คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ดอกเบี้ย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,659 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3417/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชำรุดบกพร่อง, วัสดุไม่ได้มาตรฐาน, กระจกไม่ได้มาตรฐาน, ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ, ดอกเบี้ย
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 17 บัญญัติว่า การจัดการและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และตามข้อบังคับ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่ง ... มาตรา 36 บัญญัติว่า ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 33 ตามข้อบังคับหรือตามมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการ ทั้งนี้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ... ซึ่งในมาตรา 39 บัญญัติว่า นิติบุคคลอาคารชุดอาจใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืน เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมด เห็นได้ชัดว่า การจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุดยังคงเป็นอำนาจเด็ดขาดของเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดอยู่ เพียงแต่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ให้อำนาจเพิ่มเติมแก่นิติบุคคลอาคารชุดในการใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืน เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่จำต้องแสดงเจตนามอบอำนาจให้แก่นิติบุคคลไปดำเนินการเป็นราย ๆ ไปอีกในการปกปักรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เพื่อความสะดวกแก่เจ้าของร่วมอาคารชุด เนื่องจากเจ้าของร่วมแต่ละอาคารชุดมีเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่มีบทบัญญัติมาตราใดโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ลบล้างอำนาจของเจ้าของรวมในการจัดการทรัพย์สินดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1358 การฟ้องคดีเพื่อขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจขายห้องชุดชำระค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ส่วนกลางเกิดความชำรุดบกพร่องตามฟ้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามสภาพปกติของทรัพย์สินนั้นตามแผนผัง แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการจัดการทรัพย์สินตามธรรมดาเพื่อรักษาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่หรือเจ้าของร่วมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของร่วมคนอื่นก่อน ส่วนข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด อ. หมวดที่ 3 ว่าด้วยวัตถุประสงค์นิติบุคคลอาคารชุด หมวดที่ 4 ว่าด้วยผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด หมวดที่ 13 ว่าด้วยการประชุมใหญ่เจ้าของร่วม เป็นข้อบังคับที่อนุวัติการตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 หามีผลทำให้อำนาจแห่งเจ้าของกรรมสิทธิ์อันเป็นทรัพยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่บรรยายฟ้องมาด้วยว่า นิติบุคคลอาคารชุดเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิฟ้องแทนโจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่ตามกฎหมาย โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้และจะขอให้หมายเรียกนิติบุคคลอาคารชุดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมต่อไป เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกให้โจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตามคำร้องขอของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่โดยโจทก์ร่วมมิได้คัดค้านข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่และโจทก์ร่วมต่างมีอำนาจฟ้อง และการที่โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ, การผิดนัดชำระหนี้, และการคิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์ให้บริการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก ซึ่งตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 46 บัญญัติว่า เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการดังต่อไปนี้... (6) .. ให้เช่า ให้เช่าซื้อ (7) จัดให้ได้มา ซื้อ... เช่าซื้อ... (9) ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับ หรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ การที่โจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 38760 เนื้อที่ 36 ไร่ 54 ตารางวา มาดำเนินการแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์รวมทั้งจำเลยในรูปแบบการทำสัญญาเช่าซื้อโดยโจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อเป็นประโยชน์ตอบแทน จึงต้องด้วยนิยามศัพท์ จัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดิน หมายถึง การจำหน่ายที่ดินที่ได้แบ่งเป็นแปลงย่อยรวมกันตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งจากที่ดินแปลงเดียวหรือแบ่งแยกจากที่ดินหลายแปลงที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์เป็นค่าตอบแทน และต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ... เพราะโจทก์มิได้อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 5 (2) ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่น เนื่องจากกรณีของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดรองรับ ควบคุมดูแลการดำเนินการให้ได้มาตรฐานที่ดีเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี แม้โจทก์จะไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างก็ไม่ทราบว่ากรณีของโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 3 งวดติดต่อกัน และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ชอบที่จะริบบรรดาค่าเช่าซื้อที่จำเลยได้ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยทบต้นจากข้อตกลงในสัญญากู้ยืม และการลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน
ตามสัญญาเงินกู้ ข้อ 4 ระบุว่า "หากผู้กู้ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่าหนึ่งปี ผู้กู้ยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระ มารวมกับเงินต้นเดิมเป็นเงินต้นใหม่ และให้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นใหม่นี้ โดยจะคิดทบไปทุกปี จนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญา" จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมได้ตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง และไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ทั้งข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (9) ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยยังคงค้างชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดแล้วก็ตาม จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรลดเบี้ยปรับลง โดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติที่ประชุมเจ้าของร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต้องคืนเงินและดอกเบี้ย
การอยู่ร่วมกันของเจ้าของร่วมในอาคารชุดเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นโดยการรวมตัวของบุคคลที่มีพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน มีความหลากหลายในด้านต่าง ๆ จำต้องมีปฏิสัมพันธ์กันในการรับบริการส่วนรวมและการใช้ประโยชน์ร่วมกันในทรัพย์ส่วนกลางอันได้แก่ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด ที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วมโดยมีนิติบุคคลอาคารชุดบริหารจัดการตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 33 ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดตามมาตรา 38 (1) ให้ดำเนินไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 และข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด โดยอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามมาตรา 42/1 หรือการประชุมใหญ่วิสามัญตามมาตรา 42/2 ในกิจการปกติ มติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม ส่วนกิจการที่มีความสำคัญ มติที่ได้รับความเห็นชอบต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด กรณีคะแนนเสียงไม่ครบกึ่งหนึ่งและมีการเรียกประชุมใหม่ตามมาตรา 48 วรรคสอง การเข้าร่วมประชุมจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าของร่วมที่ต้องให้ความร่วมมือโดยเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือ ให้ความคิดความเห็น เสนอแนะ และร่วมตัดสินใจลงมติในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขโดยเร็วอันจะให้กิจการนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินไปโดยเรียบร้อย กรณีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการนัดเรียกหรือการนัดประชุมหรือการลงมติในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดจึงต้องได้รับการวินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็วเพื่อให้กิจการของนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของเจ้าของร่วม เมื่อไม่มีบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 บังคับใช้โดยเฉพาะแก่การนัดเรียกหรือการประชุมหรือการลงมติที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด การนำบทบัญญัติมาตรา 1195 แห่ง ป.พ.พ. หมวด 4 บริษัทจำกัด ซึ่งบัญญัติว่า "การประชุมใหญ่นั้น ถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น" มาใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่เจ้าของร่วมตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง จึงนับว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการตลอดจนการแก้ไขปัญหานิติบุคคลอาคารชุดเป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลาย แต่การนำบทบัญญัติมาตรา 1195 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับกรณีการลงมติในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 หรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดได้นั้นต้องเป็นกรณีมติของที่ประชุมเจ้าของร่วมที่ได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ดังนี้ กรณีการลงมติในเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันตามข้อบังคับซึ่งเป็นกิจการตามมาตรา 48 (5) หากมติของที่ประชุมไม่ได้รับความเห็นชอบโดยได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดในการประชุมเจ้าของร่วมครั้งแรก กระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยจะต้องมีการเรียกประชุมเจ้าของร่วมใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเรียกประชุมครั้งก่อนและต้องมีการลงมติกันใหม่อีกครั้ง ได้ความตามรายงานประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2558 ถึงปี 2560 ว่าในการประชุมใหญ่สามัญของแต่ละปีมีการลงมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายส่วนกลางโดยอ้างว่าเป็นการจัดเก็บเงินเพื่อการบำรุงรักษาสำหรับห้องชุดในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนด้วยคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แต่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญกลับมิได้เรียกให้มีการประชุมใหม่เพื่อให้เจ้าของร่วมลงมติกันใหม่อันเป็นขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรคสอง การเรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวจึงยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย มติของที่ประชุมเจ้าของร่วมที่เรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับห้องชุดในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนจึงสิ้นสภาพไปโดยที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องร้องขอให้เพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 แต่อย่างใด จำเลยไม่อาจถือเอาประโยชน์จากมติดังกล่าวมาเรียกให้โจทก์เจ้าของร่วมชำระเงินเพิ่มได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินที่ชำระให้แก่จำเลยคืนได้ การที่ศาลอุทธรณ์นำ ป.