คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจศาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,218 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: มูลคดีสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นได้ทั้งที่สำนักงานโจทก์และสถานที่จำเลย
ในการเสนอคำฟ้องนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่" คำว่า "มูลคดี" หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง มูลคดีของเรื่องนี้เป็นเรื่องสัญญาซื้อขาย การที่จำเลยที่ 2 หรือพนักงานร้าน บ. ของจำเลยที่ 2 โทรศัพท์สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 356 บัญญัติให้ถือว่าเป็นคำเสนอแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้าด้วยเช่นกันนั้น คงมีผลแต่เพียงว่า การที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ดังกล่าว หากมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองไว้ เสนอ ณ ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้นเท่านั้น มิได้บัญญัติไปถึงกับให้ถือว่าขณะนั้นทั้งผู้เสนอและผู้สนองอยู่ในสถานที่เดียวกันด้วย ข้อเท็จจริงยังคงต้องฟังว่า ขณะมีการเจรจาตกลงทำสัญญาซื้อขายรายนี้ จำเลยที่ 2 หรือพนักงานร้าน บ. ของจำเลยที่ 2 เจรจาอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนโจทก์เจรจาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ดังนั้น ทั้งจังหวัดสมุทรปราการที่โจทก์อยู่และจังหวัดกาญจนบุรีที่จำเลยที่ 2 อยู่ จึงต่างเป็นสถานที่ก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายรายนี้ร่วมกัน โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น (ศาลแขวงสมุทรปราการ) อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลได้ การที่จำเลยที่ 2 ผู้เสนอได้รับคำสนองรับจากโจทก์นั้นเป็นแต่เพียงข้อพิจารณาว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไม่เท่านั้น มิได้ทำให้สถานที่ที่จำเลยที่ 2 อยู่เป็นสถานที่มูลคดีเกิดเพียงแห่งเดียวแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีอาญาเพื่อยื่นฟ้องใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจ และผลกระทบต่อคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่อง
โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงนครสวรรค์เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2097/2563 ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 ซึ่ง ป.อ. มาตรา 328 มีระวางโทษเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ ภายหลังโจทก์ขอถอนฟ้องเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ศาลแขวงนครสวรรค์มีคำสั่งอนุญาต และหลังจากนั้น 6 วัน โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ การถอนฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การถอนฟ้องเด็ดขาด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ที่จะพิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) แม้ศาลแขวงนครสวรรค์อาจปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาคดี อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ และเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดตามฟ้อง แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นคนละกรณีกับอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลแขวงนครสวรรค์ และการจะปรับบทลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 นั้น ศาลจะต้องมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเสียก่อน เมื่อศาลแขวงนครสวรรค์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ก็ไม่อาจปรับบทลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้
แม้คดีส่วนแพ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท แต่คดีส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อโจทก์อุทธรณ์คดีในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งได้โดยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตอุทธรณ์คดีส่วนแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3330/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีฉ้อโกงและการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่ง: ค่าขึ้นศาลในคดีอาญาและอำนาจศาล
คดีนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 252 กำหนดไว้ว่า ในคดีอาญาทั้งหลายห้ามมิให้ศาลยุติธรรมเรียกค่าธรรมเนียมนอกจากที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ซึ่งบทบัญญัติในหมวดนี้ในส่วนของจำเลยไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องบังคับไปตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อค่าขึ้นศาลเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องเสีย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสามมิได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3277/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการลงโทษความผิดฐานกระทำอนาจารเด็ก แม้ฟ้องในความผิดอื่น และประเด็นการฎีกาที่ต้องห้าม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 142 (1) ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนมีกำหนด 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 142 (1) ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เฉพาะวรรคความผิดในมาตราเดียวกัน แต่ความผิดในวรรคสองและวรรคห้ามีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมาก จึงเป็นการแก้วรรคและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมาก แต่การที่ศาลล่างทั้งสองต่างเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มิใช่การลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อทางพิจารณาของศาลฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น ข้อแตกต่างดังกล่าว ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย บัญญัติไว้ว่า ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยใช้วัตถุล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการพิจารณาพิพากษาคดีตามที่กฎหมายให้อำนาจศาลไว้ ส่วนการที่พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาและสอบสวนจำเลยในความผิดดังกล่าว เป็นเรื่องกฎหมายห้ามมิให้พนักงานอัยการนำคดีมาฟ้องในข้อหานั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 เท่านั้น อันเป็นขั้นตอนของการยื่นฟ้องคดี มิใช่การพิพากษาคดีของศาล ดังนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดีแม้คำขออาจไม่ถูกต้องสมบูรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิดำเนินการเพื่อให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมแก่จำเลยทั้งสี่ได้ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 โจทก์ยื่นคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีทั้งเป็นศาลที่มีอำนาจในการออกหมายบังคับคดีรวมตลอดถึงมีอำนาจในการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดี ต่อมาศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ตามหมายบังคับคดีมีรายละเอียดเกี่ยวกับคำพิพากษาซึ่งจะขอให้มีการบังคับคดี จำนวนที่ยังไม่ได้รับชำระตามคำพิพากษาและวิธีการบังคับคดีซึ่งขอให้ออกหมายนั้น รวมตลอดถึงหมายเลขคดี ชื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี และชื่อคู่ความทั้งหมดถูกต้องครบถ้วนตรงตามสำนวนคดีนี้ จึงเชื่อว่าศาลชั้นต้นได้ตรวจสอบคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์ และได้ออกหมายบังคับคดีโดยถูกต้องแล้ว ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่าคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์ไม่ถูกต้องและไม่ใช่คำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีในสำนวนคดีนี้นั้น สำเนาคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเอกสาร ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นในสำนวนคดีนี้ ทั้งหากจะฟังว่าโจทก์ยื่นคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีผิดพลาดไป ก็พอเข้าใจเจตนาของโจทก์ได้ว่า โจทก์ประสงค์ที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในสำนวนคดีนี้ มิใช่ประสงค์ที่จะบังคับคดีเอาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนคดีอื่น การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ในกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นใช้อำนาจออกหมายบังคับคดีตามข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว โดย ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่งตอนท้ายบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควรได้ โดยไม่จำต้องสั่งยกคำขอหรือให้โจทก์แก้ไขคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเสียก่อน ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีชอบแล้ว ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2050/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์
การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น และในสถานการณ์นี้จะสั่งให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านและ อ. ซึ่งเป็นผู้รับโอน และจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับคืนไปยังผู้คัดค้าน และในทางกลับกันจะต้องดำเนินการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านยอมรับการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับไปยังผู้คัดค้าน อันเป็นคําชี้ขาดที่มีผลบังคับให้ผู้คัดค้านชําระหนี้ตอบแทนโดยเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านกับ อ. กลับมาเป็นของผู้คัดค้านแล้วโอนให้แก่ฝ่ายผู้ร้อง ซึ่งการจะเพิกถอนนิติกรรมระหว่างผู้คัดค้านกับ อ. ได้ต้องปรากฏว่าผู้คัดค้านกับ อ. เป็นคู่พิพาทหรือคู่ความในคดีจึงจะบังคับได้ เมื่อ อ. เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ การบังคับตามคําชี้ขาดในกรณีนี้จึงไม่อาจบังคับกับ อ. บุคคลนอกคดีได้ การยอมรับหรือการบังคับตามคําชี้ขาดในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การที่อนุญาโตตุลาการมีคําชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และ ที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชําระหนี้และสัญญาจำนำหุ้น ทั้งที่ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งโดยขอเพียงให้ผู้ร้องทั้งสามชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าขาดประโยชน์แก่ผู้คัดค้านเป็นคําชี้ขาดที่เกินคําขอของผู้คัดค้าน ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1552/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงชื่อผู้เรียงฟ้องอุทธรณ์โดยผู้มิใช่ทนายความ ศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขได้
การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ให้ผู้ต้องขังชาย ด. เป็นผู้เขียนอุทธรณ์ และผู้ต้องขังชาย ด. ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ท้ายฟ้องอุทธรณ์ โดยผู้ต้องขังชาย ด. มิได้เป็นทนายความ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำโดยพลั้งเผลอที่ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงผิดพลาดไป อันจะทำให้ฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง มีข้อบกพร่องเกิดขึ้น แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ฟ้องอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ตรวจพบข้อบกพร่องว่ามีบุคคลซึ่งมิได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นทนายความและไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้น ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ที่ให้มีอำนาจเรียงฟ้องอุทธรณ์ เป็นผู้เขียนฟ้องอุทธรณ์และลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงในฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 สั่งให้จำเลยที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องเรื่องดังกล่าวในฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจศาลในคดีฟอกเงิน, ความผิดมูลฐานขาดอายุความไม่กระทบการฟ้องฐานฟอกเงิน, การกระทำความผิดในราชอาณาจักร
นอกจากคดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองในข้อกฎหมายแล้ว ปัญหาตามฎีกาของของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ฎีกาว่า สามารถลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทยได้หรือไม่ ศาลฎีกาจึงสามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ คดีจึงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาต
การที่จำเลยที่ 1 โดย ก. โฆษณาชักชวนโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกให้ร่วมลงทุนโดย ก. เดินทางไปโฆษณาชักชวนและจัดสัมมนาบรรยายแผนการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น ผ่านทางโบรชัวร์โฆษณาการลงทุนและผ่านทางเว็บไซต์ managedsavings.com การโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวซึ่งเปลี่ยนที่อยู่จากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศไทยขณะเกิดเหตุ โดยใช้เว็บไชต์ซึ่งมีที่อยู่ในประเทศไทยเป็นสื่อนำเสนอข้อมูลในการโฆษณาชักชวน จึงเป็นการกระทำในราชอาณาจักร เมื่อการโฆษณาชักชวนผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวที่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร จึงต้องรับโทษตามกฎหมาย ตาม ป.อ. มาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 กำหนดความผิดมูลฐานไว้ 21 ประการ ตาม (1) ถึง (21) โดย (3) กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดมูลฐานประการหนึ่ง โดยความผิดอาญาตามความผิดมูลฐานทั้งยี่สิบเอ็ดประการเป็นมูลเหตุ เป็นที่มา หรือเป็นฐานก่อให้เกิดหรือให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากการกระทำความผิด จึงได้มีการกำหนดเป็นความผิดหลักไว้เพื่อเชื่อมโยงในการนำเอากฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปใช้บังคับเท่านั้น ดังจะเห็นได้จาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการดำเนินคดีในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานก่อน จึงจะดำเนินคดีฐานฟอกเงินได้ ความผิดฐานฟอกเงินจึงแยกต่างหากจากความผิดมูลฐาน แม้ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนที่เป็นความผิดมูลฐานจะขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เมื่อความผิดฐานฟอกเงินไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน
of 222