คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ข้อหา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 164 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9646/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์ฟ้องฐานชิงทรัพย์
แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดฐานรับของโจรก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าว ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติบังคับไว้ว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ประกอบกับจำเลยที่ 2 นำสืบว่า ด. ให้จำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ จำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางโดยเปิดเผย ต่อมาจำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางโดยเปิดเผย ต่อมาจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปดื่มสุราที่บ้านจำเลยที่ 1 จนไม่สามารถขับรถจักรยานยนต์ได้ จึงฝากไว้ที่บ้านจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้หลงต่อสู้ ดังนี้ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานชิงทรัพย์โดยไม่ได้บรรยายฟ้องและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานรับของโจรมาด้วยก็ตามศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาในความผิดฐานรับของโจรตามบทบัญญัติดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5456/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพที่ไม่ชัดเจน การพิจารณาคดีอาญา และการยกฟ้องในบางข้อหา
ศาลชั้นต้นจดคำให้การจำเลยว่า ขอให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้องข้อหารับของโจร แม้คำให้การดังกล่าวจะเป็นแบบพิมพ์ซึ่งมีข้อความเดิมว่าข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง และมีการเติมคำว่า "รับของโจร" ด้วยลายมือ โดยไม่มีผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ แต่ก็สามารถสื่อความหมายได้ว่าจำเลยขอให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้องข้อหารับของโจร โดยโจทก์ได้ลงชื่อไว้ในคำให้การของจำเลยและตามรายงานกระบวนพิจารณาในแบบพิมพ์เดียวกันก็ระบุไว้ว่าศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามที่ศาลบันทึกไว้ ย่อมชัดเจนว่าจำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหารับของโจร และต้องถือว่าโจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 หากโจทก์เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ศาลจดไว้ไม่ชัดแจ้ง ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานต่อไป เมื่อโจทก์จำเลยต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน และโจทก์จำเลยได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว เท่ากับโจทก์ไม่ติดใจที่จะสืบพยานในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จึงลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดนี้ไม่ได้ คงลงโทษจำเลยได้เพียงข้อหารับของโจรเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของคำฟ้องอาญา: การระบุวันเวลาและข้อเท็จจริงที่ทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บัญญัติให้ฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี แม้คำฟ้องของคดีนี้โจทก์มิได้ระบุถึงวันที่หรือเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด แต่ในตอนท้ายของคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังจำเลยไว้ต่อศาลนี้แล้ว โดยได้แนบคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยให้การถึงวัน เวลา ที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำร้องซึ่งพออนุโลมได้ว่าเป็นส่วนประกอบของคำฟ้องเมื่อปรากฏว่าในสำนวนคดีอาญาซึ่งติดอยู่ตอนหน้าของสำนวนคดีนี้นั้น ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ขอผัดฟ้องและฝากขังจำเลยในขณะเป็นผู้ต้องหา ได้ระบุวัน เวลา ที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจพบผู้ต้องหา จึงได้นำตัวมาตรวจปัสสาวะ ผลการตรวจปัสสาวะของผู้ต้องหากับสารเคมีให้ผลเป็นสีม่วงซึ่งจำเลยไม่ค้าน จำเลยย่อมจะเข้าใจได้ดีว่าวันที่หรือเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดคือเมื่อใด จึงให้การรับสารภาพ คำฟ้องของโจทก์ย่อมสมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขู่เข็ญผู้เสียหายโดยอ้างเป็นตำรวจ เปลี่ยนข้อหาจากชิงทรัพย์เป็นกรรโชก
จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายโดยกล่าวอ้างแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และขู่ว่าจะยัดยาบ้าให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ขู่เข็ญผู้เสียหายไม่เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 แต่เข้าลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้จำเลยได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225
of 17