คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 103 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 420 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของสหภาพแรงงานแทนสมาชิก: สัญญา, วัตถุประสงค์, มติที่ประชุม, และการมอบอำนาจ
โจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีต่อกัน กรณีดังกล่าวจึงไม่จำต้องให้สมาชิกของโจทก์มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีแทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 36 บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานแทนลูกจ้างผู้นั้นได้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงเป็นการตัดสิทธิไม่ให้สหภาพแรงงานฟ้องคดีในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงานโดยเฉพาะ โจทก์มีวัตถุที่ประสงค์ตามข้อบังคับ ข้อ 5 (1) ว่า เพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (2) กำหนดให้สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามวัตถุที่ประสงค์ของสหภาพแรงงานและที่ประชุมใหญ่มีมติให้โจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย อันเป็นไปตามมาตรา 103 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องแทนสมาชิกของโจทก์ได้
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 100 เป็นเพียงข้อกำหนดให้สหภาพแรงงานซึ่งเป็นนิติบุคคลดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยทางผู้แทนทั้งหลายที่เรียกว่าคณะกรรมการเท่านั้น ไม่ได้มีมาตราอื่นใดของพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับว่าสหภาพแรงงานจะดำเนินกิจการใด ๆ ได้ต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการทุกคน เมื่อข้อบังคับของโจทก์ได้กำหนดเรื่องการเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกไว้ใน ข้อ 20 ว่า คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติของที่ประชุม และเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก... และเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการ ในข้อ 27 วรรคสาม ว่า ... การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก...การที่โจทก์มีกรรมการทั้งหมด 11 คน แม้ขณะฟ้องกรรมการโจทก์จะเหลืออยู่เพียง 8 คน ก็ถือว่าเป็นเสียงข้างมากตามข้อบังคับของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจโดยชอบที่จะมอบอำนาจให้ ส. หรือ ท. หรือ น. ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจได้ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19140-19173/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพจ้างขัดแย้งกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ถือตามข้อตกลงเดิมที่เกิดจากข้อเรียกร้อง และให้จ่ายค่าจ้างส่วนต่าง
จำเลยกับลูกจ้างของจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 (ฉบับเดิม) ว่ากรณีที่รัฐบาลประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยตกลงปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทุกคนตามผลต่างของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2555 จำเลยกับสหภาพแรงงานของลูกจ้างโดยประธานและกรรมการสหภาพแรงงานประชุมและตกลงเป็นหนังสือว่าให้จำเลยแบ่งทยอยปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 3 ช่วง แทนที่จะปรับขึ้นค่าจ้างให้คราวเดียวตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่สมาชิก และกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม เมื่อสหภาพแรงงานกระทำไปโดยไม่ได้แจ้งให้สมาชิกทราบและไม่ได้เรียกประชุมสมาชิกก่อน ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่เห็นด้วย ไม่ปรากฏว่าสหภาพแรงงานกระทำไปโดยมติที่ประชุมใหญ่และเป็นการกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (1) และมาตรา 103 (2) ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 19 จึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมที่เกิดจากข้อเรียกร้องโดยไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างตามมาตรา 20 ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้ จำเลยต้องถือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม
เงินที่โจทก์ทั้งสามสิบสี่มีสิทธิที่จะได้รับเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์แต่ละคนทวงถามจึงถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14919-14978/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนในคดีแรงงาน: สหภาพแรงงานฟ้องแทนลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างฟ้องซ้ำถือเป็นฟ้องซ้อน
โจทก์ทั้งหกสิบเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทย สมาชิกมีมติเอกฉันท์ให้สหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยฟ้องจำเลยคดีนี้ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเรียกค่าเสียหายแทนสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย จึงเป็นการดำเนินการโดยถูกต้องตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 103 (2) และมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ทั้งหกสิบรวมทั้งลูกจ้างอื่นที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยซึ่งผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ทั้งหกสิบในคดีนี้ด้วย ดังนั้นสหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยจึงเป็นผู้อยู่ในฐานะเดียวกับโจทก์ทั้งหกสิบและเป็นผู้ใช้สิทธิแทนโจทก์ทั้งหกสิบฟ้องคดี เมื่อโจทก์ทั้งหกสิบมาฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบเสียหาย ขอเรียกค่าเสียหายนับแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมีผลบังคับจนถึงวันฟ้อง อันเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันกับที่สหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลฎีกา คำฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4371-4451/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้แทนสหภาพแรงงานทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยไม่ต้องผ่านมติที่ประชุมใหญ่
