คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 274

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 64 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4442/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค้างชำระสหกรณ์: สิทธิการถอนหุ้นต้องรอการชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามสัญญา
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 5 เรื่อง ความระงับแห่งหนี้ กำหนดไว้ว่า หนี้ระงับไปต้องมีการชำระหนี้ การปลดหนี้ การหักกลบลบหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องความระงับแห่งหนี้ หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยก็ยังคงมีอยู่ แม้ล่วงเลยเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 แล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจบังคับคดีได้เท่านั้น เป็นคนละส่วนกับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลย เมื่อตามข้อบังคับสหกรณ์จำเลยระบุว่า สมาชิกผู้ไม่มีหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันหรือหนี้สินอื่นที่ผูกพันจะต้องชำระต่อสหกรณ์ อาจลาออกได้โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการฯ ได้ ดังนั้น เมื่อหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมยังไม่ระงับไป และโจทก์ไม่ชำระหนี้ที่มีต่อจำเลย ถือว่าโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่ทำไว้กับจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิลาออกจากสมาชิกของจำเลยและขอถอนเงินค่าหุ้นออกจากสหกรณ์จำเลย และโจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยให้คืนเงินค่าหุ้นแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1951/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญา การบังคับคดีรื้อถอนทรัพย์สิน
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง อ้างว่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน คือสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊ส รวมทั้งอาคารพักพนักงานจำนวน 2 ชั้น ฯลฯ จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยเป็นผู้ขออนุญาตและปลูกสร้างเอง การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินอีก 13 เดือน แม้ไม่ได้ระบุถึงกรณีให้รื้อถอนหรือขนย้ายถังแก๊สใต้ดิน ถังน้ำมันใต้ดิน และอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ตาม แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้ตกลงให้ทรัพย์สินของจำเลยบนที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ ไม่มีเหตุที่โจทก์จะเก็บถังน้ำมัน ถังเก็บแก๊สแอลพีจี และสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไว้ ตามพฤติการณ์แห่งคดี เห็นได้ว่า ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยต้องการย้ายทรัพย์สินของตนออกจากที่ดินพิพาท และโจทก์ต้องการให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยออกไปจากที่ดินเช่นกัน เมื่อจำเลยไม่ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์บังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดี: เจ้าหนี้ขอไต่สวนทรัพย์สินลูกหนี้ก่อนยื่นคำขอบังคับคดีไม่ได้
ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้มีการบังคับคดี หากลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษา ด้วยการยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวต่อศาลตามมาตรา 275 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ในการบังคับคดีดังกล่าว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลทำการไต่สวนว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดีมากกว่าที่ตนทราบ หรือมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดีแต่ไม่ทราบว่าทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 277 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถยื่นคำขอฝ่ายเดียวให้ศาลทำการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก่อนมีการขอให้บังคับคดีได้ เมื่อคดีนี้ โจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำขอต่อศาลให้มีการบังคับคดีจึงไม่อาจยื่นคำขอให้ศาลออกหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยได้ ทั้งยังเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบหาทรัพย์สินของจำเลย เพื่อดำเนินการบังคับคดีต่อไปด้วยตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบังคับคดีจำนอง: สิทธิจำนองยังคงอยู่ แม้พ้นระยะเวลาบังคับคดี
ผู้รับจำนองซึ่งทรงทรัพยสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันหรือสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ เพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และ 745 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ เมื่อคดีเข้าสู่ศาล กระบวนพิจารณาก็ต้องบังคับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. ดังนั้น เมื่อ ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 274 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่งวดแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำภายในสิบปีนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตาม ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการเพิกถอนการยึดทรัพย์: สิทธิเจ้าหนี้และการไม่สุจริต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนห้องชุดของจำเลยไว้เป็นเพียงวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษา จึงไม่ต้องห้ามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะยึดทรัพย์สินนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 326
