คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 12

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 126 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ถูกกระทบจากการยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดีภาษี ผู้มีสิทธิยึดทรัพย์มีสิทธิคัดค้านได้
แม้คดีนี้ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จนกระทั่งมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิให้ผู้ร้องมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโดยไม่มีการออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ผู้ร้องอาจนำคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ ทั้งยังทำให้ผู้คัดค้านสิ้นสิทธิในการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทที่ยึดไว้เพราะที่ดินพิพาทไม่ใช่ของ ร. ลูกหนี้ของผู้คัดค้านอีกต่อไป ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลและชอบที่จะยื่นคำร้องขอสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)
ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ผู้คัดค้านอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร ยึดที่ดินพิพาทของ ร. เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง ตามประกาศกรมสรรพากร (ภ.ส. 18) เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร โดยปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ ที่ดินพิพาทและส่งสำเนาประกาศยึดที่ดินพิพาทให้ ร. โดยชอบแล้ว เมื่อผู้คัดค้านยึดที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทครบ 10 ปี จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เพราะสิทธิของผู้ร้องถูกกระทบโดยการยึดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร แม้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้นจึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก คำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ผู้คัดค้านจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่า ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึด/อายัดทรัพย์เพื่อชำระภาษีค้างชำระ: ระยะเวลา 10 ปี เริ่มนับเมื่อใด และการยึดทรัพย์เกินจำนวนหนี้
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ ส. และ ม. มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคล ส. ป. และ ม. สำหรับปีภาษี 2539 ปีภาษี 2540 ปีภาษี 2541 (ครึ่งปี) และปีภาษี 2541 และถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ทั้งสามคนมิได้เสียภาษีอากรดังกล่าวแต่อย่างใด ภาษีอากรซึ่งต้องเสียย่อมถือเป็นภาษีอากรค้างตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง แม้เพื่อให้ได้รับชําระภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรได้ แต่เมื่อคดีนี้โจทก์ยังอุทธรณ์การประเมิน และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ได้นําคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ระยะเวลา 10 ปี ในการยึดและอายัดจึงยังไม่อาจเริ่มนับแต่วันแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ โดยหลังจากโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว โจทก์ ส. และ ม. อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 และต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจําเลยขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง และได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 การนับระยะเวลา 10 ปี จึงต้องนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อเจ้าพนักงานของจําเลยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 วันที่ 20 กันยายน 2560 วันที่ 3 ตุลาคม 2560 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 จึงเป็นการมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินและประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำสั่งอายัดที่ให้อายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในบัญชีเงินฝากธนาคาร นั้น จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ระบุจำนวนเต็มตามจำนวนหนี้ภาษีอากรค้างที่โจทก์และคณะบุคคลคงค้างชําระ ณ วันที่มีคำสั่งอายัดว่า ห้ามโจทก์และธนาคารจําหน่าย จ่าย โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นใด นอกจากนําส่งเป็นแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายจําเลยนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งอายัด และหรือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีเงินฝากเข้ามาในบัญชีภายหลังได้รับคำสั่งอายัด หาได้หมายความว่าเป็นจำนวนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ในขณะนั้นไม่ ทั้งได้ความจาก ส. นิติกรชํานาญการของจําเลยว่า เจ้าพนักงานของจําเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีที่เป็นคณะบุคคลไว้ 3 ราย มิใช่บังคับโจทก์เพียงผู้เดียว เมื่อรวมรายการทรัพย์สินที่ได้มีการยึดและอายัดไว้ทั้งหมดแล้ว พบว่าทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีที่ได้มีการยึดและอายัดไว้มีราคาประเมินรวม 153,357,884.52 บาท ซึ่งก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะชําระหนี้ภาษีอากรค้าง ณ ปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 920,047,432.25 บาท ซึ่งจําเลยก็ได้ให้การไว้เช่นนี้ แต่โจทก์ไม่ได้นําสืบโต้แย้งถึงการยึดและอายัดทรัพย์สินจำนวนและมูลค่าดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จําเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เกินกว่าจำนวนหนี้ภาษีอากรค้าง
โจทก์มีเงินภาษีที่ค้างชําระในฐานะที่เป็นบุคคลในคณะบุคคล ส. ป. และ ม. ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 56 วรรคสอง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชําระร่วมกับ ส.และ ม. ทั้งหมด หาใช่รับผิดเพียง 1 ใน 3 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 721/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ร้องสอดบังคับคดีภาษีอากรยึดทรัพย์สินก่อนการครอบครองปรปักษ์: ศาลรับคำร้องโต้แย้งสิทธิได้
ผู้ร้องสอดอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อมีคำสั่งยึดแล้ว บุคคลใดจะทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา 12 ทวิ สิทธิของผู้ร้องสอดดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไปขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้อง ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ ย่อมเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้ว่าผู้ร้องนำคำสั่งศาลไปดำเนินการจดทะเบียนที่ดินให้ผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์แล้ว แต่ก็เป็นการดำเนินการหลังจากที่ผู้ร้องสอดยึดที่ดินพิพาทไว้แล้ว อันมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การจดทะเบียนที่ดินนั้นชอบหรือไม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำร้องขอของผู้ร้องสอดไว้เพื่อดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดในชั้นบังคับคดีตามรูปคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3716/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้ภาษีภายใน 10 ปี แม้มีการอุทธรณ์และฟ้องคดี
จำเลยมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงวันที่ 10 สิงหาคม 2544 ให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ภาษีอากร 104,731,200 บาท หลังจากโจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วไม่นำเงินภาษีอากรมาชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดถือเป็นภาษีอากรค้าง จำเลยย่อมมีสิทธิใช้อำนาจยึดที่ดินของโจทก์ทั้งสองเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 การที่จำเลยมีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 ให้ยึดที่ดินพิพาทของโจทก์หลังแจ้งการประเมิน ประมาณเพียง 3 เดือน จึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนในการขอให้บังคับเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แล้ว แม้โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองโดยส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2545 ต่อมาโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการประเมิน ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง โดยศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2550 และการบังคับที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างยังไม่แล้วเสร็จก็ไม่ทำให้จำเลยหมดสิทธิในการบังคับที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างแต่อย่างใด จำเลยย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นได้
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.648/2553 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งว่าลูกหนี้ที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ขณะที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องคดีล้มละลาย ลูกหนี้ที่ 2 ไม่อาจเป็นคู่ความได้ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงไม่อาจยื่นฟ้องคดีล้มละลายในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ต่อศาลได้ เมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้องลูกหนี้ที่ 2 และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้ที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง จึงให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นตั้งแต่ชั้นรับฟ้องลูกหนี้ที่ 2 ทั้งหมดและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 เสียจากสารบบความ คำสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวมีผลเท่ากับว่า โจทก์ที่ 2 ไม่เคยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมาก่อน กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหาว่าจำเลยยื่นคำขอรับชำระหนี้โจทก์ที่ 2 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 โดยไม่ระบุถึงที่ดินพิพาทที่จำเลยยึดไว้ถือว่าจำเลยสละสิทธิการยึดที่ดินพิพาทหรือไม่ สิทธิการยึดทรัพย์ของจำเลยระงับไปตั้งแต่ยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้ภาษีอากรในการร้องสอดคดีครอบครองปรปักษ์ เพื่อคุ้มครองสิทธิในการบังคับชำระหนี้
ผู้ร้องสอดอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ สิทธิของผู้ร้องสอดดังกล่าวถือเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไปขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้องถือเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งหากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6043/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากผู้ชำระบัญชีที่ไม่ถูกต้อง การรู้ถึงการละเมิดและตัวผู้ชำระบัญชี การฟ้องคดีไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระภาษี เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ตั้งแต่พ้น 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 นำเงินภาษีอากรไปชำระ อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และเมื่อโจทก์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ ย่อมมีผลต่อการบังคับคดีของโจทก์ตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร เป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกัน กับการฟ้องคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงนับแต่วันดังกล่าวและเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดนับแต่พ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันดังกล่าว ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 30 กันยายน 2556 คดียังไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตาม มาตรา 1252 จำเลยที่ 2 จึงควรจะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรจากการยื่นแบบแสดง รายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นการประเมินตนเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรโจทก์ แต่ไม่นำรายได้ที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 มาลงในงบดุลและไม่จัดการใช้หนี้ให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินแทนชำระหนี้ตามมาตรา 1254 จำเลยที่ 2 กลับทำงบดุลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) โดยไม่ถูกต้องแล้วแบ่งกำไรสะสมคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1269 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระแต่ต้องไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
