คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จดทะเบียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,377 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: พิจารณาความคล้ายคลึงและชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้า เพื่อมิให้เกิดความสับสน
ในการพิจารณาความคล้ายกันระหว่างเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 (2) และมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่าย ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และเสียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายว่าเหมือนหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ รวมทั้งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโอกาสที่จะสร้างความสับสนที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่ขายอยู่ในท้องตลาดระหว่างสินค้าของทั้งสองฝ่าย โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายและความสุจริตของผู้ขอจดทะเบียนประกอบด้วย
เมื่อพิจารณาจากลักษณะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนและของโจทก์แล้วเห็นได้ว่ามีลักษณะคล้ายกัน กล่าวคือ มีอักษรไทยคำว่า "แม่พลอย" อักษรโรมันคำว่า "MAEPLOY" และรูปผู้หญิงแต่งชุดไทยนั่งพับเพียบ เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายของทั้งสองฝ่าย โดยมีเสียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายเหมือนกันคือ แม่พลอย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกที่ 32 รายการสินค้า น้ำดื่ม น้ำผลไม้ ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค71879 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 29 รายการสินค้า กะทิสำเร็จรูป กะทิผง กับข้าวสำเร็จรูปที่มีเนื้อเป็นหลัก แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงพะแนง เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค71880 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า น้ำพริกแกงกึ่งสำเร็จรูป เครื่องต้มยำ เครื่องพะโล้ น้ำจิ้ม น้ำพริกเผา เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค124234 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า น้ำพริกแกงกึ่งสำเร็จรูป เครื่องต้มยำ เครื่องพะโล้ ผงสำเร็จรูปใช้ทำน้ำหมูแดง น้ำจิ้ม น้ำพริกเผา เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค124233 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 29 รายการสินค้า กะทิสำเร็จรูป กะทิผง กับข้าวสำเร็จรูปที่มีเนื้อเป็นหลัก แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงพะแนง แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ เป็นต้น และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค318585 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 29 รายการสินค้า แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงพะแนง แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวจึงใช้กับสินค้าต่างจำพวกกันซึ่งไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าประกอบทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ผู้ขอจดทะเบียนประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทน้ำปลามาตั้งแต่ปี 2519 และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีภาคส่วนคำว่า "แม่พลอย" และรูปผู้หญิงแต่งชุดไทยนั่งพับเพียบมาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำและรูปดังกล่าว ในปี 2540 โดยผู้ขอจดทะเบียนได้มีการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของตนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และยังได้ความตามคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ประกอบทางนำสืบของโจทก์ว่า เริ่มแรกโจทก์ประกอบธุรกิจค้าขายส่งและปลีกมะพร้าว โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "ชาวเกาะ" ต่อมาโจทก์ขยายธุรกิจโดยก่อตั้งโรงงานผลิตกะทิบรรจุกระป๋อง และกะทิบรรจุกล่อง ในปี 2519 และภายหลังได้ก่อตั้งโรงงานอีกสองแห่ง โดยโรงงานแห่งที่สามชื่อโรงงานแม่พลอย ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 เพื่อผลิตสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "ตราแม่พลอย" "MAEPLOY BRAND" รวมกับรูปผู้หญิงไทย โดยได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 5 เครื่องหมายการค้า ดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ขอจดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้าของตนมาโดยสุจริต โดยเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับของโจทก์ต่างได้มีการใช้กับสินค้าของตนเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งรายการสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับของโจทก์คดีนี้ก็มีความแตกต่างกัน โดยไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่ากลุ่มลูกค้าผู้บริโภคสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนและของโจทก์เป็นกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน หรือลักษณะของการวางจำหน่ายสินค้าในร้านค้าโดยทั่วไปมีการวางใกล้ชิดกันในลักษณะเป็นการแข่งขันกัน อันจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ อย่างไร จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามฟ้องเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปก็ตาม แต่ข้อที่ต้องพิจารณาตามมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ประการสำคัญต่อมาคือ เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ลักษณะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับของโจทก์มีลักษณะคล้ายกันก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์แล้วยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ดังเหตุผลที่กล่าวไว้ในประเด็นข้างต้น ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3459/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเพิกถอนการโอนทรัพย์สิน: ศาลไม่ออกหมายบังคับคดีจนกว่าโจทก์จะชำระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเพิกถอนการโอน
คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนการโอนที่ดินและบ้านบนที่ดินโฉนดดังกล่าวที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ส. โอนให้แก่จำเลย ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ดังนี้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาล โจทก์ก็สามารถดำเนินการโดยใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 357 โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดี และที่ศาลพิพากษาให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยนั้น ก็มิใช่การพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนแก่โจทก์ทั้งสามโดยตรง โจทก์ทั้งสามจึงยังมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนหนี้ค่าใช้จ่ายนี้ หากจำเลยไม่ได้จ่ายค่าใช้จ่าย ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ทั้งสามที่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนไปก่อน แล้วค่าใช้จ่ายที่โจทก์ทั้งสามได้จ่ายไปนี้ย่อมถือเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์ทั้งสามจะบังคับคดีต่อไปตามนัย ป.วิ.พ. มาตรา 352 วรรคห้า มาตรา 358 วรรคสอง และมาตรา 359 วรรคสี่ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามได้ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินและบ้านบนที่ดินโฉนดดังกล่าว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะออกหมายบังคับคดี เพื่อยึดอายัดทรัพย์ของจำเลยบังคับคดีนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินและบ้านตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย, การครอบครองเพื่อตนเอง, และผลกระทบต่อการจดทะเบียน
ที่ดินพิพาทมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 535 จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง ส. เป็นผู้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส. จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 และมีสิทธิขายที่ดินพิพาทและมอบการครอบครองแก่โจทก์ได้ การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 535 มีชื่อ อ. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ส่วนความเป็นจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองต้องพิจารณาว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครอง อ.ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่อาจขายที่ดินพิพาทแก่กระทรวงการคลังได้ และการที่กระทรวงการคลังจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองทำประโยชน์มาเป็นจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน มิได้มีการเข้าครอบครองยึดถือที่ดินเพื่อตนตามความเป็นจริง แม้จำเลยที่ 1 เป็นสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุและให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แตกต่างจากเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 การที่จำเลยที่ 1 โดยกระทรวงการคลังจัดซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ที่มิได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2314/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ภาพฤาษีเป็นสิ่งใช้กันทั่วไป ขัดต่อลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย
ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้น คำว่า โยคี กับฤาษี มีความหมายในทำนองเดียวกัน หากสาธารณชนทั่วไปพบเห็นเฉพาะภาพในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ย่อมอาจเรียกขานได้ว่า ภาพฤาษี ซึ่งเมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้า ตามทะเบียนเลขที่ ค275169 แล้ว ประกอบไปด้วยภาพโยคีหรือฤาษีอยู่ในวงกลม โดยไม่มีชื่อ คำ หรือข้อความใดประกอบอีก ภาพดังกล่าวจึงถือเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย ส่วนเครื่องหมายการค้า ตามทะเบียนเลขที่ ค296443 แม้มีคำว่า "โยคี" และ "YOKI" ประกอบอยู่ใต้ภาพ แต่คำดังกล่าวก็มีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของภาพ ในเครื่องหมาย จึงมีเฉพาะภาคส่วนภาพเท่านั้นที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเช่นเดียวกับเครื่องหมายแรก อีกทั้งภาพดังกล่าวไม่พบว่ามีรายละเอียดหรือลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากภาพโยคีหรือฤาษีตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป เมื่อตามประกาศนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 1/2546 กำหนดให้ "ฤาษี" เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยารักษาโรคมนุษย์ การใช้เครื่องหมายการค้าที่มีสาระสำคัญของเครื่องหมายเพียงแค่ภาพโยคีหรือฤาษีดังเช่นเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาของโจทก์ย่อมไม่อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง นอกจากนั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาและได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 และวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ตามลำดับ ซึ่งตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นคำขอจดทะเบียน การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้นั้นอาจทำได้เฉพาะกรณี ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะตามมาตรา 7 (1) หรือ (2) (เดิม) เท่านั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาของโจทก์ล้วนมีสาระสำคัญเป็นภาพดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น จึงไม่อาจมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) ได้ การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองตามฎีกาของโจทก์ย่อมขัดต่อบทกฎหมายข้างต้น ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวจึงชอบแล้ว
