พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4442/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนี้ค้างชำระสหกรณ์: สิทธิการถอนหุ้นต้องรอการชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามสัญญา
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 5 เรื่อง ความระงับแห่งหนี้ กำหนดไว้ว่า หนี้ระงับไปต้องมีการชำระหนี้ การปลดหนี้ การหักกลบลบหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องความระงับแห่งหนี้ หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยก็ยังคงมีอยู่ แม้ล่วงเลยเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 แล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจบังคับคดีได้เท่านั้น เป็นคนละส่วนกับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลย เมื่อตามข้อบังคับสหกรณ์จำเลยระบุว่า สมาชิกผู้ไม่มีหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันหรือหนี้สินอื่นที่ผูกพันจะต้องชำระต่อสหกรณ์ อาจลาออกได้โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการฯ ได้ ดังนั้น เมื่อหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมยังไม่ระงับไป และโจทก์ไม่ชำระหนี้ที่มีต่อจำเลย ถือว่าโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่ทำไว้กับจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิลาออกจากสมาชิกของจำเลยและขอถอนเงินค่าหุ้นออกจากสหกรณ์จำเลย และโจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยให้คืนเงินค่าหุ้นแก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะและการยอมความของผู้เสียหาย ไม่กระทบสิทธิโจทก์ในการฟ้องคดีอาญา
ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จำเลยที่ 1 นำเงินมาชดใช้ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการยอมความ อันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวระงับไป แต่มีผลทำให้คดีในส่วนแพ่งของผู้ร้องทั้งสองที่ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ระงับไปเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1858/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ: คำพิพากษาถึงที่สุดผูกพันคู่ความ ห้ามฟ้องประเด็นเดิมอีก
คดีก่อนมีประเด็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสิบห้าได้หรือไม่ ซึ่งที่ดินพิพาทในคดีก่อนก็คือที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันกับคดีนี้ แม้คดีนี้โจทก์จะเปลี่ยนรูปคดีจากเรื่องขับไล่และเรียกค่าเสียหายเป็นการเรียกทรัพย์คืนและเรียกค่าเสียหาย แต่ก็มีคำขอให้จำเลยออกไปจากสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทแปลงเดิมเหมือนคดีก่อน ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่า ประเด็นข้อนี้มีอยู่แล้วในคดีก่อนเป็นแต่ศาลยังมิได้วินิจฉัย เพราะศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำท้า แม้ในคดีก่อนศาลจะมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีโดยตรง เนื่องจากคู่ความตกลงท้ากันเฉพาะผลคดีแพ่งเรื่องอื่นเป็นข้อแพ้ชนะ แต่เมื่อศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีก่อนไปตามคำท้าของคู่ความให้โจทก์แพ้คดีโดยพิพากษายกฟ้องไปแล้ว คำพิพากษาคดีก่อนย่อมผูกพันคู่ความว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้ได้อีก มิฉะนั้นผู้ที่แพ้คดีตามคำท้าก็จะนำคดีมาฟ้องร้องใหม่อีกโดยไม่จบสิ้น อีกทั้งคู่ความในคดีก่อนและคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน และคดีก่อนได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีที่มีประเด็นเดียวกันและคดีถึงที่สุดแล้วมาฟ้องใหม่อีกเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 อีกด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406-1407/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อนุญาโตตุลาการ: คำชี้ขาดชอบด้วยกฎหมายเมื่อพิพาทอยู่ในขอบเขตสัญญาและไม่เกินข้อตกลงเสนอข้อพิพาท
การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า พฤติการณ์เป็นการถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดจึงเป็นโมฆียะเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีสิทธิบอกล้างบันทึกข้อตกลงได้ เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและระบุเหตุผลแห่งการวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.อนุโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง การอุทธรณ์ทำนองว่า การทำบันทึกข้อตกลงเป็นไปด้วยความสมัครใจ จึงมีผลสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมายและมิได้ตกเป็นโมฆียะ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขัดต่อวิธีพิจารณาหรือฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เข้าเหตุที่จะอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สัญญาพิพาทที่ระบุให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญานี้ คู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการ ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ (กรุงเทพมหานคร) จึงเป็นการกำหนดขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการไว้อย่างกว้าง เมื่อผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทให้ผู้คัดค้านชำระเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้ายอันเนื่องมาจากการว่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ถือเป็นกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญาพิพาทดังกล่าว จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่คณะอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยได้และไม่ใช่คำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงว่ามีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่นั้น เมื่อบันทึกข้อตกลงทำขึ้นเนื่องจากผู้ร้องเรียกร้องเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้าย ย่อมถือเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องและเกิดขึ้นจากสัญญาจ้างก่อสร้างซึ่งต้องวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างก่อสร้างเช่นเดียวกัน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในส่วนบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นอำนาจในการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่และความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24
สัญญาพิพาทที่ระบุให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญานี้ คู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการ ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ (กรุงเทพมหานคร) จึงเป็นการกำหนดขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการไว้อย่างกว้าง เมื่อผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทให้ผู้คัดค้านชำระเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้ายอันเนื่องมาจากการว่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ถือเป็นกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญาพิพาทดังกล่าว จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่คณะอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยได้และไม่ใช่คำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงว่ามีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่นั้น เมื่อบันทึกข้อตกลงทำขึ้นเนื่องจากผู้ร้องเรียกร้องเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้าย ย่อมถือเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องและเกิดขึ้นจากสัญญาจ้างก่อสร้างซึ่งต้องวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างก่อสร้างเช่นเดียวกัน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในส่วนบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นอำนาจในการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่และความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, มีอาวุธปืน, จำหน่ายยาเสพติด: ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษและยกฟ้องบางข้อหา
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดอื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทุกฐานความผิด จำเลยอุทธรณ์เฉพาะความผิดอื่นบางข้อหา ไม่ได้อุทธรณ์ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนโจทก์ไม่อุทธรณ์ ดังนั้น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดอื่นที่คู่ความไม่ได้อุทธรณ์เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า ในระหว่างพิจารณาได้มี ป.ยาเสพติดออกมาใช้บังคับแทนกฎหมายเดิม และมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ออกตามความในมาตรา 29 วรรคสอง แห่ง ป.ยาเสพติด ซึ่งมีผลให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้เป็นยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานผลิตกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ เพราะเป็นอำนาจทั่วไปของศาลอุทธรณ์ภาค 6 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และมาตรา 195 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การไล่เบี้ยความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: การสละสิทธิไล่เบี้ยตามสัญญาประกันภัยและข้อยกเว้น
กรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 6 ระบุเหตุที่โจทก์สละสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยว่า ในกรณีที่มีความเสียหายต่อรถยนต์ เมื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย โจทก์สละสิทธิในการไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์นั้น แต่กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวระบุข้อยกเว้นที่โจทก์ยังสงวนสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยไว้ด้วยว่า กรณีการใช้โดยบุคคลของสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถ การทำความสะอาดรถ การบำรุงรักษารถ หรือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเมื่อรถยนต์ได้ส่งมอบให้เพื่อรับบริการนั้น โจทก์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากบุคคลเหล่านั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เอาประกันภัยประสงค์จะนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้าซ่อมที่บริษัท บ. แต่ไม่สามารถนำรถไปส่งซ่อมเองได้ จึงมอบหมายให้บริษัท บ. จัดหาบุคคลไปรับรถยนต์มาเพื่อซ่อม เมื่อบริษัท บ. เป็นสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถ การที่บริษัท บ. ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ไปรับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย จึงเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้ารับบริการซ่อมตามการมอบหมายและความยินยอมของผู้เอาประกันภัย ต่อมาจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไปรับรถและขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยไปส่งที่บริษัท บ. จึงเป็นการกระทำในวัตถุประสงค์และการมอบหมายของบริษัท บ. เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งรับดำเนินการในกรณีนี้เป็นตัวแทนของบริษัท บ. ในการรับมอบรถยนต์จากผู้เอาประกันภัยเพื่อนำไปรับบริการซ่อมแซมจากบริษัท บ. ผู้เป็นตัวการ การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจึงเป็นการกระทำโดยบุคคลของสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถเมื่อรถยนต์ได้ส่งมอบให้เพื่อรับบริการนั้น อันเป็นข้อยกเว้นซึ่งโจทก์ยังสงวนสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากผู้ใช้รถยนต์ที่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยนั้น โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง มาตรา 420 และมาตรา 425
