คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ม. 38

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6894/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต: การยื่นสำเนาทะเบียนพาณิชย์เป็นเพียงข้อมูลประกอบการพิจารณา
แม้การค้าเร่และการค้าแผงลอยจะไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 มาตรา 7 (1) แต่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 ได้บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน โดยในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงและมีกฎกระทรวงว่าด้วยการขอและออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่าและแลกเปลี่ยน จำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2552 ข้อ 1 (1) (ค) ได้กำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องนำเอกสารและหลักฐานซึ่งมีสำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ยื่นต่อนายทะเบียนพร้อมคำอนุญาตด้วย เอกสารและหลักฐานดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลที่จะให้นายทะเบียนใช้ประกอบในการพิจารณาเท่านั้น ซึ่งการไม่ยื่นสำเนาทะเบียนพาณิชย์ก็ไม่ใช่คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ขออนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์ตามที่มาตรา 39 ได้บัญญัติไว้ ดังนั้น จึงยังมิอาจถือได้ว่าจำเลยมิใช่ผู้ประกอบกิจการภาพยนตร์ในความหมายตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันจะทำให้ฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5621/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันจากการประกอบกิจการวีซีดีผิดกฎหมาย และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาเดิม
ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายแผ่นวีซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เมื่อจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการดังกล่าวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ส่วนที่ต่อมาระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงเข้าจับกุม แต่จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ต่างกรรมต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป และฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายแผ่นวีซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91
โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 78 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้องด้วย แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5241/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาการกระทำผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ การค้าเพื่อผลกำไร vs. การหาเงินจุนเจือครอบครัว
การที่จำเลยนำแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางซึ่งเป็นของเก่า และมีจำนวนเล็กน้อยเพียง 27 แผ่น ออกมาวางจำหน่ายในร้านแผงลอยปะปนกับสินค้าอื่นอย่างเปิดเผยในราคาที่ต่ำกว่าทุนมาก มิได้มีลักษณะของการค้าเพื่อการแสวงหาผลกำไร จึงมีเหตุผลที่น่าเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า การนำเอาแผ่นซีดีภาพยนตร์เก่าออกมาจำหน่ายในลักษณะดังกล่าว มิใช่เป็นการประกอบกิจการในการจำหน่ายภาพยนตร์ซึ่งต้องได้รับอนุญาตนั่นเอง เพราะไม่มีเหตุผลใดเลยที่จำเลยจะต้องมาสุ่มเสี่ยงต่อโทษปรับในอัตราที่สูงเพียงการได้รับค่าตอบแทนที่น้อยมากเช่นนี้ ตามสภาพและพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตโดยถูกต้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ชอบที่ศาลฎีกาจะยกฟ้องโจทก์เสียได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7196/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการริบของกลาง
ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามฟ้องข้อ (ค) ในวันเวลาเดียวกันกับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามฟ้องข้อ (ข) โดยแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ของกลางเป็นจำนวนเดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันโดยจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผล คือ นำแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ดังกล่าวออกให้เช่าเช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ (ค) จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามฟ้องข้อ (ข)
แผ่นภาพยนตร์กับแผ่นวีดิทัศน์ของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์อันพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 เนื่องจากสาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการและไม่นำภาพยนตร์กับวีดิทัศน์ไปให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตรวจพิจารณาอนุญาตก่อนนำออกให้เช่า
สมุดรายการเช่าของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการประกอบกิจการให้เช่าภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตโดยตรง กล่าวคือ สมุดรายการเช่าเป็นปัจจัยหลักและส่วนสำคัญที่ใช้ในการกระทำความผิดเพราะเป็นหลักฐานในการเช่า ติดตามแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ที่ให้เช่า ตลอดจนคิดค่าปรับต่าง ๆ จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด อันพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14093/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องอาญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและองค์ประกอบความผิด ศาลมีอำนาจยกฟ้องได้แม้จำเลยรับสารภาพ
โจทก์บรรยายฟ้องนำข้อความในบทบัญญัติในมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มากล่าวในฟ้องเท่านั้น ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการให้เช่า หรือแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์อย่างไร ภาพยนตร์ที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายนั้นมีลักษณะหรืออยู่ในรูปแบบใด สถานที่ประกอบกิจการอยู่บริเวณใด พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่โจทก์นำแต่เพียงข้อความอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์มาบรรยายในฟ้อง โดยไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาฯ โดยศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้พิพากษาลงโทษหรือยกฟ้องในข้อหานี้ แม้คำพิพากษาตอนท้ายจะระบุว่า "คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" และจะแปลความได้ว่าพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวแต่ศาลต้องระบุเหตุผลในการตัดสินยกฟ้องด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (8) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ได้พิพากษาในข้อหานี้เป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาทางอาญา ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)
ความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งภาพยนตร์ที่ยังไม่ผ่านการตรวจพิจารณาฯ ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ย่อมหมายถึงการตรวจเนื้อหาของภาพยนตร์ที่บันทึกในวัสดุต่างๆ ก่อนจะอนุญาตให้นำออกฉาย ให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร เพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมออกสู่สาธารณะ โจทก์จึงต้องบรรยายข้อเท็จจริงในฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยนำภาพยนตร์เรื่องใดบ้างที่ไม่ผ่านการตรวจออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่าย การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุเพียงจำนวนแผ่นของภาพยนตร์ จึงเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี ย่อมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10671/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 หลายกรรมต่างกัน ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตกระทงหนึ่ง ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตกระทงหนึ่ง และฐานมีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการ ฯ ออกจำหน่ายอีกกระทงหนึ่ง แต่ปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดในวันเวลาเดียวกัน โดยมีแผ่นซีดีภาพยนตร์และแผ่นซีดีวีดิทัศน์ของกลางจำนวนเดียวกัน แม้การกระทำนั้นจะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายบท แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่จำเลยมีเจตนาเดียว โดยมุ่งประสงค์ต่อผลเดียว คือ เพื่อประกอบกิจการจำหน่ายซีดีภาพยนตร์และซีดีวีดิทัศน์ของกลางในทางการค้าซึ่งได้กระทำไปในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 79 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว
ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีสาระสำคัญของการกระทำผิดอยู่ที่จำเลยประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน แผ่นซีดีภาพยนตร์และซีดีวีดิทัศน์ของกลาง จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดอันจะพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 32, 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4438/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และประกอบกิจการภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลแก้โทษและยกฟ้องบางส่วน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำซ้ำดัดแปลงงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดตามฟ้องและมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปซึ่งงานดังกล่าว เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 31, 69 และ 70 ป.อาญา มาตรา 91 จำเลยให้การรับสารภาพตามข้อหาในคำฟ้องซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1), 28 (1), 31 (1), 69 วรรคสอง และ 70 วรรคสอง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1), 28 (1) เพียงกระทงเดียว จึงไม่ถูกต้อง
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน โดยมาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า "ร้านวีดิทัศน์" ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ แสดงว่ากิจการร้านวีดิทัศน์ คือ การฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์เท่านั้น ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์ จึงไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการดังกล่าว ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์อันเป็นองค์ประกอบความผิดในมาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 แต่เมื่อคำขอท้ายฟ้องโจทก์ไม่ระบุมาตรา 54 มาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 54 จำเลยคงมีความผิดเฉพาะมาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3424/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาลงโทษเกินกว่าที่โจทก์ขอในคดีทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมาย
โจทย์ฟ้องว่า จำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายแผ่นวีซีดีคาราโอเกะ อันเป็นวีดิทัศน์ และแผ่นวิดีโอซีดีภาพยนตร์อันเป็นภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เท่ากับโจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตข้อหาหนึ่ง และประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกข้อหาหนึ่ง แต่มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54, 82 ซึ่งหมายถึงให้ลงโทษฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ด้วย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 และให้ลงโทษตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักกว่านั้น จึงเป็นการพิพากษาลงโทษในข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษอันต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับใช้กฎหมายอาญาเมื่อกฎหมายเปลี่ยนแปลงระหว่างการกระทำความผิด และการกำหนดโทษที่เหมาะสม
ตามมาตรา 2 ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ทั้งฉบับ บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป" เมื่อมีการประกาศใช้วันที่ 4 มีนาคม 2551 การเริ่มต้นนับระยะเวลาจึงต้องเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น คือ 5 มีนาคม 2551 เป็นวันที่หนึ่ง ซึ่งจะครบ 90 วัน ในวันที่ 2 มิถุนายน 2551
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพและข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยประกอบกิจการจำหน่ายวีซีดีภาพยนตร์และแผ่นดิจิตอลวิดีโอดิสก์ภาพยนตร์ (ดีวีดีภาพยนตร์) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขณะจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ยังคงมีผลใช้บังคับ เพียงแต่ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาคดีนี้อยู่นั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วโดยมาตรา 3 (4) แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 โดยยังให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ยกเลิกความผิดฐานนี้ แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาคดี อันเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย เมื่อระวางโทษในความผิดฐานดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณมากกว่า ต้องใช้โทษตามกฎหมายดังกล่าวในส่วนที่ไม่มีโทษจำคุกมาบังคับแก่คดี สำหรับในส่วนของโทษปรับ เมื่อโทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ลงโทษปรับได้เพียงไม่เกินสองหมื่นบาทแต่โทษตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท ทั้งยังให้ปรับต่อไปรายวันอีกวันละหนึ่งหมื่นบาท จึงต้องใช้โทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาบังคับแก่คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 577/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานจำหน่ายเทป/ภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ใช้บังคับหลังการกระทำผิด
การที่จำเลยนำวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและไม่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้ตรวจกับไม่มีผู้รับรองสำเนาตามกฎหมายมาให้บริการโดยการจำหน่ายและขายให้แก่ประชาชนทั่วไปนั้นมิใช่การให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง เพราะการจำหน่ายและขายไม่ใช่การจัดฉายหรือให้บริการโดยแสดงภาพและเสียง และสถานที่จำหน่ายและขายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ดังกล่าวไม่ใช่สถานที่จัดฉายหรือให้บริการโดยแสดงภาพและเสียงหรือจัดส่งไปทางสายหรือทางวิธีการอื่นที่ให้ผลในลักษณะเดียวกันตามนิยามคำว่า "สถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์" ใน พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 (4) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 แต่มาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น การที่จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีซีดีภาพยนตร์ ซึ่งตรงกับบทนิยามศัพท์คำว่า ภาพยนตร์ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังแล้ว จึงไม่อาจถือว่ากฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเลิกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลย แต่ในส่วนวีซีดีเพลงนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นวีซีดีเพลงที่บันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นคาราโอเกะที่มีภาพประกอบตามนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวหรือไม่ จึงต้องรับฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่า วีซีดีเพลงตามฟ้องมิใช่วีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 การกระทำของจำเลยในส่วนของการจำหน่ายวีซีดีเพลงจึงหาเป็นความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ไม่
สาระสำคัญในการกระทำความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์หรือภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอยู่ที่จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและเมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานนำวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณามาให้บริการในสถานที่ให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง วีซีดีเพลงและภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ จำนวน 457 แผ่น ของกลางที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ริบจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และ 33
ในส่วนโทษปรับที่จะลงแก่จำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์นั้น ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดมาบังคับแก่คดี ตาม ป.อ. มาตรา 3 เมื่อมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ให้ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ ในขณะที่มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยจึงเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 จึงชอบด้วย ป.อ. มาตรา 3 แล้ว
of 2