คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ไม่ระบุศาล - นายสรายุทธ์ วุฒยาภรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึด/อายัดทรัพย์เพื่อชำระภาษีค้างชำระ: ระยะเวลา 10 ปี เริ่มนับเมื่อใด และการยึดทรัพย์เกินจำนวนหนี้
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ ส. และ ม. มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคล ส. ป. และ ม. สำหรับปีภาษี 2539 ปีภาษี 2540 ปีภาษี 2541 (ครึ่งปี) และปีภาษี 2541 และถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ทั้งสามคนมิได้เสียภาษีอากรดังกล่าวแต่อย่างใด ภาษีอากรซึ่งต้องเสียย่อมถือเป็นภาษีอากรค้างตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง แม้เพื่อให้ได้รับชําระภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรได้ แต่เมื่อคดีนี้โจทก์ยังอุทธรณ์การประเมิน และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ได้นําคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ระยะเวลา 10 ปี ในการยึดและอายัดจึงยังไม่อาจเริ่มนับแต่วันแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ โดยหลังจากโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว โจทก์ ส. และ ม. อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 และต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจําเลยขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง และได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 การนับระยะเวลา 10 ปี จึงต้องนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อเจ้าพนักงานของจําเลยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 วันที่ 20 กันยายน 2560 วันที่ 3 ตุลาคม 2560 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 จึงเป็นการมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินและประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำสั่งอายัดที่ให้อายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในบัญชีเงินฝากธนาคาร นั้น จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ระบุจำนวนเต็มตามจำนวนหนี้ภาษีอากรค้างที่โจทก์และคณะบุคคลคงค้างชําระ ณ วันที่มีคำสั่งอายัดว่า ห้ามโจทก์และธนาคารจําหน่าย จ่าย โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นใด นอกจากนําส่งเป็นแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายจําเลยนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งอายัด และหรือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีเงินฝากเข้ามาในบัญชีภายหลังได้รับคำสั่งอายัด หาได้หมายความว่าเป็นจำนวนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ในขณะนั้นไม่ ทั้งได้ความจาก ส. นิติกรชํานาญการของจําเลยว่า เจ้าพนักงานของจําเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีที่เป็นคณะบุคคลไว้ 3 ราย มิใช่บังคับโจทก์เพียงผู้เดียว เมื่อรวมรายการทรัพย์สินที่ได้มีการยึดและอายัดไว้ทั้งหมดแล้ว พบว่าทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีที่ได้มีการยึดและอายัดไว้มีราคาประเมินรวม 153,357,884.52 บาท ซึ่งก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะชําระหนี้ภาษีอากรค้าง ณ ปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 920,047,432.25 บาท ซึ่งจําเลยก็ได้ให้การไว้เช่นนี้ แต่โจทก์ไม่ได้นําสืบโต้แย้งถึงการยึดและอายัดทรัพย์สินจำนวนและมูลค่าดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จําเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เกินกว่าจำนวนหนี้ภาษีอากรค้าง
โจทก์มีเงินภาษีที่ค้างชําระในฐานะที่เป็นบุคคลในคณะบุคคล ส. ป. และ ม. ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 56 วรรคสอง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชําระร่วมกับ ส.และ ม. ทั้งหมด หาใช่รับผิดเพียง 1 ใน 3 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายค่าเช่ารถต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18) หากผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้รับเป็นผู้ให้เช่าที่แท้จริง
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1) และมาตรา 65 ตรี (18) มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายรายจ่าย ต้องพิสูจน์ตัวตนของผู้รับเงินได้ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับก็ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งทางนำสืบของโจทก์มีรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวกับ ก. เพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ก. และบิลเงินสดที่ ก. ทำเรื่องเบิกเงินจากโจทก์ที่ปรากฏแต่ชื่อของ ก. เท่านั้น อ.ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ในชั้นที่เจ้าหน้าที่สรรพากรให้นำตัว ก. มาชี้แจง โจทก์ไม่สามารถติดต่อ ก. มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงได้ ซึ่งก็ได้ความจาก ว. เจ้าพนักงานตรวจสอบเช่นกันว่า โจทก์ไม่สามารถนำตัว ก. มาให้ถ้อยคำได้และยังไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของ ก. เพื่อติดต่อด้วย ซึ่งมีข้อพิรุธที่โจทก์และ ก. ติดต่อทำธุรกิจกันมาเป็นระยะเวลานานมีมูลค่าหลายล้านบาท เฉพาะที่ปรากฏในชุดใบสำคัญจ่ายสำหรับการเช่ารถระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม 2551 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2551 มีการเช่ารถยนต์พร้อมคนขับจำนวนมาก โดยคนขับรถต้องไปรับพนักงานของโจทก์ในสถานที่แตกต่างกันเพื่อสำรวจข้อมูลทำแผนที่ เช่น จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น ซึ่งในการเช่ารถดังกล่าวตามปกติแล้วย่อมจะต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของ ก. เพื่อติดต่อใช้รถในแต่ละครั้ง แต่โจทก์กลับไม่สามารถให้ข้อมูลติดต่อ ก. ได้ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าโจทก์กับ ก. มีการทำหลักฐานเอกสารการเช่ากันเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีการระบุตัวทรัพย์สินที่ให้เช่า คงมีเพียงตารางค่าเช่ารถเท่านั้น ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจให้เช่ารถจำนวนมาก นอกจากนี้ ฐ. กรรมการบริหารบริษัทโจทก์ยังเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัท อ. ซึ่งบริษัท อ. มี ณ.