คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
พ.ร.บ.เช็ค

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 118 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3531-3532/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คไม่มีมูลหนี้จริงและผู้ทรงเช็คไม่มีอำนาจฟ้อง การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค้ำประกันค่าแชร์ ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค
ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น ต้องเป็นการออกเช็คที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เมื่อหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยซึ่งเป็นหนี้ประธานระงับสิ้นไป หนี้จำนองและหนี้ค้ำประกันซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมระงับไปด้วย เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อชำระเกี่ยวกับหนี้อุปกรณ์ดังกล่าวจึงไม่มีมูลหนี้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม บทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447-3448/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.เช็ค: สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งทำให้สิทธิฟ้องคดีอาญาในความผิดตาม พ.ร.บ.เช็คระงับ
ในคดีแพ่งโจทก์ร่วมกับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในมูลหนี้ตามเช็คพิพาท อันเป็นผลให้หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ซึ่งเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มิใช่กรณีคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3)ส่วนการที่สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งไม่มีข้อตกลงอันจะถือว่าเป็นการยอมความในคดีส่วนอาญาก็ดี และโจทก์ร่วมยังไม่ถอนคำร้องทุกข์ก็ดีก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) เท่านั้นซึ่งเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับคดีเลิกกันตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2589/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คไม่มีหลักฐานบังคับคดี การออกเช็คไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค
++ เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ++
++ ทดสอบทำงานในเครื่อง เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++
++ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมจำนวน 240,000 บาท กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2540 ตามสัญญากู้เงิน เอกสารหมาย จ.5 เมื่อสัญญาครบกำหนด จำเลยขอผัดผ่อนการชำระหนี้ไปอีก 2 เดือน โดยทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.6 พร้อมออกเช็คพิพาทจำนวนเงิน240,000 บาท ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมตามเอกสารหมายจ.3 เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนด โจทก์ร่วมได้นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลว่า บัญชีปิดแล้ว สำหรับสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยนั้น ปรากฏว่ายังมิได้ปิดอากรแสตมป์
++ คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่
++ เห็นว่า เมื่อสัญญากู้อันเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาทมิได้ปิดอากรแสตมป์ ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการทำสัญญากู้กันเป็นหนังสืออันถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ เมื่อการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยมีจำนวนกว่าห้าสิบบาทขึ้นไป หนี้ตามสัญญากู้ดังกล่าวจึงไม่อาจจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 แม้โจทก์ร่วมจะได้ยื่นสัญญากู้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอเสียอากร และได้รับอนุมัติให้เสียอากรพร้อมกับเรียกเก็บเงินเพิ่มอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 113ภายหลังเมื่อได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อันมีผลให้ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ดังที่โจทก์ร่วมอ้างก็ตาม แต่ก็เป็นการทำให้หนี้นั้นมีหลักฐานและสามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ในภายหลังจากวันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดให้ใช้เงินอันถือว่าเป็นวันที่ออกเช็คแล้ว
++ ดังนั้น เมื่อวันที่จำเลยออกเช็ค หนี้ตามสัญญากู้รายนี้ยังไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายการกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย และขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ++

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2276/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งต่อการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ. เช็ค
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ (มาตรา 7) โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งมีใจความว่า หากจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วโจทก์จะถอนฟ้องคดีนี้และให้ถือว่าคดีเป็นอันเลิกกัน ตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยว่าประสงค์ให้คดีส่วนอาญาเลิกกันต่อเมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว หาใช่มีเจตนาให้คดีอาญาเลิกกันทันทีนับแต่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวคงมีผลให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เดิม และได้สิทธิใหม่ตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เท่านั้น
เมื่อโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญามิได้มีเจตนาให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปด้วยในขณะที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงถือไม่ได้ว่ามีการยอมความในคดีอาญา อันเป็นผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับสิ้นไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39(2)
การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีอยู่ตามเช็คพิพาทระงับสิ้นไป โจทก์ย่อมได้สิทธิเรียกร้องใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น และถือว่าหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5325/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาทกับการบอกเลิกสัญญาซื้อขาย: ความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค ยังคงมีอยู่
