คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิเรียกร้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,733 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4502/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องของบริษัทย่อย ผู้ถือหุ้นไม่อาจเรียกร้องแทนได้
กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทมีเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องสำหรับกรณีที่มีสาเหตุมาจากผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 และกำหนดนิยามของคำว่าผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 ว่าหมายถึงผู้จัดส่งสินค้าซึ่งจัดส่งสินค้าหรือบริการโดยตรงให้แก่โรงงานหรือสถานประกอบการของ ฟ. กับกำหนดนิยามของผู้จัดส่งสินค้าชั้น 2 ว่าหมายถึงผู้จัดส่งสินค้าหรือบริการโดยตรงให้แก่ผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่บริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้จัดส่งสินค้าโดยตรงให้แก่บริษัท ต. ไม่สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าวัสดุอุปกรณ์จนทำให้บริษัท ต. ไม่อาจผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ได้ กรณีจึงถือได้ว่าบริษัท ต. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 2 จากที่พยานโจทก์เบิกความประกอบกับตามเอกสารแนบท้ายสัญญาซื้อขายรถยนต์ นิติบุคคลที่เป็นผู้ซื้อรถยนต์สำหรับจำหน่ายในประเทศไทยคือบริษัท ด. และนิติบุคคลที่เป็นผู้ซื้อรถยนต์สำหรับจำหน่ายนอกประเทศไทยคือ ท. ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ประกอบสำเร็จหรือรถยนต์แบบผลิตเป็นชิ้นส่วนตลอดจนชิ้นส่วนและอุปกรณ์ซึ่งผลิตโดยบริษัท ต. คือ บริษัท ด. และ ท. มิใช่โจทก์ ต้องถือว่าบริษัท ต. และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ตามลำดับ ของบริษัท ด. และ ท. มิใช่ของโจทก์ และเมื่อบริษัท ด. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตาม ป.พ.พ. จึงเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 และ ท. เป็นกิจการที่ตั้งอยู่ในมลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงอักษรย่อ LLC ที่ต่อท้ายชื่อของกิจการแล้ว น่าเชื่อว่าเป็นกิจการประเภทบริษัทจำกัดความรับผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ลงทุนในบริษัท บริษัท ด. และ ท. จึงเป็นคนละนิติบุคคลกับโจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าโจทก์จะอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกิจการของบริษัท ด. และ ท. โดยผ่านการถือหุ้นร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ด้วยอาศัยวิธีการใดก็ตาม ความเสียหายและสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจากจำเลยสำหรับกรณีที่เกิดภาวะธุรกิจหยุดชะงักของบริษัท ด. และ ท. หากจะพึงมี ก็มิใช่ความเสียหายและสิทธิเรียกร้องของโจทก์
ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องสำหรับกรณีตามคำฟ้องเพราะโจทก์เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและต้องจัดทำงบการเงินโดยใช้หลักเกณฑ์ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการของบริษัทย่อยเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของส่วนของเจ้าของทั้งหมด ก็จะต้องแสดงผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยไว้เป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินของโจทก์และความเสียหายของบริษัทย่อยก็จะถูกนำมารวมอยู่ในงบการเงินของโจทก์นั้น แม้จะฟังว่ามีการจัดทำงบการเงินตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่กิจการของโจทก์ บริษัท ด. และ ท. ก็ยังคงมีการดำเนินกิจการในฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันและกัน และย่อมมีการจัดทำงบการเงินของแต่ละกิจการไว้ต่างหากจากกันตามกฎหมาย การจัดทำงบการเงินของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงการจัดทำรายงานทางการเงินเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ บริษัท ด. และ ท. เป็นกิจการเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการแสดงฐานะของกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกันต่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ก็หาได้มีผลทำให้โจทก์ บริษัท ด. และ ท. ควบเข้ากันเป็นนิติบุคคลเดียวกันในทางกฎหมาย นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีในศาลโดยใช้สิทธิเรียกร้องแทนกันและกันได้แต่อย่างใด ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยจึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องของโจทก์จากการที่มีบริษัท ต. และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ตามลำดับ โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อยแทนบริษัท ด. และ ท. ในความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3690/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: การบังคับจำนองทรัพย์สินหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
คดีก่อน ธนาคาร ศ. เป็นโจทก์ฟ้อง ธ. กับพวกรวม 6 คน ให้รับผิดเรื่อง ยืม ค้ำประกัน จำนอง แต่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีใจความว่า จำเลยทั้งหกตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้บังคับยึดที่ดินทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม กรณีถือได้ว่า ประเด็นแห่งคดีได้รับการวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโดยคำพิพากษาตามยอมนั้น การที่จำเลยทั้งหกในคดีดังกล่าวผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประยอมความข้างต้นเป็นเรื่องที่ธนาคาร ศ. รวมถึงโจทก์ผู้เข้าสวมสิทธิ เป็นคู่ความแทนชอบที่จะต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีในคดีเดิม ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัท ส. ซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากธนาคาร ศ. อีกทอดหนึ่ง ประสงค์ที่จะบังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ซึ่งมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาจำนองหรือไม่ เพียงใด คำฟ้องของโจทก์กรณีนี้หาใช่เป็นคำฟ้องในกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาแต่อย่างใดไม่ เมื่อความปรากฏว่าทรัพย์จำนองในคดีก่อนและคดีนี้เป็นทรัพย์จำนองรายเดียวกัน และโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากบริษัท ส. ซึ่งรับโอนมาจากธนาคาร ศ. โจทก์เดิมอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันในคดีก่อนซึ่งมีคำพี่พากษาถึงที่สุดแล้ว รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องช้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3126/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด หากไม่ถูกต้อง ผู้ถือหุ้นยังมีสิทธิเรียกร้องได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุว่าการบังคับตามคําพิพากษาไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ได้เพราะจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1139 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 จัดทำสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์แล้วนําหุ้นของโจทก์ที่ลดลงไปเพิ่มในสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ชอบขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้โจทก์กลับมาถือหุ้นของโจทก์ตามเดิม ซึ่งเลขหมายใบหุ้นบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถือครองอยู่ และบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนไปให้บุคคลอื่นแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในเวลาต่อมาจึงเป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยตรง จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคําพิพากษาศาลชั้นต้นและฎีกาโต้แย้งคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้
ที่จำเลยที่ 2 ให้การตอนแรกว่า จำเลยที่ 2 มอบหุ้นให้โจทก์เพื่อตอบแทนการที่โจทก์จะช่วยเหลือทำงานจนกว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับประทานบัตรและประกอบธุรกิจเหมืองแร่ เป็นเพียงการบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ชําระค่าหุ้นด้วยแรงงานซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถชําระค่าหุ้นด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1108 (5) ส่วนที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อมาว่า โจทก์ไม่ได้ชําระค่าหุ้นหากฟังว่าโจทก์ชําระค่าหุ้น โจทก์ก็ได้รับค่าหุ้นคืนจากจำเลยที่ 2 แล้ว และบรรยายต่อมาว่า โจทก์ได้รับหุ้น ต่อมาจำเลยที่ 2 ชําระค่าหุ้นดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์แล้ว ถือเป็นเพียงการบรรยายรายละเอียดเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ให้ชัดแจ้งเท่านั้น คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ขัดแย้งกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย
จำเลยที่ 2 ให้การและนําสืบในทำนองว่า โจทก์ไม่ได้ชําระค่าหุ้นจึงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ตกลงมอบหุ้นให้โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการที่โจทก์จะทำงาน แต่โจทก์ทำไม่ได้ตามที่ตกลงและจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมาโดยตลอด จึงได้มีการพูดคุยปรับสัดส่วนในการถือหุ้นของโจทก์ ซึ่งโจทก์ให้ความยินยอมในการปรับลดหุ้นทุกครั้ง หลังจากจำเลยที่ 2 ปรับลดหุ้นของโจทก์ไปเป็นของตนเองแล้วได้ขายหุ้นให้ พ. ซึ่งชําระค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วนและยังพยายามหาทางเอากิจการของจำเลยที่ 1 ไปเป็นของตนเอง โดยมีพฤติการณ์ร่วมกันกับโจทก์ในการถอดถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาคำให้การของจำเลยที่ 2 โดยรวมพอถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การและต่อสู้ว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยที่ 2 โดยเห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ
เมื่อเริ่มจัดตั้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้นําส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ทั้งโจทก์มีใบสำคัญรับชําระเงินลงหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับเงินไว้มาแสดง ข้ออ้างที่ว่าโจทก์ได้รับเงินค่าหุ้นคืนแล้วก็ไม่ปรากฏการบันทึกเป็นหลักฐาน ทั้งไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 2 มอบหุ้นให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานจนเสร็จแต่โจทก์ทำไม่ได้ตามที่ตกลงกัน นอกจากนี้จำเลยที่ 2 นําสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในการปรับลดหุ้นของโจทก์ทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 เคารพสิทธิของโจทก์ในการเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง พยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมีน้ำหนักเชื่อได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งอ้างว่ากระทำโดยไม่ชอบ ทั้งไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง
แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยจัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้นคนใดรวมถึงโจทก์ แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 แก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์หลายครั้งจนเหลือเพียง 500 หุ้น โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์โอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โจทก์จึงยังเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 จำนวน 3,000 หุ้น ตามที่มีอยู่เดิม เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์จำนวน 2,500 หุ้น ไปเป็นของตนเองโดยไม่ชอบ และจำเลยที่ 2 ยังถือหุ้นจำเลยที่ 1 อยู่จำนวน 4,000 หุ้น ซึ่งสามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ จึงชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 จำนวน 2,500 หุ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้น, บันทึกข้อตกลง, และการระงับข้อพิพาท: สิทธิในการเรียกร้องหุ้นคืนหลังทำข้อตกลงประนีประนอม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุว่าการบังคับตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ได้เพราะจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1139 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ฟ้องว่าอ้าง จำเลยที่ 2 จัดทำสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์แล้วนำหุ้นของโจทก์ที่ลดลงไปเพิ่มในสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ชอบขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้โจทก์กลับมาถือหุ้นของโจทก์ตามเดิม ซึ่งเลขหมายใบหุ้นบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถือครองอยู่ และบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนไปให้บุคคลอื่นแล้ว คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยตรง จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้
เมื่อเริ่มจัดตั้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ทั้งโจทก์มีใบสำคัญรับชำระเงินลงหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับเงินไว้มาแสดง และจำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ที่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในการปรับลดหุ้นของโจทก์ทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 เคารพสิทธิของโจทก็ในการเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักเชื่อได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งอ้างว่ากระทำโดยไม่ชอบ
แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยจัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้นคนใดรวมถึงโจทก์แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 แก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์หลายครั้งและสุดท้ายไม่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์โอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เดิม
หลังจากเกิดข้อพาทเกี่ยวกับการโอนหุ้นโดยมิชอบ โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้เจรจาและทำบันทึกข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 2 ตกลงยกหุ้นของตนในบริษัทจำเลยที่ 1 บางส่วนให้แก่โจทก์และพี่สาวโจทก์ โดยโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกัน ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทำสัญญานี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจฟ้องร้องดำเนินคดีหรือเรียกร้องสิ่งอื่นใดต่อกันอีก ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ตกลงประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 อันมีผลให้ข้อเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิมนั้นได้ระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเอาหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนให้แก่ตนเองโดยมิชอบได้ คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 โอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงเท่านั้น แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และทางพิจารณามีการนำสืบต่อสู้เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงมาแล้ว ศาลย่อมวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ เมื่อปรากฏตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า จำเลยที่ 2 ยังถือหุ้นจำเลยที่ 1 ซึ่งสามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ จึงชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลง
เมื่อโจทก์ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมมีผลผูกพันให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม การจะเลิกบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาจะกระทำได้ต่อเมื่อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจบอกเลิกโดยอำเภอใจ เมื่อบันทึกข้อตกลงไม่ได้ให้สิทธิคู่สัญญาที่จะบอกเลิกข้อตกลงและไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะบอกเลิกข้อตกลงแล้ว การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่ชอบ โจทก์และจำเลยที่ 2 จึงคงต้องผูกพันและปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2868/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสัญญาทํางานและค่าเสียหาย: แม้มีคำสั่งรับกลับเข้าทำงาน แต่สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายสิ้นสุดเมื่อเลิกจ้าง
นิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงไม่ว่าจะกรณีใด สิทธิและหน้าที่อันเกิดจากการปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไปด้วย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง น้ำมัน ค่าเที่ยว หรือค่าโทรศัพท์ตามสัญญาจ้างแรงงานให้แก่โจทก์อีกต่อไป เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์อีก
แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งที่ 378/2561 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงาน เพราะเห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวก็เป็นเพียงการใช้อำนาจตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์กำหนดไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการถือเสมือนว่าจำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ อำนาจการรับโจทก์กลับเข้าทำงานจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมเพื่อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานเดิมย่อมเป็นของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เพราะหากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานอาจต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ต่อเนื่องไปตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างซึ่งเป็นวันที่สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงแล้วได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1771/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความระงับสิทธิเรียกร้อง: ผลกระทบต่อคดีในไทย & การขัดกันแห่งกฎหมาย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าโจทก์ทั้งห้าและจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือต่อศาลในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากเหตุเรือโดนกันเดียวกับคดีนี้ และโจทก์ทั้งห้าได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไปแล้ว เพียงแต่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างถึงขอบเขตของการมีผลบังคับของสัญญาประนีประนอมยอมความนี้แตกต่างกัน จึงต้องวินิจฉัยในเรื่องผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวคู่สัญญาตกลงให้หนี้อันเกิดจากเหตุเรือโดนกันระงับสิ้นไปหรือไม่เพียงใด