พบผลลัพธ์ทั้งหมด 42 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างทำของชำรุดบกพร่อง & การคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบัญญัติหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี" และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..." ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และ พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. นี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ คดีนี้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับไว้นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2560 ต่อมาจำเลยได้ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินคืน และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 จำเลยฟ้องแย้งขอเรียกคืนเงินสำรองและค่าเสียหาย จึงมีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ กรณีต้องนำบทบัญญัติมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ โดยจำเลยมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละสามต่อปีตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีเท่ากับร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันเป็นวันที่ พ.ร.ก. นี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข่มขืนกระทำชำเราจนถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาแก้เป็นประหารชีวิต ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงและเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 277 ตรี (2) เป็นความผิดที่เป็นผลมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม (เดิม) ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้น ไม่ว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นหรือไม่ก็ตาม ผลของการกระทำความผิดนั้นซึ่งได้แก่ความตายของผู้ถูกกระทำจึงต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตาม ป.อ. มาตรา 63
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันให้ผู้ตายเสพ 3,4 เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (ยาอี) คีตามีน (ยาเค) และไนเมตาซีแพม (ยาไฟว์) เข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ผู้ตายมึนเมาเคลิบเคลิ้มหรือประสาทหลอน จนอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนต่อการกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ ย่อมเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) และเป็นการกระทำที่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ไม่อาจแยกออกจากกันเป็นคนละส่วนได้ และการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายด้วยการนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายของผู้ตายจนเกินขนาด แล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่สภาพร่างกายของผู้ตายอ่อนแออย่างมากจากพิษของสารเสพติดย่อมเรียกได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้ตายทั้งการใช้กำลังประทุษร้ายและการข่มขืนกระทำชำเราด้วยความรุนแรงเกินกว่าที่ร่างกายของผู้ตายจะทนทานได้ จึงต้องถือว่าความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงและเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้จากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันให้ผู้ตายเสพ 3,4 เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (ยาอี) คีตามีน (ยาเค) และไนเมตาซีแพม (ยาไฟว์) เข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ผู้ตายมึนเมาเคลิบเคลิ้มหรือประสาทหลอน จนอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนต่อการกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ ย่อมเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) และเป็นการกระทำที่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ไม่อาจแยกออกจากกันเป็นคนละส่วนได้ และการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายด้วยการนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายของผู้ตายจนเกินขนาด แล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่สภาพร่างกายของผู้ตายอ่อนแออย่างมากจากพิษของสารเสพติดย่อมเรียกได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้ตายทั้งการใช้กำลังประทุษร้ายและการข่มขืนกระทำชำเราด้วยความรุนแรงเกินกว่าที่ร่างกายของผู้ตายจะทนทานได้ จึงต้องถือว่าความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงและเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้จากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2421/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่ขัดกับการรับสารภาพเดิม และพิจารณาโทษจำเลยต่างกันตามพฤติการณ์
จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่เมื่อความผิดดังกล่าวจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมรับฟังเป็นยุติได้ตามฟ้องโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่ให้การรับสารภาพและเป็นฎีกาข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 47 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันคู่กรณี เว้นแต่มีการตกลงยินยอมเพิกถอน
โจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมร่วมกันตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น โดยคู่ความแต่ละฝ่ายและองค์คณะผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว โดยคู่ความทุกฝ่ายแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่า หากศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา คู่ความประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นฎีกา ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำแถลงของคู่ความเป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความทำขึ้นในศาลและต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น เมื่อข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเรื่องที่โจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน มีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความ ย่อมมีผลผูกพันคู่ความให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยกเลิกหรือเพิกถอนเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ เว้นแต่คู่กรณีแห่งการประนีประนอมยอมความนั้นจะตกลงยินยอมด้วย ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่ได้ยุติคดีทั้งหมดตามที่ตกลงกันต่างหากนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างข้อตกลงนอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันในศาล แม้ในวันดังกล่าวทนายจำเลยจะมิได้มาศาลเพื่อร่วมตรวจสอบสัญญาดังที่จำเลยอ้าง จำเลยจะยกเหตุดังกล่าวรวมทั้งข้ออ้างที่จำเลยถูกฉ้อฉลขึ้นปฏิเสธสัญญาประนีประนอมยอมความว่าถูกฉ้อฉลย่อมฟังไม่ขึ้น คดีไม่มีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะปฏิเสธไม่ให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้อน: การฟ้องคดีซ้ำซ้อนกับคดีที่ศาลยังพิจารณาอยู่ แม้จะมีการจำหน่ายคดีชั่วคราว
คดีก่อน จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทและเรียกค่าเสียหายอ้างว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยที่ 1 ตกลงจะซื้อคืนโดยทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระราคาและรับโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยที่ 1 ยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีก่อนเป็นเรื่องเจ้าของทรัพย์สินใช้กรรมสิทธิ์ติดตามและเอาคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของตนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตลอดจนสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินที่จะใช้สอยทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ส่วนคำร้องสอดของโจทก์ที่ยื่นเข้าไปขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอม และจำเลยที่ 2 กับสามีซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้กระทำการโดยไม่สุจริต โดยมีคำขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เห็นได้ชัดว่า คำร้องสอดของโจทก์ตั้งข้อพิพาทเป็นปฏิปักษ์กับทั้งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์และจำเลยในคดีก่อน มีผลให้คดีตามคำร้องสอดของโจทก์มีลักษณะเป็นคำฟ้องที่โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลแล้ว แม้คดีก่อนศาลจะจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลในคดีนี้ ก็ถือว่าคดีตามคำร้องสอดของโจทก์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ โดยมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องเดียวกันกับคดีที่โจทก์ยื่นคำร้องสอดเข้าไปในคดีก่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1924/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนิคมสร้างตนเองที่เป็นโมฆะ และการขาดสภาพการเป็นสมาชิกนิคม
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐที่นิคมสร้างตนเองคำสร้อยมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้สมาชิกของนิคมเท่านั้นเข้าทำประโยชน์ หากสมาชิกของนิคมได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วและได้เป็นสมาชิกมาเป็นเวลาห้าปี นิคมสร้างตนเองคำสร้อยจึงสามารถออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่ผู้นั้นได้ ซึ่งสมาชิกนิคมสามารถนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม ป.ที่ดินได้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 6, 8 และ 11 เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน นิคมสร้างตนเองคำสร้อยเพียงแต่อนุญาตจัดสรรให้จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกเข้าครอบครองทำประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 21 และมาตรา 24 สิทธิของผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าครอบครอง จึงมิใช่สิทธิตาม ป.ที่ดินหรือตาม ป.พ.พ. แต่เป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่รัฐจัดสรรให้แก่สมาชิกของนิคมสร้างตนเองคำสร้อย โดยมีเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว และสมาชิกของนิคมสร้างตนเองที่ได้รับมอบที่ดินแล้ว ต้องจัดที่ดินให้เกิดประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายในห้าปีนับแต่วันที่อพยพครอบครัวเข้าอยู่ประจำ โดยมาตรา 27 สมาชิกต้องไม่มอบหรือโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย นอกจากนี้มาตรา 15 ยังห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาประโยชน์ ยึดถือ หรือครอบครองที่ดินภายในนิคมเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี แสดงว่า ที่ดินของนิคมสร้างตนเองจะโอนไปยังบุคคลภายนอกได้จะต้องเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินแล้วเท่านั้น และจะต้องพ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินก่อน ดังนี้ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยที่ยังไม่มีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้สมาชิกของนิคมโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินไปยังบุคคลอื่น การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้บิดาโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 27 (6) อย่างชัดแจ้ง สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับบิดาโจทก์ จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวเข้ายึดถือครอบครอง เข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ และไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน
พฤติการณ์ที่จำเลยขายสิทธิและส่งมอบที่ดินให้บิดาโจทก์เข้าทำประโยชน์ โดยย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดยโสธรตั้งแต่ปี 2530 เพิ่งย้ายกลับมาอยู่จังหวัดมุกดาหารปี 2548 ถือได้ว่าจำเลยสละสิทธิและเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 26 และมาตรา 27 (6) ทั้งยังเป็นการไปจากนิคมสร้างตนเองคำสร้อยเกินหกเดือนโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่จะได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน จำเลยจึงเป็นอันขาดจากการเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยและหมดสิทธิในที่ดินพิพาทและจะเรียกร้องค่าทดแทนอย่างใดมิได้
พฤติการณ์ที่จำเลยขายสิทธิและส่งมอบที่ดินให้บิดาโจทก์เข้าทำประโยชน์ โดยย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดยโสธรตั้งแต่ปี 2530 เพิ่งย้ายกลับมาอยู่จังหวัดมุกดาหารปี 2548 ถือได้ว่าจำเลยสละสิทธิและเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 26 และมาตรา 27 (6) ทั้งยังเป็นการไปจากนิคมสร้างตนเองคำสร้อยเกินหกเดือนโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่จะได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน จำเลยจึงเป็นอันขาดจากการเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยและหมดสิทธิในที่ดินพิพาทและจะเรียกร้องค่าทดแทนอย่างใดมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3823/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปลอมเอกสารสิทธิเพื่อใช้ในการหลอกลวงเรียกรับเงินค่าเสียหายจากผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม
สัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายมี ส. และผู้เสียหายร่วมลงลายมือชื่อเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้เสียหายยินยอมชำระเงินให้แก่ ส. ซึ่งเป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงของบริษัท ด. โดยเอกสารดังกล่าวมีหัวกระดาษและตราสัญลักษณ์ของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ทำให้บุคคลทั่วไปเห็นแล้วเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวทำขึ้น แม้ความจริงบริษัทดังกล่าวไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลงนั้นกับผู้เสียหาย แต่การที่พวกของจำเลยซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงกลับทำสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกับผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริงแล้วนำไปใช้อ้างต่อพันตำรวจตรี น. เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ยอมความโดยชอบ ทำให้คดีในส่วนอาญาระงับโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แม้จะมิใช่เอกสารที่แท้จริงของบริษัทดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นการทำปลอมเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับและใช้เอกสารสิทธิปลอม
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการตรวจค้นผู้เสียหาย แล้วนำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายกลับมาลงบันทึกประจำวันโดยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานอันเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่า ส. พวกของจำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงและผู้เสียหายเป็นผู้ละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์ แต่ตกลงค่าเสียหายได้โดยผู้เสียหายยินยอมชดใช้เป็นเงิน และทุกฝ่ายจะไม่เอาความกันภายหลังทั้งทางแพ่งและทางอาญา แม้จะกระทำต่างเวลากันแต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าพวกของจำเลยได้รับมอบอำนาจมาและมีอำนาจกระทำการแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าในการเรียกรับเงินค่าเสียหายและตกลงยอมความกับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการตรวจค้นผู้เสียหาย แล้วนำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายกลับมาลงบันทึกประจำวันโดยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานอันเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่า ส. พวกของจำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงและผู้เสียหายเป็นผู้ละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์ แต่ตกลงค่าเสียหายได้โดยผู้เสียหายยินยอมชดใช้เป็นเงิน และทุกฝ่ายจะไม่เอาความกันภายหลังทั้งทางแพ่งและทางอาญา แม้จะกระทำต่างเวลากันแต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าพวกของจำเลยได้รับมอบอำนาจมาและมีอำนาจกระทำการแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าในการเรียกรับเงินค่าเสียหายและตกลงยอมความกับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3676/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบรรยายฟ้องอาญาไม่จำเป็นต้องระบุวันที่แน่นอน หากโจทก์บรรยายเวลาตามสมควรแล้ว ฟ้องยังชอบ
ป.วิ.อ. มาตรา 158 มิได้บังคับให้ฟ้องต้องบรรยายระบุเจาะจงวันที่และเดือนซึ่งเกิดการกระทำผิด ทั้งเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือรายละเอียด กฎหมายบัญญัติเพียงให้โจทก์กล่าวมาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุเวลาการกระทำผิดของจำเลยว่าประมาณปีใด โดยฟ้องโจทก์บรรยายด้วยว่า ไม่ปรากฏแน่ชัดถึงวันที่และเดือนที่จำเลยกระทำความผิด จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่เกี่ยวกับเวลาเท่าที่จะบรรยายได้ มิได้ประสงค์เอาเปรียบในเชิงคดี การที่จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาโดยรายละเอียดจะนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในชั้นพิจารณาต่อไป แสดงว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์ได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้ขายยาเสพติดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการกระทำผิดของผู้ซื้อ แม้ไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการครอบครองหรือจำหน่าย
เมทแอมเฟตามีนของกลาง 565 เม็ด เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่ ส. ซื้อมาจากจำเลย หลังจากที่จำเลยขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ส. โดยจำเลยได้รับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนไปแล้ว การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายล้วนเป็นการกระทำของ ส. กับพวกโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง อีกทั้งในวันเกิดเหตุในคดีนี้จำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือมีส่วนร่วมในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยร่วมกับ ส. กับพวกมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย แต่การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ส. ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ถือว่าข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลักทรัพย์ในความสัมพันธ์สมรสที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายไทย และข้อยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71
โจทก์ร่วมและจำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2557 แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1459 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า "การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้" และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้น ย่อมเป็นอันสมบูรณ์" ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและโจทก์ร่วมเป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น ในการพิจารณาถึงความสมบูรณ์แห่งการสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 2 เรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสประกอบด้วย เมื่อมาตรา 1448 บัญญัติว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว" แสดงว่าการสมรสจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสเป็นชายและหญิง เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมต่างก็เป็นหญิง การสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขของการสมรสตามกฎหมายไทย จำเลยและโจทก์ร่วมไม่มีสถานะเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 71