พ.พ. มาตรา 1195 มาวินิจฉัยแก่คดีโดยวินิจฉัยว่าเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือเจ้าของร่วมร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ มติของที่ประชุมใหญ่นั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา การที่จำเลยเรียกเก็บเงินเพื่อการบำรุงรักษาสำหรับห้องชุดตามฟ้องแก่โจทก์โดยไม่มีสิทธิ จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2835/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของบกพร่อง ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบ คืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ย่อมมีผลให้โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองทำการงานให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนจึงไม่อาจกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้นั้น การที่จะชดใช้คืน ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้เถียงกันเกี่ยวกับการงานที่ได้ทำไปแล้ว กรณีจึงมีข้อพิจารณาว่า ค่าแห่งการงานที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์นั้นมีเพียงใด เห็นว่า สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางแบบเบ็ดเสร็จที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการเฉพาะ มุ่งประสงค์ถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ คือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมที่โจทก์สามารถนำไปวางจำหน่ายได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังไม่เคยผลิตเครื่องสำอางเป็นผลสำเร็จและส่งมอบผลงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้แม้แต่ชิ้นเดียว แม้จำเลยทั้งสองจะได้ดำเนินการคิดค้น วิเคราะห์วิจัย และพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้โจทก์จนสามารถนำไปขอจดแจ้งต่อนายทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตไว้บ้างแล้วก็ตาม แต่ได้ความจากจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า สูตรในการผลิตเครื่องสำอางดังกล่าวตลอดจนส่วนประกอบหรือส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตนั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้บอกให้โจทก์ทราบเนื่องจากต้องเก็บไว้เป็นความลับ หากโจทก์ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางที่จำเลยทั้งสองคิดค้น จะต้องว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ผลิตเท่านั้น แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า โจทก์ไม่สามารถนำสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำเลยทั้งสองคิดค้น ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตที่จำเลยทั้งสองตระเตรียมไว้ไปใช้ประโยชน์หรือว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการผลิตต่อให้แล้วเสร็จได้เลย ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2047/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเยียวยาค่าปรับจากการดำเนินคดีรถยนต์ผิดกฎหมาย: การคืนเงินค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยและรถยนต์
ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 8 วรรคสอง กำหนดให้ระบุการขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนไว้ในคำร้องนั้นด้วย แม้ตามคําร้องของจำเลยทั้งสองขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ มีคําขอท้ายคําร้องเพียงว่าขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่และพิพากษายกฟ้อง มิได้ระบุการขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนไว้ในคําร้องนี้ด้วย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้รับคําร้องของจำเลยทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ ในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ จำเลยทั้งสองจึงเพิ่งยื่นคําร้องขอเงินค่าปรับคืนจากศาลพร้อมดอกเบี้ยก็ตาม ก็พออนุโลมได้ว่า จำเลยทั้งสองประสงค์จะขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนดังกล่าวและระบุการขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนไว้ในคําร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่แล้ว และตามมาตรา 14 (2) ตอนแรกที่บัญญัติว่า "ถ้าต้องรับโทษปรับและได้ชําระค่าปรับต่อศาลแล้ว ให้ได้รับเงินค่าปรับคืน..." เป็นการบังคับว่าต้องให้ได้รับเงินค่าปรับคืน จะใช้ดุลพินิจไม่ให้ได้รับเงินค่าปรับคืนไม่ได้ ส่วนตอนท้ายที่บัญญัติว่า "…โดยศาลจะคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของจำนวนเงินค่าปรับนับตั้งแต่วันชําระค่าปรับ จนถึงวันที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้" เป็นการให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะคิดดอกเบี้ยให้หรือไม่ก็ได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสํานวนว่าสมควรจะคิดดอกเบี้ยให้หรือไม่ หาใช่ว่าศาลต้องคิดดอกเบี้ยให้โดยศาลคงใช้ดุลพินิจคิดดอกเบี้ยให้เพียงถึงวันใดเท่านั้น
คดีรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มีเจตนารมณ์ให้บุคคลผู้ต้องรับโทษทางอาญาโดยคําพิพากษาถึงที่สุดมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลังหากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนและได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคําพิพากษานั้นคืน หากปรากฏตามคําพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้กระทำความผิด ซึ่งการที่จะให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคําพิพากษานั้นคืน ศาลที่พิจารณาคดีในชั้นรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่นี้ ไม่จำต้องถูกผูกพันว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้หนึ่งผู้ใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ทำให้จำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีไม่ได้กระทำความผิดแล้วจะกำหนดให้จำเลยทั้งสองได้รับค่าทดแทนไม่ได้ เพราะเห็นได้ว่าส่วนหนึ่งแห่งเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้ก็เพื่อต้องการให้บุคคลที่มิได้เป็นผู้กระทำความผิดได้รับการแก้ไขเยียวยาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย ดังนั้น ศาลที่พิจารณาคดีในชั้นรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่นี้ ซึ่งรวมทั้งศาลฎีกายังคงมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้จำเลยทั้งสองได้ และเมื่อข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายมาก สมควรที่จำเลยที่ 2 จะได้รับการเยียวยาด้วยการคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของจำนวนเงินค่าปรับนับตั้งแต่วันชําระค่าปรับจนถึงวันที่ได้รับเงินค่าปรับคืนด้วย ส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ของกลาง เพื่อมิให้มีปัญหาที่อาจมีในชั้นการขอคืน ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งเสียด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 129/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทซื้อขายรถยนต์ ดอกเบี้ยผิดสัญญา การปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย และค่าฤชาธรรมเนียมผู้บริโภค
การที่โจทก์ฟ้องว่าหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อ โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกใช้งานแต่รถยนต์พิพาท เกิดความชํารุดบกพร่องโดยสาเหตุเกิดจากกระบวนการผลิตของจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 กับพวกให้การต่อสู้ว่า รถยนต์คันดังกล่าวมิได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยและมีความชํารุดบกพร่องหรือมีสภาพดังที่โจทก์อ้าง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทที่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ หรือการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับรถยนต์พิพาท อันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 กับพวก ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 จำเลยที่ 1 กับพวกจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายย่อมต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าตนได้รับความเสียหายจากสินค้าของจำเลยที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มาตรา 6 ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงตกแก่โจทก์ที่ต้องพิสูจน์ก่อน
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่กำหนดได้ตามที่เห็นสมควร หากการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่จากข้อเท็จจริงเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุของความผิดปกติตามที่โจทก์แจ้งเพื่อแก้ไขมาโดยตลอด หาได้ปฏิเสธไม่รับผิดชอบแต่อย่างใดไม่ โดยทำการเปลี่ยนอะไหล่หลายรายการโดยไม่เรียกค่าใช้จ่ายจากโจทก์ ตลอดจนจัดรถยนต์สํารองให้ใช้แทนในระหว่างตรวจสอบและแก้ไข และยังเสนอขยายการรับประกันคุณภาพรถยนต์เป็นกรณีพิเศษจากเดิม พฤติการณ์ที่ได้ความจึงยังไม่สมควรที่จะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 รับผิดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน, ความรับผิดของผู้จัดการมรดก, ดอกเบี้ย, การผิดนัดชำระหนี้, และขอบเขตความรับผิดตามกฎหมาย
การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในศาลภายหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วเกิดขึ้นในศาลขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่คู่ความเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาระงับข้อพิพาทตามฟ้องโดยประสงค์ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับหนี้ตามฟ้องตามข้อตกลงดังกล่าว มิใช่เพื่อระงับหนี้เดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีผลเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้จัดการมรดก กรณีจึงไม่มีผลทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินระงับหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ผู้สนับสนุน ร่วมรับผิดในส่วนแพ่ง, แก้ไขดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
การที่จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนยังยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากของตนไปใช้รับโอนเงินลงทุนที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสาม ถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 86 และต้องร่วมรับผิดในส่วนแพ่งกับจำเลยที่ 1 ด้วย
of 166