คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาซื้อขาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,003 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาซื้อขายกิจการทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คที่ออกไว้
แม้จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับซึ่งเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายกิจการ แต่ก่อนที่โจทก์จะนำเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ทั้งสองฝ่ายมีข้อขัดแย้งกันต่างฝ่ายต่างอ้างว่า อีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา กล่าวคือ จำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์จดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจรับจ้างเหมาแรงงานอันเป็นการค้าแข่งกับกิจการตามสัญญาที่มีต่อกัน ส่วนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 โอนกิจการของจำเลยที่ 1 ที่จะซื้อขายกันไปให้บริษัทอื่นในระหว่างผ่อนชำระหนี้ แม้เหตุในการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 โจทก์ยังโต้แย้งอยู่ว่าไม่มีข้อกำหนดในสัญญาให้สิทธิจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 และขอให้คืนกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 แก่โจทก์เท่ากับยอมรับที่จะเลิกสัญญากัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นผลผูกพันและทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อสัญญาเลิกกันจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือและมีสิทธิระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับ ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดนั้นได้ การที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับจึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาทุจริต จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขาย/จ้างเหมา: การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการเลิกสัญญากันโดยปริยาย
สัญญาซื้อขายและสัญญาจ้างเหมาที่มีกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้หรือเวลาส่งมอบงาน โจทก์ทั้งสองมีหนังสือขอเลื่อนการส่งมอบงาน จำเลยมีหนังสืออนุญาต แต่กำหนดเวลาให้โจทก์ทั้งสองเร่งงานให้เสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ในชั้นต้นแสดงว่าจำเลยถือเอากำหนดเวลาเป็นสำคัญ แต่เมื่อโจทก์ที่ 2 ขอขยายเวลาออกไปถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ตัวแทนโจทก์ทั้งสองและผู้จัดการโครงการของจำเลยประชุมกันขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ประกอบกับหลังพ้นวันที่ 15 มิถุนายน 2560 โจทก์ทั้งสองยังคงทำงานอยู่ โดยจำเลยมิได้บอกเลิกสัญญา และเมื่อมีการส่งมอบงานไม่ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมรับงานหรือสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยมิได้ถือเอากำหนดส่งมอบงานวันที่ 15 มิถุนายน 2560 เป็นสำคัญ และถือว่าเป็นสัญญาไม่มีกำหนดระยะเวลาส่งมอบงานแน่นอน การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้น ถ้าไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่พฤติการณ์ที่จำเลยบอกเลิกสัญญาและโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ ถือว่าคู่ความตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย โดยไม่ถือว่าโจทก์ทั้งสองผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสอง เมื่อสัญญาเลิกกัน โจทก์ทั้งสองและจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนงานอันได้กระทำให้ ให้ใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และเมื่อโจทก์ทั้งสองมิต้องรับผิดต่อจำเลย จำเลยจึงไม่อาจนำหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับไปเรียกให้ธนาคารรับผิดตามหนังสือค้ำประกันได้ จำเลยจึงมีหน้าที่เพียงคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินไม่จดทะเบียนเป็นโมฆะ & อายุความเรียกร้องคืนเงิน
สัญญาซื้อขายที่ดินที่คู่สัญญาไม่มีเจตนาไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง จำเลยผู้ขายจะต้องคืนเงินค่าที่ดินแก่ ส. ผู้ซื้อในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419
โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของ ส. มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินค่าซื้อที่ดินคืนตั้งแต่เมื่อใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่ ส. จะถึงแก่ความตาย ส. ได้ทวงถามเงินค่าซื้อที่ดินจากจำเลย พฤติการณ์เช่นนี้ ถือได้ว่า ส. รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนตั้งแต่ทวงถามแล้ว แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เวลาที่ ส. รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายทรัพย์สินพร้อมขาย: เงื่อนไขการชำระภาษีไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
เงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ชนะการแข่งขันราคาเป็นผู้ชำระค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งในเอกสารการประมูลทรัพย์สินพร้อมขาย โจทก์ที่ 5 ย่อมต้องทราบดีว่าหากตนชนะการแข่งขันและได้ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย โจทก์ที่ 5 จะต้องมีภาระภาษีจำนวนเท่าใด การที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ที่ 5 เป็นผู้รับภาระในการชำระค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาที่ทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ที่ 5 เกินสมควร อันจะเข้าลักษณะของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ดังนั้น โจทก์ที่ 5 รวมทั้งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ที่ได้รับอนุมัติจากจำเลยให้ร่วมรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินรวม 21 โฉนด จากจำเลย ต้องผูกพันตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่โจทก์ที่ 5 ทำไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5999/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีสัญญาซื้อขายของรัฐวิสาหกิจที่ไม่แสวงหากำไร และประเด็นฟ้องซ้ำ
โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีการดำเนินการด้านวิจัยสาขาต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเน้นในการให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการ การวิจัยมิใช่เป็นการประกอบการค้าซึ่งมุ่งแสวงหากำไรเป็นปกติธุระ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ทั้งโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา มิใช่ฟ้องเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น หรือเงินที่ได้ออกทดรองไป จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่กำหนดอายุความ 2 ปี และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3317/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายห้องชุด, การขยายเวลาโอนกรรมสิทธิ์, เบี้ยปรับ, การสงวนสิทธิ์เรียกค่าปรับ
คำแก้อุทธรณ์เป็นคำคู่ความ คู่ความจึงอาจตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินให้จำเลยชนะคดีก็ตามแต่ในส่วนที่วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยผิดสัญญาเป็นการวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาฟังไม่ขึ้น จำเลยย่อมมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่วินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาได้ แม้จำเลยมิได้ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ จำเลยได้โต้แย้งโดยกล่าวมาในคำแก้อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา คดีในชั้นอุทธรณ์จึงยังคงมีประเด็นข้อพิพาทในปัญหาว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่อยู่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
จำเลยก่อสร้างอาคารและห้องชุดไม่เสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ทันภายในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งเป็นกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่โจทก์จำเลยตกลงให้ขยายระยะเวลา จำเลยจึงผิดสัญญาข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดข้อ 7.4.2 ระบุว่า หากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้แล้ว โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.01 ของราคาห้องชุดแต่รวมกันแล้วไม่เกินร้อยละสิบของราคาห้องชุด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งวรรคสามของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิ์ไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้" เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้บอกสงวนสิทธิ์กับจำเลยไว้ว่าจะเรียกเอาค่าปรับจากการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดในสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปรับตามฟ้องจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินคืนจากสัญญาซื้อขายที่ดิน: สัญญาซื้อขายและบันทึกข้อตกลงมีอายุความ 10 ปี
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากจำเลย มีบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าหากรังวัดที่แล้ว ปรากฏว่ามีเนื้อที่ไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในโฉนดที่ดิน จำเลยยินยอมคืนเงินโจทก์ตามส่วนที่ดินซึ่งขาดไป เป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดิน โดยมีข้อตกลงการคืนเงิน ถ้าที่ดินไม่ครบถ้วน เมื่อรังวัดที่ดินแล้ว พบว่าที่ดินขาดหายไปบางส่วนจริง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อเรียกเงินราคาที่ดินบางส่วนคืน เป็นกรณีสืบเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน จะนำอายุความ 1 ปี ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 มาบังคับไม่ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับใช้อายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายจากหนี้ที่เกิดจากสัญญาซื้อขายไม้ยางพารา การพิสูจน์หนี้และการสันนิษฐานเรื่องหนี้สินล้นพ้นตัว
