คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 80

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,460 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบกันจำหน่ายยาเสพติด (เมทแอมเฟตามิน) แม้ไม่ได้ร่วมกันตั้งแต่ต้นจนจบ ศาลพิพากษาลงโทษตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางกับ ช. จากนั้น ช. โทรศัพท์ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 เมื่อ ช. ได้รับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 แล้วนำมาบรรจุใส่กล่องพัสดุไปรษณีย์ ว่าจ้าง ณ. นำไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ลักษณะการตกลงกันเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการคบคิดร่วมกันระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 อันเป็นการสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 127 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.ยาเสพติด แต่จำเลยที่ 1 ไม่ทันรับมอบ ณ. นำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานตำรวจและ ช. ถูกจับกุมเสียก่อน จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยการพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 127 วรรคสอง กับฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 126 แม้จำเลยที่ 1 สมคบกับ ช. เพียงผู้เดียวมิได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จัดหาลูกค้าและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่ผู้อื่น จำเลยที่ 1 ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางจาก ช. โดยไม่ปรากฏว่าจะนำไปจำหน่ายต่อแก่ผู้อื่น และไม่มีการแบ่งกำไรกันระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นหรือร่วมกับ ช. มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน 3 ถุง ของกลาง ที่ค้นพบภายในห้องพักของ ช. แต่ปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 พยายามมีไว้ในครอบครองต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ยังให้มีผลใช้บังคับแก่คดีนี้ และจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันพยายามฆ่า, เป็นซ่องโจร, ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน, และการหักเงินที่ได้รับก่อนออกจากค่าสินไหมทดแทน
โจทก์บรรยายคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกฐานเป็นซ่องโจรอีกกรรมหนึ่ง โดยการกระทำความผิดฐานนี้ย่อมเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันวางแผนเพื่อกระทำการอันเป็นความผิด แม้ยังมิได้มีการกระทำการตามที่ได้สมคบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจรเป็นการกระทำกรรมเดียวกับฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนนั้น ไม่ถูกต้อง ทั้งปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหก ซึ่งกระทำผิดฐานดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงมิอาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งหกได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งหก ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4336/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดอาวุธปืน-พยายามฆ่า-ยิงปืนโดยใช่เหตุ ศาลฎีกาพิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ฐานพาอาวุธปืน และฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และ ป.อ. มาตรา 80, 288, 371 โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ตาม ป.อ. มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้ว่ากล่าวในฟ้อง ต้องห้าม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3398/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยใช้อาวุธข่มขู่ ยื้อแย่งจนปืนลั่น ศาลแก้เป็นประมาททำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ลดโทษและรอการลงโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ได้ความจากทางพิจารณาว่า เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 แม้จะเป็นการแตกต่างจากฟ้อง แต่การต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาทนั้น กฎหมายมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า นาย ส. นาย อ. และบุคคลอื่นเข้ามาขัดขวาง ยื้อแย่งอาวุธปืน เป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่น สะเก็ดกระสุนปืนถูก นาย อ. และ นาย ส. ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยนำสืบว่า มีการแย่งอาวุธปืนทำให้ปืนลั่น และหลังเกิดเหตุจำเลยไปเยี่ยม นาย อ. และ นาย ส. ที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดกระสุนปืน แสดงว่า จำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามที่ได้ความจากการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพ.ร.บ.