คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 353

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 148 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711-3712/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดยักยอกทรัพย์: การกระทำร่วมกันของผู้ครอบครองและบุคคลภายนอก
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองเพียงผู้เดียวผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองในการยักยอกทรัพย์ได้หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์การครอบครองทรัพย์เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดในการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์อย่างหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่1ครอบครองดูแลจัดการทรัพย์สินของโจทก์ที่2สาขาบางกะปิ เป็นผู้จัดการธนาคารอันเป็นกิจการที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับการเงินจำเลยที่1จึงเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนการกระทำของจำเลยที่1ดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา354ประกอบด้วยมาตรา353และมาตรา352วรรคหนึ่งส่วนการที่จำเลยที่2ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ร่วมกับจำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาบางกะปิของโจทก์ที่2ยักยอกทรัพย์ของจำเลยที่2เมื่อจำเลยที่2มิใช่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนจำเลยที่2ย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา352วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา83 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำหลักฐานเท็จในการที่จำเลยที่2ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ที่2ครั้งแรกในวงเงิน1,000,000บาทโดยจำเลยทั้งสองประสงค์ที่จะเบียดบังเอาเงินของโจทก์ที่2ไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้วเมื่อต่อมาจำเลยที่2ได้ร่วมกันทำหลักฐานเท็จในการที่จำเลยที่1ขอกู้เงินเกินบัญชีเพิ่มเติมอีก3ครั้งในวงเงิน500,000บาท400,000บาทและ800,000บาทตามลำดับจากโจทก์ที่2การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งนั้นจึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกันจำเลยทั้งสองจึงร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอกรวม4กรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1369/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฐานะโจทก์เปลี่ยนแปลงหลังฟ้อง & ความเสียหายก่อนกระทำผิด ไม่กระทบอำนาจฟ้อง/ความรับผิด
ขณะยื่นฟ้องโจทก์ยังเป็นรัฐวิสาหกิจและจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงฐานะของโจทก์เป็นเพียงนิติบุคคลธรรมดาภายหลังฟ้องก็หาเป็นเหตุให้มีผลลบล้างฐานะโจทก์และฐานะความรับผิดของจำเลยในขณะเกิดเหตุกระทำผิดอาญาไม่ จึงไม่มีผลกระทบถึงอำนาจฟ้องของโจทก์
ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์มีอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ การเปลี่ยนตัวลูกหนี้และมีการชำระหนี้ภายหลังตามที่จำเลยอ้างนั้นก็คงเป็นเพียงการชำระหนี้ที่ล่าช้า จึงไม่อาจรับฟังเป็นข้อลบล้างความเสียหายที่จำเลยได้ก่อขึ้น และไม่ช่วยให้จำเลยพ้นจากความผิดที่ได้กระทำนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2083/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการทรัพย์มรดกหลังทำสัญญาแบ่งทรัพย์ การโอนทรัพย์สินหลังสัญญาไม่เป็นความผิดยักยอก
ทรัพย์มรดกของ น. ที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยก็ดี จดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นก็ดี มิได้ตกเป็นของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาแบ่งปันทรัพย์ ทั้งการกระทำดังกล่าวของจำเลยล้วนเกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกของน.แล้ว จึงเป็นการจัดการทรัพย์สินส่วนที่เป็นมรดกตกเป็นของจำเลยเอง หาใช่เป็นการจัดการทรัพย์มรดกของน. ที่ตกเป็นของโจทก์ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาอำนาจอุทธรณ์คดีอาญาตามมาตรา 193 ทวิ ต้องดูที่โทษตามที่โจทก์ขอลงโทษ
คำฟ้องโจทก์บรรยายชัดว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำผิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352,353,354,83 ซึ่งความผิดตามมาตรา 354,83 นั้นมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และการพิจารณาว่าคดีอาญาเรื่องใดต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ หรือไม่ ย่อมต้องดูที่อัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติที่โจทก์ขอให้ลงโทษเป็นสำคัญ ส่วนอัตราโทษที่ศาลจะนำมาใช้จริง หาใช่ข้อที่จะนำมาพิจารณาในชั้นนี้ไม่ อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบียดบังทรัพย์สินโดยมีเจตนาเดียว แม้มีการเบิกถอนหลายครั้ง ถือเป็นกรรมเดียว และประเด็นการไม่รอการลงโทษเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อย
คดีต้องห้ามโจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลย อันเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษและเป็นปัญหาข้อเท็จจริงการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่รอการลงโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จำเลยเบิกถอนเงินจากบัญชีของมารดารวม 5 ครั้ง โดยมีเจตนาเบียดบังเงินส่วนที่เหลือจากการนำไปใช้จ่ายตามคำสั่งมารดาก่อนตายเป็นเจตนาเดียวการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทนายความรับเงินแทนลูกความโดยไม่ได้รับมอบหมาย ไม่ถือเป็นการยักยอกทรัพย์
