คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 425

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,014 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไล่เบี้ยความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: การสละสิทธิไล่เบี้ยตามสัญญาประกันภัยและข้อยกเว้น
กรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 6 ระบุเหตุที่โจทก์สละสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยว่า ในกรณีที่มีความเสียหายต่อรถยนต์ เมื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย โจทก์สละสิทธิในการไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์นั้น แต่กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวระบุข้อยกเว้นที่โจทก์ยังสงวนสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยไว้ด้วยว่า กรณีการใช้โดยบุคคลของสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถ การทำความสะอาดรถ การบำรุงรักษารถ หรือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเมื่อรถยนต์ได้ส่งมอบให้เพื่อรับบริการนั้น โจทก์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากบุคคลเหล่านั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เอาประกันภัยประสงค์จะนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้าซ่อมที่บริษัท บ. แต่ไม่สามารถนำรถไปส่งซ่อมเองได้ จึงมอบหมายให้บริษัท บ. จัดหาบุคคลไปรับรถยนต์มาเพื่อซ่อม เมื่อบริษัท บ. เป็นสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถ การที่บริษัท บ. ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ไปรับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย จึงเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้ารับบริการซ่อมตามการมอบหมายและความยินยอมของผู้เอาประกันภัย ต่อมาจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไปรับรถและขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยไปส่งที่บริษัท บ. จึงเป็นการกระทำในวัตถุประสงค์และการมอบหมายของบริษัท บ. เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งรับดำเนินการในกรณีนี้เป็นตัวแทนของบริษัท บ. ในการรับมอบรถยนต์จากผู้เอาประกันภัยเพื่อนำไปรับบริการซ่อมแซมจากบริษัท บ. ผู้เป็นตัวการ การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจึงเป็นการกระทำโดยบุคคลของสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถเมื่อรถยนต์ได้ส่งมอบให้เพื่อรับบริการนั้น อันเป็นข้อยกเว้นซึ่งโจทก์ยังสงวนสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากผู้ใช้รถยนต์ที่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยนั้น โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง มาตรา 420 และมาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แบ่งความรับผิดหนี้ร่วมกัน นายจ้าง ลูกจ้าง และผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อดอกเบี้ย
ตามคำพิพากษาในคดีก่อนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดของโจทก์เพียงข้อหาเดียวว่า โจทก์เป็นนายจ้างของ ป. และ ป. ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อน และวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยโดยสรุปว่า จำเลยดำเนินการด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ป. มีโอกาสเบียดบังเอาหุ้นของโจทก์ที่มีชื่อ ว. เป็นผู้ถือหุ้นไปโดยทุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิดต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนว่า ป. และจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด และต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อเป็นหนี้ร่วม ป. และจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ส่วนโจทก์ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของ ป. เท่านั้น ความรับผิดของโจทก์และ ป. จึงเสมือนเป็นบุคคลเดียวกันที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในการชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และเนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับ ป. และจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แต่ความรับผิดของโจทก์นั้น เป็นผลมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างด้วย มิได้เป็นผลมาจากการกระทำของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จาก ป. ผู้เป็นลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 และรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยจากจำเลยได้อีกส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 227
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากบริษัท ม. ได้ชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนแทนจำเลยตามบันทึกข้อตกลงแล้ว หนี้ในส่วนของจำเลยจึงระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั้น ตามคำให้การจำเลยมิได้ต่อสู้คดีว่าโจทก์และจำเลยได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันมีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ในข้อใดเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร หากเห็นว่าแม้จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไปอย่างไรก็ไม่ทำให้ผลคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจไม่วินิจฉัยในข้อนั้นได้
บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 เป็นเพียงข้อตกลงให้โจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยโดยบริษัท ม. ชําระหนี้ตามความรับผิดของจำเลยหนึ่งในสามส่วนไปก่อนเท่านั้น จำเลยจึงยังต้องรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขาดจำนวนจากความรับผิดในส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จนั้น เนื่องจากได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งตามมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน อันมีผลให้ในกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ก็ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และในกรณีที่เป็นหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการคิดดอกเบี้ยก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชําระให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขโดยกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมและการรับช่วงสิทธิ เมื่อลูกหนี้อีกฝ่ายมิได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย
แม้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 11988/2561 ให้โจทก์ในฐานะนายจ้างชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของลูกจ้างเป็นค่าขนส่งสินค้าไปกลับและค่าตรวจเช็กสภาพเครื่องให้แก่บริษัท อ. และให้จำเลยในฐานะผู้รับจ้าง บริษัท อ. ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของโจทก์ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายดังกล่าวก็ตาม แต่ระหว่างโจทก์ผู้ทำการขนย้ายสินค้าออกจากคลังเก็บสินค้า กับจำเลยผู้รับจ้างให้ดำเนินการเกี่ยวกับการนำสินค้าเข้าผ่านพิธีการศุลกากรและนำสินค้าออกจากคลังสินค้าของโจทก์จะมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า พนักงานขับรถยกของโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียวเป็นเหตุให้ลังสินค้าพลิกตกกระแทกพื้นสินค้าได้รับความเสียหาย โดยจำเลยมิได้มีส่วนกระทำโดยประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ที่บัญญัติให้ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นดังที่โจทก์ฎีกานั้น จะบังคับแก่กรณีนี้ได้ต่อเมื่อลูกหนี้ร่วมแต่ละคนจะมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย แม้โจทก์ได้ชำระหนี้เต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลย โจทก์ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยให้จำเลยชำระเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีหน้าที่ดูแลลูกค้า การโอนเงินผิดพลาดถือเป็นการละเมิด ธนาคารต้องรับผิดชอบความเสียหาย
จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับจำเลยถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของจำเลยด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของจำเลยเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยเอง ซึ่งจำเลยสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่ เมื่อ จ. พนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลลูกค้าของจำเลยกลุ่มลูกค้าบุคคลได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เป็นผู้ดูแลโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ การที่ จ. อำนวยความสะดวกให้โจทก์ด้วยการนำใบนำฝาก/โอน และใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อถึงที่ทำการของโจทก์ แล้วรับเอกสารดังกล่าวมาดำเนินการต่อที่สาขาของจำเลย ถือเป็นกิจการของจำเลยที่มอบหมายให้ จ. ไปกระทำ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มอบหมายให้ จ. เป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยดังที่จำเลยฎีกา การที่ จ. รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับโจทก์มาก่อนมีผลเพียงทำให้โจทก์ให้ความไว้วางใจ จ. ในฐานะพนักงานของจำเลยที่มาอำนวยความสะดวกให้โจทก์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น หาทำให้ จ. กลับกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยไม่ จ. เพียงทำหน้าที่นำเอกสารที่ใช้ในการถอนเงินและซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วรับเอกสารจากโจทก์ไปมอบให้พนักงานของจำเลยที่มีอำนาจหน้าที่ในการทำธุรกรรมนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการต่อ หาใช่ว่า จ. เป็นผู้รับทำธุรกรรมให้โจทก์ด้วยตนเองไม่ ดังนั้น แม้ขณะทำธุรกรรมดังกล่าว จ. ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้แนะนำการลงทุนดังที่จำเลยฎีกา การกระทำของ จ. ก็ยังอยู่ในขอบอำนาจและในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย เมื่อ จ. นำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุนอันผิดไปจากความประสงค์ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ จ. ลูกจ้างของจำเลยกระทำไปในทางการที่จ้าง
โจทก์สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายว่า จ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์ในแต่ละครั้งหรือไม่ โดยการเรียกสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนรวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มอบหมายให้ไปทำธุรกรรม ทั้งการโอนเงินตามฟ้องแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกัน หากโจทก์ได้ตรวจสอบดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำก็ย่อมจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่ามีการทำธุรกรรมผิดไปจากความประสงค์ของตน ซึ่งอาจจะอายัดเงินในบัญชีของผู้รับโอนกลับคืนมาได้ทันหรืออย่างน้อยก็ทำให้สามารถป้องกันมิให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก แต่โจทก์กลับมอบสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนให้ จ. เป็นผู้เก็บรักษา ทั้งยังปล่อยปละไม่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจนเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือนจึงทราบเหตุละเมิด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ประกอบด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์มากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างต้องรับผิดต่อละเมิดจากลูกจ้างที่ขับรถปฏิบัติงาน แม้มีการเบิกถอนเงินส่วนตัวช่วงปฏิบัติงาน
ม. ใช้รถกระบะคันเกิดเหตุไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่ง โดยให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปที่ป่าบุห้าร้อยบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวนพร้อมกับเจ้าหน้าที่อื่นด้วยและขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขับรถกลับไปที่หน่วยห้วยคำภู ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปและอยู่ที่หน่วยดังกล่าวคนเดียวจนถึงวันเกิดเหตุ ทั้งที่ ม. เบิกความว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่กลับยินยอมให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปคันเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความผูกพันในหน้าที่เดิมอย่างไม่ขาดตอน พฤติการณ์แห่งคดีจึงบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงในการทำงานกับจำเลยที่ 2 อย่างไร เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หาได้มีผลผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสองด้วยไม่ เพราะการว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวอันถือเป็นการจ้างแรงงานนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 มิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ คำเบิกความของ ม. ที่เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 อยู่ที่หน่วยห้วยคำภูเพื่อรอขนย้ายสิ่งของเท่านั้น จึงขัดต่อพฤติการณ์ที่ ม. สั่งให้จำเลยที่ 1 นั่งรถกระบะคันเกิดเหตุไปยังบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวน กับสั่งให้ขับรถกระบะคันเกิดเหตุกลับไปที่หน่วย พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบยังไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น ตามคำสั่ง 96/2557 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้ ม. ใช้รถกระบะคันเกิดเหตุได้ตลอดเวลาที่ต้องปฏิบัติงาน ม. จึงมีอำนาจใช้และมีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบรถกระบะคันเกิดเหตุ การที่ ม. ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะดังกล่าวไปที่หน่วยห้วยคำภู และอยู่ประจำที่หน่วยดังกล่าวเพื่อรอรับ ม. กับเจ้าหน้าที่อื่นพร้อมกับผู้ต้องหาที่ถูกจับ การขับรถกระบะคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 หาได้เป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปเบิกถอนเงินแม้เป็นธุระส่วนตัว และบริเวณที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในเขตทำการที่จำเลยที่ 2 รับผิดชอบ แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปกลับเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย ถือได้ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 2 นายจ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของเจ้าของรถเช่าซื้อและผู้เช่าในการกระทำละเมิดจากอุบัติเหตุ
จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ มีรถแท็กซี่ให้เช่ามากถึง 60 คัน จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่รายใหญ่ จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากโจทก์ซึ่งจดทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน อันเป็นรถยนต์สาธารณะตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งอยู่ในความควบคุมของนายทะเบียนและผู้ตรวจการขนส่งทางบก โดยมีชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ติดอยู่ที่ประตูรถด้านหน้าทั้งสองข้าง แล้วจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่ไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับส่งคนโดยสารในนามของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ แม้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18871/2557 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะไม่นำทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปให้เช่า จำเลยที่ 2 ย่อมต้องทราบดีว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถนำรถที่ตนเช่าซื้อจากโจทก์ให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่าได้ การที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่ของโจทก์เพื่อนำออกให้เช่าโดยที่โจทก์ได้จดทะเบียนรถแท็กซี่เป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารตามกฎหมายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ที่ติดอยู่ด้านข้างรถแท็กซี่นำไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรถส่งคนโดยสารเพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ส่วนโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารด้วย เพราะโจทก์สามารถให้เช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้ผูกนิติสัมพันธ์กันแต่เฉพาะนิติกรรมการเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่คันเกิดเหตุไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับคนโดยสาร จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับโจทก์เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนในการประกอบกิจการรับขนคนโดยสารด้วย จำเลยที่ 2 กับโจทก์จึงต้องร่วมกันรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน – ตัวแทนเกินอำนาจ – ความรับผิดของตัวการ – ความประมาทเลินเล่อของจำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่เป็นเหตุโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับลักษณะการเป็นตัวแทน โจทก์ก็นำสืบได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียดว่าการกระทำดังกล่าวของ จ. จะมีลักษณะเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยมอบอำนาจให้ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยออกหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยได้ตามเงื่อนไข การที่ จ. ออกหนังสือค้ำประกันที่สาขาของจำเลยโดยใช้กระดาษแบบฟอร์มของจำเลย ถือได้ว่าทางปฏิบัติของจำเลยผู้เป็นตัวการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวเป็นการกระทำอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน หนังสือค้ำประกันจากธนาคารจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์ยอมรับหนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระเงินค่าสินค้าของ ม. การที่ ม. ไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์ ความเสียหายของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของโรงเรียนและบุคลากรต่อความเสียหายจากการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำ และการพิสูจน์ภาระหน้าที่ตามกฎหมาย
แม้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ทำนองว่า การที่โจทก์ที่ 3 ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 6 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างจึงขาดสาระสำคัญและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ทำให้การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพราะผลของการกระทำของจำเลยที่ 6 ลูกจ้างเป็นการนอกประเด็นตามคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ก็ตาม แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ฟ้องของโจทก์ที่ 3 ไม่ได้ตั้งข้อหาเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 6 กระทำในฐานะลูกจ้าง เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์มาตรา 172 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ประกอบกับในคดีผู้บริโภคไม่มีเรื่องคำฟ้องไม่ชัดแจ้งหรือฟ้องเคลือบคลุม เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาก็ไม่อาจวินิจฉัยให้ได้
แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่า นับแต่เกิดเหตุ โจทก์ที่ 3 ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง พูดไม่ได้ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง ไม่สามารถกินอาหารหรือลุกไปขับถ่ายด้วยตนเอง ปัจจุบันโจทก์ที่ 3 อยู่ในการดูแลรักษาของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์ที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย ประกอบกับในการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ มีโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินคดีแทนมาตั้งแต่ต้น และตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 แสดงชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งหกในสองฐานะคือในฐานะส่วนตัวกับในฐานะที่เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ จึงเป็นคำฟ้องของโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นมารดาฟ้องแทนอีกด้วย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ที่ 3 อีก
เหตุความเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจของโจทก์ที่ 3 ในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ที่ 3 เรียนวิชาว่ายน้ำซึ่งเป็นวิชาบังคับที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดเหตุและจำเลยที่ 6 เป็นครูผู้สอน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้บริการหรือมาตรฐานในการเรียนการสอนที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
จำเลยทั้งหกไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้มีการให้บริการหรือดำเนินการตามมาตรฐานในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำแก่เด็กเล็กตามภาระการพิสูจน์ และเมื่อตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการโรงเรียน แต่งตั้งผู้จัดการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านงบประมาณและการบริหารงานทั่วไป ตามมาตรา 37 และ 40 อันเป็นสถานะเจ้าของโรงเรียน จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านงานงบประมาณและการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนตามมาตรา 40 (1) และ (2) จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านวิชาการของโรงเรียน แต่งตั้งและถอดถอน ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ควบคุมปกครองครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียน ตามมาตรา 39 (1) (2) และ (3) ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ยังมีฐานะเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของโรงเรียน ให้คำแนะนำการบริหารและการจัดการโรงเรียนด้านบุคลากร แผนงาน งบประมาณ วิชาการ กิจกรรมนักเรียน อาคารสถานที่ กำกับดูแลให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ตามมาตรา 30 และ 31 (1) (2) (3) (4) และ (5) อันเป็นหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารกิจการโรงเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของนักเรียนตามนโยบายการบริหารและเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย ส่วนการบริหารงานโรงเรียนจำเลยที่ 1 ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 5 จะมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นทำแทนหรือมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องการบริหารภายในขององค์กรจำเลยที่ 1 เอง ไม่อาจลบล้างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามมาตรา 41 เป็นเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเหตุใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 6 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ปล่อยปละละเลยให้การเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำเด็กเล็กไม่เป็นไปตามคำสั่งและนโยบายโดยในชั่วโมงเรียนมีจำนวนครูผู้สอนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 การไม่กำกับดูแลให้มีพนักงานอยู่ประจำห้องที่ควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณสระว่ายน้ำ รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมกับการดูแลเด็กเล็กในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำ ซึ่งโดยสภาพย่อมคาดเห็นได้ว่าอาจเกิดภยันตรายได้ตลอดเวลา การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 โดยตรง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 40 นั้น ย่อมถือเสมือนว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล ตามมาตรา 24 และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 3 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยตนเองและศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 3 แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3 นำสืบว่า ไม่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการจำเลยที่ 1 โดยมีหน้าที่เพียงแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคลากรของจำเลยที่ 1 ตามที่คณะกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทั้งสามไม่อาจหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดเป็นส่วนตัวกับโจทก์ที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 3
ขณะเกิดเหตุละเมิดโจทก์ที่ 3 ยังเป็นเด็กเล็กไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมายแรงงาน และก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้มอบหน้าที่ให้โจทก์ที่ 3 ช่วยทำการงานหรือดำเนินกิจการในครัวเรือน โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำงานให้เป็นคุณแก่ครัวเรือน กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 445 และมาตรา 1567 (3) ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2417/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าระวางเรือ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างทำของ