ศุลกากร: การนำเงินตราออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่สำแดง และการริบของกลาง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เวลากลางวัน จำเลยนำธนบัตรเงินตราไทยที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,000,000 บาท อันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไม่มีการสำแดงแจ้งรายการนำเงินตราที่กฎหมายกำหนดออกนอกราชอาณาจักรต่อเจ้าพนักงานศุลกากรในขณะผ่านด่านศุลกากรตามแบบที่เจ้าหน้าที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดหรือข้อห้าม ตามข้อห้ามอันเกี่ยวกับการนำของออกนอกราชอาณาจักร จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตรวจพบและทำการจับกุมจำเลยเสียก่อน จึงไม่อาจนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรสมดังเจตนาของจำเลย และอ้าง พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งบัญญัติให้ธนบัตรเงินตราไทยเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันเป็นการบรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัด ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดตามกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศของกฎหมายฉบับใดหรือเป็นสิ่งของชนิดใด หรือไม่ได้แนบประกาศหรือระเบียบมาท้ายฟ้องนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่ใช่สาระสำคัญอันจะทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
แม้จำเลยจะไม่สามารถนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายให้ถือเป็นความผิดและศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งริบของนั้นก็ได้ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ไม่สำแดงรายการต่อเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่พยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายและลักลอบนำเงินตราซึ่งเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร จึงเป็นพฤติการณ์ที่สมควรริบธนบัตรของกลาง ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า ธนบัตรของกลางไม่ใช่ของจำเลย จึงไม่สมควรริบนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าของแท้จริงจะต้องร้องขอคืนของกลางต่อศาลไม่เกี่ยวกับจำเลย
ตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 กำหนดให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไข แต่ไม่สามารถแก้ได้เพราะเป็นบทกฎหมายที่ตราไว้แล้ว ประกอบกับฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละสิบห้าของค่าปรับนั้น จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามส่งออกของโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร พฤติการณ์ใกล้ชิดความสำเร็จ การกระทำปกปิดความผิด
ได้ความจากร้อยตรี ณ. ว่าวันเกิดเหตุ ชุดปฏิบัติการของพยานเฝ้าระวังอยู่ที่บริเวณแยกหนองสังข์ ส่วนพยานคอยตรวจเส้นทางระหว่างตำบลหนองสังข์ไปยังอำเภอโคกสูง จนกระทั่งเวลา 14 นาฬิกา ได้รับแจ้งจากชุดระวังหน้าว่ามีรถเป้าหมายเข้าพื้นที่เป็นรถกระบะสีขาวและรถกระบะสีบรอนซ์ขับตามกันมา พยานสวนกับรถเป้าหมายจึงกลับรถเพื่อติดตามรถเป้าหมายไป ต่อมาเมื่อจับกุมจําเลยทั้งสี่ ได้ตรวจค้นรถกระบะคันที่จําเลยที่ 1 ขับ ก็พบรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนสี่คันของกลาง ชั้นจับกุมจําเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าได้รับการว่าจ้างจากลูกค้าไม่ทราบชื่อให้ขนส่งนํารถจักรยานยนต์ทั้งสี่คันมาส่งบริเวณใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา เขตอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว แล้วจะมีคนมารับช่วงนําข้ามไปยังฝั่งประเทศกัมพูชา โดยได้ค่าจ้าง 7,000 บาท ส่วนจําเลยที่ 3 รับว่าจะเป็นผู้รับช่วงต่อจากจําเลยที่ 1 และที่ 2 ในการนํารถจักรยานยนต์ส่งออกไปจําหน่ายยังประเทศกัมพูชา ตามบันทึกการจับกุม ซึ่งคำให้การชั้นจับกุมนี้ แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย จะห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานแต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น จึงรับฟังบันทึกการจับกุมของจําเลยที่ 3 ประกอบคําเบิกความพยานโจทก์ผู้จับกุมและพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์อ้างเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 โดยชอบ เพื่อพิสูจน์ความผิดของจําเลยที่ 1 และที่ 2 ได้
พฤติการณ์ของจําเลยที่ 1 และที่ 2 ที่รับจ้างขนส่งรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนจำนวนมาก แต่อ้างว่าไม่รู้ว่าผู้รับจ้างเป็นใคร กลับส่อแสดงให้เห็นว่าจําเลยที่ 1 และที่ 2 ปกปิดการกระทำความผิดโดยรู้ว่าเป็นการนํารถจักรยานยนต์ทั้งสี่คันของกลางออกนอกราชอาณาจักร และการที่จําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนของกลางบรรทุกมากับรถกระบะ เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจุดเกิดเหตุ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา เพียง 3 กิโลเมตร เพื่อจะส่งมอบแก่ผู้รับช่วงนํารถจักรยานยนต์ดังกล่าวส่งข้ามชายแดนไปประเทศกัมพูชาถือได้ว่าการกระทำของจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานพบเห็นและจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียก่อน จําเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร มิใช่ไม่เป็นความผิดเพราะไม่ถึงขั้นลงมือกระทำความผิดดังที่จําเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
การกระทำของจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจและสังคม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจําคุกมาก่อน มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว รวมทั้งเหตุผลความจําเป็นประการอื่น ก็ยังไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3628/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามลักทรัพย์นายจ้างและลูกจ้างประพฤติชั่ว การรอการลงโทษ