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 286/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาอุทธรณ์ขอเพิ่มโทษปรับให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่ทำคำพิพากษาไม่ชอบ
คดีนี้โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ขอให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอ้างว่า ศาลชั้นต้นลงโทษปรับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาโดยชอบจึงถือว่าเป็นอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 แล้ว ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลงโทษปรับจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษหรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4859/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิไถ่ทรัพย์ขายฝากของผู้ขายฝากแม้กรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือ - การคุ้มครองสิทธิผู้รับประโยชน์สุจริต
แม้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) จะกำหนดว่า ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินต้องเป็นเจ้าของที่แท้จริงในขณะยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินหรือขอคุ้มครองสิทธิของตน และขณะยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านที่ 6 ได้ขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 38 ถึงที่ 43 และผู้คัดค้านที่ 7 ได้ขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 35 และที่ 36 ไปแล้ว ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้ขายฝากทรัพย์ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งการขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ได้ขายฝากทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้ว แต่เมื่อผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ตามสัญญาขายฝาก ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาขายฝากและทรงสิทธิในฐานะเป็นผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2522 มาตรา 50 วรรคสอง (เดิม) คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงมิใช่เป็นการยื่นคำคัดค้านโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) แต่เป็นการร้องคัดค้านตามมาตรา 50 วรรคสอง (เดิม) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ทำสัญญาขายฝากทรัพย์ที่ขอไถ่โดยสุจริต ทั้งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ก่อนครบกำหนดไถ่ได้แสดงเจตนาขอไถ่ทรัพย์ตามสัญญา ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงเป็นผู้รับประโยชน์โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีเพื่อใช้สิทธิไถ่ทรัพย์คืนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาเกินกำหนด - การยื่นฎีกาเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และการไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ทำให้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยยื่นฎีกาและยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย อันเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง แต่ศาลฎีกามีคำสั่งว่าการพิจารณาสิทธิฎีกาของจำเลยอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. การที่จําเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาพิจารณารับฎีกาของจําเลยไว้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ให้ยกคำร้อง วันที่ 17 มิถุนายน 2565 จําเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกฉบับหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจําเลยก็ตาม แต่การที่จําเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงครั้งหลังนี้ ได้ล่วงพ้นระยะเวลาที่จําเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้เสียแล้ว คำร้องดังกล่าวของจําเลยจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจําเลยมา จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5063/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดและการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
หนี้เงินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 (เดิม) กำหนดให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น และต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และ 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และ 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน มีผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปัจจุบันปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี
เมื่อในคดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้านโดยไม่ได้ให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งสองฉบับ พบว่าไม่มีการระบุอัตราดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไว้ การที่คำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าที่ ป.พ.พ. มาตรา 224 กำหนดไว้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเฉพาะส่วนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยให้บังคับได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่คำชี้ขาดไปถึงผู้ร้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ)
เมื่อในคดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้านโดยไม่ได้ให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งสองฉบับ พบว่าไม่มีการระบุอัตราดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไว้ การที่คำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าที่ ป.พ.พ. มาตรา 224 กำหนดไว้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเฉพาะส่วนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยให้บังคับได้เพียงในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่คำชี้ขาดไปถึงผู้ร้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ)