คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ม. 243

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2525/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร: การกระทำร่วมกันของผู้นำเข้าและผู้ประกอบการ
กรณีเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 มีเจตนาวางแผนร่วมกันนำเข้าสินค้าโดยแยกกันนำเข้าเพื่อประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าและได้รับประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน โดยในวันที่ 29 เมษายน 2547 วันที่ 13 พฤษภาคม 2547 วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 วันที่ 3 มิถุนายน 2547 และวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 สำแดงเป็นแชสซีที่มีเครื่องยนต์ (Chassis Fitted with Engine for Truck/Tractor) ประเภทพิกัด 8706.00 เสียอัตราอากรร้อยละ 10 ส่วนที่จำเลยที่ 2 สำแดงเป็นชิ้นส่วนหัวเก๋ง (Cab Shell) พร้อมอุปกรณ์ (Parts and Accessories of Cab) ประเภทพิกัด 8707.900 ประเภทพิกัด 8708.400 ประเภทพิกัด 8708.940 และประเภทพิกัด 9401.200 เสียอัตราอากรร้อยละ 40 ร้อยละ 30 ร้อยละ 10 และร้อยละ 10 ตามลำดับ การสำแดงและแยกการนำเข้าดังกล่าวเป็นการกระทำที่แบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ยากแก่การตรวจสอบและชักพาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรผิดหลงในรายการสินค้าและประเภทพิกัดอัตราอากรขาเข้าเพื่อจะได้ชำระอากรขาเข้าเป็นเงินจำนวนน้อยกว่าอากรขาเข้าตามประเภทพิกัดอัตราอากรขาเข้าที่ถูกต้อง คือ ชิ้นส่วนของ Truck Tractor Chassis with Cab and Accessories of Cab เพื่อประกอบเป็นรถทรัคแทรกเตอร์ครบชุดสมบูรณ์ทั้งคัน (CKD) เข้าประเภทพิกัด 8701.20 อัตราอากรร้อยละ 30 ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ส่วนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิสูจน์การกระทำความผิดในทางอาญาเป็นคนละส่วนกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาปัญหาประเภทพิกัด เมื่อในขณะนำเข้าสินค้าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แยกการนำเข้าต่างหากจากกัน การพิจารณาปัญหาพิกัดจึงต้องแยกการพิจารณาเป็นรายบริษัท คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อยืนยันว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ให้ยกเลิก (1) พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และ (11) พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490" แต่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 ยังบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องยังเป็นความผิดอยู่ โดยมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ จึงให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณทั้งกฎหมายเก่าในส่วนที่ให้ปรับรวมและกฎหมายใหม่ในส่วนโทษแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลีกเลี่ยงอากรนำเข้าและเจตนาฉ้อภาษี ศาลพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร และใช้กฎหมายใหม่ที่เป็นคุณ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 253 ซึ่งการกระทำความผิดตามข้ออ้างในคำฟ้องข้อ 1.1 ของโจทก์เป็นการกระทำในขณะ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ใช้บังคับ โดยความหมายในมาตรา 2 คำว่า "อากร" ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ อย่างไรก็ตาม แม้คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.1 ไม่มีจำนวนอากรขาเข้าที่จำเลยทั้งสามต้องเสียเพิ่ม แต่เมื่อคำฟ้องข้อ 1.1 บรรยายด้วยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้ารถยนต์ใช้แล้วครบชุดสมบูรณ์โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ยังบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ด้วย
ภายหลังจำเลยทั้งสามกระทำความผิดได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ ซึ่งอัตราโทษใหม่ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยทั้งสามในส่วนที่เป็นคุณตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 545/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษตามกฎหมายศุลกากรที่แก้ไขใหม่ และการพิจารณาโทษที่เหมาะสมสำหรับความผิดเกี่ยวกับการส่งออกไม้แปรรูป
ขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2560 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดแล้วได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และให้ใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 แทน โดยตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้การนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ เป็นความผิดตามมาตรา 243 และบัญญัติให้การนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรหรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นเป็นความผิดตามมาตรา 244 การที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติโดยแยกการกระทำซึ่งเดิมเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ออกเป็นมาตรา 243 และมาตรา 244 แสดงให้เห็นว่ากฎหมายประสงค์จะแยกการกระทำความผิดตามมาตรา 244 ออกต่างหากจากความผิดตามมาตรา 243 ดังนั้นเมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูปของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และจะต้องริบไม้ประดู่แปรรูปของกลางดังกล่าวเสียทั้งสิ้นตามมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ไม้ประดู่แปรรูปของกลางจึงไม่ใช่ของที่เสียภาษีได้อันจะเป็นผลให้การหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 แต่ถือเป็นของที่ต้องจำกัดหรือต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งไม้ประดู่แปรรูปของกลางซึ่งเป็นของต้องจำกัดหรือต้องห้ามออกไปนอกราชอาณาจักรโดยซุกซ่อนในตู้สินค้าหมายเลข HALA 5615694 แล้วร่วมกันยื่นใบขนส่งสินค้าออกเลขที่ A 0081-6004-03946 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสำแดงชนิดของสินค้าว่าเป็นเก้าอี้สนามทำด้วยไม้ประดู่เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามเกี่ยวกับของนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 เพียงบทเดียว มิใช่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 ด้วย และตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องฐานร่วมกันพยายามส่งไม้ประดู่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างกับโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติให้ลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ พ.รบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 กำหนดโทษไว้เท่ากันเช่นเดียวกัน เมื่อโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีเท่ากัน แต่คดีนี้เมื่อคำนวณโทษปรับสี่เท่าราคาของซึ่งรวมอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 4,371,199 บาท โทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ซึ่งปรับไม่เกินห้าแสนบาท จึงเป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยมากกว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แต่การกำหนดความรับผิดในค่าปรับตามบทบัญญัติมาตรา 244 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 จะต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดในลักษณะรวมกันตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7916/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม ศาลฎีกาแก้ไขความผิดฐานเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
สำหรับความผิดฐานนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และความผิดฐานเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (6) นั้น ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองในการสำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จเพื่อนำเข้าสินค้าเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยลงเป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรเป็นหลักเพียงแต่อากรที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระในการนำเข้าสินค้าแต่ละครั้งนั้น มีทั้งอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งอากรทั้งสองประเภทดังกล่าวมีฐานในการคำนวณมาจากราคาสินค้าที่จำเลยทั้งสองร่วมกันสำแดงเท็จนั่นเอง อีกทั้งสินค้าที่นำเข้าก็เป็นสินค้าจำนวนเดียวกัน การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และการกระทำความผิดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (6) จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90 หาได้เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ได้ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243 ยังบัญญัติให้ความผิดฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงอากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 เป็นความผิดอยู่ ถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และมาตราดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ จึงต้องใช้โทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243 มาบังคับ อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ดังกล่าว ก็ต้องกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในค่าปรับในลักษณะรวมกันตามบทบัญญัติ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนที่เป็นคุณมากกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3