จำเลยนำรถจักรยานยนต์ไปซ่อม เมื่อซ่อมเสร็จแล้วนำใบแจ้งหนี้ไปขอเบิกค่าซ่อมจากผู้เสียหายครั้นได้เงินค่าซ่อมมาแล้ว จำเลยไม่ไปรับรถจักรยานยนต์คืน ทั้งยังหลอก จ. ผู้รับซ่อมรถจักรยานยนต์ว่ารถเป็นของจำเลยและจำเลยไม่มีเงินชำระค่าซ่อมและให้ จ. ขายแยกชิ้นส่วนเพื่อหักชำระค่าซ่อม ถือได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากผู้เสียหายเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นการลักรถจักรยานยนต์ไปจากผู้เสียหายโดยใช้ จ. เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นขั้นตอนสุดท้ายอันถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จ เข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานยึดรถจักรยานยนต์ของกลางได้โดยไม่ปรากฏว่า จ. แยกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ตามที่ถูกหลอก จำเลยจึงมีความผิดข้อหาพยายามลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3151/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส และการวินิจฉัยความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่า
พวกของจำเลยทั้งสามรุมทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง โดย ณ. ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเจตนาของจำเลยที่ 2 เป็นคนละเจตนากับ ณ. ที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 โดยมีเจตนาฆ่า ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นหรือคบคิดกับ ณ. ในการใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดในผลของการกระทำของ ณ. เมื่อตามผลการชันสูตรบาลแผลไม่ปรากฏบาดแผลจากการใช้อาวุธปืนตี คงมีเฉพาะบาดแผลที่ถูกแทง และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่การจากการกระทำของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 เท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำไม่เข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ เพราะเป็นการแจ้งโทษตามกฎหมายและเสนอความช่วยเหลือทางคดี ไม่มีการข่มขู่ทำอันตราย
การที่จำเลยบอกผู้เสียหายว่า ก. ผู้เสียหายกระทำความผิดที่มีอัตราโทษหนักต้องจำคุกหลายปีและมีโทษปรับเป็นเงินหลายแสนบาท จำเลยสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายให้ไม่ต้องรับโทษหนักและจะดำเนินคดีผู้เสียหายในความผิดที่มีอัตราโทษน้อย แต่ผู้เสียหายต้องชำระเงินให้แก่จำเลย 20,000 บาท มิใช่การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานจับกุมดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายอยู่แล้วในความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งการจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย จำเลยเพียงแต่บอกให้ผู้เสียหายทราบถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับตามกฎหมาย และการเรียกเงินของจำเลยก็เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีมิให้ผู้เสียหายได้รับโทษหนัก ซึ่งหากผู้เสียหายไม่ให้เงินตามที่จำเลยเรียกร้องก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป การที่จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายต่อไปว่า จำเลยจะมาตรวจสอบที่ร้านค้าของผู้เสียหายทุกเดือนและหากพบการกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีกับผู้เสียหาย แต่หากผู้เสียหายชำระเงินให้แก่จำเลยทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท จำเลยจะไม่มาตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหาย ก็มิใช่การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายเช่นกัน เพราะผู้เสียหายจะถูกดำเนินคดีตามที่จำเลยอ้างก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายแล้วพบว่ามีการกระทำความผิดจริง การเรียกเงินของจำเลยเป็นเพียงเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยมิได้ข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายแม้ไม่พบการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการขู่เข็ญ คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพยายามกระทำชำเราที่ไม่สำเร็จ ผู้กระทำต้องรับโทษ หากการกระทำเกิดจากเหตุปัจจัยภายนอกไม่ใช่การยับยั้งโดยสมัครใจ
การยับยั้งเสียเองซึ่งทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 82 เป็นกรณีที่ผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่มีการยับยั้งไม่กระทำความผิดไปให้ตลอด ซึ่งจะต้องเป็นการยับยั้งโดยสมัครใจของผู้กระทำเอง
จำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 10 ปีเศษ ถึง 13 ปีเศษ แต่ที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ไปไม่ตลอด เป็นเพราะผู้เสียหายที่ 1 ยังเป็นเด็ก ร่างกายไม่พร้อมต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่จำเลยจะใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ให้สำเร็จได้โดยง่าย อีกทั้งผู้เสียหายที่ 1 ยังใช้มือปัดป้องเป็นการขัดขวางไม่ให้จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงต้องหยุดกระทำ เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยยับยั้งเสียเองโดยสมัครใจ แต่เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยภายนอกที่ทำให้จำเลยต้องจำใจหยุดกระทำต่อไป จึงไม่เข้าข้อยกเว้นให้ไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 82
of 146