แม้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเรือ แต่บุคคลที่จะรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลจะต้องเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลซึ่งหมายถึงผู้ใช้ยานพาหนะนั้นในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดความเสียหายเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437จำเลยที่ 2 เพียงแต่มีชื่อในทางทะเบียนเรือเป็นผู้ควบคุมเครื่องยนต์เรือเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวนานแล้วเพราะได้ให้ ธ. บุตรชายนำเรือยนต์นั้นไปใช้ในกิจการส่วนตัวของ ธ. หลังจากที่ ก. ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตไปนานแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เพราะไม่ใช่บุคคลผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องร่วมกับ ธ. ในฐานะผู้ควบคุมเครื่องยนต์เรือลากจูงขบวนเรือเกิดเหตุการบรรทุกน้ำหนักของเรือลำเลียงทั้งสามลำที่เกินระวางบรรทุกของเรือเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันเป็นกฎหมายที่มีประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า ผู้ควบคุมเรือทุกลำในขบวนเรือ รวมทั้งจำเลยที่ 4 ผู้กระทำการฝ่าฝืนเป็นฝ่ายผิดอีกด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422จำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าทางน้ำโดยนำเรือลำเลียงของตนออกให้ผู้อื่นเช่าใช้งานและรู้เห็นยินยอมให้มีการบรรทุกสินค้าน้ำหนักเกินระวางบรรทุกของเรือตามใบอนุญาตใช้เรือที่โจทก์ที่ 1 กำหนดไว้เยี่ยงนี้เป็นประจำต่อเนื่องตลอดมาทั้ง ๆ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทด้วยการจงใจฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันเป็นกฎหมายที่มีประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ โดยชัดแจ้ง กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเช่นนี้เป็นผู้ผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422การที่จำเลยที่ 4 รับเงินสินจ้างจากจำเลยที่ 3 โดยตรง เพื่อตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่สรั่งเรือในขณะที่จำเลยที่ 3 นำเรือออกให้เช่าอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง แล้วเกิดเหตุละเมิด จำเลยที่ 3 ผู้เป็นนายจ้างยังต้องรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 4 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นอีกฐานะหนึ่งด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425ขณะเกิดเหตุเรือ บ. จมนั้น น้ำตาลทรายดิบจำนวนมากละลายและเจือปนกับน้ำในแม่น้ำและส่งผลต่อคุณภาพของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้น้ำเน่าเสียและทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำเสื่อมโทรมลงจนเกิดภาวะมลพิษทางน้ำขึ้น อันเนื่องมาจากน้ำตาลซึ่งเป็นสารอินทรีย์และเป็นอาหารที่ดีที่สุดของจุลินทรีย์สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในน้ำ จุลินทรีย์บริโภคน้ำตาลหรือสารอินทรีย์อื่นเป็นอาหารโดยใช้ออกชิเจนเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อแบ่งเซลล์ขยายจำนวน ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงจนถึงขั้นวิกฤต และเป็นผลให้สิ่งมีชีวิตหรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่ อาทิเช่น ปลาหรือกุ้งไม่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้ต้องลอยตายเป็นจำนวนมาก แม้น้ำตาลหรือน้ำตาลทรายดิบจะไม่ใช่ทรัพย์หรือสารอันตรายโดยสภาพก็ตาม แต่หากถูกปล่อยทิ้งให้ละลายลงในแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกิดภาวะที่เป็นพิษได้ โดยเฉพาะภาวะมลพิษทางน้ำดังกล่าวข้างต้น ในสภาวการณ์เช่นนี้จึงต้องถือว่าน้ำตาลทรายดิบเป็นมลพิษชนิดหนึ่ง ตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และไม่ใช่แหล่งอันเป็นที่มาของมลพิษอันจะถือได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจำเลยที่ 14 รู้อยู่แล้วว่าเรือลำเลียงทั้งสามลำที่รับจ้างช่วงนั้น บรรทุกน้ำตาลทรายดิบเกินกว่าอัตราระวางบรรทุกที่กำหนดไว้ในใบทะเบียนเรือหรือใบอนุญาตใช้เรือซึ่งได้มีการทักท้วงแล้ว แต่จำเลยที่ 14 กลับเพิกเฉยมิได้สั่งห้ามหรือสั่งให้แก้ไขเพื่อป้องกันอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จำเลยที่ 14 ผู้ว่าจ้างทำของจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างนั้นอีกฐานะหนึ่งด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลละเมิด แม้จะมีการว่าจ้างผู้รับเหมาช่วง การแสดงออกว่าลูกจ้างเป็นผู้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของนายจ้าง
โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มี ช. เป็นนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุ ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่เก็บขนถ่ายขยะตามคำสั่งของจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในคำฟ้องว่า ที่ข้างรถบรรทุกคันเกิดเหตุมีข้อความว่า เทศบาลนครนครศรีธรรมราช แต่จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครศรีธรรมราชแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 รับว่า ร. ทำหน้าที่ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เมื่อการเก็บขนขยะเป็นภารกิจของเทศบาล การขับรถเก็บขนขยะของ ร. จึงเป็นการทำไปตามหน้าที่ในภารกิจของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่า ร. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และรถบรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดำเนินการเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของ ร. ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะบังคับกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันกับบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสามด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองและกระทำละเมิด จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกับ ร. รับผิดในผลแห่งละเมิดที่ ร. กระทำด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
of 102