คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 39 (6)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 57 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความร้องทุกข์ฐานยักยอก: เริ่มนับเมื่อใด และผลกระทบต่อคดีอาญาและคำขอเรียกทรัพย์
ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าจำเลยมีเจตนายักยอกเอารถตู้ของกลางคันที่เช่าซื้อมาเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริตไป จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถส่งมอบรถตู้คันที่เช่าซื้อคืนให้แก่บริษัท ต. นับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2560 อายุความร้องทุกข์ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2560 เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ น. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 จึงเกินกำหนดสามเดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธิของโจทก์ที่นำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ทำให้คำขอส่วนแพ่งของพนักงานอัยการโจทก์ตกไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีปลอมแปลงเอกสารราชการและการประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์เป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ หาใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิด้วย จึงเป็นเพียงเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) เมื่อจำเลยปลอมและนำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพปลอมดังกล่าวมาใช้ประกอบในการทำงานกับผู้เสียหายในตำแหน่งหน้าที่พยาบาล การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) แต่โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมายังศาลเกินสิบปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความร้องทุกข์: การแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน ไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์
โจทก์ร่วมทราบว่าถูกหลอกลวงเมื่อโจทก์ร่วมไปตามหาจําเลยที่หน่วยงานของจําเลย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โจทก์ร่วมย่อมทราบได้ว่า จําเลยคือผู้ที่หลอกลวงโจทก์ร่วมตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุแจ้งชัดว่า เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและผู้แจ้งขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจําเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ การแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจําเลย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เมื่อโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีอาญา: การนับระยะเวลาเริ่มจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
โจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ที่ยกให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของ ส. เบียดบังที่ดินพิพาทไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ กลับจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 โจทก์จึงต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่เมื่อในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ซึ่งโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่โอนให้ เนื่องจากโจทก์ไม่มีเงินให้ตามที่จำเลยที่ 1 เรียกร้อง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทต่อโจทก์ และมูลความแห่งคดีเกิดขึ้นในวันดังกล่าวแล้ว เมื่อนับจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์เป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีบุกรุกป่าและการดำเนินคดีอาญาที่ศาลล่างพิพากษาผิดพลาดเรื่องอายุความและบทลงโทษ
การที่จะนำกฎหมายฉบับใดมาใช้เพื่อพิจารณาพิพากษาให้บุคคลได้รับโทษทางอาญานั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คดีนี้จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ต้นปี 2558 และได้กระทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 การกระทำความผิดของจำเลยจึงมีขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุ และยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยช่วงระหว่างต้นปี 2558 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 การยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) และเมื่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 จำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายฉบับเดิมยังมีผลใช้บังคับ และขณะที่กฎหมายฉบับใหม่ใช้บังคับแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยภายหลังวันที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ด้วย คดีนี้จึงชอบที่ต้องนำ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย กรณีมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด และหาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังการกระทำความผิดขึ้นไม่อาจมีผลย้อนหลังไปเอาผิดหรือลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นดังที่จำเลยฎีกาไม่ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขเพิ่มเติมโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแก่จำเลยแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
ความผิดฐานเข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 16 (13) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 27 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท มีอายุความหนึ่งปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อต้นปี 2558 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันตลอดมา แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 จึงเกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิด ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3851/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดูหมิ่นผู้อื่นและการเปลี่ยนแปลงฐานะหน่วยงาน: ผลกระทบต่อความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
ภายหลังจากจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2541 โดยมาตรา 5 วรรคสอง ให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ดังนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจึงเป็นองค์การมหาชนที่แยกออกจากระบบราชการ หาใช่ส่วนราชการที่สังกัดกระทรวง ทบวง กรมของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไปไม่ และตาม ป.อ. มาตรา 1 (16) บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนี้ เมื่อ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2559 มิได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เสียหายซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ตรวจข้อมูลข่าวสารก็หาใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่ ผู้เสียหายจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น แม้จำเลยจะดูหมิ่นผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยดูหมิ่นผู้เสียหายในฐานะบุคคลธรรมดา ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตาม ป.อ. มาตรา 393 (เดิม) แล้ว ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมายังศาลเกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การนับอายุความเริ่มเมื่อใดเมื่อจำเลยเบียดบังทรัพย์สิน และผลกระทบต่อสิทธิการฎีกา
คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความความผิดยักยอก การร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันรู้ความผิดและตัวผู้กระทำ
ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18122/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีลิขสิทธิ์: แยกพิจารณาคดีแพ่งและอาญาตามกฎหมายลิขสิทธิ์และประมวลกฎหมายอาญา
อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แบ่งเป็นอายุความฟ้องคดีแพ่งตามมาตรา 63 และอายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 66 โดยอายุความคดีอาญาต้องนำ ป.อ. มาตรา 95 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องซึ่งต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท อายุความในคดีนี้จึงเป็นอายุความฟ้องคดีอาญาสำหรับความผิดต้องระวางโทษอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษจำคุก ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) อันมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2552 แต่ฟ้องและได้ตัวจำเลยทั้งสามมายังศาลในวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่งจึงขาดอายุความแล้ว ทั้งหากเทียบเคียงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบัญญัติแยกอายุความคดีแพ่งและคดีอาญาจากกันตลอดมา โดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กำหนดอายุความคดีแพ่งไว้ในมาตรา 63 ส่วนมาตรา 66 มิได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้กับความผิดในคดีนี้ ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4395/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีอาญาขาดอายุความไม่กระทบอำนาจฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่อง และคำฟ้องไม่เคลือบคลุม
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้คดีอาญายังไม่ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องมีคำสั่งว่าคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดี และได้ตัวจำเลยมาพิจารณา ปรากฏว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ในกรณีเช่นนี้ แม้คดีขาดอายุความจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ก็ตาม แต่ก็หามีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องคดีส่วนแพ่งของโจทก์ไม่ คดีส่วนแพ่งจึงยังต้องดำเนินคดีต่อไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้วพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งต่อไปนั้นจึงชอบแล้ว
of 6