คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทวีศักดิ์ อุนนาทรรัตนกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 40 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำขอรับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้ หากมีเหตุผลอันสมควรและไม่ขัดต่อกฎหมาย
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งปรากฏในคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลแพ่งกรุงเทพใต้แล้ว การที่ผู้ร้องมิได้ระบุโฉนดที่ดินเลขที่ 18874 เป็นหลักฐานประกอบไว้ในบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินและทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ก็จะฟังว่า ผู้ร้องไม่ประสงค์ที่จะขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันเสียทีเดียวหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอและ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 97 มิได้กำหนดระยะเวลาในการขอแก้ไขข้อความในรายการคำขอรับชำระหนี้ไว้ ผู้ร้องจึงชอบที่จะขออนุญาตแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้จากการขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นการขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2833/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกกรณีหนี้สินค่าสินสอด: สิทธิเรียกร้องของกองมรดกต่อลูกหนี้และการแบ่งทรัพย์สินให้ทายาท
หนังสือแจ้งความจำนงชำระเงินที่ยืมมีข้อความว่า ธ. ได้ยืมเงินจากผู้ตาย จำนวน 1,000,000 บาท โดยผู้ตายให้ ธ. ผ่อนชำระเดือนละ 4,000 บาท จนเดือนสิงหาคม 2561 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ธ. ผ่อนชำระไปแล้ว 48,000 บาท คงเหลือ 952,000 บาท และจะขอผ่อนชำระกับโจทก์ทั้งสอง (ภริยาผู้ตาย) เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ และ ธ. ได้เบิกความยอมรับว่าเป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าวด้วยตนเองโดยทำขึ้นหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เหตุที่ทำเอกสารดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ทั้งสองทวงถามเงินจาก ธ. เมื่อ ธ. มีความรับผิดที่จะต้องชำระหนี้แก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้ ธ. ชำระหนี้แก่กองมรดกเท่านั้น สิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่อาจแบ่งแยกแก่โจทก์ทั้งสองได้ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ธ. ได้ชำระเงินคืนแก่กองมรดกเพียงใด จึงยังไม่มีตัวเงินที่จะแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกต้องไปว่ากล่าวเรียกร้องให้ ธ. ชำระหนี้แก่กองมรดกเพื่อรวบรวมและแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสองต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนจำนองที่เป็นทางเสียเปรียบแก่ผู้มีสิทธิก่อน และการเพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว และทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดย่อมต้องถูกรวบรวมเข้ามาเพื่อการจัดการในคดีล้มละลายเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 แม้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย แต่ผู้คัดค้านที่ 2 จะบังคับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายเท่านั้น ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27 ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 ก็ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้มีประกันด้วยการขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 (3) การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งรวมทั้งห้องชุดพิพาทในวันที่ 15 มีนาคม 2560 อันเป็นเวลาภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้วย่อมเป็นการไม่ชอบ และผู้ร้องก็ไม่อาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเป็นคดีสาขาในคดีแพ่งดังกล่าวได้เช่นกัน ผลคำพิพากษาคดีที่ขอกันส่วนไม่มีผลผูกพันคู่ความในคดีดังกล่าวรวมถึงผู้คัดค้านที่ 1 เพราะกระบวนพิจารณาในชั้นขอกันส่วนในคดีแพ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ทำขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 252 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28/2 วรรคสอง
พฤติการณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองห้องชุดพิพาทไว้โดยสุจริต การกระทำของจำเลยและผู้คัดค้านที่ 2 ทำให้ผู้ร้องซึ่งชำระราคาห้องชุดครบถ้วนแล้วเสียหาย เมื่อการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทางเสียเปรียบแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อน ผู้ร้องจึงเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองห้องชุดดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของจำเลยจึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยปลอดจำนอง และไม่จำต้องนำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยไปไถ่ถอนจำนองห้องชุดพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2249-2250/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแพ่งหลังศาลรับคำร้องฟูกิจการ: ต้องได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายก่อน
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์แล้ว การดำเนินการต่าง ๆ อันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของโจทก์ในฐานะลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการจึงอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/12 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้... (9) ห้ามมิให้ลูกหนี้ จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น..." บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภายหลังจากศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ลูกหนี้จะดำเนินกิจการได้เฉพาะการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่หากลูกหนี้จะดำเนินการจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินที่มิใช่การดำเนินธุรกิจตามปกติทางการค้าของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตแล้วเท่านั้น
คดีทั้งสองสำนวนนี้ โจทก์ฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 398/2561 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 และศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องของโจทก์วันที่ 9 กันยายน 2557 ส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 399/2561 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์วันที่ 26 สิงหาคม 2557 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ไว้ในวันเดียวกัน การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงเป็นการยื่นคำฟ้องหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์แล้ว จึงตกอยู่ในบังคับตามมาตรา 90/12 (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าชำระเงินคืนโจทก์ 119,020,000 บาท และ 9,522,533,049.50 บาท การฟ้องคดีดังกล่าวหากโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีก็อาจมีผลกระทบต่อกองทรัพย์สินของโจทก์ หรือโจทก์อาจต้องชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนฝ่ายจำเลยทั้งเก้า จึงมิได้เป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของโจทก์สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่เป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดภาระแก่ทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการได้ แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 398/2561 โจทก์จะยื่นฟ้องในวันเดียวกันกับวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องฟื้นฟูกิจการของโจทก์ในวันเดียวกัน สภาวะการพักชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/12 (9) ย่อมเกิดขึ้นในวันดังกล่าว ส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 399/2561 โจทก์ยื่นฟ้องภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อทั้งสองสำนวนโจทก์ยื่นฟ้องโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายกลางไม่ได้มีคำสั่งอนุญาต จึงเป็นการฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งการพิจารณาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาถึงอำนาจฟ้องในขณะยื่นคำฟ้องเป็นสำคัญ แม้ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโจทก์ และอำนาจในการบริหารกิจการของโจทก์กลับคืนมาตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/75 และมาตรา 90/76 ก็ตาม แต่หามีผลทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งไม่มีในขณะยื่นคำฟ้องกลับมีขึ้นในภายหลังได้ไม่ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดและค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า (เบี้ยปรับ) ที่ศาลพิจารณาแล้วเป็นจำนวนพอสมควร
สัญญาเช่าข้อ 10.3 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุสัญญา โดยมิได้เป็นความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าต้องรับผิดชอบชำระค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญาเช่า สอดคล้องกับข้อ 3.2 ซึ่งกำหนดว่า หากสัญญาเช่าสิ้นสุดก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า โดยเหตุจากการกระทำผิดสัญญาของผู้เช่าหรือผู้เช่าขอเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดระยะเวลา ผู้เช่าตกลงให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดเงินประกันได้ทั้งจำนวน นอกจากนี้สัญญาเช่าข้อ 11 ยังระบุว่า เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุครบกำหนดสัญญาแล้ว ไม่มีการต่อสัญญาออกไปตามข้อ 9 หรือโดยการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10 หรือด้วยเหตุอื่นใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิดังต่อไปนี้ ข้อ 11.1 ผู้ให้เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าได้ทันที โดยมิจำเป็นต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าทราบก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ให้เช่ามีสิทธิครอบครองยึดหน่วง และขนย้ายทรัพย์สินทั้งปวงที่อยู่ในทรัพย์สินที่เช่าออกไป รวมทั้งมีสิทธิดำเนินการให้ผู้อื่นเช่าทรัพย์สินที่เช่าต่อไปด้วย และสัญญาจ้างบริการข้อ 8 ยังกำหนดให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันการใช้บริการได้ในกรณีสัญญาจ้างบริการสิ้นสุดโดยเหตุแห่งการผิดสัญญาของจำเลย แสดงให้เห็นว่าหากการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวมิได้เป็นความผิดของโจทก์ จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยให้จำเลยชำระค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญา แม้ว่าจำเลยจะมิได้ครอบครองใช้ประโยชน์พื้นที่เช่าอีกต่อไป รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันการเช่าและเงินประกันการใช้บริการดังกล่าว อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ดังนั้น การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าและสัญญาจ้างบริการก่อนหมดอายุสัญญา โดยมิได้เป็นความผิดของโจทก์ จึงมีผลให้สัญญาเลิกกันตามสัญญาเช่าข้อ 10.3 เมื่อคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใดไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์จึงเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าค้างชำระเสมือนหนึ่งเป็นการเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่เลิกกันไปแล้วหาได้ไม่ คงเรียกได้แต่ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่บอกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุสัญญาโดยมิได้เป็นความผิดของโจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1302/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายเวลาไถ่ขายฝากตาม พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนฯ และผลกระทบต่อสิทธิการไถ่ของลูกหนี้
แม้สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นก่อน พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อกำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก คือวันที่ 20 เมษายน 2562 เป็นกำหนดไถ่ที่มีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ กรณีย่อมต้องด้วยบทเฉพาะกาลมาตรา 20 ที่กำหนดให้สัญญาขายฝากซึ่งทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับและยังไม่ครบกำหนดเวลาไถ่ให้มีผลผูกพันคู่สัญญาต่อไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันทำสัญญาขายฝาก เว้นแต่กรณี (3) ให้นําความในมาตรา 17 มาใช้บังคับกับสัญญาขายฝากที่มีผลบังคับอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ และในกรณีที่กำหนดเวลาไถ่ในสัญญาขายฝากมีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ให้ขยายกำหนดเวลาการไถ่ออกไปเป็นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับ ทำให้จะครบกำหนดไถ่ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และเมื่อมาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือน ให้ผู้ซื้อฝากแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขายฝากเพื่อให้ผู้ขายฝากทราบกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ หากผู้ซื้อฝากละเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว มาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากได้ภายในหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากโดยผู้ขายฝากมีหน้าที่ชําระสินไถ่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ขยายระยะเวลาออกไปโดยผลของกฎหมายตามที่กล่าวมาจำเลยผู้ซื้อฝากได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ผู้ขายฝากทราบถึงกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือนตามบทบัญญัติมาตรา 17 วรรคหนึ่ง กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากจึงต้องขยายไปอีกหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ตามมาตรา 17 วรรคสอง กล่าวคือ ขยายออกไปอีกจนถึงวันที่ 17 เมษายน 2563 การที่โจทก์ขอไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากต่อจำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จึงยังอยู่ภายในกำหนดไถ่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนการบังคับคดีหลังได้รับชำระหนี้แล้ว และความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมการบังคับคดี
ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นบังคับคดี อันได้แก่ ค่าธรรมเนียม ค่าป่วยการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบังคับคดีเป็นค่าบริการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บจากคู่ความที่ขอใช้บริการในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง กำหนดให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีนั้นเป็นผู้ชำระ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคสี่ บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณี ป.วิ.พ. มาตรา 292 (1) และ (5) ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีนี้ โจทก์เป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด การที่ระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด โจทก์ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยครบถ้วนแล้ว โดยไม่ได้แถลงให้ชัดเจนว่าโจทก์ขอถอนการบังคับคดี ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียังเกษียนสั่งว่า โจทก์แถลงผลการชำระหนี้ภายนอก แต่ยังไม่สละสิทธิการบังคับคดีก็ตาม แต่ตามคำแถลงของโจทก์ย่อมเป็นผลให้โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีจากทรัพย์จำนองที่ยึดไว้ได้อีกต่อไป ซึ่งต้องถือว่าเป็นการที่โจทก์ขอถอนการบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (7) เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานข้อเท็จจริงว่า หลังจากโจทก์แถลงว่าจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองต่อไปเพื่อประโยชน์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด อันเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 327 ด้วยการให้ผู้ร้องเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปจากโจทก์เนื่องด้วยมีการถอนการบังคับคดีนั่นเอง จึงเป็นกรณียึดแล้วไม่มีการขาย โจทก์ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. กับค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง และมาตรา 169/2 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หลังเกิดการลักทรัพย์ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญา
คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาในทางแพ่ง ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาจึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในอันที่จะต้องนำมาผูกพันให้รับฟังว่าการกระทำของ บ. กับพวกเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามคำพิพากษาในคดีอาญา และคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวหาใช่คำพิพากษาที่เกี่ยวด้วยฐานะของบุคคลอันจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (1) วันที่ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นวันที่โจทก์ถูก บ. กับพวกลักรถยนต์ไป อันเป็นวันวินาศภัย โจทก์ยื่นคำเสนอให้ระงับข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (4) แม้อนุญาโตตุลาการจะพิจารณาแล้วชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาท แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยังไม่เป็นที่สุด เพราะคำชี้ขาดได้ถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในเวลาต่อมา ซึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทควรจะย้อนกลับเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย การที่วันที่ 20 มีนาคม 2562 อนุญาโตตุลาการปฏิเสธที่จะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทใหม่ตามคำร้องของโจทก์ โดยเห็นว่าอำนาจของอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการยกคำเสนอข้อพิพาทเพราะเหตุที่คดีไม่อยู่ในอำนาจของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/18 กล่าวคือ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำสั่ง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 เป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 160/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหลังแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ในฐานะผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ (วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558) จึงไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่ประกันเกินราคาที่ดินจำนองในเวลาบังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับ (ใช้บังคับวันที่ 15 กรกฎาคม 2558) ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมจึงยังคงใช้บังคับได้ และไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 681/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองเนื่องจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 ไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 (ที่แก้ไขใหม่) ไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4523/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนอง: ยึดทรัพย์เพิ่มเมื่อทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ & ขยายเวลาบังคับคดี
แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ก็ตาม แต่ทรัพย์จำนองมีราคาประเมินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ประกอบกับเหตุที่การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองยังไม่เสร็จสิ้นนั้น มิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ ดังนั้น การยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไว้ก่อน แต่ห้ามนำออกขายทอดตลาดจนกว่าจะมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองและได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนจึงค่อยนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ซึ่งไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดี และน่าจะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หาทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่ โจทก์จึงมีสิทธินำยึดที่ดินดังกล่าวของจำเลยเพิ่มเติมได้
of 4