พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,273 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1589/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การได้มาซึ่งที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยต้องพิสูจน์การครอบครองโดยสงบและเปิดเผย ต่อเนื่อง 10 ปี
ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ให้การว่า เดิมที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 2 คัดค้านเป็นของ พ. ที่ขายให้จำเลยที่ 1 และ อ. โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วบุคคลทั้งสองยกให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยที่ 2 จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นเพียงการบรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่มาของการที่จำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท หากข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทในโฉนดที่ดินของ พ. โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 10 ปี ก็อาจได้กรรมสิทธิ์จากการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ให้การยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 มาแต่ต้น อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 เองได้ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการครอบครองปรปักษ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 125/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดเครื่องหมายการค้า: จำเลยต้องรู้ว่าสินค้าปลอมเลียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ต้องพิสูจน์ความรู้ของจำเลย
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ผู้กระทำต้องรู้ว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่าย เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยรู้ว่าสินค้าของกลางที่จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร แต่เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบคงได้ความเพียงว่า ตามวันและเวลาเกิดเหตุในฟ้อง พันตำรวจตรี ช. ได้รับแจ้งจาก บ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายว่า ที่ร้าน ว. มีการนำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรมาเสนอจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป พันตำรวจตรี ช. และ บ. กับพวก จึงนำหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเข้าตรวจค้นที่ร้านดังกล่าว พบว่าจำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร จึงจับกุมจำเลยและยึดของกลางส่งพนักงานสอบสวน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่า จำเลยรู้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร กลับได้ความจาก บ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายให้การว่า สินค้าของผู้เสียหายยังไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย คงมีจำหน่ายเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น โดยผู้เสียหายยังไม่ได้มอบหมายให้ตัวแทนรายใดเป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย อันแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งในส่วนนี้จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า เครื่องหมายที่ติดบนสินค้าของกลางเป็นสัญลักษณ์ไม้กางเขน จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเครื่องหมายที่บุคคลใดก็สามารถนำไปใช้ได้ สอดคล้องกับที่จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนโดยอ้างว่า จำเลยซื้อสินค้าของกลางมาเพื่อขายต่อ โดยไม่ทราบว่าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น และจำเลยยังมีบาทหลวง ท. เจ้าอาวาสวัด น. เป็นพยานเบิกความว่า เครื่องหมายการค้าตามฟ้องเป็นรูปกางเขนของศาสนาคริสต์ โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าด้วยตนเอง และการที่เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ประกอบกับการที่เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายมีลักษณะใกล้เคียงกับไม้กางเขนในศาสนาคริสต์ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่ประชาชนหรือผู้ขายสินค้าทั่วไปจะไม่รู้จักเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย และอาจเข้าใจได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏบนสินค้าของกลางเป็นไม้กางเขนในศาสนาคริสต์ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้ พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยรู้หรือไม่ว่าสินค้าของกลางที่จำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2611/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาท: การพิสูจน์ข้อเท็จจริงและหน้าที่รับผิดชอบของจำเลย
แม้คดีนี้ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองและไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในส่วนแพ่งก็ตาม แต่เมื่อคดีส่วนนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในส่วนแพ่ง เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีความผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์