ห้องชุดมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมสามารถบังคับคดีเอาแก่ห้องชุดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง การบังคับคดีของโจทก์จึงมิได้ดำเนินการไปโดยไม่มีสิทธิ หรือเป็นไปด้วยความไม่สุจริต การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดที่ไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา 292 (2) (3) (4) (6) และ (7) ทั้งมิได้เกิดจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้โจทก์ต้องรับผิดชําระค่าธรรมเนียมถอนการยึดกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4523/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนอง: ยึดทรัพย์เพิ่มเมื่อทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ & ขยายเวลาบังคับคดี
แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ก็ตาม แต่ทรัพย์จำนองมีราคาประเมินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ประกอบกับเหตุที่การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองยังไม่เสร็จสิ้นนั้น มิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ ดังนั้น การยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไว้ก่อน แต่ห้ามนำออกขายทอดตลาดจนกว่าจะมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองและได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนจึงค่อยนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ซึ่งไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดี และน่าจะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หาทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่ โจทก์จึงมีสิทธินำยึดที่ดินดังกล่าวของจำเลยเพิ่มเติมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3319/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาประนีประนอมยอมความจากผู้ขายที่ไม่ส่งมอบเอกสารตามกำหนด ทำให้ผู้ซื้อชอบขอออกหมายบังคับคดีได้
เมื่อโจทก์ยื่นคําร้องลงวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ขอให้ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ขัดต่อกฎหมาย จําเลยที่ 1 ได้ยื่นคําร้องลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ว่า จําเลยที่ 1 ขอสละสิทธิเรียกร้องที่มีในสัญญาประนีประนอมยอมความในส่วนของที่ดินตามเอกสารสิทธิในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก. 4-01) ที่ระบุในข้อ 3.2 และให้ข้อตกลงในส่วนอื่น ๆ ที่เหลือของสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับต่อคู่สัญญาโดยสมบูรณ์ต่อไป และในวันนัดพร้อมศาลชั้นต้นได้บันทึกรายงานกระบวนพิจารณาว่า ศาลสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วข้อสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่ความอาจจะไม่สามารถปฏิบัติตามได้ คือ ข้อตกลงที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื่องจากในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุทํานองว่าให้มีการโอนสิทธิครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่กัน ซึ่งอาจเป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้ว จําเลยที่ 1 จึงขอสละโดยให้นําข้อตกลงที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมออกไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ จําเลยที่ 1 ไม่ติดใจบังคับคดีหรือบังคับให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่ในข้อสัญญาส่วนอื่นให้คงไว้ตามสัญญาเดิม โจทก์และทนายโจทก์ไม่คัดค้านและยินยอมให้นําข้อตกลงที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งหมดออกไป คงปฏิบัติตามสัญญาข้ออื่น ๆ ตามเดิม ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อคู่ความตกลงกันในการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้างต้นจึงให้คู่ความทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความในสํานวนตามเดิม ยกเว้นแต่ในเรื่องหรือข้อที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามความประสงค์ของคู่ความทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ แสดงว่าโจทก์และจําเลยที่ 1 ตกลงกันใหม่เพียงว่าให้นําเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในสัญญาประนีประนอมยอมความออกไปเท่านั้น แต่ในข้อตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความอื่นให้คงไว้ตามเดิม มิใช่เป็นการตกลงระงับข้อพิพาทและมีการตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความกันใหม่ทั้งหมด ดังนั้น โจทก์และจําเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ความผูกพันต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความในส่วนอื่นตามเดิม เว้นแต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีการตกลงกันใหม่เท่านั้น ทั้งในวันที่จําเลยที่ 1 ชําระเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ โจทก์ยังสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 โดยส่งมอบสำเนาเอกสารที่เกี่ยวกับที่ดิน เช่น สำเนาโฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขาย หรือเอกสารอื่นใดที่แยกกันต่างหากไม่เกี่ยวกับเอกสารสิทธิการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่จําเลยที่ 1 ในวันที่ 2 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่จําเลยที่ 1 ชําระเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ได้อยู่แล้ว และในวันดังกล่าวโจทก์ก็ไม่ได้อ้างเหตุขัดข้องต่อจําเลยที่ 1 ว่าจะต้องรอให้มีการตกลงเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความกันเสียใหม่ก่อน เมื่อได้ความว่าโจทก์ส่งมอบสำเนาเอกสารที่เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวให้แก่จําเลยที่ 1 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งล่วงเลยไปจากระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ถึง 2 เดือนเศษ จึงถือได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จําเลยที่ 1 ย่อมร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีโจทก์ตามที่ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 6 ได้โดยชอบ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนหมายบังคับคดีโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาและการชดใช้ค่าเสียหายจากสภาพรถยนต์ชำรุด
ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้วย่อมมีผลผูกพันจำเลยทั้งสี่ซึ่งมีสถานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำบังคับ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีต่อไปได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และมาตรา 274 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 และหากการละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลยทั้งสี่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ยังชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสี่มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา จนโจทก์ติดตามรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้ในสภาพชำรุดบกพร่อง ทำให้ขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าราคารถยนต์ที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาคดีก่อน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นราคารถยนต์ที่ขาดไป จำเลยทั้งสี่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนอันสืบเนื่องมาจากมูลหนี้คดีก่อนที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ มิใช่ค่าเสียหายที่มีหลักแหล่งแห่งข้อหาตามสัญญาเช่าซื้อหรือข้ออ้างที่อาศัยความผูกพันกันตามสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและหนังสือให้ความยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อและร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมซึ่งเลิกกันไปแล้ว และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีก่อนได้วินิจฉัยจนเสร็จสิ้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาความสมบูรณ์หรือความเป็นโมฆะเสียเปล่าของสัญญาดังกล่าวอีก เพราะมิใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกปัญหาว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัย และเห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ โดยเห็นว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนมิใช่บทบังคับว่า ศาลต้องหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียทุกกรณี ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยหรือไม่ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาข้อสำคัญที่ว่า การหยิบยกปัญหาเรื่องความโมฆะของสัญญาฉบับเดียวกันกับในคดีก่อนขึ้นวินิจฉัย จนเป็นผลให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสัญญาเดียวกันแตกต่างกัน อันก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อการบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีก่อนที่กำหนดให้จำเลยทั้งสี่ต้องปฏิบัติตามในลำดับแรกด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีเป็นอันไร้ผลไปโดยสิ้นเชิง เป็นผลให้ตกเป็นภาระแก่จำเลยที่ 1 เพียงลำพัง ทั้งที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่างเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาที่ละเลยต่อการชำระหนี้ไม่แตกต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกปัญหาว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีก่อน
เมื่อรถยนต์ที่จำเลยทั้งสี่ต้องส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ มีมูลค่า 400,000 บาท ตามราคาใช้แทนรถยนต์ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดไว้ในคดีก่อน โจทก์ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดรถยนต์แล้ว 308,411.21 บาท โจทก์จึงยังคงเสียหายเป็นเงินเพียง 91,588.79 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดราคาแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท เกินกว่าความเสียหายของโจทก์จึงเป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 850/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การทำหนังสือมอบอำนาจ และการใช้คำสั่งศาลแทนเจตนา
ในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ นอกจากจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ ก. แล้ว จำเลยที่ 2 ยังเป็นบุตรของโจทก์กับ ก. และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 4 ด้วย ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.ก) เลขที่ 2273, 2274 และ 2270 การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิได้เป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เท่านั้น แต่ยังเป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงด้วย
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 6 ร่วมกันหรือแทนกันมอบเงิน 7,000,000 บาท ให้โจทก์เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว โดยหาได้ระบุให้จำเลยที่ 2 มอบเงินแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความครบถ้วนแล้วและประสงค์จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2.2 จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวในฐานะส่วนตัวหาใช่ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ไม่ แม้ภายหลังศาลมีคําพิพากษาให้ถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ก. และคดีถึงที่สุดก็ตาม ก็มิได้ทำให้สิทธิของจำเลยที่ 2 ในการเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสื่อมเสียไป