การที่สหภาพแรงงาน ท. ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 8 (นายจ้าง) ขอให้จำเลยที่ 8 พิจารณาจัดเงินช่วยเหลือค่าดำรงชีพแก่พนักงาน ให้จำเลยที่ 8 ยืนยันความมั่นคงในเรื่องโบนัส เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงิน อัตรากำลังคน และให้ปรับปรุงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลด้วย ซึ่งในการดำเนินกิจการอันกระทบกระเทือนถึงส่วนที่เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวมดังกล่าว ที่ประชุมใหญ่สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้ให้การรับรองและแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นตัวแทนเข้าร่วมเจรจาต่อรองกับจำเลยที่ 8 กรณีที่กล่าวมาจึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 103 (2) มาตรา 13 วรรคสาม และมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แล้ว ดังนั้นเมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้เข้าร่วมเจรจาต่อรองกับจำเลยที่ 8 หลายครั้งตามมาตรา 16 จนทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 ได้ โดยเฉพาะเงินโบนัสจำเลยที่ 8 ตกลงจ่ายเงินโบนัสประจำปี เฉพาะงวดการจ่ายวันที่ 30 มิถุนายน 2542 อัตราเฉลี่ย 1.4 เท่าของเงินเดือนตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจากับจำเลยที่ 8 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ในฐานะผู้แทนของสหภาพแรงงาน ท. ที่เข้าร่วมเจรจาตกลงดังกล่าวย่อมมีสิทธิทำข้อตกลงเกี่ยวกับเงินโบนัสอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 8 ได้ตามมาตรา 18 โดยมิจำต้องให้ที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงาน ท. มีมติให้การรับรองอีกครั้ง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ท.ตามมาตรา 19 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 8 ได้จ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ดังกล่าวไปครบถ้วนในอัตรา 1.4 เท่าของเงินเดือนตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.3 แล้ว จำเลยที่ 8 จึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งแปดสิบเอ็ดสำนวนอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535-6775/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติที่ประชุมใหญ่สหภาพแรงงานชอบด้วยกฎหมาย แม้มติไม่มีรายละเอียดข้อเรียกร้อง ยื่นข้อเรียกร้องภายในระยะเวลาสมควร
มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้ยื่นข้อเรียกร้อง แม้จะไม่มีรายละเอียด ต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อเรียกร้องนั้น ก็ยังเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายเพราะพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มิได้บัญญัติบังคับให้มติที่ประชุมใหญ่จะต้องมีรายละเอียดเช่นว่านั้น คำกล่าวของประธานในที่ประชุมสหภาพที่กล่าวในทำนองว่าสหภาพจำเป็นที่จะต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนสิ้นปีนั้นเป็นเพียงคำกล่าวชี้แจงแสดงเหตุผลของประธานต่อที่ประชุมใหญ่เท่านั้นหาได้หมายความว่าให้ที่ประชุมลงมติว่าจะให้ยื่นข้อเรียกร้องภายในกำหนดสิ้นปีด้วย เมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้ยื่นข้อเรียกร้อง และสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยภายในระยะเวลาสมควรแล้ว แม้จะล่วงเลยวันสิ้นปีก็ตาม ก็ถือเป็นการยื่นข้อเรียกร้องโดยมติของที่ประชุมใหญ่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2622/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สหภาพแรงงานฟ้องคดีต้องมีมติที่ประชุมใหญ่ก่อน หากมีผลกระทบต่อสิทธิสมาชิกเป็นส่วนรวม
แม้โจทก์ซึ่งเป็น สหภาพแรงงานฟ้องโดยอ้างว่าจำเลยปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเป็นการจัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา98(2)แต่ผลของคำพิพากษาย่อมผูกพันลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็น นายจ้างให้ต้องปฏิบัติตามอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกเป็นส่วนรวมซึ่งมาตรา103(2)บัญญัติให้กระทำได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งมุ่งหมายให้มีการทบทวนและไตร่ตรองให้รอบคอบโดยผ่าน มติที่ประชุมใหญ่ก่อนที่จะดำเนินการเมื่อโจทก์ ฟ้องคดีโดยไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่จึงไม่มี อำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2622/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของสหภาพแรงงานต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่ แม้การฟ้องเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก
โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานโดยไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่ แม้การฟ้องคดีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามมาตรา 98 (2) แห่งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ตาม แต่การฟ้องคดีนี้ไม่เพียงแต่ศาลพิพากษาโดยการวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้เถียงของคู่ความเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่อันมีอยู่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเพื่อหาข้อยุติเท่านั้น หากแต่การดำเนินคดีย่อมต้องใช้ความจัดเจนในการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและถูกต้อง นอกจากนี้โจทก์จำเลยยังอาจทำการประนีประนอมยอมความกันให้ผิดแผกไปจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำไว้ก็ได้ ผลของคำพิพากษาย่อมผูกพันลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างให้ต้องปฏิบัติตาม อันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกเป็นส่วนรวม ซึ่งตามมาตรา 103 (2) แห่งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 บัญญัติว่า สหภาพแรงงานจะกระทำการได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ในกรณีดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม บทบัญญัติดังกล่าวนี้มุ่งหมายให้มีการทบทวนและไตร่ตรองให้รอบคอบโดยผ่านมติที่ประชุมใหญ่เสียก่อนที่จะดำเนินการ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้แทนสหภาพแรงงาน: มติที่ประชุมใหญ่ให้สิทธิเจรจาและทำข้อตกลงสภาพการจ้างโดยไม่ต้องอนุมัติซ้ำ
เมื่อข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานและรายชื่อผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาได้กระทำขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกของสหภาพแรงงานแล้ว ผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาดังกล่าวย่อมมีอำนาจบริบูรณ์ในการเจรจาและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับนายจ้างได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่นั้นอีกมติของที่ประชุมใหญ่เช่นนี้ย่อมมีผลเป็นการอนุมัติให้สหภาพแรงงานรับข้อเรียกร้องและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องนั้นได้ด้วย ดังนั้น เมื่อต่อมาผู้แทนลูกจ้างได้เจรจาตกลงกับนายจ้าง และมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันขึ้น กรณีย่อมถือได้ว่าผู้แทนลูกจ้างได้กระทำภายในขอบเขตอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่นั้นแล้ว หาจำเป็นจะต้องได้รับอนุมัติเป็นการเฉพาะอีกไม่ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 103(2)
of 42