คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 179 (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลาย: การชำระหนี้แทนลูกหนี้ไม่ถือเป็นการรวบรวมทรัพย์สิน
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 (4) บัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินในอัตราร้อยละสามของเงินสุทธิที่รวบรวมได้ สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น แต่ถ้ามีการประนอมหนี้ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ ทั้งนี้แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ซึ่งการคิดค่าธรรมเนียมตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องคิดจากการที่ผู้คัดค้านที่ 1 รวบรวมทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 มาตรา 109 มาตรา 117 ถึงมาตรา 123 เพื่อนำมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย คดีนี้ ก่อนผู้ร้องเสนอเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้โดยยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2214 และ 3656 รวม 2 แปลง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ไว้เท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์และผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 138,614,320.12 บาท จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลายตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละสามจากยอดหนี้จำนวน 138,614,320.12 บาท ที่ผู้ร้องเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์และผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2798/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมรวบรวมทรัพย์สินล้มละลาย: ความรับผิดของผู้ขอรับชำระหนี้ที่ถอนคำขอ
เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ แม้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิมจะขอถอนคำขอรับชำระหนี้และผู้คัดค้านอนุญาตให้ถอนไปแล้วก็ตาม แต่อยู่ในระหว่างผู้คัดค้านนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ใหม่แทนโจทก์เดิม ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยังมิได้พิจารณาแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ เนื่องจากผู้ร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ไปเสียก่อนอันเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะกระทำได้ โจทก์เป็นผู้นำผู้คัดค้านไปทำการยึดออกขายทอดตลาดในการรวบรวมทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และมีส่วนได้เสียโดยตรงในการนำยึดที่ดินดังกล่าวแต่ประการใด ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียม
ส่วนทรัพย์หลักประกันของผู้ร้อง ในการขอรับชำระหนี้ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) โดยขอให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันดังกล่าวก่อนแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์หลักประกันดังกล่าว และเป็นผู้นำผู้คัดค้านไปทำการยึด แม้ผู้คัดค้านจะมีหมายนัดให้ผู้ร้องไปทำการยึดและเป็นอำนาจของผู้คัดค้านในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นความประสงค์ของผู้ร้องที่ขอบังคับชำระหนี้ด้วยการขอให้ผู้คัดค้านยึดหลักประกันดังกล่าวขายทอดตลาดตามคำขอรับชำระหนี้มาตั้งแต่ต้น เมื่อทรัพย์ดังกล่าวไม่มีการขายหรือจำหน่ายเนื่องจากผู้ร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (4) ทั้งนี้เพราะผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมการประนอมหนี้ในคดีล้มละลาย คิดจากจำนวนเงินประนอมหนี้ทั้งหมด แม้เจ้าหนี้บางรายถอนคำขอรับชำระหนี้
การคิดค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลายที่มีการประนอมหนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (4) กล่าวคือ "ค่าธรรมเนียมในคดีล้มละลายให้คิดตามอัตรา ดังต่อไปนี้... (4) ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินให้คิดในอัตราร้อยละสามของเงินสุทธิที่รวบรวมได้ สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น แต่ถ้ามีการประนอมหนี้ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ ทั้งนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า..." ถ้อยคำ "ของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้" หมายความว่า ให้คิดค่าธรรมเนียมจากจำนวนเงินที่ลูกหนี้ได้ขอประนอมหนี้ทั้งหมดซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว และความรับผิดในการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้และไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แม้ต่อมาจะมีเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ถอนคำขอรับชำระหนี้ก็ตาม ดังนั้นเมื่อค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้มีจำนวน 34,811,370 บาท สูงกว่าค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินไม่มีการขายหรือจำหน่ายจำนวน 853,028 บาท จำเลยจึงต้องเสียค่าธรรมเนียม 34,811,370 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4866/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราค่าธรรมเนียมรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลาย: ใช้บทบัญญัติเดิมก่อนมีการแก้ไขเมื่อฟ้องคดีก่อน
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มาตรา 12 มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (3) จากข้อความเดิมที่ว่า "ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน...สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้คิดในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินนั้น..." มาเป็นมาตรา 179 (4) มีข้อความใหม่ว่า "ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน... สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น... " และมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดีดังกล่าว" คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มีผลใช้บังคับ ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงต้องใช้บทบัญญัติมาตรา 179 (3) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดี คือค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้คิดในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินนั้น