คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ป่าสงวน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 177 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3969/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากทำลายทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวน: การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ และกระบวนการพิจารณาคดี
ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 26/4 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลาย หรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น" และมาตรา 26/5 บัญญัติว่า "ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาให้เรียกค่าเสียหายตามมาตรา 26/4 ไปในคราวเดียวกัน" จึงเป็นกรณีที่มาตรา 26/4 กำหนดความรับผิดของผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแก่รัฐ มิใช่โทษในทางอาญา ส่วนวิธีการเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวมาตรา 26/5 กำหนดให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 26/4 เข้ามาพร้อมกับคำฟ้องคดีอาญา อันมีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติซึ่งไม่ต้องห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง แม้คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกกระทำความผิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ที่ให้เพิ่มมาตรา 26/4 และมาตรา 26/5 มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสามซึ่งถูกฟ้องว่าร่วมกันทำลายทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติแก่กรมป่าไม้ไปในคราวเดียวกัน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลล่างทั้งสองมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยยังมิได้สอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง และโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2560-2568/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรักษาสภาพป่าไม้: แม้ไม่มีเจตนาผิด แต่การบุกรุกป่าสงวนฯ ยังคงมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ
แม้ศาลจะมิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม แต่ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ หากผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองหรือทำประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมมีความผิด การที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุโดยไม่มีเหตุจะอ้างโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีผลต่อการรักษาสภาพป่าไม้ของป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุจึงชอบด้วยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 แล้ว มิฉะนั้น ผู้ที่ศาลมิได้พิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิดเพราะขาดเจตนากระทำความผิดก็จะสามารถอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติหรือป่าได้ทั้งที่ไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่จะอยู่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนและอุทยานฯ ศาลฎีกาแก้ไขบทลงโทษให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยล่าสัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนหรือมิใช่ ด้วยการใช้นกกางเขนดงอันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนกใส่กรงแขวนไว้บนต้นไม้เพื่อล่อดักจับสัตว์ป่าในเขตป่ากรุงชิงซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และเป็นการเก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 4, 19, 43, 45 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง และฐานกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (3), 43 แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (3), 43 มาด้วย เป็นการไม่ชอบ และความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฐานกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติต่างกรรมกับความผิดฐานอื่นมานั้น เป็นการไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยไม่เพิ่มโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ การกระทำความผิดกรรมเดียวแต่หลายบท และการแก้ไขปรับบทโทษ
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย บัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐานในการลงโทษจำเลย แต่เป็นการห้ามมิให้รับฟังเฉพาะคำรับสารภาพของจำเลยเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยนั้นเอง มิได้ห้ามรับฟังถ้อยคำในชั้นจับกุมของจำเลยอื่นด้วยแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลย่อมนำถ้อยคำในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกที่พาดพิงว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกระทำความผิดด้วย มารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ และคำให้การในชั้นสอบสวนถือเป็นพยานบอกเล่าและพยานซัดทอด แต่กฎหมายมิได้ห้ามรับฟังเสียทีเดียว หากมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานประกอบอื่นมาสนับสนุน ก็สามารถรับฟังลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 227/1
ป่าที่เกิดเหตุเป็นเขตอุทยานแห่งชาติและเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การล่าสัตว์ป่าคุ้มครองจึงเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่งด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานนี้เป็นการไม่ชอบ และความผิดฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติกับความผิดฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฐานร่วมกันกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ และฐานร่วมกันยิงปืนในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติต่างกรรมกับความผิดฐานอื่นจึงไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3646/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การชดใช้ค่าเสียหาย และการปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยมีข้ออ้างและคำขออย่างเดียวกันมาพร้อมกับฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งไปแล้ว การที่จำเลยยังคงฎีกาในประเด็นดังกล่าวโดยขอให้ศาลฎีกาส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและรอการพิพากษาคดีไว้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน มีผลบังคับใช้วันที่ 17 มิถุนายน 2557 ในคำสั่งข้อ 6 เมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวเห็นว่าเป็นเพียงคำสั่งทางบริหารที่กำหนดแนวนโยบายการปฏิบัติงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินเท่านั้น คำสั่งดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ไม่มีความผิด หรือมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือให้งดเว้นการดำเนินคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวยังมีความผิดตามกฎหมายอยู่ไม่ว่าบุคคลนั้นจะบุกรุกเข้าทำประโยชน์ก่อนหรือหลังวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำเลยไม่อาจที่จะอ้างคำสั่งดังกล่าวว่าตนได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุมาก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เพื่อลบล้างความผิดของจำเลยได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งขณะนั้นจำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซี่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายเดิมยังมีผลใช้บังคับและขณะที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้ว การกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 จึงชอบที่จะต้องนำ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาในส่วนนี้ว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า ถือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
กรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยกรมป่าไม้มีอำนาจหน้าที่ ควบคุม กำกับดูแล ป้องกันการบุกรุก ทำลายป่าและการกระทำผิดในพื้นที่รับผิดชอบตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยพื้นที่เกิดเหตุในคดีนี้อยู่ภายในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ การเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาตินั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรืออธิบดีกรมป่าไม้โดยการอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมาตรา ๑๕ ถึง ๒๔ แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ทั้งยังต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าแล้วแต่กรณีด้วย โดยกฎหมายและข้อกำหนดดังกล่าวมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงถือว่าจำเลยและประชาชนทั่วไปทราบถึงข้อบังคับตามกฎหมายดังกล่าวโดยทั่วกันแล้ว การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำลายป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยยังตั้งและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ ๓ โดยนำรถขุดไฮดรอลิก (แบ็กโฮ) ขุดหรือลอกกรวด ทรายหรือดินและบรรทุกดินทราย เพื่อประโยชน์ทางการค้าของจำเลย ที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นจำเลยร่วมกันลักขุดทราย ๑๙๕,๙๘๙.๕๘ ลูกบาศก์เมตร ราคา ๕๗,๖๙๗,๓๖๖.๕๖ บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้เสียหาย ไปโดยทุจริต โดยพฤติการณ์การกระทำความผิดดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากและใช้ระยะเวลานานประมาณ ๓ ปี ๔ เดือน ลักษณะของการกระทำความผิดดังกล่าวไม่สามารถกระทำผิดแต่เพียงลำพังคนเดียว แสดงว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดขุดทรายจำนวนมากซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐออกไปจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุอันเป็นที่ดินของรัฐและอยู่ในอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมายของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและผู้อื่น จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จำเลยจึงต้องรับผิดคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2121/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองป่าสงวนโดยไม่ชอบกฎหมาย ศาลสั่งให้จำเลยออกจากพื้นที่ แม้คืนพื้นที่บางส่วน
คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เข้ายึดถือครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุเนื้อที่ 141 ไร่ 46 ตารางวา โดยไม่มีสิทธิอันจะอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยที่ 2 จึงต้องออกไปจากที่เกิดเหตุ แต่ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 คืนที่ดินที่เกิดเหตุให้แก่รัฐคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 43 ไร่ เท่านั้น แสดงว่า จำเลยที่ 2 คืนที่ดินที่เกิดเหตุให้แก่รัฐแต่เพียงบางส่วน ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยที่ 2 ออกไปจากป่าและป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุจึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยที่ ๒ ออกไปจากป่าและป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุได้
of 18