแยกจากกันหรือต่างกรรมต่างวาระกันไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16405/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำในความผิดอาญา: การกระทำอันเป็นกรรมเดียวกัน แม้โจทก์ต่างกัน สิทธิฟ้องระงับเมื่อมีคำพิพากษาแล้ว
จำเลยที่ 1 ถูกศาลในคดีก่อนพิพากษาลงโทษฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 ปรากฏว่าวัน เวลา และการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในคดีก่อนกับคดีนี้ เป็นวัน เวลา และการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดลักษณะอย่างเดียวกัน ถึงแม้ว่าโจทก์คดีนี้จะบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยอ้างความผิดตามมาตรา 267 เพิ่มเข้ามาอีกด้วยก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและนำสืบเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ในลักษณะอย่างเดียวกันกับคดีก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนกับคดีนี้จึงเป็นกรรมเดียวกัน และที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องคดีนี้ในข้อหาแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 137 และข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามมาตรา 267 ก็ล้วนเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันโดยเจตนาและความมุ่งหมายอย่างเดียวกันที่จะให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทยอมรับการจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจการลงนามของกรรมการ การกระทำของจำเลยที่ 1 ในทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน
แม้คดีก่อนมี ย. เป็นโจทก์ ซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์คดีนี้ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองคดีต่างฟ้องจำเลยในการกระทำอย่างเดียวกัน เมื่อคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในการกระทำอันเดียวกันนั้นเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ในคดีนี้จะนำการกระทำอันเดียวกันของจำเลยที่ 1 มาฟ้องเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ซ้ำอีกนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะผู้ที่กระทำความผิดกรรมเดียวกันไม่จำต้องถูกลงโทษซ้ำสองครั้ง
แม้ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จะยังไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะคดีก่อนยังมิได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อคดีก่อนพิจารณาเสร็จและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว นับตั้งแต่นั้นมาย่อมเป็นผลให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์ในคดีนี้ย่อมต้องสิ้นสุดลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 อีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14257/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียว ฟ้องซ้ำ: สิทธิฟ้องระงับเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดกรรมเดียวกัน
การที่จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค บูรพานิวส์ ฉบับเลขที่ 94 ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2550 แม้เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอก ว. ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอก ว. ต่างถูกหมิ่นประมาทจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ในครั้งเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดอันเป็นกรรมเดียวและหาได้ทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ โดยการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว โจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอก ว. ซึ่งต่างเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มาในคดีเดียวกันหรือแยกกันฟ้องเป็นรายคดีก็ได้ ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น แต่หากคดีหนึ่งคดีใดศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว ย่อมทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในอีกคดีหนึ่งระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13838/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-อำนาจฟ้อง: ศาลพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจโจทก์ ไม่ใช่ความผิดจำเลย สิทธิฟ้องไม่ระงับ
คดีก่อนศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า ท. โจทก์มิใช่เป็นผู้ได้รับความเสียหาย จึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 เห็นได้ว่า คดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามตามข้อกล่าวหาของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่ได้วินิจฉัยในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันจะเป็นเหตุให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ระงับสิ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5410/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำทางอาญา: การรับของโจรกรรมเดียว ศาลยกฟ้องเมื่อมีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้ว
รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในคดีนี้ และรถจักรยานยนต์ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรี ไม่ปรากฏโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 ได้รับมาคนละคราว จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 3 ได้รับรถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าวไว้ในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันรับของโจรเพียงกรรมเดียว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรีแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
of 41