แม้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ระบุให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 6 โดยได้รับความเห็นชอบจากทายาทของเจ้ามรดก แต่ก็ได้ความตามคําแถลงของจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 ว่า ตนเองและทายาทตามพินัยกรรมไม่ติดใจบังคับตามพินัยกรรม ขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่ทายาทของ ก. ยินยอมให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในการทำหนังสือมอบอำนาจให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว นอกจากนี้สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ยังระบุอีกว่า หากมีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. จะให้ความร่วมมือแก้ปัญหาเพื่อให้มีการดำเนินการจนลุล่วงไปโดยสมบูรณ์ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ลงลายมือชื่อผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจะร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 2 กำหนดและศาลชั้นต้นได้ออกคําบังคับตามคําพิพากษาตามยอมดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความและเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้มีการบังคับคดีจนแล้วเสร็จได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง
เมื่อการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความคงเหลือเพียงการทำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เพื่อให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ให้ความร่วมมือ จำเลยที่ 2 จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคําพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. หรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้พนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 357 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
จำเลยที่ 2 ยื่นคําร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคําพิพากษาตามยอมภายหลังจากที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องนํา ป.วิ.พ. มาตรา 274 และ มาตรา 357 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับแก่การบังคับคดีในคดีนี้ ศาลย่อมมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจปลอม, การฉ้อโกง, และสิทธิในการบังคับคดี: ศาลอนุญาตให้บังคับคดีได้หากยังไม่ได้รับชำระหนี้
พ. ปลอมหนังสือมอบอำนาจ แล้วนำไปใช้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้และรับเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ทั้งห้า และแม้ว่าโจทก์ทั้งห้าจะได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่ พ. ไป แต่ พ. เป็นทนายความของโจทก์ทั้งห้าย่อมถือเป็นผู้มีวิชาชีพและมีจรรยาบรรณเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนว่าจะกระทำการใด ๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของตนเพื่อจรรโลงความยุติธรรมในสังคม ทั้งจะต้องรักษาผลประโยชน์แห่งลูกความของตนไม่ให้เป็นที่เสื่อมเสีย เช่นนี้ การที่ พ. นำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ทั้งห้าลงลายมือชื่อไปปลอมเอกสาร ย่อมถือไม่ได้ว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ทั้งห้า เมื่อ พ. นำหนังสือมอบอำนาจปลอมของโจทก์ทั้งห้าไปใช้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้และรับเงินจากจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งห้าร่วมรู้เห็นกับการกระทำของ พ. ดังกล่าว การทำสัญญาระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งห้า พ. จึงไม่มีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งห้า ไม่มีอำนาจรับเงินหรือเช็คจากจำเลยที่ 2 ไว้แทนโจทก์ทั้งห้า และมิใช่กรณีตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจในอันที่ตัวการจะให้สัตยาบัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ได้ ดังนี้ แม้โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จะได้ฟ้อง พ. ให้คืนเงินที่รับไว้จากจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 หรือร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อ พ. กับพวกก็ตาม ก็เป็นเพียงการเรียกร้องค่าเสียหายและการดำเนินคดีเนื่องจากโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ถูก พ. กระทำละเมิด ฉ้อโกง และยักยอกไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของ พ.
ภายหลังจากที่ พ. รับเงินและเช็คจากจำเลยที่ 2 แล้ว พ. นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและรับเงินตามเช็คเป็นของตน มิได้นำเงินที่ได้รับมาไปมอบให้แก่โจทก์ทั้งห้า ทั้งยังนำเช็คส่วนที่เหลืออีก 29 ฉบับ รวมเป็นเงิน 3,050,000 บาท ไปขายลดคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคาเพียง 900,000 บาท ต่ำกว่าจำนวนเงินตามเช็คจำนวนมาก ซึ่งไม่มีเหตุผลใดที่ พ. จะต้องนำเช็คมาขายลดคืนแก่จำเลยที่ 2 ในราคาดังกล่าวและไม่เป็นประโยชน์ต่อโจทก์ทั้งห้าที่เป็นลูกความ การที่จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 900,000 บาท แก่ พ. เพื่อแลกกับเช็คจำนวน 3,050,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งห้า ย่อมส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่สมคบกับ พ. เพื่อที่จะไม่ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งห้าตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต เช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างว่าตนได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งห้าครบถ้วนแล้วขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ เมื่อโจทก์ทั้งห้ายังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จึงยังคงมีสิทธิขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้
of 7