คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 155

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 83 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: สัญญา กู้ยืมเงินเพื่อปิดบังเจตนาในการร่วมลงทุน ทำให้สัญญาเงินกู้เป็นโมฆะ
แม้สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญาที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง แต่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า สัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยต่อสู้ว่าหนี้ไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย กรณีเชื่อว่าก่อนทำสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์กับจำเลยตกลงร่วมลงทุนกันจริงโดยมีการส่งมอบเงินตามสัญญากู้เป็นเงินร่วมลงทุนเบื้องต้น และโจทก์กับจำเลยมีเจตนาผูกพันกันตามนิติกรรมร่วมลงทุน แต่ทำนิติกรรมกู้ยืมเงินเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญา นิติกรรมกู้ยืมจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการร่วมลงทุน นิติกรรมการกู้เงินย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า "ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ" แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาร่วมลงทุน แต่ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามมูลหนี้เงินกู้ที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8887/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินผิดกฎหมาย การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยอายุความ
ย. ตกลงขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้พันเอก พ. เมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2520 เมื่อมีการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากติดข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน ย. และพันเอก พ. จึงทำสัญญาจำนองโดยไม่มีการกู้ยืมเงินจริง แต่ทำเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เมื่อสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้
การทำสัญญาการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น การที่ ย. ทำสัญญาการซื้อขายและมอบให้พันเอก พ. ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พันเอก พ. ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนคือวันที่ 24 สิงหาคม 2530 พันเอก พ. และทายาทครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2559 โดยไม่ปรากฏว่า ย. หรือทายาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ย. หรือทายาทได้สละการครอบครองที่พิพาทให้แก่พันเอก พ. แล้ว ย่อมถือว่าพันเอก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา พันเอก พ. ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินโดยความยินยอมของผู้ให้จำนอง แม้จะฟ้องเพิกถอนสัญญาจำนองไม่ได้ ผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า "นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน" และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3440-3441/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาลวงในการซื้อขายที่ดิน สิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์ และผลของการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งติดจำนองไว้กับธนาคาร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ไถ่จำนองให้แก่ธนาคารแทนโจทก์ โจทก์จึงจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมิได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันอย่างแท้จริง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาเป็นเจ้าของแต่มีเจตนายกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนั้นตามรูปคดีของโจทก์ หาใช่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางไม่ เพราะนิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น จะต้องมีนิติกรรม 2 นิติกรรม โดยบุคคลทั้งสองฝ่ายแสร้งแสดงเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งซึ่งมีเจตนาแท้จริงมุ่งผูกนิติสัมพันธ์กัน แต่ตามคำฟ้องโจทก์คงมีเพียงนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น หาได้มีนิติกรรม 2 นิติกรรมอำพรางกันอยู่ไม่ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้รับจำนองแทนโจทก์ ก็ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำกับโจทก์ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปีก็ตาม สิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
สำหรับประเด็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่นั้น ปัญหานี้แม้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยแต่คู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ ซึ่งพยานโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเหตุผลใดที่ต้องร่วมกันกับโจทก์แสดงเจตนาลวงในการทำนิติกรรมดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกว่า จะไม่ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกจากโจทก์และบุคคลในครอบครัวเท่านั้น และจะโอนกรรมสิทธิ์คืนให้ต่อเมื่อโจทก์ชำระเงินค่าไถ่จำนองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อนแล้วนั้น ก็เป็นเพียงคำมั่นที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกกล่าวและกำหนดเวลาให้โจทก์ซื้อที่ดินคืน แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตาม คำมั่นดังกล่าวจึงเป็นอันไร้ผลไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525-526/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้ยืนยันหลักการเรื่องการยื่นคำร้องซ้ำ และอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญา
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติให้สิทธิคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านใช้สิทธินี้โดยเป็นผู้ร้องขอไปแล้วแต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขออย่างเดียวกันอีกในเดือนเดียวกันโดยอ้างเหตุใหม่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้คัดค้านสามารถยกขึ้นอ้างได้ในขณะยื่นคำร้องขอครั้งก่อน และประเด็นตามคำร้องทั้งสองครั้งเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีตามคำร้องขอไปแล้ว ถือว่าเป็นการที่ผู้คัดค้านรื้อร้องฟ้องให้ศาลวินิจฉัยกันใหม่อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียว คำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านฉบับหลังจึงซ้ำกับคำร้องขอฉบับแรก ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ปัญหานี้แม้ผู้ร้องมิทันยกขึ้นต่อสู้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เพิ่งยกขึ้นในคำแก้อุทธรณ์ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848-2849/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมรับผิดชำระหนี้จากสัญญาซื้อกลับคืนพิพาท โดยจำเลยทำหนังสือมอบอำนาจและให้สัตยาบัน
บริษัท บ. จำกัด ต้องการที่จะใช้รถเครนและรถขุดพิพาท จำเลยที่ 1 ซึ่งต้องการขายรถเครนและรถขุดพิพาทจึงติดต่อกับโจทก์ที่เป็นแหล่งเงินทุนให้ซื้อรถเครนและรถขุดพิพาทเพื่อนำออกให้บริษัท บ. จำกัด เช่าแบบลิสซิ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านเทคนิคของรถเครนและรถขุดพิพาท โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบด้วยการซื้อกลับคืนเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระทั้งหมดหากบริษัท บ. จำกัด ผิดสัญญาเช่า ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 6 ก็ตกลง โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเข้าทำสัญญาซื้อขายรถเครนและรถขุดพิพาทและทำสัญญาซื้อกลับคืนในวันเดียวกัน แล้วโจทก์นำรถเครนและรถขุดพิพาทออกให้บริษัท บ. จำกัด เช่าตามสำเนาแบบคำขอให้บริการเช่าโดยมีบริษัท ส. จำกัด และ ส. เป็นผู้ค้ำประกันการเช่ารถของบริษัท บ. จำกัด ดังกล่าว ในการนี้โจทก์ได้รับประโยชน์ที่รวมอยู่ในค่าเช่า และจำเลยที่ 1 ได้กำไรจากการขายรถดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามวิธีการประกอบธุรกิจการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามปกติ และคู่กรณีต่างมีเจตนาเข้าทำสัญญาซื้อกลับคืนอย่างแท้จริงโดยทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาว่า สัญญาซื้อกลับคืนเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์แยกต่างหากจากสัญญาเช่าและสัญญาซื้อขายฉบับเดิม ดังจะเห็นได้จากสัญญาซื้อกลับคืนเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน กล่าวคือ หากเกิดกรณีที่บริษัท บ. จำกัด ผู้เช่าผิดสัญญาเช่า สัญญาซื้อกลับคืนจึงมีผลบังคับ กับมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนแตกต่างจากสัญญาค้ำประกันโดยแจ้งชัด และภายหลังจากที่บริษัท บ. จำกัด ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ก็เข้าผ่อนชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อกลับคืนและหนังสือรับสภาพหนี้ติดต่อตลอดเรื่อยมาจนถึงปี 2549 เป็นเงินรวม 40 ล้านบาทเศษและขอให้โจทก์ฟ้องบริษัท บ. จำกัด เพื่อจะได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไปตามสัญญาซื้อกลับคืนด้วย ซึ่งโดยสภาพแห่งสัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสร้งแสดงเจตนาเข้าทำนิติกรรมแต่อย่างใด สัญญาซื้อกลับคืนจึงมิใช่นิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาค้ำประกันหรือสัญญารับสภาพหนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะไม่
โจทก์ จำเลยทั้งหก และบริษัท บ. จำกัด ต่างเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งบริษัท บ. จำกัด ก็เช่ารถเครนและรถขุดพิพาทแบบลิสซิ่งในอัตราค่าเช่าสูงถึงเกือบ 70 ล้านบาท ประกอบกับโดยสภาพของรถก็เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่นำไปใช้ในการประกอบกิจการก่อสร้างเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า จึงหาได้มีลักษณะเป็นการเช่ามาเพื่อใช้สอยตามปกติไม่ นอกจากนี้หนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากสัญญาซื้อขายและสัญญาซื้อกลับคืนพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อการค้า จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 และมาตรา 4 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจและให้สัตยาบันแก่จำเลยที่ 6 โดยให้ถือว่านิติกรรมสัญญาต่าง ๆ และกิจการใด ๆ ที่จำเลยที่ 6 ทำในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะแทนจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยอมให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทุกประการ ไม่ว่านิติกรรมสัญญาหรือกิจการใด ๆ ดังกล่าวจะได้กระทำลงก่อนหน้านี้ก็ตาม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย และจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือรับสภาพหนี้ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อย่างลูกหนี้ร่วมเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10834/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: ขายฝากเป็นเพียงรูปแบบซ่อนเร้นของการกู้ยืมเงิน สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ
โจทก์และจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่าง อ. กับจำเลยโดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน และให้โฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาขายฝากไม่ แม้การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในการทำนิติกรรมอำพรางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น คู่กรณีจะต้องแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรมคือ นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยเปิดเผย คู่กรณีไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับอย่างใดตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้ โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ แม้คู่กรณีในเรื่องนิติกรรมอำพรางจะต้องมีเพียงคู่เดียวก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์เป็นสามีของ อ. ผู้กู้ ทั้งยังเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญากู้เงิน โดยโจทก์มีความประสงค์ต้องการใช้เงิน แสดงว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกู้ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์และ อ. ทำนิติกรรมดังกล่าวจึงมีผลประโยชน์ร่วมกัน และถือได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน ดังนี้ แม้คู่กรณีในนิติกรรมขายฝากจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเป็นนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลย ก็ถือได้ว่าคู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองนิติกรรมนั้นเป็นคู่กรณีเดียวกัน ฟังได้ว่านิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยจำเลยยังมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันได้
เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีการชำระหนี้ตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากกับขอให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินพิพาทได้ และเมื่อการขายฝากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นโมฆะดังกล่าว ศาลฎีกาก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นกลบเกลื่อนการกู้ยืมเงิน สิทธิในที่ดินยังเป็นของผู้กู้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้
การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9396/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงทางแพ่งมีผลผูกพันหรือไม่ เมื่อเกิดจากเจตนาลวงและทำภายหลังการตกลงที่ไม่เรียกร้องค่าเสียหาย
หลังจากรถกระบะของโจทก์ที่ 1 เฉี่ยวชนกับรถกระบะของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างยอมรับว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของทั้งสองฝ่าย และต่างไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน ตามบันทึกการตกลงค่าเสียหายทางแพ่ง ในวันเดียวกันโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงขึ้นอีก 1 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญว่า ฝ่ายจำเลยรับว่าจะซื้อรถยนต์คันใหม่ให้แก่ฝ่ายโจทก์แล้วให้ฝ่ายโจทก์โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน ก - 1146 อุดรธานี (ป้ายแดง) ให้แก่ฝ่ายจำเลย ตามบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง ซึ่งทำขึ้นก่อนบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างยอมรับว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของทั้งสองฝ่าย และต่างไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดอันใดที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองอันสืบเนื่องมาจากเหตุรถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันอีก เมื่อตัวแทนของบริษัทผู้รับประกันภัยมาร้องขอให้ทำบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง อ้างว่าเพื่อช่วยเหลือโจทก์ทั้งสอง บันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง คู่สัญญามีเจตนาลวงเพื่อนำไปเป็นหลักฐานให้บริษัทประกันภัยซ่อมรถยนต์ให้แก่โจทก์ที่ 1 บันทึกการตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องรับผิดตามบันทึกการตกลงของคู่กรณีทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9790/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นกลบเกลื่อนการกู้ยืมเงิน ศาลเพิกถอนสัญญาได้
โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกัน มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้เงินจากจำเลยโดยให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยยึดถือเป็นประกัน ถือว่าสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินที่ทำกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยซึ่งถูกอำพรางไว้จึงต้องบังคับตามสัญญากู้เงินที่เป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองผ่อนชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยเกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้จากจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทไว้ ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสองและต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองด้วย แต่ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โดยปลอดจำนองหรือภาระผูกพันใด ๆ นั้น มีผลทำให้คำพิพากษากระทบต่อสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความในคดี ย่อมไม่อาจกระทำได้
of 9