คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เจ้าหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,539 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1345/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับลดหนี้เจ้าหนี้ในแผนฟื้นฟูกิจการต้องมีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ต่อการฟื้นฟู
กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ข้อเสนอขอแก้ไขแผนจึงกำหนดให้ลดจำนวนหนี้ของผู้คัดค้านลงโดยให้งดการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หนี้ภาษีอากรมีสถานะแตกต่างจากหนี้ระหว่างเอกชนด้วยกัน เพราะภาษีอากรเป็นรายได้ที่รัฐจัดเก็บรวบรวมไปใช้ในการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั้งหลาย การปรับลดหนี้ส่วนนี้จึงต้องมีเหตุผลอันสมควรหรือมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ได้กำหนดกระบวนการหลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนหรือข้อเสนอขอแก้ไขแผนไว้ว่า แผนหรือข้อเสนอขอแก้ไขแผนต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่งตามบทบัญญัติในส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทควบคุมดูแลการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และให้ศาลใช้ดุลพินิจตรวจสอบว่าสมควรให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือข้อเสนอขอแก้ไขแผนหรือไม่ คดีนี้ข้อเสนอขอแก้ไขแผนได้กำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ถึงที่ 9 งดเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจากลูกหนี้ เฉพาะเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 หนี้ส่วนที่งดเว้นการเรียกเก็บมีจำนวนมากกว่าหนี้ที่ลูกหนี้ชำระให้แก่เจ้าหนี้รายนี้ สำหรับผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 9 ข้อเสนอขอแก้ไขแผนได้กำหนดให้ผู้คัดค้านงดเว้นการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้งจำนวน คิดเป็นร้อยละ 49.55 ของหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระผู้คัดค้าน แม้ตามกฎหมายแผนสามารถจัดให้เจ้าหนี้ที่อยู่ต่างกลุ่มกันได้รับการชำระหนี้แตกต่างกันได้ แต่ก็ต้องจัดทำแผนโดยมีเหตุผลอันสมควรหรือมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ผู้ทำแผนได้จัดทำแผนโดยปรับโครงสร้างหนี้ลดจำนวนหนี้และขยายเวลาชำระหนี้มาครั้งหนึ่ง ซึ่งศาลได้ให้ความเห็นชอบและลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 4 ครบถ้วนตามแผน คงเหลือหนี้ค้างชำระในส่วนของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 9 ผู้บริหารแผนได้จัดทำข้อเสนอข้อแก้ไขแผนขึ้นมาในครั้งนี้ซึ่งมีการปรับลดหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่มลงเป็นจำนวนมากโดยเจ้าหนี้ที่ถูกปรับลดหนี้ไม่ได้ให้ความยินยอม และผู้บริหารแผนก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างใดที่ต้องแก้ไขแผนเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/63 ข้อเสนอขอแก้ไขแผนของผู้บริหารแผนเป็นการจัดทำขึ้นเพื่อปรับลดหนี้ของเจ้าหนี้โดยไม่มีเหตุผลและไม่เท่าเทียมกันมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้บางราย ทำให้แผนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งปวง ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยข้อเสนอแก้ไขแผน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10314/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องฐานโกงเจ้าหนี้ต้องรอคำพิพากษาถึงความเป็นเจ้าหนี้ก่อน หากยังพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ ฟ้องจึงไม่มีมูล
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีแพ่งอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ แต่ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินทับเอาที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้เพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมบริวารรื้อถอนขนย้ายทรัพย์ออกไป และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนกว่าจะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเดิม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินในที่ดินของตน มิได้ออกทับที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ไป ในคดีแพ่งดังกล่าวยังโต้เถียงกันถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ย่อมไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามความหมายของมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่จะฟ้องจำเลยทั้งสาม ฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8337/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนหลักประกันหลังการฟื้นฟูกิจการ: เมื่อเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนจากการฟื้นฟูกิจการ จำเลยมีสิทธิขอคืนหลักประกันได้