จำเลยได้รับแต่งตั้งจากผู้เสียหายให้เป็นทนายความของผู้เสียหายโดยมิได้รับมอบหมายให้รับเงินแทนผู้เสียหาย ดังนั้นจำเลยในฐานะเป็นทนายความของผู้เสียหายจึงเพียงแต่มีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนผู้เสียหายได้เท่านั้น จำเลยหามีอำนาจที่จะรับเงินซึ่งจะชำระแก่ผู้เสียหายไม่ ผู้เสียหายจ้างจำเลยเป็นทนายความให้ฟ้องเรียกเงินกู้จาก ค.ต่อมาผู้เสียหายกับ ค.ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยค.ยอมชำระเงิน 45,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ชำระให้ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ 10,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 35,000 บาทจะผ่อนชำระ ต่อมา ค.ได้นำเงิน 35,000 บาท ที่เหลือไปชำระให้แก่จำเลย จำเลยรับเงินดังกล่าวโดยผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยมีอำนาจรับเงินจาก ค.แทนผู้เสียหาย ฉะนั้น เงินที่จำเลยรับไว้จาก ค. จึงยังมิใช่เป็นเงินของผู้เสียหาย แม้จะฟังว่าจำเลยได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นของตนโดยทุจริตก็ตามก็ยังไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยโจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 190/2532)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องคดีอาญาของกรรมการ/ผู้ถือหุ้น เมื่อกรรมการกระทำผิดต่อบริษัท และการระงับสิทธิฟ้องเนื่องจากการถอนคำร้องทุกข์
ขณะที่ ป. ร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ยักยอกเงินของโจทก์ไปนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด มีป. ก. ส. และจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นกรรมการ โดยจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือ ป. คนใดคนหนึ่งรวมเป็น 2 คน และประทับตราสำคัญของโจทก์ทำการแทนโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยักยอกเงินของโจทก์บรรดาผู้ถือหุ้นซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับโจทก์นั้นย่อมได้รับความเสียหายโดยนิตินัย ย่อมถือว่า ป. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์เป็นผู้เสียหาย จึงมีสิทธิฟ้องคดีอาญาหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1ที่ 2 ฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2),123ประกอบด้วยมาตรา 2(4) ต่อมา ป. ได้ถอนคำร้องทุกข์นั้นดังนั้นไม่ว่า ป. จะดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดในฐานะกระทำการแทนโจทก์หรือในฐานะผู้ถือหุ้น สิทธิที่โจทก์จะนำคดีอาญามาฟ้องก็ย่อมระงับไปตามมาตรา 39(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2535 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องคดีอาญาของกรรมการ/ผู้ถือหุ้น เมื่อผู้กระทำผิดคือผู้จัดการ/กรรมการเอง คดีระงับเมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์
กรณีผู้จัดการและกรรมการกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก อันเป็นการกระทำต่อบริษัทโจทก์ เป็นที่เห็นได้ชัดว่าผู้กระทำผิดจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง กรรมการอื่น หรือผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย จึงมีสิทธิฟ้องคดีอาญา แจ้งความร้องทุกข์ หรือถอนคำร้องทุกข์อันมีผลทำให้คดีอาญาระงับได้ แม้บุคคลดังกล่าวจะมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์สิน อ้างความเข้าใจผิด ศาลฎีกาตัดสินว่าเป็นการทุจริต
จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางเหลียงตามคำสั่งศาลและจำเลยเป็นทายาทโดยธรรมด้วยคนหนึ่ง ทายาทเจรจาแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างกันแต่ตกลงกันไม่ได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยมีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน จำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตน จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353ประกอบด้วยมาตรา 354

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2535 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์สินเป็นของตนเองโดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทายาท
จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล มีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน (ไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลกระทำหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น)ทายาทส่วนใหญ่ไม่รู้มาก่อนว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเพราะได้มอบ-หมายให้โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก เอกสารหลักฐานทรัพย์มรดกทั้งหมดโจทก์ร่วมเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งจำเลยก็รู้เห็น แต่จำเลยกลับไปแจ้งความว่าตราจองที่ดินพิพาทสูญหาย ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทน แล้วจำเลยได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวโดยอ้างว่าควรจะเป็นของจำเลยจำเลยไม่ยินยอมที่จะให้เอาชื่อทายาทอื่นเป็นผู้รับมรดกร่วมกับจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงเป็นการกระทำโดยทุจริต มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353ประกอบด้วย มาตรา 354
of 15