สำนักสืบสวนและคดีรายงานเรื่องการดำเนินคดีภาษีอากรและการดำเนินคดีละเมิดให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ซึ่ง ว. ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ลงนามให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 จึงยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5519/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยอาศัยแบบแสดงรายการภาษีที่มิได้ยื่นโดยจำเลย ผู้ยื่นไม่ใช่จำเลย เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจ
คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจำเลยที่ 1 แม้ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเป็นภาษีอากรประเมิน ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินและยื่นอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากร ย่อมมีผลทำให้หนี้ภาษีอากรที่ถูกประเมินดังกล่าวเป็นหนี้ภาษีค้าง อันจะถูกโจทก์ยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร และจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลก็ตาม แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีตามการประเมิน ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าลายมือชื่อในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับพิพาทมิใช่ลายมือชื่อของกรรมการของจำเลยที่ 1 แต่เป็นลายมือชื่อปลอม ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำพยานเข้าสืบเพื่อให้รับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการฉบับพิพาทอันเป็นเหตุแห่งการประเมินรายนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับพิพาท การแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 เสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งภาษีมูลค่าเพิ่มและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่มีฐานรายรับหรือรายได้ที่จะใช้อำนาจประเมินภาษีจากจำเลยที่ 1 ตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าหุ้นค้างชำระ & ดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้มิได้แจ้งดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าว
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1112 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้" ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัด แต่มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี..." ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8415/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ภาษีอากรค้าง: จำเลยมีสิทธิหักเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อชำระหนี้ภาษีอากรค้างได้
ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งตามลักษณะนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่งให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง" และวรรคสอง "เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากร... โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง..." แสดงให้เห็นว่า หากโจทก์ไม่เสียภาษีตามการประเมินภายในกำหนด ถือว่าเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง จำเลยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้
การยึด ย่อมหมายความรวมถึงการนำเอาเงินที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์มาหักหนี้กับหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ค้างจำเลยได้ การที่จำเลยนำเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนจากจำเลย ไปหักหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ค้างชำระ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15345/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลรัษฎากร
เอกสารที่โจทก์ยื่นพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท ที่ระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกำไรหรือผลขาดทุนของกิจการโจทก์ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี รวมถึงผลกำไรหรือผลขาดทุนของโครงการโจทก์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแต่ละโครงการ เพียงพอให้เจ้าพนักงานประเมินนำมาใช้ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 18 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ไม่ได้กำหนดวิธีการคำนวณผลกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไว้แต่อย่างใด ทั้งประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.13/2541 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 36 (4) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2541 ก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้เช่นกัน กรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่ามีการประกอบกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนร่วมด้วย หรือมีการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่าหนึ่งโครงการก็ตาม ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ประมวลรัษฎากร พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 วรรคสี่ และมาตรา 36 (4) หาได้เป็นบทยกเว้นบทบัญญัติตาม ประมวลรัษฎากร ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรโดยอาศัย ประมวลรัษฎากร จึงชอบแล้ว
เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากร แล้วโจทก์ไม่เสียภายในกำหนด ถือเป็นภาษีอากรค้าง จำเลยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 และมาตรา 31 ซึ่งการยึดย่อมหมายความรวมถึงการนำเอาเงินที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ค้างจำเลยได้ด้วย แม้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากร และจำเลยอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุมัติให้ทุเลาก่อนวันที่มีการหักกลบลบหนี้ ดังนี้ การที่เจ้าพนักงานของจำเลยทำการหักกลบลบหนี้จึงเป็นการปฏิบัติไปตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ.2539 ข้อ 25 แล้ว
of 13