พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,003 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาล: มูลคดีสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นได้ทั้งที่สำนักงานโจทก์และสถานที่จำเลย
ในการเสนอคำฟ้องนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่" คำว่า "มูลคดี" หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง มูลคดีของเรื่องนี้เป็นเรื่องสัญญาซื้อขาย การที่จำเลยที่ 2 หรือพนักงานร้าน บ. ของจำเลยที่ 2 โทรศัพท์สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 356 บัญญัติให้ถือว่าเป็นคำเสนอแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้าด้วยเช่นกันนั้น คงมีผลแต่เพียงว่า การที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ดังกล่าว หากมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองไว้ เสนอ ณ ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้นเท่านั้น มิได้บัญญัติไปถึงกับให้ถือว่าขณะนั้นทั้งผู้เสนอและผู้สนองอยู่ในสถานที่เดียวกันด้วย ข้อเท็จจริงยังคงต้องฟังว่า ขณะมีการเจรจาตกลงทำสัญญาซื้อขายรายนี้ จำเลยที่ 2 หรือพนักงานร้าน บ. ของจำเลยที่ 2 เจรจาอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนโจทก์เจรจาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ดังนั้น ทั้งจังหวัดสมุทรปราการที่โจทก์อยู่และจังหวัดกาญจนบุรีที่จำเลยที่ 2 อยู่ จึงต่างเป็นสถานที่ก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายรายนี้ร่วมกัน โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น (ศาลแขวงสมุทรปราการ) อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลได้ การที่จำเลยที่ 2 ผู้เสนอได้รับคำสนองรับจากโจทก์นั้นเป็นแต่เพียงข้อพิจารณาว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไม่เท่านั้น มิได้ทำให้สถานที่ที่จำเลยที่ 2 อยู่เป็นสถานที่มูลคดีเกิดเพียงแห่งเดียวแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายเฉพาะสิ่ง: การชำระหนี้และผลของการผิดสัญญา
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกให้คืนเงินค่ามัดจำ ค่าสินค้าที่รื้อถอนจากโรงงานพิพาทตามสัญญาและค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนโรงงานพิพาทที่จำเลยที่ 1 ได้สำรองจ่ายแทนโจทก์ไปตามบันทึกข้อตกลง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลก็ต้องวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ต่อไป ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่ตกไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายที่มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ ศาลมีอำนาจคุ้มครองประโยชน์ก่อนอนุญาโตตุลาการ
เหตุบกพร่องของสัญญาไม่ว่าจะเป็นการแสดงเจตนาลวงหรือกลฉ้อฉลของผู้คัดค้านอันนำไปสู่ข้ออ้างของผู้ร้องว่าเป็นการกระทำละเมิดของผู้คัดค้าน เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเนื้อหาและความสมบูรณ์ของสัญญาซื้อขาย จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาโดยตรง อีกทั้งการยกเหตุดังกล่าวถือเป็นการโต้เถียงในเรื่องความมีอยู่ของสัญญา และการมีผลใช้บังคับของสัญญา ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 การยื่นคำร้องคดีนี้จึงเป็นเรื่องสัญญา หาใช่มูลละเมิด และตามคำร้องดังกล่าวเป็นการตั้งสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับข้อโต้แย้งตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งจะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามข้อตกลงในสัญญา ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 16 ทั้งผู้ร้องกล่าวอ้างมาในคำร้องดังกล่าวแล้วว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์ตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปให้พ้นจากอำนาจศาล หรือจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่ผู้คัดค้านหรือเพื่อจะทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ย่อมมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) การที่ศาลชั้นต้นด่วนยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ไต่สวนให้ได้ความจริงว่าเป็นเช่นไรก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