คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ดอกเบี้ย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,659 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลอกลวงลงทุนอสังหาริมทรัพย์ – โมฆะ – คืนเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ย
สัญญาซื้อขายมีข้อความระบุชัดเจนว่า โจทก์ตกลงซื้อประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบรายได้ใด ๆ อันเกิดจากการขาย ให้เช่า หรือความตกลงใด ๆ ซึ่งคล้ายกันที่เกี่ยวกับที่ดิน ผ่านการจัดสรรหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยผู้ซื้อจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนของหุ้นดังกล่าวและสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่จะสร้างรายได้ด้วยการขาย ให้เช่าหรือการทำความตกลงใด ๆ สัญญาระบุประโยชน์ตอบแทนอันเกิดจากสัญญาว่า โจทก์ตกลงซื้อ Preferential share units ในบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 5 หน่วย ซึ่งเท่ากับ 5 หน่วย ในทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 1 และเพื่อตอบแทนการลงทุนของโจทก์ ผู้ขายตกลงให้ประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ซึ่งเกิดขึ้นจากการขาย ให้เช่าหรือความตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินซึ่งยังมิได้พัฒนาตามที่ระบุไว้ในเอกสาร A ท้ายข้อตกลง และระบุผลประโยชน์เหนือทรัพย์สินตามสัญญาว่า สิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จะนำไปจดทะเบียนต่อกรมที่ดิน และประโยชน์ของโจทก์ในหน่วยลงทุนของจำเลยที่ 1 จะมีการจดแจ้งลงในเอกสารบริษัทโดยมีหลักฐานเป็นใบหุ้น ข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า โจทก์จะได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการพัฒนาที่ดินผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุน โดยมีจำเลยที่ 1เป็นผู้รับรองการลงทุนและเข้าพัฒนาที่ดินตามวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญา เมื่อโจทก์ได้เข้าซื้อหน่วยลงทุนในการพัฒนาที่ดินแล้ว จำเลยที่ 1 จะจดแจ้งสิทธิในการได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนลงในเอกสารของบริษัทจำเลยที่ 1 และหลักฐานใบหุ้น อันมีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน จึงมิใช่สัญญาสองฝ่ายที่โจทก์ในฐานะผู้ซื้อตกลงเข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิในบริษัทจำเลยที่ 1 จากบริษัท ร . ในฐานะผู้ขายเท่านั้น แต่สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายหน่วยลงทุนในการพัฒนาที่ดินซึ่งรวมผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับจากการพัฒนาที่ดินของจำเลยที่ 1 และการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 เข้าด้วยกัน โดยมีบริษัท ร. กระทำการเสนอขายแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรงด้วย นอกจากนี้พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจจดแจ้งโจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นและยื่นส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทอันเป็นการตอบแทนการลงทุนของโจทก์ ย่อมแสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ชำระเงินสำหรับหน่วยลงทุนพัฒนาที่ดินตามสัญญาดังกล่าวสมประโยชน์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงจดแจ้งรับรองสิทธิให้แก่โจทก์เป็นการต่างตอบแทน หากโจทก์มิได้ชำระเงินสำหรับหน่วยลงทุนดังกล่าว ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะจดแจ้งโจทก์ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใด ๆ กับจำเลยที่ 1 เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้
เมื่อหนังสือโฆษณาชี้ชวนให้โจทก์เข้าร่วมลงทุนและสัญญาซื้อขายกล่าวถึงการลงทุนพัฒนาที่ดินในประเทศไทยลักษณะ Land Banking โดยมีจำเลยที่ 1 ดูแลพัฒนาที่ดินและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนา บริษัทผู้ทำการโฆษณาชี้ชวนมีข้อความคำว่า ทรัสต์อยู่ในชื่อนิติบุคคลคือบริษัท ร. อันแสดงถึงรูปแบบการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้ดูแลบริหารจัดการและจัดเก็บผลประโยชน์คืนแก่ผู้ลงทุนหรือทรัสต์ ตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไป ตลอดจนการระบุประโยชน์ตอบแทนการลงทุนของโจทก์ว่า ผู้ขายตกลงให้โจทก์ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ในการขาย ให้เช่าหรือความตกลงใด ๆ ซึ่งคล้ายกันที่เกี่ยวกับที่ดิน กับข้อตกลงที่ระบุในสัญญาซื้อขายว่า ประโยชน์ของโจทก์ในหน่วยลงทุนของจำเลยที่ 1 จะมีการจดแจ้งลงในเอกสารบริษัทโดยมีหลักฐานเป็นใบหุ้น ล้วนแสดงว่าจำเลยที่ 1 ผู้ดูแลจัดการและบริหารที่ดินต้องกระทำการพัฒนาที่ดินตามความสามารถและวิชาชีพของผู้ดูแลจัดการบริหารอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแสวงประโยชน์นำมาจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุน ต้องจดแจ้งให้ปรากฏซึ่งหลักฐานการรับรองสิทธิของโจทก์ในเอกสารของบริษัท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการพัฒนาที่ดินดังกล่าว ทั้งยังคัดชื่อโจทก์ออกจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ในขณะทำสัญญาซื้อขายพิพาท ยังเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจำเลยที่ 