คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1633/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่โอนไปให้บุคคลอื่นโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องให้บังคับชำระหนี้ได้
แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาอำพรางไม่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และมาตรา 234

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 850/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การทำหนังสือมอบอำนาจ และการใช้คำสั่งศาลแทนเจตนา
ในขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ นอกจากจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ ก. แล้ว จำเลยที่ 2 ยังเป็นบุตรของโจทก์กับ ก. และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 4 ด้วย ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.ก) เลขที่ 2273, 2274 และ 2270 การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิได้เป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เท่านั้น แต่ยังเป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงด้วย
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 6 ร่วมกันหรือแทนกันมอบเงิน 7,000,000 บาท ให้โจทก์เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว โดยหาได้ระบุให้จำเลยที่ 2 มอบเงินแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความครบถ้วนแล้วและประสงค์จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2.2 จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวในฐานะส่วนตัวหาใช่ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ไม่ แม้ภายหลังศาลมีคําพิพากษาให้ถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ก. และคดีถึงที่สุดก็ตาม ก็มิได้ทำให้สิทธิของจำเลยที่ 2 ในการเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสื่อมเสียไป
แม้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ระบุให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 6 โดยได้รับความเห็นชอบจากทายาทของเจ้ามรดก แต่ก็ได้ความตามคําแถลงของจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 ว่า ตนเองและทายาทตามพินัยกรรมไม่ติดใจบังคับตามพินัยกรรม ขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่ทายาทของ ก. ยินยอมให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในการทำหนังสือมอบอำนาจให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว นอกจากนี้สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ยังระบุอีกว่า หากมีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. จะให้ความร่วมมือแก้ปัญหาเพื่อให้มีการดำเนินการจนลุล่วงไปโดยสมบูรณ์ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ลงลายมือชื่อผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจะร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 2 กำหนดและศาลชั้นต้นได้ออกคําบังคับตามคําพิพากษาตามยอมดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความและเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้มีการบังคับคดีจนแล้วเสร็จได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง
เมื่อการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความคงเหลือเพียงการทำหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เพื่อให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ให้ความร่วมมือ จำเลยที่ 2 จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคําพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. หรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้พนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 357 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
จำเลยที่ 2 ยื่นคําร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคําพิพากษาตามยอมภายหลังจากที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องนํา ป.วิ.พ. มาตรา 274 และ มาตรา 357 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับแก่การบังคับคดีในคดีนี้ ศาลย่อมมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 646/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีและค้าเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต: ศาลฎีกายืนตามฟ้องและคำพิพากษาเดิม
แม้ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องเครื่องวิทยุคมนาคมและสถานีวิทยุคมนาคมที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 จะออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ตาม แต่ก็มิใช่กฎหมายที่ศาลจะรู้เองได้ ถือได้แต่เพียงเป็นประกาศที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยไม่ได้ต่อสู้เป็นประการอื่น จึงต้องรับฟังตามที่ปรากฏในฟ้องและคำรับสารภาพ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลคดีฉ้อโกง: การพิจารณาจากสถานที่รับเงินและความต่อเนื่องของการกระทำผิด
ปัญหาว่าความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้และยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจศาล จึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 22 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โดย ป.วิ.อ. มาตรา 22 บัญญัติว่า "เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น..." และ ป.อ. มาตรา 341 บัญญัติว่า "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม...ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง..." แสดงว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจะสำเร็จลงเมื่อผู้กระทำความผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ดังนั้น ท้องที่ที่มีการมอบเงินให้แก่ผู้กระทำความผิดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิด และถือว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงลงในท้องที่ดังกล่าวต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในท้องที่ที่มีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การที่ น. ภริยา พ. โอนเงิน 11,475,520 บาท ที่ธนาคาร ก. เชียงของ จังหวัดเชียงราย เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคาร ส. สวนหลวง จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วออกใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินมอบให้แก่โจทก์ ถือได้ว่า สถานที่ น. ภริยา พ. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์โอนเงินที่ธนาคาร ก. เชียงของ ที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ทรัพย์เป็นเงินจากโจทก์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดต่อเนื่องกับการหลอกลวงโจทก์ด้วย ดังนั้น ศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจครอบคลุมอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การร่วมรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งและผู้รับประกันภัย รวมถึงดอกเบี้ยผิดนัด
คดีนี้จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดเพราะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุละเมิด แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยทั้งสามหาจำต้องอุทธรณ์ในประเด็นนี้ไม่ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในประเด็นอื่น จำเลยทั้งสามได้กล่าวคำแก้อุทธรณ์ว่าคำให้การของจำเลยทั้งสามชัดแจ้งและฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว คดีจึงมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก่อน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิด ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะนายจ้างซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การชัดแจ้งว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อไร จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ให้การชัดแจ้งเรื่องอายุความตามสัญญาประกันภัย ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ชอบแล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้กระทำละเมิดตามคำให้การย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีแล้ว เฉพาะคำให้การของจำเลยที่ 1 จึงชัดแจ้งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นประเด็นในคดี โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 4677/2560 ของศาลชั้นต้น กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่า คดีอาญาถึงที่สุดก่อนโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง การฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/32 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง เมื่อโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 อันเป็นวันเกิดเหตุละเมิด โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด ประกอบกับหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์ไม่ได้ทวงถามจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ก่อน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นตันไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันทำละเมิด จึงไม่ชอบ
of 2