โดยต้องตีความจากเจตนาของคู่สัญญาซึ่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นสำคัญ คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างเป็นนิติบุคคลต่างสัญชาติกัน โจทก์ทั้งห้าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศปานามา ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวที่ประเทศญี่ปุ่น การวินิจฉัยตีความเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่พิพาทกันคดีนี้ว่าจะต้องนำบทบัญญัติใดมาใช้บังคับนั้นย่อมเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง แม้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว คู่สัญญามิได้ระบุข้อความในสัญญาว่าให้ใช้กฎหมายใดบังคับแก่ผลแห่งสัญญา จึงไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งของคู่สัญญาได้ แต่หลังเกิดเหตุเรือโดนกันจำเลยยื่นคำร้องขอเริ่มต้นคดีตาม พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือ ที่ศาลแขวงโอกายามะ ประเทศญี่ปุ่น ศาลดังกล่าวมีคำสั่งอนุญาตให้เริ่มคดีโดยแต่งตั้งผู้บริหารจัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้พิจารณาข้อเรียกร้องและจัดทำตารางส่วนแบ่งเงินกองทุนการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือเสนอต่อศาล ต่อมาโจทก์ทั้งห้ายื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารจัดการกองทุน ภายหลังที่มีการพิจารณาโดยผู้บริหารจัดการกองทุนแล้ว ปรากฏว่าจำนวนเงินตามข้อเรียกร้องเป็นที่ยอมรับได้โดยเจ้าหนี้แต่ละราย จึงตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ประกอบกับฝ่ายโจทก์เองได้เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวโดยความสมัครใจ อีกทั้งมีข้อความระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยว่า การทำสัญญาให้มีผลทางกฎหมายเช่นเดียวกับการมีคำพิพากษา โดยมีการอ้างถึง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นในเงื่อนไขของสัญญาด้วย ถือได้ว่าคู่สัญญามีเจตนาให้ใช้กฎหมายญี่ปุ่นบังคับแก่ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนี้
ส่วนการที่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้ขอสงวนสิทธิตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นไว้ จะทำให้สิทธิ์เรียกร้องของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้ระงับสิ้นไปหรือไม่ และตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะข้อเรียกร้องอื่นในคดีที่ยื่นฟ้องในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น จำเลยยังต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องคดีนี้ด้วยหรือไม่นั้น เมื่อโจทก์ทั้งห้าเรียกร้องให้กำหนดข้อสงวนไว้ในสัญญาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลกระทบต่อคดีที่ดำเนินการที่ประเทศไทย แต่ฝ่ายจำเลยปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงทำให้ไม่มีข้อสงวนเกี่ยวกับการฟ้องคดีนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ พฤติการณ์ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งห้าทราบดีถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวรวมทั้งเข้าใจกระบวนการการขอสงวนสิทธิอันเป็นผลตามกฎหมายของมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นแล้ว และในที่สุดโจทก์ทั้งห้าได้ตกลงตามข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย ถือได้ว่าโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีระหว่างกันซึ่งรวมถึงข้อพิพาทที่มีการดำเนินคดีที่ศาลไทยด้วย การที่โจทก์ทั้งห้าตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยไม่ได้ระบุข้อสงวนสิทธิในการดำเนินคดีที่ศาลไทยไว้ในสัญญา เท่ากับโจทก์ทั้งห้าตกลงยินยอมที่จะไม่ดำเนินคดีนอกเหนือจากกระบวนพิจารณาคดีการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือที่ศาลในประเทศญี่ปุ่น และเมื่อโจทก์ทั้งห้าได้รับชำระเงินจากกองทุนตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้า ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ประเทศญี่ปุ่น ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายตามฟ้องของโจทก์ทั้งห้าระงับสิ้นไปทั้งหมด
แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจำกัดความรับผิดเพื่อสิทธิเรียกร้องทางทะเล ค.ศ. 1976 และคำพิพากษาของศาลประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยแล้วว่า ให้นำ พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือ มาใช้บังคับแก่คดีนี้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง อีกทั้งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีมูลหนี้ที่เกิดจากเหตุเรือโดนกันเดียวกับคดีนี้เป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว ตามมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.การจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่น โดยที่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย ศาลไทยย่อมนำหลักกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทคดีนี้มาใช้บังคับได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 5 ดังนั้น การมิได้เป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายซึ่งมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และมีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งในประเทศที่ทำสัญญาและประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1633/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่โอนไปให้บุคคลอื่นโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องให้บังคับชำระหนี้ได้
แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาอำพรางไม่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และมาตรา 234

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก สิทธิเรียกร้องของวัดแก้วฟ้า และผลบังคับตามบันทึกข้อตกลง
บันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง มีข้อความระบุไว้ในสาระสำคัญว่า โจทก์ทั้งสิบห้าตกลงถอนฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่พิพาทและถวายเงิน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่วัดแก้วฟ้าทันทีที่ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในโครงการซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัดแก้วฟ้า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมีโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้องเป็นคู่สัญญาระหว่างกัน โดยมีวัดแก้วฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งวัดแก้วฟ้ามีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาโดยตรงได้ แม้ผู้ร้องกับฝ่ายโจทก์จะไม่มีมูลหนี้ต่อกันและกรณีมิใช่สัญญาให้ที่ผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินดังกล่าวแก่วัดแก้วฟ้าจึงไม่ตกอยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 523 ทั้ง ส. ตัวแทนวัดแก้วฟ้าแถลงต่อศาลชั้นต้นในวันนัดพร้อมว่า วัดแก้วฟ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี หากจะให้วัดแก้วฟ้าชี้แนวเขตที่ดินเพื่อรับเงินดังกล่าว โดยยังไม่ทราบว่าจะนำเงินไปดำเนินการในกิจการใด ไม่สามารถกระทำได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 วัดแก้วฟ้ายื่นใบแจ้งความประสงค์ต่อศาลชั้นต้นขอรับเงินดังกล่าวซึ่งผู้ร้องวางไว้ อันเป็นการแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากบันทึกข้อตกลงซึ่งโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง ทำขึ้นระหว่างกัน สิทธิของวัดแก้วฟ้า ตามบันทึกข้อตกลงย่อมเกิดมีขึ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรสำหรับที่ดินในโครงการที่กล่าวไว้ในบันทึกข้อตกลงซึ่งมีแนวเขตที่ดินที่ผู้ร้องประสงค์ให้วัดแก้วฟ้ามาชี้ระวังแนวเขตที่ดินด้วย เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะต้องรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 2626 และ 2627 ของผู้ร้องตามแนวตะเข็บที่ดินที่ติดกับลำรางสาธารณประโยชน์ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างที่ดินของผู้ร้องกับวัดแก้วฟ้าออกไปเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 49728 หรือไม่ก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในโครงการซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัดแก้วฟ้า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันเป็นเงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงซึ่งระบุให้ผู้ร้องต้องถวายเงินแก่วัดแก้วฟ้า ผู้ร้องจึงต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ผู้ร้องหาอาจระงับสิทธิของวัดแก้วฟ้าโดยขอรับเงินที่วางไว้คืนไปจากศาลได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 375
โจทก์ทั้งสิบห้า จำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง ทำบันทึกข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการถอนฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่พิพาทและถวายเงิน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่วัดแก้วฟ้า ด้วยเจตนาให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นสืบเนื่องจากบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบห้าในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์เพื่อให้เกิดสภาพบังคับตามบันทึกข้อตกลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินมรดก: สิทธิยังไม่บริบูรณ์ก่อนจำนอง ห้ามใช้บังคับกับบุคคลภายนอก
ข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์เกินจากส่วนที่จำเลยได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งเป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นั้น เป็นข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้กล่าวอ้างตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำร้อง และนำสืบไว้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
แม้เดิมสิทธิตามส่วนในที่ดินพิพาทของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นสิทธิที่ได้มาจากการรับมรดกจากเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างอันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อต่อมาผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยและทายาทอื่นได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมให้ได้รับมรดกที่ดินพิพาท ย่อมมีผลทำให้การเรียกร้องในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกระงับสิ้นไปและทำให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 และทายาทอื่นได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ตามส่วนในที่ดินพิพาทที่ได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม เมื่อยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปรากฏชื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในทะเบียนที่ดิน สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคงมีผลผูกพันและบังคับได้ระหว่างคู่กรณีตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะบุคคลสิทธิ โดยไม่อาจกล่าวอ้างหรือบังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ การที่จำเลยนำที่ดินพิพาทในส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในขณะที่สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สินนั้น โดยยังคงให้ปรากฏชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จะอ้างบทบัญญัติมาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 อันมีผลเป็นการบังคับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6104/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ต้องระบุการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลและผู้กระทำต้องรู้
คำฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แม้พอจับใจความได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เนื่องจากผิดสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่การโอนทรัพย์ไปให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น จะต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และผู้กระทำก็ต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุเช่นนั้น คงบรรยายเพียงว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยคาดหมายว่าโจทก์อาจฟ้องร้องบังคับคดีเท่านั้น คำฟ้องโจทก์ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
of 174