จำเลยเบิกเงินจากโจทก์เพื่อนำไปซื้อไม้ยางพาราจากเจ้าของสวนแล้วนำมาขายให้แก่โจทก์ จากนั้นจึงหักทอนบัญชีกัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่มิได้กำหนดแยกประเภทเป็นเอกเทศสัญญาไว้ใน ป.พ.พ. แต่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องชำระหนี้ต่อกันตามสัญญาดังกล่าว แม้โจทก์ฟ้องคดีตั้งรูปเรื่องมาว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืม แต่ก็ได้บรรยายฟ้องและนำสืบเข้าลักษณะสัญญาประเภทหนึ่งที่บังคับกันได้ดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น ซึ่งในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายที่ถูกต้องมาปรับแก่คดีได้
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น หาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ โจทก์จึงไม่จำต้องนำหนี้ดังกล่าวไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งก่อนที่จะฟ้องคดีล้มละลาย เมื่อรายการตัดทอนบัญชีระบุว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โจทก์ย่อมมีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 450/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟ้องแย้งค่าเสียโอกาสทางธุรกิจจากสัญญาซื้อขายที่ดิน: มูลหนี้เกี่ยวเนื่องกับฟ้องเดิมหรือไม่
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 7 โฉนด เนื่องจากจำเลยปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินตามสัญญาแปลงหนึ่งว่าไม่ได้อยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ทั้งที่จำเลยยังมีคดีพิพาทกับเจ้าของที่ดินเดิมเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว อันเป็นการผิดคำรับรองที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย ขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำและใช้เบี้ยปรับตามสัญญา จำเลยให้การว่า จำเลยแจ้งเรื่องข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับเจ้าของที่ดินเดิมให้โจทก์ทราบแล้ว จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินมัดจำ ค่าปรับหรือค่าเสียหายจากจำเลย และฟ้องแย้งว่าโจทก์ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวพร้อมอาคารสำนักงานขายและใบอนุญาตที่จำเลยได้รับอนุญาตให้จัดทำโครงการและก่อสร้างคอนโดมิเนียมจากจำเลย โครงการดังกล่าวจำเลยสร้างเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้า หากจำหน่ายหมดจะมีกำไร 283,160,000 บาท การที่โจทก์ผิดสัญญา ไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วไม่ส่งมอบพื้นที่และอาคารสำนักงานขายคืนแก่จำเลยในสภาพเดิมและโอนสิทธิใบอนุญาตกลับคืนให้จำเลย ทำให้จำเลยเสียโอกาสในทางธุรกิจ ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าว สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องแย้ง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าได้รับความเสียหายเป็นค่าเสียโอกาสในการทำธุรกิจที่จะได้กำไรจากการก่อสร้างและจำหน่ายห้องชุดด้วยตนเอง เพราะโจทก์ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับเดียวกัน และโจทก์ทราบรายละเอียดโครงการของจำเลยมาตั้งแต่ต้น ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆียะกรรม สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทสำคัญผิดในคุณสมบัติทรัพย์สิน ค่าเสื่อมราคาชดใช้
ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คู่กรณีได้กลับคืนฐานะเดิมทุกกรณี แม้การคืนทรัพย์จะพ้นวิสัยก็ต้องกำหนดค่าเสียหายแทน โดยการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้นอาจเกิดจากการคืนทรัพย์ที่เคยรับไว้ให้แก่คู่กรณีไม่ได้เพราะทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลายหมดสิ้นจึงไม่อาจคืนกันได้ หรือคืนได้แต่ทรัพย์นั้นมีความชำรุดบกพร่องหรือบุบสลายไปบางส่วน ส่วนที่ชำรุดบกพร่องหรือบุบสลายไปนั้น ถือเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ฝ่ายมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์จึงต้องใช้ค่าเสียหายแทน ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงความสุจริตของฝ่ายที่รับทรัพย์สินนั้นเลยว่าจะได้รับทรัพย์สินนั้นไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถพิพาทให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2553 ซึ่งโจทก์ครอบครองใช้ประโยชน์ตลอดมา ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษอายัดรถพิพาทเพื่อตรวจสอบ แต่หลังจากนั้นเพียง 1 เดือนเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษคืนรถให้โจทก์กลับไปครอบครองดูแลโดยไม่ห้ามโจทก์นำรถออกใช้ประโยชน์ จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถพิพาทตลอดมา เมื่อนับตั้งแต่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถพิพาทให้โจทก์จนปัจจุบัน รวมเวลากว่า 13 ปี รถพิพาทย่อมชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมสภาพหรือเสื่อมราคา ทำให้ราคารถพิพาทลดลง กรณีจึงเป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์จะคืนรถแก่จำเลยที่ 1 ในสภาพเดิมได้ ค่าเสื่อมราคาจากการใช้ประโยชน์รถพิพาทของโจทก์เป็นค่าเสียหายชดใช้แทนที่ศาลมีอำนาจกำหนดให้ได้ แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การหรือนำสืบถึง สมควรกำหนดค่าเสื่อมราคารถพิพาทเป็นเงิน 16,000,000 บาท เมื่อนำไปหักออกจากราคารถพิพาท คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนแก่โจทก์ 23,000,000 บาท
of 201