คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อุไรลักษณ์ ลีธรรมชโย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 19 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3886/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกหลังตกลงกันได้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนมรดกเฉพาะส่วนสิทธิโจทก์ และขอบเขตสิทธิในทรัพย์สิน
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 โดยแจ้งชัดเป็นสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ แต่โจทก์ทั้งสามก็กล่าวอ้างสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ทั้งสามนำสืบถึงข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องในการที่โจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละหนึ่งส่วนตามกฎหมาย จึงมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการขอให้บังคับแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามนำสืบแตกต่างกับฟ้องหรือนอกฟ้องนอกประเด็น
การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นหนังสือและต่างได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันต่อกันและได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในบันทึกที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงกันนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิอันพึงมีพึงได้แก่โจทก์ทั้งสามตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด" ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำคำพิพากษาของศาลไปให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาได้ และการเพิกถอนดังกล่าวมิใช่หนี้ที่เป็นการทำนิติกรรมที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ให้แก่ตนเองแล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้แก่สหกรณ์การเกษตร ป. เป็นการกระทำภายหลังวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายกัน โดยที่บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ในส่วนของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 นั้น เฉพาะแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถกระทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายที่ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมนั้นหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 และมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนที่ตนจะได้โดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่นที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กลับสู่กองมรดกของผู้ตายและบังคับให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองได้
ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ. 17 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 2 และยังไม่มีการแบ่งปันให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายและจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก แม้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ได้ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 แต่ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนแบ่งปันที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คงพิพากษาได้แต่เพียงแสดงกรรมสิทธิ์ว่าโจทก์ที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 จำนวน 1 ใน 2 ส่วน เมื่อที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิแบ่งส่วนเอาจากที่ดินพิพาทดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลงข้อความเท็จในเอกสารบริษัท, ผู้สนับสนุน, การนับโทษต่อคดีอื่น, และการใช้ดุลพินิจศาล
จำเลยที่ 2 นำหุ้นที่โจทก์เป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งไปเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ร่วมมือกับจำเลยที่ 3 โดยให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากจำเลยที่ 2 เป็นชื่อจำเลยที่ 3 ทั้งหมดจำนวน 255,000 หุ้น ซึ่งมีส่วนของโจทก์รวมอยู่ด้วยโดยไม่ปรากฏว่ามีการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง อันเป็นการทำเอกสารเท็จ จำเลยที่ 3 ซึ่งรับว่าเป็นสามีใหม่ของจำเลยที่ 2 เบิกความเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ว่าเป็นผู้ดำเนินการจัดทำเอกสารเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นการลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทนำไปให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อที่เรือนจำ ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในวิสัยดำเนินการเองได้ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ร่วมมือกับจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าว จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 แต่โดยฐานะจำเลยที่ 3 มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ฐานลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) ประกอบ ป.อ. มาตรา 86
พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท กระทำ หรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้...(2) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของ ฯ บริษัท" แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้กระทำความผิดไว้ว่าต้องเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท จึงจะลงโทษเป็นตัวการกระทำผิดได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำเลยที่ 1 แม้จะร่วมกันกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าว ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการได้ คงลงโทษจำเลยที่ 3 ได้เพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลงข้อความเท็จของบริษัท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534-535/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีแพ่งหลังจำเลยเสียชีวิต, ความรับผิดทางแพ่งร่วม, และการพิสูจน์ความผิดทางอาญา
เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 สิทธิในการนำคดีอาญาของจำเลยที่ 2 มาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่สำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 เสียก่อน กล่าวคือ หากครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้ว ไม่มีบุคคลใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนหรือเข้ามาตามหมายเรียกของศาล จึงให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งออกเสียจากสารบบความ ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ด่วนมีคำสั่งจำหน่ายคดีส่วนแพ่งในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ ย่อมเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5069/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดูหมิ่นผู้พิพากษา - การวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาคดี - อายุและประวัติจำเลย - เหตุบรรเทาโทษ - การแก้ไขกฎหมายโทษ
ผู้เสียหายทั้งห้าเป็นองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องในคดีที่จำเลยเป็นผู้ฟ้องคดี เป็นการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตาม ป.อ. มาตรา 198 และการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว คำว่า "ศาลหรือผู้พิพากษา" นั้น มิได้หมายความถึงเฉพาะศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (1) เท่านั้น หากยังมีความหมายรวมถึงศาลหรือตุลาการศาลอื่นซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายด้วย ซึ่งการดูหมิ่นผู้พิพากษาตามบทบัญญัติมาตรานี้ หมายถึง การกระทำที่ลดคุณค่าในการพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาในสายตาของผู้กระทำการดูหมิ่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์: สิทธิเหนือโรงแรมแม้ไม่เป็นเจ้าของที่ดิน, การยินยอมใช้ประโยชน์, และความเป็นเจ้าของตามพฤติการณ์