เป็นผู้ถือหุ้น และ ณ. ยังเป็นกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นบริษัท ม. ทำให้เห็นได้ว่าโจทก์กับบริษัท ม. มีความเกี่ยวข้องกัน โดยบริษัท ม. จ่ายค่าเช่ารถให้แก่ ก. สูงกว่าปกติ และบริษัท ม. ไม่สามารถนำตัว ก. มายืนยันว่ามีการรับเงินตามบิลเงินสดที่บริษัท ม. นำมาแสดงเป็นรายจ่ายต่อเจ้าพนักงานของจำเลยได้เช่นกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจปฏิบัติการสอบยัน ณ ภูมิลำเนาของ ก. ก็ไม่สามารถเข้าตรวจได้เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการ ไม่มีผู้ใดพักอาศัยและไม่พบตัว ก. เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงทำหนังสือเชิญ ก. ให้มาพบแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ ก. ก็ไม่มาพบ แม้โจทก์จะประกอบการจริงและรายจ่ายที่เป็นค่าเช่ายานพาหนะสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 ตามกระดาษทำการวิเคราะห์แบบ ภ.ง.ด.50 จำนวน 10,621,603.57 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.71 ของรายได้ เป็นค่าเช่าที่จ่ายให้แก่ ก. 10,533,342 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าผู้ให้เช่ารายอื่น และโจทก์ชำระเงินค่าเช่ารถยนต์ให้แก่ ก. โดยสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อ ก. และขีดคร่อมประทับตราว่า A/C PAYEE ONLY ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออกและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คก็ตาม แต่โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถและผู้รับเงินค่าเช่ารถที่แท้จริง ทางนำสืบของโจทก์จึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถที่แท้จริง เพราะหาก ก. เป็นผู้ให้เช่ารถยนต์แล้วน่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ก. มากกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3755/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินเพิ่มอากรขาเข้า: การบังคับใช้กฎหมายเก่าและใหม่ช่วงเปลี่ยนผ่าน และขอบเขตการคำนวณ
จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับแต่ละฉบับเกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ.." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "…โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม..." เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 22 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3721/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: หลักเกณฑ์การคำนวณค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตร และดอกเบี้ยกรณีคืนเงินภาษี
ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน มาตรา 8 วรรคสาม วางหลักว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้... ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์..." ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2560 สำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่โดยไม่แสดงขนาดพื้นที่ แสดงจำนวนร้านค้าขาดไปและโจทก์นำส่งสัญญาเช่าร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ไม่ครบถ้วน ค่าเช่าที่โจทก์แสดงหลักฐานสัญญาเช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ โดยในการนำทรัพย์สินมาเทียบเคียงกันนั้น ทรัพย์ที่มีขนาดและพื้นที่เท่ากันควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่เท่ากันหรืออย่างน้อยต้องมีความใกล้เคียงกันจึงจะตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้ความจาก ร. เจ้าพนักงานประเมินพยานจำเลยว่า จำเลยทำการประเมินภาษีโจทก์โดยการนำค่ารายปีเฉลี่ยที่เทียบเคียงได้จากห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ ในปีภาษี 2558 มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยใช้วิธีการนำค่ารายปีที่ห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ในแต่ละร้านมาหารด้วยจำนวนเดือนที่ห้างสรรพสินค้า ท. นำออกให้เช่าแล้วหารด้วยพื้นที่ที่ได้จากการวัดจริงของร้านนั้น ๆ ในห้างสรรพสินค้า ท. จะได้ค่าเฉลี่ยต่อเดือนของร้านค้านั้น แล้วนำค่าเช่าเฉลี่ยทั้งหมดมารวมกัน ได้ค่าเฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 80,561 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อ 36 ร้าน จะได้ค่าเช่าเฉลี่ย 2,238 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์แล้ว คิดเป็นค่ารายปี 76,383,808 บาท ค่าภาษี 9,547,976 บาท จึงเห็นได้ว่าวิธีการที่จำเลยใช้ค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อร้านมารวมคำนวณแล้วหารด้วยจำนวนร้านเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่คำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยของแต่ละร้านทั้งที่มีพื้นที่ใช้สอยแตกต่างกันจึงทำให้ไม่สะท้อนถึงค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนตามวิธีการคำนวณของจำเลยไปใช้คำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งเป็นทรัพย์สินเทียบเคียง กลับได้ค่ารายปีและค่าภาษีไม่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่ห้างสรรพสินค้า ท. ได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งวิธีการคำนวณที่เหมาะสมเมื่อนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนไปใช้กับทรัพย์สินที่มีขนาดหรือพื้นที่เท่ากับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้ว ทรัพย์สินนั้นก็ควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับค่ารายปีและค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการที่จำเลยใช้ในการหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์จึงไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านเพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่คำนึงถึงค่าเช่าพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกัน จึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านในส่วนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่แล้ว เพราะเมื่อนำกลับไปคำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม และคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน ปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด" จึงเป็นบทยกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยของจำเลยที่จะต้องชำระแก่โจทก์ แต่มีระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว หากจำเลยยังไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตามกฎหมายแก่จำเลยได้ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยจึงชอบแล้ว แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละห้าต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าวและอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดย พระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8567/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยพิกัดอัตราศุลกากรที่ถูกต้อง ส่งผลต่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย
พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับรายละเอียดของสินค้าและการใช้ประโยชน์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และฟังได้ว่าสินค้าพิพาทเป็นของผสมหรือของรวมที่มีวัตถุหรือสารนั้นรวมอยู่กับวัตถุหรือสารอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ข้อ 2 (ข) ซึ่งระบุให้จำแนกประเภทของของที่ประกอบด้วยวัตถุหรือสารมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปให้จำแนกตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3 โดยข้อ 3 (ก) ระบุว่า ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่น ระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ สินค้าพิพาทเป็นท่อพลาสติกที่มีเส้นลวดเหล็กพันรอบ และมีพลาสติกอยู่ชั้นนอกสุดจึงถือเป็นหลอดหรือท่อที่อ่อนงอได้ ทำด้วยโลหะสามัญ ตามประเภทพิกัด 83.07 โดยเข้าประเภทพิกัดย่อย 8307.10 ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และเป็นกรณีที่ประเภทพิกัดอัตราศุลกากรได้ระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะแล้วตามข้อ 3 (ก) สินค้าพิพาทจึงต้องจัดเข้าพิกัด 8307.10 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่ามีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษว่า สินค้าพิพาทจัดเข้าประเภทพิกัด 7326.209 นั้น เห็นว่า ความเห็นแย้งดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น
อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยให้โจทก์เสียอากรขาเข้าลดลง ย่อมส่งผลให้ฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีตามราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นจำนวนเงินค่าอากรเท่าใด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สังกัดจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 16 และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรเป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ และใน ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาวินิจฉัยในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราอากรศุลกากรซึ่งเป็นผลให้กระทบจำนวนเงินที่ต้องนำมารวมกับมูลค่าของเพื่อเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร ก็ต้องปรับจำนวนฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามราคาสินค้าบวกค่าอากรขาเข้าที่ถูกต้องตามผลคดีที่โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าเพื่อให้จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ปัญหานี้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1147/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การกำหนดค่ารายปีตามสภาพประโยชน์ใช้สอยและทำเลที่ตั้ง
มาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.โรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติว่า "ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา" กฎหมายมิได้บังคับให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรง เพียงแต่ให้นำมาเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง และสำหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 ให้ความหมายว่า คือ จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายมากกว่าส่วนที่ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน และการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่ามากกว่าอาคารที่ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน เมื่อลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน ค่ารายปีในส่วนพื้นที่ขายย่อมสูงกว่าพื้นที่ที่ใช้เป็นสำนักงาน การที่ปีภาษี 2558 จำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายและพื้นที่สำนักงานในอัตราค่าเช่า 50 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนเท่ากันจึงไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง จำเลยย่อมมีอำนาจกำหนดค่ารายปีสำหรับปีภาษี 2559 ในส่วนพื้นที่ขายใหม่ได้โดยไม่จำต้องใช้ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปี พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำค่าเช่าของผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ของโจทก์ซึ่งมีอัตราค่าเช่าระหว่าง 700 ถึง 5,000 บาท เฉลี่ยตารางเมตรละ 1,884 บาทต่อเดือน กับค่าเช่าโรงเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโจทก์ซึ่งมีอัตราค่าเช่าระหว่าง 240 ถึง 416 บาท เฉลี่ยตารางเมตรละ 289 บาทต่อเดือน มาเทียบเคียงเพื่อกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายของโจทก์นั้น แม้ทรัพย์สินที่นำมาเทียบเคียงดังกล่าวจะมีพื้นที่และลักษณะการประกอบกิจการแตกต่างจากโจทก์ แต่ต่างก็อยู่ในทำเลที่ตั้งและได้รับบริการสาธารณะเช่นเดียวกับโจทก์อันสามารถนำค่าเช่าดังกล่าวมาเทียบเคียงเพื่อกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายของโจทก์ได้ตามมาตรา 8