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดคืนเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดห้องชุดเลขที่ 1095/161 ของจำเลยที่ 3 และที่ดิน 4 แปลงในจังหวัดภูเก็ต ของจำเลยที่ 1 ไว้ แต่ระหว่างที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีสำหรับห้องชุดของจำเลยที่ 3 และที่ดินของจำเลยที่ 1 ไว้เป็นการชั่วคราว ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนหลักประกันที่โจทก์ได้นำยึดไว้ โดยขอให้ถอนการยึดที่ดิน 4 แปลง และจำเลยที่ 1 ยินยอมทำหนังสือค้ำประกันในคดีแพ่ง โดยนำห้องชุดเลขที่ 252/252 และเลขที่ 252/11 รวม 2 ห้อง มาวางเป็นหลักประกันแทนโดยมีข้อตกลงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 3 แพ้คดี และไม่ชำระเงินตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินที่นำมาวางไว้เป็นหลักประกันต่อศาลทันที ต่อมาศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งอายัดกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อให้ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนห้องชุดทั้งสองห้อง จึงถือได้ว่า ห้องชุดเลขที่ 252/252 และเลขที่ 252/11 รวม 2 ห้อง ของจำเลยที่ 1 เป็นหลักประกันที่จำเลยที่ 1 วางต่อศาลสำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อให้ศาลงดการบังคับคดี หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง โจทก์จะต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ และได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามแผนฟื้นฟูกิจการจนครบถ้วน เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงส่งผลให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ อันรวมถึงหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/75 โจทก์จึงไม่อาจบังคับคดีกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อันรวมถึงทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 นำมาวางเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ได้อีก จึงต้องคืนหลักประกันที่วางประกันให้แก่จำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการโอนทรัพย์สินหลีกเลี่ยงหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
เดิมโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับห้องชุดในอาคารชุดให้ ศ. เพื่อมิให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยกับ ศ. เป็นคดีอาญาในข้อหาโกงเจ้าหนี้ กับฟ้องคดีแพ่งขอเพิกถอนการฉ้อฉล คดีทั้งสองเรื่องถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินข้างต้นขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมครบถ้วนแล้ว
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินให้แก่ ศ. ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสียหาย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง หมายถึง สิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ผู้ถูกทำให้เกิดเสียหายและจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอาญาและค่าจ้างว่าความของทนายความที่โจทก์จ่ายไป เกิดจากการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย จึงเป็นความเสียหายจากการใช้สิทธิ ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียสิทธิหรือทำให้สิทธิของโจทก์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่เสียหายไป ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดตามกฎหมายได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดโดยตรง
ส่วนการที่โจทก์จำต้องฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการกระทำอันไม่สุจริตของจำเลย จึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีแพ่งแก่โจทก์ ตามตาราง 6 และตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ.
ส่วนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับ ศ. นั้น การที่โจทก์ต้องทำเช่นนั้นจึงเป็นความเสียหายที่เป็นผลต่อเนื่องโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์สินแก่โจทก์เช่นกัน
ส่วนค่าเสียหายเป็นกำไรที่โจทก์ควรจะได้จากการนำเงินที่ได้จากการบังคับชำระหนี้ไปลงทุนนั้น เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลย ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5090/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการ: สิทธิในการรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามแผน, ดอกเบี้ย, และค่าหุ้น
ในการพื้นฟูกิจการนั้น จำนวนหนี้และวิธีการชำระหนี้ เป็นสาระสำคัญที่ผู้ทำแผนต้องระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (3) (ข) เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ย่อมเป็นไปตามข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการนั้น และผู้บริหารแผน ย่อมมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ หากแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มิได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร กรณีจึงต้องปฏิบัติตามวิธีการชำระหนี้ที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. การที่ผู้บริหารแผนออกประกาศกำหนดวิธีการชำระหนี้ในภายหลัง ด้วยวิธีการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในแผน และไม่เป็นไปตาม ป.พ.พ. โดยที่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ยินยอม จึงเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนและโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการได้
แม้หนี้ที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำขอรับชำระหนี้ศาลจะมีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับชำระหนี้แล้วก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องทั้งสองจะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นจำนวนเท่าใด ก็จะต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนหุ้นของผู้ค้ำประกันเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้จากการถูกทำให้เสียเปรียบ