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 298 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำยึด กับบุคคลผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามที่ปรากฏในทะเบียนหรือหลักฐานอย่างอื่นอันศาลต้องวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ หากได้ความว่า ทรัพย์นั้นเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้วศาลจะมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำคัดค้านว่าทรัพย์ที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้ยึดนั้นมิใช่ของตนหาได้ไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำคัดค้านของจำเลยไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ในชั้นขออนุญาตฎีกาจำเลยจะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่ก็ไม่ผูกมัดให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในเนื้อหา เมื่อฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยให้ได้ป.วิ.พ. มาตรา 298 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่ยอมยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพราะมีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียนหรือปรากฎตามหลักฐานอย่างอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่น ซึ่งคำร้องคัดค้านของโจทก์ได้กล่าวอ้างมูลเหตุที่มาในการยื่นคำร้องพร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุน เพื่อขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของจำเลย คำร้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 298 วรรคสาม
โจทก์นำสืบให้เห็นว่าทรัพย์สินที่โจทก์ขอให้ยึดเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาก็เพียงพอแล้ว หาจำต้องนำสืบให้เห็นว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นควรงดการยึดทรัพย์สินนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4675/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้สิ้นสุดก่อนฟ้องโกงเจ้าหนี้ ทำให้คดีอาญาไม่มีมูลความผิด
อุทธรณ์ข้อหนึ่งของโจทก์ร่วมโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ร่วมยังเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ แต่ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งมาวินิจฉัยในคดีอาญาเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46 ไม่อาจนำมาผูกพันคู่ความในคดีอาญาได้ ซึ่งเป็นการไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอีก เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ อันมีองค์ประกอบความผิดเบื้องต้นเป็นประการสำคัญว่า ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ก่อน เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในคดีแพ่งโดยฟังว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในมูลหนี้ที่โจทก์ร่วมฟ้องแพ่ง โจทก์ร่วมและจำเลยย่อมไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน คดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้จึงไม่มีมูลความผิดไปด้วยในตัว มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งมาวินิจฉัยในคดีอาญาอันเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4336/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดอาวุธปืน-พยายามฆ่า-ยิงปืนโดยใช่เหตุ ศาลฎีกาพิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ฐานพาอาวุธปืน และฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และ ป.อ. มาตรา 80, 288, 371 โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ตาม ป.อ. มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้ว่ากล่าวในฟ้อง ต้องห้าม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3248/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทกฎหมายยาเสพติดใหม่ และการลงโทษผู้ขับขี่เสพยา การแก้ไขโทษจำคุกเป็นกักขัง
พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 7 กำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่อ้างถึงบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างบทบัญญัติแห่ง ป.ยาเสพติดในมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน เมื่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง อ้างถึง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 จึงถือว่าอ้างถึง ป.ยาเสพติด มาตรา 162 ด้วยอันเป็นบทกำหนดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในการเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3018/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทความผิดจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 เป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด และพิจารณาโทษตามพฤติการณ์
หลังจากจับกุมจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด ที่ล่อซื้อจากจำเลยบริเวณข้างบ้านที่เกิดเหตุ มีการตรวจค้นบริเวณบ้านที่เกิดเหตุแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ในระหว่างนั้น จำเลยให้ข้อมูลว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนฝังดินไว้พร้อมพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 600 เม็ด บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ และขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 1,000 เม็ด บริเวณไร่อ้อยห่างจากหลังบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ทั้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้ข้อมูลจากจำเลย ก็จะไม่สามารถตรวจค้นเจอยาเสพติดของกลาง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยซุกซ่อนไว้และพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนอีก 1,600 เม็ด เจ้าพนักงานคงไม่สามารถตรวจพบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวได้ ถือว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อพนักงานฝ่ายปกครอง โดยหาจำต้องเป็นข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นไม่ และมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษที่เกิดจากการรู้สึกความผิด หรือลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันควรได้รับการลดโทษตามความแห่ง ป.อ. มาตรา 78 ศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3018/2565 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์นำไปสู่การตรวจค้นพบยาเสพติด - ไม่ถือเป็นความร่วมมือเพื่อบรรเทาโทษ
หลังจากจับกุมจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด ที่ล่อซื้อจากจำเลยบริเวณข้างบ้านที่เกิดเหตุ มีการตรวจค้นบริเวณบ้านที่เกิดเหตุแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ในระหว่างนั้น จำเลยให้ข้อมูลว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนฝังดินไว้พร้อมทั้งพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 600 เม็ด บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ และขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 1,000 เม็ด บริเวณไร่อ้อยห่างจากหลังบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ทั้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้ข้อมูลจากจำเลย ก็จะไม่สามารถตรวจค้นเจอยาเสพติดของกลางนั้น เห็นว่า หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยซุกซ่อนไว้และพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนอีก 1,600 เม็ด เจ้าพนักงานคงไม่สามารถตรวจพบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวได้ ถือว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อพนักงานฝ่ายปกครอง โดยหาจำต้องเป็นข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น และมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษที่เกิดจากการรู้สึกความผิด หรือลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันควรได้รับการลดโทษตามความแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
of 2