1 กับทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายพิพาท และยังเป็นผู้จัดให้จำเลยที่ 3 ลงนามรับรองใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ส่งมอบเป็นหลักฐานแก่โจทก์ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทซึ่งมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 65,000,000 บาท นับเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ทำการเสนอขายหน่วยลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยคิดเป็นเงินลงทุนจำนวนมากแก่ชาวต่างชาติหลายราย แต่กลับไม่ปรากฏการดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างชัดเจนในประเทศไทย และไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการผู้มีอำนาจหรือบุคคลธรรมดารายอื่นเกี่ยวข้องกระทำการใดต่อบุคคลภายนอกเว้นแต่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับนักลงทุนซึ่งเข้าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นเพื่อหลอกลวงเงินลงทุนจำนวนมากจากชาวต่างชาติ โดยไม่มีเจตนาดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จริงตามที่ระบุในเอกสารโฆษณาชี้ชวนและสัญญาซื้อขายและเป็นการกระทำเพื่อแสวงประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 โดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น แม้จะอ้างว่ามิได้ร่วมรู้เห็นถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่เขย แต่จำเลยที่ 3 เข้าลงชื่อในใบหุ้นที่จำเลยที่ 2 นำมาให้แล้วจำเลยที่ 2 นำไปส่งมอบแก่โจทก์อันเป็นส่วนหนึ่งในการหลอกลวงเงินลงทุนจากโจทก์ ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่ระบุในใบหุ้นนั้น จำเลยที่ 3 กลับยินยอมลงชื่อในเอกสารที่ตนไม่เข้าใจ ผิดปกติวิสัยของวิญญูชน จำเลยที่ 3 พักอาศัยอยู่ในที่ดินอันเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปใช้ในการหลอกลวงนักลงทุน ทั้งยังเป็นผู้ดูแลที่ดินและรับเงินค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 อันแสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย การหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องไม่อาจบรรลุผลให้โจทก์หลงเชื่อได้โดยสมบูรณ์หากปราศจากการแสดงหลักฐานใบหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 ลงชื่อรับรองในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนั้น เชื่อว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 การที่โจทก์หลงเชื่อจากการหลอกลวงและทำสัญญา ซื้อหน่วยลงทุนกับชำระเงินลงทุนให้แก่จำเลยทั้งสามโดยเข้าใจว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยตามหนังสือโฆษณาชี้ชวนดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนาลงทุนตามสัญญาซื้อขายโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 มีผลเท่ากับการซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวมิได้เกิดมีขึ้น จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 172 วรรคสอง โดยต้องคืนเต็มจำนวนตามมาตรา 412

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ต้องพิสูจน์มูลหนี้ประธานและดอกเบี้ยเพื่อกำหนดจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระ
การขอรับชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้มีหน้าที่นำพยานมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า หนี้ที่ขอรับชำระหนี้นั้นมีอยู่จริงและลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาจำนำหุ้นที่ลูกหนี้นำมาจำนำไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. เจ้าหนี้เดิม เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของบริษัท ม. ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 96 (3) การที่จะพิจารณาว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์เป็นจำนวนเท่าใด จึงต้องพิจารณามูลหนี้ประธานเป็นสำคัญว่ามีเพียงใด และเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเท่าใด เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำว่าต้องไม่เกินไปกว่าความรับผิดในต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามมูลหนี้ประธาน เมื่อเจ้าหนี้มิได้นำสืบให้เห็นว่า มูลหนี้กู้ยืมเงินของบริษัท ม. อันเป็นมูลหนี้ประธานมีเพียงใด ศาลย่อมมิอาจพิพากษาให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในหนี้จำนำหุ้นอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้จำนำตามคำขอรับชำระหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าหนี้ไม่มีพยานมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อันทำให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้น ไม่ใช่เหตุที่ทำให้การจำนำระงับสิ้นไป สิทธิจำนำยังคงมีอยู่ หากเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนำเพียงใด เจ้าหนี้สามารถบังคับจำนำในทางแพ่งต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2033/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาว่าจ้างทนาย ความรับผิดชอบร่วมของจำเลยทั้งสอง ดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ถือเอาผลสำเร็จแห่งการงานที่จ้างเป็นสำคัญ และการจ่ายสินจ้างถือเอาความสำเร็จของผลงานหรือตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวกำหนดชำระค่าจ้าง 3 งวด แต่มีเฉพาะงวดที่ 1 เท่านั้น ที่ถึงกำหนดชำระ ต้องถือว่าเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ทั้ง 9 ครั้ง เป็นการชำระหนี้ในงวดที่ 1 ซึ่งถึงกำหนดชำระแล้ว ตามมาตรา 328 วรรคสอง อันมีผลทำให้อายุความในหนี้ค่าจ่างว่าความงวดที่ 1 สะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา 193/15 วรรคสอง คำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกเอาค่าการงานมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (16) เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้ร่วมในสัญญาจ้างว่าความ มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ถือว่า จำเลยที่ 1 ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) และข้อความจริงใด เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ตัวลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 การที่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวชำระหนี้แก่โจทก์ อายุความจึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่จำเลยที่ 2 หามีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมไม่ หนี้ค่าจ้างว่าความงวดที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงต้องเริ่มนับแต่วันทำสัญญาจ้างซึ่งเป็นเวลาขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์ตามสัญญาจ้างว่าความในงวดที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ
สำหรับค่าจ้างว่าความงวดที่ 2 กำหนดชำระเมื่อสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วเสร็จ และงวดที่ 3 กำหนดชำระหนี้ก่อนนัดฟังคำพิพากษา 15 วัน มิใช่หนี้ที่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อโจทก์ว่าความให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วเสร็จโดยตกลงกับคู่กรณีได้ ถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ถึงกำหนดชำระในวันดังกล่าว ตราบใดที่โจทก์ยังไม่เตือนให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ได้ชื่อว่าผิดนัด เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองมีกำหนดเวลาให้นำเงินมาชำระหนี้ภายใน 7 วัน และจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือทวงถามแล้ว แต่เมื่อครบกำหนด 7 วัน จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ถือว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้วตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดสำหรับค่าจ้างว่าความในงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ได้ในวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีประกันภัย: การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน, ดอกเบี้ย, ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ, และมาตรฐานวิชาชีพ
โจทก์ที่ 1 เอาประกันภัยความเสี่ยงภัยแบ่งเป็นทุนประกันภัย 4 ประเภท คือ 1.อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 2.เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและทรัพย์สินอื่น ๆ 3.เครื่องจักร และ 4.สต๊อกสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ ลักษณะของสัญญาประกันภัยระบุประเภทความรับผิดในแต่ละส่วนแยกออกจากกันโดยชัดเจน แสดงเจตนาของคู่สัญญาว่าต้องการแบ่งแยกประเภททรัพย์สินและวงเงินความรับผิดในแต่ละประเภท แม้มีการชำระเบี้ยประกันภัยโดยไม่แบ่งแยกตามประเภททรัพย์สิน แต่เมื่อสัญญาประกันภัยแยกประเภทความรับผิดและวงเงินประกันภัยของจำเลยออกจากกันได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งถึงราคาและความเสียหายของทรัพย์สินส่วนอื่นคงโต้แย้งเฉพาะความเสียหายเกี่ยวกับสต๊อกสินค้า ประกอบกับการแสดงหรือใช้เอกสารอันไม่ถูกต้องและเป็นเท็จของโจทก์ทั้งสองมีเฉพาะในส่วนของสต๊อกสินค้าเท่านั้น เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุเงื่อนไขโดยชัดแจ้งว่าหากผิดเงื่อนไขไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจะทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยทั้งหมด จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวไม่ชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยที่ต้องเสียในมูลหนี้ โดยต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยได้แบ่งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยออกเป็นประเภทต่าง ๆ โดยระบุวงเงินรับผิดของแต่ละประเภทไว้เป็นการแยกสัญญาประกันภัยออกเป็นส่วน ๆ ต่างหากจากกันได้ จึงไม่ทำให้สัญญาประกันภัยในส่วนอื่น ๆ ข้างต้นที่มีลักษณะแบ่งแยกประเภทความรับผิด ทั้งวงเงินที่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยออกจากกันไว้ต่างหากโดยชัดเจนมีผลเสียไปทั้งหมด จำเลยจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดชดใช้เฉพาะความเสียหายสต๊อกสินค้าเท่านั้น แต่ในส่วนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและทรัพย์สินอื่น ๆ รวมทั้งเครื่องจักร จำเลยยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ปรากฏว่าตั้งแต่เกิดเหตุวินาศภัยจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองอ้างส่งเอกสารสต๊อกสินค้าเพื่อประกอบการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี โจทก์ทั้งสองแจ้งแต่แรกว่าเอกสารเกี่ยวกับสินค้าของโจทก์ทั้งสองถูกเพลิงไหม้ทั้งหมด โดยค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องเป็นไปตามวงเงินสัญญาประกันภัย แต่จำเลยปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ต้นโดยให้โจทก์ทั้งสองหาเอกสารประกอบการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนสต๊อกสินค้า จนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองหาเอกสารจากร้านค้าคู่ค้าอันเป็นเท็จส่วนหนึ่งเกิดจากฝ่ายจำเลยและบริษัทผู้ประเมินเป็นผู้แนะนำ ภายหลังเมื่อโจทก์ทั้งสองยื่นเอกสารเท็จ จำเลยกลับแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองทั้งที่จำเลยก็ทราบว่าบริษัทผู้ประเมินไม่ได้ใช้เอกสารที่โจทก์ทั้งสองยื่นมาประกอบการพิจารณาค่าสินไหมทดแทน ซึ่งระหว่างเจรจาที่ คปภ. เจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. แนะนำว่าวงเงินประกันภัยส่วนใดที่รับกันได้ก็ให้จ่ายไปก่อน แต่จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งเมื่อบริษัทผู้ประเมินที่จำเลยมอบหมายรายงานการประเมินความเสียหายและค่าสินไหมทดแทน จำเลยก็ปฏิเสธไม่ยอมรับรายงานการประเมินดังกล่าว พฤติการณ์ของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนถือได้ว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมเพราะจำเลยสามารถชดใช้ค่าเสียหายในส่วนอื่นที่ไม่ได้โต้แย้งให้แก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 แต่ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษในกรณีนี้มิใช่หนี้เงินขณะฟ้องที่จะนำมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้กู้ยืมเงินเกินอัตราดอกเบี้ย: เป็นกรรมต่างกัน, ริบของกลางซ้ำ
ประกาศกระทรวงการคลังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง เป็นการประกาศประเภทกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ซึ่งกิจการที่ต้องขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นเรื่องการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคาร เมื่อผู้ใดประกอบกิจการดังกล่าวหลังจากประกาศกระทรวงการคลังใช้บังคับแล้ว จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.2 บรรยายว่า ...จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ประเภทการให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลธรรมดา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยการร่วมกันจัดหาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินนั้น และจำเลยทั้งสองมิได้เป็นสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้บริโภค...อันเป็นการร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยผาสุกแห่งสาธารณชน และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยทั้งสองทราบประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสองมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และประกาศกระทรวงการคลัง จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และเป็นการยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ทราบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์ไม่แนบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวมาพร้อมกับฟ้อง และส่งประกาศดังกล่าวในชั้นพิจารณา ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 บัญญัติว่า "เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดดังระบุไว้ต่อไปนี้ หรือกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ให้เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ...(3) การธนาคาร.." แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายมุ่งไปถึงลักษณะของกิจการเป็นสำคัญ หากเข้าลักษณะของกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับการธนาคารแล้ว ก็ให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้กิจการในลักษณะนี้ต้องถูกควบคุมดูแลและตรวจสอบโดยทางราชการด้วยระบบการขออนุญาตได้ หากฝ่าฝืนประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตย่อมมีโทษทางอาญาตามข้อ 16 คำว่า "ผู้ใด" ตามข้อ 5 ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวย่อมใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่ว่ากับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตแล้ว กิจการในลักษณะนี้จึงมิใช่กิจการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำได้โดยเสรีอีกต่อไป แต่ต้องกระทำผ่านระบบใบอนุญาตเท่านั้น หากนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาเช่นจำเลยที่ 2 จะให้ยืมเงินในลักษณะดังกล่าวก็ต้องขออนุญาตด้วยกันหมดทั้งสิ้น ส่วนที่ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขออนุญาตว่าต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าทางราชการไม่ประสงค์ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลประเภทอื่นประกอบกิจการในลักษณะนี้นั่นเอง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่อาจยื่นขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ ไม่ได้แสดงว่าจำเลยที่ 2 สามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารได้โดยเสรี การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบและเป็นความผิดตามฟ้อง
ความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดต่อเนื่องกัน แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกเจตนาของจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และ ฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ นำเงินที่ชำระแล้วหักจากต้นเงินได้
แม้ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองรวมแปดโฉนด ข้อ 5 ระบุให้สัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการกู้เงิน ข้อ 6 ระบุว่า ไม่มีดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนภายในหนึ่งปี และตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 1 ระบุว่า หากผู้กู้ผิดสัญญากู้โดยไม่ชำระหนี้คืนให้แก่ผู้ให้กู้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนจำนอง ผู้กู้จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนองแก่ผู้ให้กู้ นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น อันเป็นการระบุว่าการกู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยนั้น โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าที่ ป.พ.พ. มาตรา 654 กำหนดไว้ก็ตาม แต่การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลและพยานวัตถุฟังได้ว่า ในการทำสัญญาจำนองตกลงกันว่าจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย แต่ความจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันทำสัญญาจำนองอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 204,300 บาท แต่พยานขอลดหย่อนเหลือเดือนละ 200,000 บาท โดยโจทก์ให้จำเลยแบ่งชำระเงิน 2 ยอด ยอดแรกชำระ 150,000 บาท อีกยอดชำระ 50,000 บาท โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้เฉพาะยอดเงิน 150,000 บาท เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการผิดกฎหมาย ซึ่งต้นเงิน 13,620,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 170,250 บาท จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่าที่รวบรวมใบเสร็จรับเงินได้ 12 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,150,000 บาท เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะอันเป็นผลทำให้หนี้ตามสัญญาบางส่วนไม่สมบูรณ์ อันเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย การรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้บางส่วนที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แบ่งความรับผิดหนี้ร่วมกัน นายจ้าง ลูกจ้าง และผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อดอกเบี้ย
ตามคำพิพากษาในคดีก่อนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดของโจทก์เพียงข้อหาเดียวว่า โจทก์เป็นนายจ้างของ ป. และ ป. ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อน และวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยโดยสรุปว่า จำเลยดำเนินการด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ป. มีโอกาสเบียดบังเอาหุ้นของโจทก์ที่มีชื่อ ว. เป็นผู้ถือหุ้นไปโดยทุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิดต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนว่า ป. และจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด และต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อเป็นหนี้ร่วม ป. และจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ส่วนโจทก์ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของ ป. เท่านั้น ความรับผิดของโจทก์และ ป. จึงเสมือนเป็นบุคคลเดียวกันที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในการชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และเนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับ ป. และจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แต่ความรับผิดของโจทก์นั้น เป็นผลมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างด้วย มิได้เป็นผลมาจากการกระทำของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จาก ป. ผู้เป็นลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 และรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยจากจำเลยได้อีกส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 227
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.27 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากบริษัท ม. ได้ชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนแทนจำเลยตามบันทึกข้อตกลงแล้ว หนี้ในส่วนของจำเลยจึงระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั้น ตามคำให้การจำเลยมิได้ต่อสู้คดีว่าโจทก์และจำเลยได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันมีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ในข้อใดเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร หากเห็นว่าแม้จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไปอย่างไรก็ไม่ทำให้ผลคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจไม่วินิจฉัยในข้อนั้นได้
บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.27 เป็นเพียงข้อตกลงให้โจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนให้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยโดยบริษัท ม. ชําระหนี้ตามความรับผิดของจำเลยหนึ่งในสามส่วนไปก่อนเท่านั้น จำเลยจึงยังต้องรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขาดจำนวนจากความรับผิดในส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จนั้น เนื่องจากได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งตามมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามลำดับ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน อันมีผลให้ในกรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ก็ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และในกรณีที่เป็นหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการคิดดอกเบี้ยก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชําระให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขโดยกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4370/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทเรื่องค่าบำเหน็จตัวแทนประกันชีวิต, อายุความ, และดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายใหม่
กรณีที่จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ต้องเป็นการที่บุคคลใดได้ทรัพย์สิ่งใดมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่รับไปแก่โจทก์เนื่องจากมีการยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์แก่ผู้เอาประกัน ซึ่งเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากโจทก์ไปเป็นการรับไว้ในฐานะตัวแทนประกันชีวิตของโจทก์ตามสัญญาข้อตกลงแต่งตั้งตัวแทน จึงเป็นการรับเงินไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มิใช่เรื่องลาภมิควรได้ เมื่อปรากฏต่อมาว่าโจทก์ยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์แก่ผู้เอาประกันรายที่จำเลยที่ 1 และทีมงานชักชวนให้มาทำประกันชีวิตกับโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องคืนเบี้ยประกันให้ผู้เอาประกัน จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่ได้รับสำหรับผู้เอาประกันรายดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ตามเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาข้อตกลงแต่งตั้งตัวแทน เมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนฐานผิดสัญญา มิใช่กรณีเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ จะนำเอาอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 มาใช้บังคับกับกรณีนี้ไม่ได้ และเมื่อการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นตัวแทนประกันชีวิตกรณีโจทก์ยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 อายุความในคดีนี้จึงมีระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่น: สิทธิจำนองจำกัดวงเงินและดอกเบี้ย, ศาลมีอำนาจสั่งค่าฤชาธรรมเนียม
ผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วยโดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินซึ่งหมายถึงราคาทรัพย์จำนองในเวลาที่ผู้รับโอนขอไถ่ถอนจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 แต่เจ้าหนี้มีสิทธิบอกปัดไม่รับคำเสนอและต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นตามมาตรา 739 เมื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินโดยติดจำนองซึ่งมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนอง และไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทน บ. ลูกหนี้ และ จ. ผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น กรณีนี้จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ตามวงเงินจำนองกับดอกเบี้ยของวงเงินจำนองและค่าอุปกรณ์อื่นตามมาตรา 715 ด้วย เมื่อปรากฏว่าหนังสือสัญญาจำนองเป็นประกันระบุว่า จ. จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมของ บ. อันเป็นการจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระตามมาตรา 709 ที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้าเป็นต้นทุนขั้นสูงสุด 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี สิทธิจำนองจึงย่อมครอบเพียงต้นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้และค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองเท่านั้น กรณีจึงไม่จำต้องกำหนดราคาอันสมควรกับทรัพย์จำนองพิพาทเพราะไม่เกิดประโยชน์แก่รูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 403/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจ้างเหมา การชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้า การหลอกลวงเอาไปซึ่งหนังสือค้ำประกัน และการคิดดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าไปจากโจทก์โดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเพื่อเป็นหลักประกัน การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกหลวงโจทก์เอาไปซึ่งหนังสือค้ำประกันดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามหนังสือค้ำประกันไม่มีหลักประกันที่จะเรียกร้องเอาจากธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระต่อโจทก์
of 166