จำเลยและภริยาทำสัญญาซื้อขายที่ดิน พร้อมกิจการ รวมทั้งอุปกรณ์การผลิตและจำหน่ายทรายจากโจทก์ โดยชำระราคาด้วยเงินสดบางส่วน ส่วนที่เหลือชำระด้วยเช็คซึ่งมีเช็คพิพาทของจำเลยอยู่ด้วย โจทก์ได้โอนและมอบทรัพย์สินตามสัญญาดังกล่าวแก่จำเลยและภริยาแล้วตั้งแต่ก่อนเช็คพิพาทถึงกำหนดใช้เงิน แต่เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งด้วยเรื่องผิดสัญญาซื้อขาย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง แม้จำเลยยังมีข้อต่อสู้คดีอยู่ ไม่แน่นอนว่าศาลจะพิพากษาคดีเป็นประการใดการบอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่ และคดียังไม่ถึงที่สุด กรณีจึงแตกต่างจากการที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงถือไม่ได้ว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อให้ใช้เงินสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงยังไม่เลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5012/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงลายมือชื่อรับสภาพหนี้ ไม่ถือเป็นความผิด พ.ร.บ. เช็ค หากไม่มีส่วนร่วมออกเช็ค
แม้บันทึกการชำระค่าสินค้า มีข้อความว่า บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและในฐานะส่วนตัวได้ชำระค่าสินค้าวัสดุก่อสร้างและค่าขนส่งที่ยังค้างชำระให้แก่บริษัทโจทก์โดยชำระเป็นเช็ค 5 ฉบับ ตามที่ระบุไว้ ซึ่งมีเช็คพิพาทรวมอยู่ด้วย และท้ายบันทึกมีลายมือชื่อจำเลยที่ 3 ลงไว้ในช่องผู้ทำบันทึกพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และตามใบสำคัญการจ่ายมีข้อความระบุว่าเป็นใบสำคัญการจ่ายของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ชำระค่าสินค้าบางส่วนโดยเช็คพิพาทให้แก่บริษัทโจทก์ ซึ่งตอนท้ายเอกสารมีลายมือชื่อจำเลยที่ 3 ก็ตาม เอกสารดังกล่าวก็เป็นแต่เพียงบันทึกที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คชำระหนี้โจทก์จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีเช็คพิพาทรวมอยู่ด้วยเท่านั้น การที่จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวโดยจำเลยที่ 3ไม่มีส่วนร่วมในการออกเช็คพิพาท ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกเช็คชำระหนี้หลังแปลงหนี้เดิมเป็นหนี้ใหม่ ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค
แม้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับ จ. มิได้มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือจ. เพียงแต่ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน4 ฉบับ มอบให้โจทก์ไว้ และการออกเช็คของ จ. อาจจะมิใช่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ก็ตาม แต่เมื่อเช็ค ดังกล่าวไม่มีการชำระเงินตามที่ จ. สั่งจ่ายย่อมเกิดเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับ จ. ตามจำนวนเงินที่ระบุในเช็คนั้นทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 898,900 วรรคหนึ่งซึ่งต่อมาเมื่อ จ. ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้จึงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาชำระหนี้แก่โจทก์แทน โดยจำเลยที่ 2ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์ไว้อันเป็นการแปลงหนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ตามเช็คมาเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อประทับตราจำเลยที่ 1ออกเช็คสั่งจ่ายเงินรวม 8 ฉบับ ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์รวมทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วย จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายตามความใน พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตาม สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวและต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาท ทั้งสองฉบับชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทชำระหนี้แทน จ. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ โดยจำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้โจทก์ และออกเช็คพิพาทชำระหนี้นั้น ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏใน การพิจารณาหาได้แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2060/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาออกเช็ค - การลงวันที่เช็ค - ความผิด พ.ร.บ. เช็ค - ไม่มีเจตนาทุจริต
ขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วมยังไม่มีการ ลงวันที่สั่งจ่ายไว้จึงย่อมถือได้ว่าไม่มีวันเดือนปีที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด การที่โจทก์ร่วมประทับตราวันเดือนปีลงในเช็ค แม้จะฟังว่าจำเลยยินยอม ก็มีผลเพียงเพื่อให้เช็คมีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมายใช้สิทธิฟ้องร้องกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การที่โจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินในขณะที่จำเลยไม่มีเงินในบัญชีเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามเช็คจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คเพื่อประกันการกู้ยืมเงิน ไม่ถือเป็นเช็คชำระหนี้ ไม่ผิด พ.ร.บ. เช็ค
จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 360,000 บาทและมีข้อความระบุไว้ในสัญญาว่า เพื่อเป็นหลักฐานในเงินซึ่งจำเลยได้กู้ไปนี้ จำเลยได้นำเช็คจำนวน 1 ฉบับ ให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันด้วยย่อมมีความหมายชัดแจ้งว่าเช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คที่จำเลยได้ออกให้แก่โจทก์เป็นหลักประกันในการที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป มิใช่เช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ แม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินจะมีข้อความว่า ในจำนวนเงินซึ่งจำเลยได้กู้ไปนี้ จำเลยจะนำมาใช้ให้โจทก์เสร็จภายในวันที่ลงไว้ในเช็คก็ตาม ก็จะตีความว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ไม่ได้ดังนี้ เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ มิได้ออกเพื่อชำระหนี้แล้ว จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534 มาตรา 4 แม้ต่อมาจำเลยจะได้ขอผัดผ่อนชำระเงินต้นคืนแก่โจทก์ และขอให้โจทก์อย่านำเช็คไปเรียกเก็บเงินก็ไม่หาให้จำเลยกลับมีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6937/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของคำฟ้องตาม พ.ร.บ.เช็ค: การอ้างมาตราในคำฟ้องมีผลตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มีบทบัญญัติรวมสิบเอ็ดมาตราเท่านั้น และมาตราที่บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้มีอยู่เฉพาะมาตรา 4 เพียงมาตราเดียว ในคำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายการกระทำผิดของจำเลยไว้ชัดแจ้งครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แล้ว จำเลยย่อมจะเข้าใจดีและไม่หลงต่อสู้เมื่อโจทก์ได้อ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง อีกทั้งระบุอ้างมาตรา 4 และชื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวไว้ที่หน้าคำฟ้องในช่องข้อหาหรือฐานความผิดแล้วเช่นนี้ ย่อมมีผลเท่ากับการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ.มาตรา 158 (6) แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
of 12