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 680 บัญญัติว่า "อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น" ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ไว้กับโจทก์ โดยสัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ชั้นต้นที่ไปขอสินเชื่อจากโจทก์ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์แล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ย่อมมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 237 มิได้บัญญัติว่า การที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้กระทำลงภายหลังจากลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้แล้วแต่ประการใด ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ผู้ค้ำประกันได้กระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ก็ย่อมใช้สิทธิเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมดอายุความบังคับคดี: เจ้าหนี้ต้องดำเนินการตามขั้นตอนภายใน 10 ปีนับจากคำพิพากษาจึงจะใช้สิทธิบังคับคดีได้
หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำบังคับ เป็นกรณีที่ต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) และมาตรา 278 (เดิม) จะเห็นได้ว่า การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ขั้นตอนต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี และขั้นตอนสุดท้ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแม้คดีนี้โจทก์เดิมจะได้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยไว้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ก็ตาม แต่โจทก์นำเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยึดมายื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ครบจึงไม่สามารถยึดที่ดินของจำเลยได้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งในคำขอยึดทรัพย์ของโจทก์ว่า ให้โจทก์นำส่งต้นฉบับโฉนดที่ดิน สัญญาจำนองและสำเนาทะเบียนบ้านจำเลยก่อนนำยึด แต่โจทก์ก็ไม่ดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน 2560 โจทก์เพิ่งมาตั้งเรื่องบังคับคดีใหม่โดยยื่นคำขอยึดอสังหาริมทรัพย์ ณ ที่ทำการต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาชั้นที่สุดอันจะถือว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม)แม้ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์จำนองต่อไปได้ แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาชั้นที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโกงเจ้าหนี้หลังล้มละลาย: เจ้าหนี้ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามขั้นตอน หากไม่ยื่น สิทธิเรียกร้องสิ้นสุด
หนี้ของโจทก์เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จึงต้องยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ต่อไป ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 350 ที่บัญญัติว่า เจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้นั้น หมายถึงเจ้าหนี้ที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยได้อีกต่อไป เพราะผลของการประนอมหนี้หลังล้มละลายย่อมผูกพันโจทก์ และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย ทั้งคำว่า "เจ้าหนี้ของตน" ย่อมหมายถึงเฉพาะโจทก์ที่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่มิได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินตามฟ้องจึงมิใช่การกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในคดีแพ่งได้รับชำระหนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซ่อนเร้นทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้เจ้าหนี้ เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แม้ไม่มีหลักฐานการโอนทรัพย์สิน
จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 1 จากเดิมเลขที่ 286 ไปอยู่ที่ใหม่ แล้วจำเลยที่ 4 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 3 ขึ้นมาโดยใช้สำนักงานแห่งใหญ่เดิมของจำเลยที่ 1 เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 3 มีวัตถุที่ประสงค์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 คือประกอบกิจการรับจ้างผลิตเหล็ก รีด หล่อและหลอมเหล็ก และจำเลยที่ 4 ก็เบิกความรับว่า จำเลยที่ 3 ได้ใช้เครื่องจักรที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 286 ด้วย เมื่อขณะนำยึดป้ายทะเบียนเครื่องจักรมีร่องรอยถูกขูดลบออก โดยจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ครอบครองดูแลสถานที่เก็บรักษาเครื่องจักรตามที่ได้จดทะเบียนไว้ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้เครื่องจักรในการประกอบกิจการ รวมทั้งนำป้ายชื่อจำเลยที่ 3 มาติดอยู่หน้าเลขที่ 286 การกระทำของจำเลยทั้งสี่นอกจากจะเป็นทางทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจผิดแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการร่วมกันซ่อนเร้นเครื่องจักรของจำเลยที่ 1 ไว้เพื่อมิให้โจทก์ติดตามยึดเครื่องจักรนั้นมาชำระหนี้ได้ แม้โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนขายกิจการและเครื่องจักรไปให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จริงหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อไร แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ก็รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยแล้วว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาเพื่อไม่ให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเป็นความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้
of 154