คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เจ้าพนักงาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,471 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานตรวจรับงานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์โดยเจตนาทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(4)
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้าง จัดทำเอกสารและลงลายมือชื่อทำการตรวจรับงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว งวดที่ 10 และ 11 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 อันเป็นการรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จเป็นความผิดตามป.อ. มาตรา 157, 162 (4) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับพร้อมกัน โดยถือเอาคำฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการตรวจการจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารตรวจรับงานโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน เป็นการกระทำความผิด และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จและจะเป็นความผิดต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารดังกล่าว ตราบใดที่เจ้าพนักงานผู้นั้นยังไม่ได้ลงลายมือรับรองเอกสารแล้วความผิดยังไม่เกิดขึ้น สัญญาโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน กำหนดอายุโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 8 มิถุนายน 2551 จึงไม่ใช่วันกระทำความผิด เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารตรวจรับงาน ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ทำหนังสือขอส่งมอบงานงวดที่ 10 และ 11 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้วก็ไม่มีผลทำให้เกิดการกระทำความผิดในวันที่ 8 มิถุนายน 2551 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อรับรองในใบตรวจรับงานจ้างเหมาว่า จำเลยที่ 6 ทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จ และได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา จึงถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 จึงอยู่ภายในอายุความสิบปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
หนังสือส่งงานก่อสร้างว่า จำเลยที่ 6 ได้ทำงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นวันที่ 13 มิถุนายน 2551 เป็นความเท็จ ซึ่งความจริงงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่างานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายที่จำเลยที่ 6 ทำหนังสือส่งงานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างต้องไม่รับตรวจงานจ้างดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับทำใบรับงานจ้างเหมาว่าผู้รับจ้างทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จและได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 จึงเห็นสมควรจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างตามสัญญา ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา จึงเป็นการทำเอกสารในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และการรับรองเอกสารโดยเจ้าพนักงานตามระเบียบกรมที่ดิน ศาลยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐาน แล้วนำมาวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายแล้ว แม้ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย รวมทั้งบทมาตราที่ยกขึ้นปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะเป็นอย่างเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำเบิกความของโจทก์ในคดีแพ่งอื่น มิได้เบิกความต่อหน้าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสถามค้าน จึงมีน้ำหนักน้อย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม
ศ. และ อ. เจ้าพนักงานที่ดิน เป็นผู้บอกให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อ และข้อความตามหนังสือมอบอำนาจและสัญญาขายฝากเป็นไปตามระเบียบของกรมที่ดินที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเจ้าพนักงานที่ดินให้รับผิดในภายหลังเท่านั้น เมื่อบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินถูกฟ้องร้องให้รับผิดทางแพ่ง จึงมิใช่บันทึกถ้อยคำตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งเนื้อความแห่งบันทึกถ้อยคำยังมีข้อความว่าถ้าเกิดความผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของ จำเลยที่ 3 ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ได้ลงลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจจริง แม้ความจริงโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยไม่มีเจตนาพิเศษทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำไม่เข้าข่ายความผิด ม.157 แม้มีมติไม่ให้เลื่อนตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 248 วรรคสาม บัญญัติว่า การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นขององค์กรอัยการให้มีความเป็นอิสระ โดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการอัยการ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 38 บัญญัติหลักเกณฑ์ที่จะนำมาพิจารณาแต่งตั้งพนักงานอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ ประวัติการปฏิบัติราชการ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลเทียบกับงานในตำแหน่งข้าราชการอัยการที่จะได้รับแต่งตั้ง โดยมี พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 9 กำหนดตำแหน่งพนักงานอัยการ และข้อกำหนดคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดลำดับอาวุโสของข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2554 ข้อ 3 และข้อ 4 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 30 (5) มีเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการอัยการพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่ง การแต่งตั้งและการโยกย้ายว่า ข้าราชการอัยการลำดับอาวุโสใด ควรไปดำรงตำแหน่ง ณ สำนักงานแห่งใดเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งประกอบด้วย ซึ่งคณะกรรมการอัยการเคยให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการ รองอธิบดีอัยการ อัยการพิเศษฝ่ายและอัยการจังหวัดว่า หากข้าราชการอัยการคนใดเคยสละสิทธิในการเลื่อนการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระการโยกย้ายที่ตนมีสิทธิแล้ว ข้าราชการอัยการคนนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งนั้นอีกต่อไป และมีการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมาพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2564 ข้าราชการอัยการคนที่สละสิทธิดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ รองอธิบดีอัยการ หรืออัยการพิเศษฝ่ายจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในวาระโยกย้ายในปีที่ขอสละสิทธิและในปีต่อมาทุกราย เหตุที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ เนื่องเพราะหากยินยอมให้ข้าราชการอัยการที่สละสิทธิไม่ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระแรกที่ตนมีสิทธิโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่ง สามารถแสดงความจำนงโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งในวาระถัดไป ก็จะมีคนลำดับอาวุโสท้ายที่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นในวาระแรก ซึ่งตามปกติต้องไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สละสิทธิในวาระที่ตนมีสิทธิเพื่อจะได้เป็นคนมีอาวุโสลำดับต้นในวาระโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งคราวถัดไป ก่อให้เกิดการลักลั่น เลือกปฏิบัติและขัดข้องในการบริหารงานบุคคลขององค์กรอัยการ กับเปิดช่องให้มีคนใช้วิธีการดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวาระแรก เพื่อที่จะได้ไปปฏิบัติงานที่สถานที่ที่ตนเองต้องการในวาระถัดไป ส่วนคนอื่นจะถูกส่งไปรับตำแหน่งในสถานที่ห่างไกลหรือลำบากกันดาร หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างข้าราชการอัยการด้วยกัน อันจะส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจข้าราชการอัยการและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทั่วไป กรณีอาการป่วยด้วยโรคไตวายเฉียบพลันอย่างรุนแรงของโจทก์เป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ทำให้ไม่สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นเรื่องน่าเห็นใจ ซึ่งคณะกรรมการอัยการคราวประชุมครั้งที่ 9/2560 มีมติให้โจทก์ดำรงตำแหน่งและรับราชการในสำนักงานเดิม เท่ากับโจทก์ได้สิทธิในการรักษาพยาบาลและได้รับเงินเดือนเต็มเวลา ทั้งไม่ต้องไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ข้าราชการอัยการคนอื่นต้องเสียสละไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนโจทก์เป็นการเสียเปรียบในวาระนี้ เมื่อโจทก์หายป่วยในการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งคราวถัดไปครั้งที่ 10/2561 โจทก์ขอใช้สิทธิในการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นขณะที่อาวุโสอยู่ในลำดับต้น ดังเช่นที่โจทก์เรียกร้องและฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกขอให้จัดอันดับอาวุโสของโจทก์เข้าสู่ลำดับอาวุโสเดิม ยิ่งทำให้ข้าราชการอัยการคนอื่นที่เสียสละไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนโจทก์ เสียเปรียบโจทก์ในการเลื่อนตำแหน่งวาระก่อนต้องเสียเปรียบในการเลื่อนตำแหน่งวาระถัดไปซ้ำอีก ข้อนี้วิญญูชนคนธรรมดาทั่วไปพึงเข้าใจได้ว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชนคนจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ด้วย ข้าราชการอัยการทั้งองค์กรย่อมตระหนักรู้ได้ว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมดุจกัน นอกจากนี้กรณี ช. และ ป. ซึ่งเคยสละสิทธิในปี 2554 และ 2547 ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่งในปี 2556 และ 2548 ตามลำดับดังที่โจทก์ฎีกานั้น เป็นมติของคณะกรรมการอัยการชุดก่อนมิใช่การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสอง แต่ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับองค์กรอัยการว่า การยอมให้ข้าราชการอัยการอ้างเหตุผลส่วนตัวต่าง ๆนา ๆ เป็นข้อยกเว้นลำดับอาวุโสตามข้อกำหนดคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดลำดับอาวุโสของข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2554 ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ส่วนตน จะส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์กรอัยการและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมมากเพียงใด เป็นสิ่งซึ่งจำเลยทั้งยี่สิบสองในฐานะคณะกรรมการอัยการคณะต่อมาต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักระหว่างการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของข้าราชการอัยการ กับภาระหน้าที่ขององค์กรอัยการ ที่ต้องอาศัยบุคลากรผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน แล้วเลือกสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย เหมาะสมกับสถานการณ์ บริบทแวดล้อม และบริหารจัดการความสมดุลระหว่างสิทธิส่วนบุคคลของข้าราชการอัยการ กับสิทธิส่วนรวมของข้าราชการอัยการทุกคนหรือองค์กรอัยการในขณะตัดสินใจลงมติเลือกหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่ง ยิ่งกว่านั้นหลักเกณฑ์ที่ว่าข้าราชการอัยการผู้ใดเคยสละสิทธิในการเลื่อนการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระการโยกย้ายที่ตนมีสิทธิแล้ว ข้าราชการอัยการผู้นั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งนั้นอีกต่อไปใช้บังคับมาตลอด 8 ปี ไม่มีข้าราชการอัยการคนใดโต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องร้องเป็นคดี อาจเป็นเหตุให้จำเลยทั้งยี่สิบสองเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นแบบธรรมเนียมปฏิบัติหรือวัฒนธรรมขององค์กรอัยการในช่วงเวลานั้น เยี่ยงนี้ แม้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 จะไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสละสิทธิของข้าราชการอัยการในการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นว่าจะไม่ได้รับการดำรงตำแหน่งดังกล่าวในการเลื่อนตำแหน่งในวาระโยกย้ายครั้งต่อไป และโจทก์มิได้มีเจตนาสละสิทธิตลอดไปตามที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อหลักเกณฑ์นี้ใช้พิจารณาในการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่ง ตั้งแต่ก่อนวาระการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งของโจทก์และแก่ข้าราชการอัยการทั้งองค์กรเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง แสดงว่าจำเลยทั้งยี่สิบสองต่างลงมติไปโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มิได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจจึงสมเหตุสมผล จักเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ก็หามิได้ และแม้ต่อมาคณะกรรมการอัยการจะมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ให้โจทก์ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่าย (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 4) สำนักงานคดีปกครองตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ตามคำพิพากษาของศาลปกครองพิษณุโลก ก็เป็นการใช้ดุลพินิจอิสระของคณะกรรมการอัยการคณะต่อมาในการบริหารงานบุคคลบนหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย สถานการณ์และบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจอนุมานว่าจำเลยทั้งยี่สิบสองมีมติไม่ให้โจทก์เลื่อนไปดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายในการประชุมคณะกรรมการอัยการครั้งที่ 10/2561 และครั้งที่ 11/2562 โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการเฉพาะ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสองจึงขาดองค์ประกอบและไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อ. มาตรา 157 ตามฟ้องดังที่โจทก์ฎีกา ถึงกระนั้นก็ตามหากมีกรณีที่จำเลยคนหนึ่งคนใดหรือจำเลยทั้งยี่สิบสองร่วมกันกระทำการใดอันเป็นการทุจริต ผิดกฎหมายหรือระเบียบใดทำให้โจทก์หรือองค์กรอัยการเสียหายนอกจากคำฟ้อง ก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ที่จะว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยทั้งยี่สิบสองต่างหากจากคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2324/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฐานะเจ้าพนักงาน vs. ยักยอกทรัพย์ - จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ข้าราชการ จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าพนักงาน แต่ความผิดฐานยักยอกยังคงมี
จําเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ม. ผู้เสียหาย ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดคํานิยามของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหมายถึงบุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษาจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ม. พ.ศ. 2537 และข้อบังคับมหาวิทยาลัย ม. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2552 ที่ใช้บังคับขณะจําเลยกระทำผิดแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจําเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกําหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จําเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และศาลไม่อาจลงโทษจําเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 ตามฟ้องของโจทก์ได้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จําเลยเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 761/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานเรียกเงินต่อสัญญาจ้างหลายกรรมต่างกัน, ไม่รอการลงโทษ
การร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบและการเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบซึ่งได้กระทำในคราวเดียวกัน จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน มิใช่พิจารณาแต่เพียงถ้าเป็นการกระทำครั้งเดียวคราวเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป การกระทำครั้งเดียวคราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่เรียกเงินและสนับสนุนการเรียกเงินเป็นค่าตอบแทนในการพิจารณาต่อสัญญาจ้างจาก พ. น. อ. และ ว. ซึ่งเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจและพนักงานจ้างทั่วไป กับ ม. และ ช. ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง แตกต่างกันทั้งจำนวนเงินและระยะเวลา ประกอบกับหากบุคคลทั้งหกคนใดคนหนึ่งให้เงินหรือไม่ให้เงินแก่จำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ก็ต่อสัญญาจ้างหรือไม่ต่อสัญญาจ้างให้แก่บุคคลทั้งหกเป็นรายบุคคลไป แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสี่ที่ประสงค์จะให้เกิดผลของการกระทำความผิดต่อบุคคลทั้งหกแยกออกจากกันโดยชัดแจ้ง การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 58/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้สินบนเจ้าพนักงาน: การแยกความผิดผู้ให้สินบนและผู้รับ รวมถึงการพิสูจน์เจตนา
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน แม้จะยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานก็ตาม การที่ ร. โทรศัพท์ติดต่อให้จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 50,000 บาท มาให้เจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 เพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมาที่บ้านเกิดเหตุหลังจากความผิดสำเร็จแล้ว จึงมิใช่เป็นการร่วมกระทำความผิดกับ ร. ในลักษณะของตัวการ ทั้งมิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดจึงไม่เป็นผู้สนับสนุน อีกทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 มาถึง ก็ถูกร้อยตำรวจเอก ธ. กับพวกจับกุมทันทีโดยไม่มีโอกาสที่จะพูดคุยกับร้อยตำรวจเอก ธ. หรือ ร. ถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะบ่งชี้ว่าได้ร่วมกับ ร. ให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัว ร. และ ก. และมิให้ยึดรถกระบะ เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของ ร. ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับ ร. ให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยแต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้ตามคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 514/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต คดีทุจริตประพฤติมิชอบ เน้นการไต่สวนแสวงหาความจริง
วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว และก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ศาลอาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร ซึ่งรวมทั้งการเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอก็ได้ เพื่อให้ได้ความจริงของเรื่องนั้น ๆ และเมื่อได้ทำการไต่สวนพยานอย่างเต็มที่แล้ว จะพิพากษายกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน – ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันทำเอกสารเท็จ
จำเลยที่ 1 แม้ไม่มีฐานะหรือคุณสมบัติเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการดูแลและประสานโครงการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านบ่อน้ำใส ประจำปีงบประมาณ 2557 อันจะร่วมกระทำความผิดเป็นตัวการหรือเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้ ว. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำบันทึกตกลงซื้อบั้งไฟและบันทึกตกลงจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่เสนอให้ ร. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตรึมลงนามในเอกสารดังกล่าว และให้ ว. ทำสัญญายืมเงินอันเป็นเท็จแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินงบประมาณดังกล่าวไปจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากเงินงบประมาณ และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือสามารถให้คุณให้โทษแก่จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้พูดจาว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเองเพื่อเร่งรัดให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในใบตรวจรับพัสดุ ได้จัดทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้ขายส่งมอบบั้งไฟตามบันทึกตกลงซื้อคุณภาพถูกต้องครบถ้วน และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รับบั้งไฟซึ่งตรวจรับถูกต้องสมควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จ และทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่งวดสุดท้ายถูกต้องและครบถ้วน จึงสมควรจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จนั้น เป็นการกระตุ้นส่งเสริมเร่งเร้าหรือโน้มน้าวชักจูงใจจำเลยที่ 2 ว. และ ป. มุ่งกระทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น จนจำเลยที่ 2 ว. และ ป. ยินยอมลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุดังกล่าวทั้งสองฉบับ เพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 2 ว. และ ป. อันเป็นเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. กระทำความผิดดังกล่าวก่อนหรือขณะกระทำความผิดซึ่งครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติ/ละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ, สนับสนุนความผิด, ความรับผิดทางอาญาของนายก อบต., และการกำหนดโทษ
จำเลยที่ 2 หัวหน้าสำนักงานปลัดมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการ และสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณทั้งหมด ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปมีหน้าที่ในขั้นตอนการจัดทำและรับรองเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณตามที่สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเสนอมาเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาและเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสารโดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อหรือสั่งจ้างและเบิกจ่ายเงินงบประมาณในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 โดยภาระดังกล่าวจำเลยที่ 1 ย่อมมีหน้าที่ต้องบริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาด้วยความโปร่งใสและไม่ผิดระเบียบแบบแผนของทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ให้ความเห็นชอบอนุมัติการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณเพื่อจ่ายค่าจ้างปิดกั้นคลองบางแพรกให้แก่จำเลยที่ 3 ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่มีการจัดจ้างจริง เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาได้รับความเสียหายต้องสูญเสียเงินงบประมาณไปในการจัดจ้างอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้จดข้อความเท็จ ประเด็นการใช้กฎหมายเดิมและกฎหมายแก้ไขใหม่
ท. ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสอบถาม ม. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เรื่องการถอนฟ้องของ ท. เพื่อให้ได้ความกระจ่างว่า ท. มีอำนาจถอนฟ้องคดีนี้จริงหรือไม่ แต่ ม. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาเรื่องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย อันเนื่องจากสถานการณ์โลกในขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นวงกว้าง ม. จึงส่งบันทึกถ้อยคำตอบข้อซักถามของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่กระทำในต่างประเทศโดยมีโนตารีพับลิกและสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศญี่ปุ่นรับรองว่า ม. ลงลายมือชื่อในเอกสารต่อหน้าตนต่อศาลชั้นต้นแทนการให้ถ้อยคำด้วยวาจาซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต จึงรับฟังบันทึกถ้อยคำดังกล่าวแทนการสอบถามข้อเท็จจริงด้วยวาจาได้ ทั้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ศาลชั้นต้นสอบถาม ม. ด้วยวาจาในเรื่องการถอนฟ้องเป็นไปเพื่อความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว มิใช่เป็นการให้สืบพยานเพิ่มเติมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1) จึงไม่จำต้องสืบพยานปาก ม. ที่ศาลอื่น หรือสถานที่ทำการของทางราชการ หรือสถานที่แห่งอื่นนอกศาล โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพตาม ป.วิ.อ. มาตรา 230/1 ดังนี้ เมื่อบันทึกถ้อยคำของ ม. ระบุว่า ท. ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และตราประทับที่ ท. ได้ประทับในคำร้องขอถอนฟ้องไม่ใช่ตราประทับของโจทก์ กับ ท. ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในนามของโจทก์ คำร้องขอถอนฟ้องของ ท. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ และปรากฏตามหนังสือรับรองข้อเท็จจริงว่า ม. ในฐานะกรรมการผู้แทนแต่เพียงผู้เดียวของโจทก์ขอรับรองว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะถอนฟ้องคดีนี้แต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ถอนฟ้องคดีนี้
of 148