แม้ปัจจุบัน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 จะอนุญาตให้พิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าในลักษณะภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นได้แล้ว แต่การจะพิสูจน์เครื่องหมายการค้าในลักษณะดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่ยื่นคำขอจดทะเบียนหลังจาก พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น เนื่องจากตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 มาตรา 35 (1) กำหนดให้บรรดาคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดไว้แล้ว ให้การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอดังกล่าวอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เดิมต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่สมบูรณ์ ผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา ส่งมอบทรัพย์สินไม่ได้จดทะเบียน ผู้เช่าซื้อมีสิทธิบ่ายเบี่ยงชำระค่าเช่าซื้อ
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน จำเลยมีสิทธิบ่ายเบี่ยงไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ได้โดยไม่ถือว่าผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ติดตามทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยและจำเลยมิได้โต้แย้งสัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันโดยปริยาย เมื่อเหตุแห่งการสิ้นสุดของสัญญาสืบเนื่องมาจากความผิดของโจทก์ที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้จำเลยจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อต่อกรมการขนส่งทางบกและได้ความว่าเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสูญหายไป การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเพิกเฉยต่อการจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของโจทก์ว่าตามปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมาผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถบรรทุกหรือรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์โดยทั่วไปจะถือว่าตนมีหน้าที่เพียงส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้ใช้ประโยชน์เท่านั้น ส่วนการดำเนินการทางทะเบียนและเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนซึ่งตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จะมีอยู่และต้องจัดการอย่างไรไม่ใช่ข้อสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงดังเช่นที่โจทก์ปฏิบัติ ประกอบกับปรากฏว่าเอกสารต่าง ๆ ของสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ทำกับผู้บริโภครายอื่นสูญหายอีกจำนวนมาก ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานับว่าการประกอบธุรกิจของโจทก์ย่อหย่อนมิได้กระทำไปด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ดังนี้ เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายกับทั้งโจทก์มีพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าขาดราคา เบี้ยปรับ ค่าติดตามรถบรรทุกที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าชื่อบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ต้องพิจารณาถึงลักษณะบ่งเฉพาะ
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) ที่มีข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" นั้น เป็นคำขยายคำว่า "ชื่อในทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาด้วย ประกอบกับเจตนารมณ์ของมาตรา 7 วรรคหนึ่ง มุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนในลักษณะต้องเป็นเครื่องหมายที่ใช้ประโยชน์ในการแยกแยะความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเพื่อมิให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดในการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่นแล้ว ส่วนเหตุผลและเจตนารมณ์ของกฎหมายอื่นที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และการใช้ถ้อยคำรวมถึงการจัดวางตำแหน่งของคำตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เองต่างจากเดิมจึงไม่อาจอ้างการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิมได้ ดังนั้น หากชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเป็นชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา และมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่นแม้ไม่ได้แสดงโดยลักษณะพิเศษแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า ซึ่งมีที่มาจากชื่อของ ค. นักออกแบบชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งโจทก์ ถือเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา เมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมแล้วไม่ปรากฏว่าเป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย กับคำดังกล่าวมิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรงแล้ว จึงย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างไปจากสินค้าอื่นและมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2413/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมบนที่ดิน แม้ระงับตามกฎหมาย แต่เจ้าของที่ดินห้ามยกข้อต่อสู้หากไม่ได้จดทะเบียนระงับสิทธิ
ขณะโจทก์ทั้งสองซื้อโฉนดที่ดินพิพาท ตามสารบัญการจดทะเบียนปรากฏทรัพยสิทธิ คือ ภาระจำยอมบนที่ดินของจำเลย โดยจำเลยมิได้ใช้สิทธิโต้แย้งทรัพยสิทธิดังกล่าว โจทก์ทั้งสองย่อมเข้าใจโดยสุจริตว่าภาระจำยอมยังคงอยู่ แม้ทางภาระจำยอมพิพาทจะไม่มีการใช้ประโยชน์เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ย่อมระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399 แต่เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ยังมิได้จดทะเบียนระงับภาระจำยอมนั้น จำเลยจะยกเอาการระงับแห่งภาระจำยอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนสามยทรัพย์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตหาได้ไม่
of 138